โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว(วัดศรีอุปลาราม) พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าสุดยอดพระปรมาจารย์ของเมืองกาญจนบุรี

ภาพถ่ายหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

         หลวงปู่ยิ้ม จันทโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองบัว (วัดศรีอุปลาราม) ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าที่ได้รับความเคารพเลื่อมใสมาจนถึงปัจจุบัน

         หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ท่านเป็นชาวบ้านวังด้ง ตำบลวังด้ง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เกิดวันอังคาร เดือน ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗ โยมบิดามีชื่อนายยิ่ง ชูชันยะ โยมมารดามีชื่อนางเปี่ยม ชูชันยะ โดยทั้งสองท่านประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ โดยจะล่องไปขายที่ปากอ่าวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม

         ในวัยเด็กหลวงปู่ยิ้ม ท่านมีอุปนิสัยใจคอเป็นคนเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นนักเลง พูดจริงทำจริง เด็กรุ่นเดียวกันหรือแก่กว่ายอมยกให้เป็นลูกพี่ ท่านได้เป็นกำลังช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าไม้ไผ่ล่องไปขายทางปากอ่าว จนคุ้นเคยกับชาวแม่กลองเป็นอันดี

         ปี พ.ศ. ๒๔๐๗ หลวงปู่ยิ้ม ท่านมีอายุครบบวช จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "จันทโชติ" โดยมี

         พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอาจารย์แดง วัดเหนือ เป็นพระกรรมมาวาจาจารย์

         พระอาจารย์อินทร์ วัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่อบวชเรียนหลวงปู่ยิ้ม ได้มาจำพรรษาที่วัดทุ่งสมอ เพื่อเรียนอักษรขอม ภาษาบาลี มงคลทีปนี มูลกัจจายน์ พระมาลัย พระเจ้าสิบชาติ ท่องสูตรสนธิจนช่ำชอง สามารถท่องจำพระปาฏิโมกข์สวดได้แต่พรรษาที่ ๒ จนพระอุปัชฌาย์หมดภูมิที่จะสอน

ภาพถ่ายหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี-เดี่ยว
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

         พระอธิการรอด จึงได้แนะนำให้ไปศึกษาวิทยาคมกับพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญวิทยาคมหลายท่านในเขตพื้นที่เมืองแม่กลอง อาทิ 

         หลวงพ่อพระปลัดทิม วัดบางนางลี่น้อย เพื่อเรียนวิชาน้ำมนต์โภคทรัพย์และวิชาโหราศาสตร์

         หลวงพ่อพ่วง วัดปากสมุทรสุดคงคา เรียนวิชาทำธงกันอสุนิบาตรสายฟ้าฟาดและคลื่นลมในทะเลและวิชาลงอักขระหวาย นอกจากนี้ยังร่ำเรียนวิชามนต์จินดามณี เรียกเนื้อเรียกปลาอีกด้วย

        หลวงพ่อกลัด วัดบางพรม อัมพวา เรียนวิชาทางมหาอุตย์ อยู่ยงคงกระพันและทำผ้าเช็ดหน้าเมตตามหานิยม

         หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ เรียนวิชาทำน้ำมนต์ปราบผี และวิชาแพทย์แผนโบราณ

         หลังจากได้เล่าเรียนวิชาต่างๆจนเจนจบแล้วได้ข่าวว่า สำนักสงฆ์แห่งวัดหนองบัว มีปรมาจารย์ผู้เก่งกล้าคือ ท่านหลวงพ่อกลิ่น ซึ่งหลวงปู่กลิ่นท่านนี้เป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดัง ท่านได้บำเพ็ญวิปัสนา ธุระภายในถ้ำพุพระ (ถ้ำขุนแผน) ซึ่งอยู่ในเขตบ้านหนองบัว 

ภาพถ่ายหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี-เดี่ยว
หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

          จนท่านสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย อาทิ วิชากำบังกายหายตัว วิชาแหวกน้ำดำดิน วิชาล่วงรู้การล่วงหน้า วิชาย่นระยะทาง วิชาทำของหนักให้เบา ซึ่งสามารถทำได้สำเร็จดุจผู้วิเศษทีเดียว พระคณาจารย์จากทั่วสารทิศให้ความเคารพและเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กันอย่างมากมาย ที่พอบันทึกได้เท่าที่ทราบคือ

         หลวงปู่ปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ

         หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม

         หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ชัยนาท

         หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม

         หลวงปู่พ่อเฒ่ายิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

         โดยหลวงปู่ยิ้มได้มาถวายตัวเป็นศิษย์องค์สุดท้าย ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้ศึกษาวิชาไสยเวทย์ต่างๆ จนชำนาญและมีวิทยาคุณแก่กล้า

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๘ หลวงพ่อปู่กลิ่น ได้มรณะภาพลงขณะมีอายุได้ ๑๑๗ ปี วัดหนองบัวจึงว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัว ทแดแทนตำแหน่งที่ว่างลง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ หลังจากที่ท่านรับหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดเป็นเวลา ๒ ปี หลวงปู่ยิ้ม ท่านจึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส 

         วัดศรีอุปลาราม หรือ วัดหนองบัว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหนองบัว อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๒ งาน ๒๕ ตารางวา มีแม่น้ำศรีสวัสดิ์ (แควใหญ่) ไหลผ่าน

         วัดศรีอุปลาราม เดิมชื่อว่า วัดหนองบัว สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสร้างขึ้นประมาณระหว่างราวปี พ.ศ. ๒๓๓๕ – ๒๓๕๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่เดิมยังไม่มีซึ่งถาวรวัตถุใดๆ 

         ปัจจุบันภายในวัดมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนหลวงพ่อเฒ่ายิ้ม-หลวงพ่อเหรียญ จัดแสดงวัตถุสิ่งของในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ ชั้นบนจัดเป็นห้องประชุมอเนกประสงค์ และที่จัดแสดงภาพวัตถุของทางวัด และถ่ายของหลวงปู่ยิ้ม (พระอุปัชฌาย์ ธรรมโชติ) และหลวงพ่อเหรียญ โดยรายนามเจ้าอาวาสที่มีบันทึกไว้คือ

         ๑. หลวงปู่จีน

         ๒. หลวงปู่โบ้ย

         ๓. หลวงปู่เหม็น

         ๔. หลวงปู่กลิ่น

         ๕. พระอธิการยิ้ม จนฺทโชติ

         ๖. พระโสภณสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ)

         ๗. พระอธิการเขียน กิตฺติคุโณ

         ๘. พระครูแหนง กลฺญาโณ

         ๙. พระใบฎีกาบุญเรือง ปภสฺสโร

         ๑๐. พระมงคลสิทธิคุณ (ลำใย ปิยวณฺโณ)

         ๑๑. พระมหาคมคิด อติเมโธ

         ๑๒. พระครูสิริกาญจโนบล (วิเชียร วชิรปญฺโญ)

         ๑๓. พระอธิการเจริญ กนฺตวีโร

         ๑๔. พระราชคุณาธาร (ถาวร ถาวโร)

         ๑๕. พระสัญชัย วชิโร

         ๑๖. พระครูศรีกาญจนวัฒน์ (ปิยวัฒน์ จารุธมฺโม)

         หลังจากที่ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้พัมนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ซึ่งแต่เดิมวัดหนองบัวเป็นเพียงวัดป่าเล็กๆ มีเพียงกุฏิไม่กี่หลัง และยังไม่มีพระอุโบสถไว้สำหรับประกอบสังฆกรรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๒๒ หลวงปู่เฒ่ายิ้ม จนฺทโชติ ท่านจึงได้สร้างอุโบสถหลังแรกขึ้น และได้จัดงานพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๒ หลวงปู่ยิ้ม ท่านได้ทำหนังสือขอจัดตั้งเป็นวัดสำเร็จ

         ในด้านวิทยาคุณและเกียรติคุณของหลวงปู่ยิ้มเป็นที่เลื่องลือไปหลายหัวเมือง ทั้งเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯ ได้ให้ความเลื่อมใสนับถือท่านเป็นอาจารย์ ขอเรียนวิชา แม้กระทั่งหลวงปู่ศุข แห่งวัดมะขามเฒ่า ยังเคยธุดงค์มาอยู่จำพรรษาที่วัดหนองบัว เพื่อแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน

         หลวงปู่ยิ้ม มีอุปนิสัยสันโดษ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ท่านเป็นเจ้าคณะตำบลและเป็นพระอุปัชฌาย์ มีคนบวชกับท่านเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญท่านได้ถ่ายทอดไสยเวทวิทยาคมให้กับลูกศิษย์ในยุคต่อมา จนกลายเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อเหรียญ วัดหนองบัว, หลวงปู่ดี วัดเทวสังฆาราม, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เป็นต้น

         หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงได้มรณภาพลงอย่างสงบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๓ นับรวมสิริอายุได้ ๖๖ ปี ๔๖ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

          พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์ใหญ่(ชลูด)

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว พุทธลักษณะเป็นพระปิดตาแบบภควัมบดี สร้างด้วยเนื้อผงสีขาวออกเหลือง และเนื้อผงสีออกดำ จัดเป็นพระหายากและเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไป ด้วยจำนวนการสร้างที่น้อยนิดจึงเป็นพระหายากในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี พิมพ์ใหญ่ชลูด
พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี พิมพ์ใหญ่ชลูด ของร้านบางกอกพระเครื่อง
พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี พิมพ์ใหญ่ชลูด
พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี พิมพ์ใหญ่ชลูด ของร้านบางกอกพระเครื่อง

         ด้านหน้า เป็นพระปิดตาภควัมบดี องค์พระจะชลูดสูงกว่าพิมพ์อื่นๆ

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ 

         พระสังกัจจายน์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์อุ้มท้อง

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว พุทธลักษณะเป็นพระปิดตาแบบภควัมบดี สร้างด้วยเนื้อผงสีขาวออกเหลือง และเนื้อผงสีออกดำ แต่ด้วยรูปทรงที่เหมือนกับพระสังกัจจายน์ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกว่าพระสังกัจจายน์ หรือ ปิดตาอุ้มท้อง จัดเป็นพระหายากและเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไป ด้วยจำนวนการสร้างที่น้อยนิดจึงเป็นพระหายากในปัจจุบัน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์สังกัจจายน์ (พิมพ์อุ้มท้อง)
พระสังกัจจายน์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์พิมพ์อุ้มท้อง

         ด้านหน้า เป็นพระปิดตาภควัมบดี แต่พิเศษมีมือคู่หนึ่งอุ้มท้องไว้ จึงทำให้ดูคล้ายพระสังกัจจายน์

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์ต้อ(แข้งซ้อน) 

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว พุทธลักษณะเป็นพระปิดตาแบบภควัมบดี สร้างด้วยเนื้อผงสีขาวออกเหลือง และเนื้อผงสีออกดำ แต่องค์พระจะเตี้ยกว่าและแข้งขององค์พระจะวางซ้อนกัน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ จัดเป็นพระหายากและเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์แข้งซ้อน
พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์แข้งซ้อน

         ด้านหน้า เป็นพระปิดตาภควัมบดี แต่แข้งขององค์พระจะซ้อนกัน

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์แข้งหมอน

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว พุทธลักษณะเป็นพระปิดตาแบบภควัมบดี สร้างด้วยเนื้อผงสีขาวออกเหลือง และเนื้อผงสีออกดำ แข้งขององค์พระจะเป็นชิ้นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ จัดเป็นพระหายากและเป็นที่แสวงหาของคนทั่วไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์แข้งหมอน
พระปิดตาหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว พิมพ์แข้งหมอน

         ด้านหน้า เป็นพระปิดตาภควัมบดี แต่แข้งขององค์พระจะเป็นชิ้นเดียวกันไม่มีร่อง

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

         ตะกรุดโลกธาตุหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว ชาวบ้านเรียกกันว่า "ตะกรุดลูกอม" หรือ "ตะกรุดโลกธาตุ" เป็นตะกรุดขนาดเล็กใช้พกติดตัว เมื่อถึงคราวคับขันจวนตัวจะถูกทำร้ายให้กลืนเข้าไปในท้อง จะเป็นล่องหนหายตัวป้องกันอันตรายได้ทุกประการ

         ตะกรุดนี้เชื่อว่าสามารถออกมาจากร่างกายได้เอง โดยให้ตั้งจิตอธิษฐานก่อนนอน รุ่งขึ้นตะกรุดก็จะออกมาปรากฏอยู่ข้างตัว โดยจะไม่ออกทางทวารเบื้องต่ำเด็ดขาด ตะกรุดลูกอมจะลงด้วยหัวใจโลกธาตุ คือ "อิจฉันโต จิตโต อิจฉันโต โลกธาตุมหิ อัตตะภาเวนัง นาทุยิ วาระวีสะติ สิทธังละอะ" เป็นคาถาพระพุทธเจ้าเดินจงกรมในเมล็ดพันธุ์ผักกาด 

ตะกรุดโลกธาตุหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
ตะกรุดโลกธาตุหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

         มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน หรือเนื้อทองแดง ต้องมีน้ำหนัก ๑ สลึง ยาวขนาด ๗ ใบมะขามเรียกว่า สัตตะโพชฌงค์ ๗ ตะกรุดโลกธาตุมีชื่อเสียงปรากฎทั่วประเทศและหลวงปู่ใจ วัดเสด็จได้มาศึกษาวิชานี้จากท่าน

         เสือหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แกะจากเขี้ยวเสือ โดยสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว ชาวบ้านเรียกกันว่า "เสือแกะหลวงปู่ยิ้ม" โดยหลวงปู่ยิ้มจะแกะเขี้ยวเสือแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด

เสือหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
เสือหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ของร้านเล็ก หนุมาน

เสือหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
เสือหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ของร้านเล็ก หนุมาน

         จัดเป็นเครื่องรางของหลวงปู่ยิ้มที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับของสำนักอื่น เพราะฝีมือการแกะเสือที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนของจริง ใต้ฐานจะมีรอยจาร ใครที่ได้รับไปจะมีอำนาจเป็นที่ยำเกรงของคนอื่นๆทั่วไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีจดบันทึกไว้

         ราชสีห์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ แกะจากงา โดยสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ติดตัว ชาวบ้านเรียกกันว่า "ราชสีห์แกะหลวงปู่ยิ้ม" โดยหลวงปู่ยิ้มจะแกะเขี้ยวเสือแจกให้กับลูกศิษย์ลูกหาที่ใกล้ชิด

ราชสีห์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
ราชสีห์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ของร้านสยามศิลป์
ราชสีห์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
ราชสีห์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ของร้านสยามศิลป์

         จัดเป็นเครื่องรางของหลวงปู่ยิ้มที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับของสำนักอื่น เพราะฝีมือการแกะราชสีห์ที่เป็นเอกลักษณ์  ที่ฐานจะมีรอยจาร ถือเป็นเครื่องที่มีพุทธคุณด้านมหาอุด คงกระพัน มีอำนาจเป็นที่ยำเกรงของคนอื่นๆทั่วไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีจดบันทึกไว้

         แหวนพิรอดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ โดยสร้างการใช้ผ้าดิบ บางตำราก็ว่าเป็นผ้าห่อศพ นำมาลงอักขระด้วยดินสอตามตำราโบราณ แล้วนำมาฉีกขวั้นเป็นเชือกแล้วจึงทำการถักขึ้นรูปให้เป็นแหวน เสร็จแล้วจึงนำไปปลูกเสกอีกครั้งตามกำลังวันและฤกษ์ยาม เมื่อเสร็จพิธีจึงค่อยนำแหวนที่เสกเสร็จแล้วโยนเข้ากองไฟ แล้วเลือกเอาวงที่ไม่ไหม้ไฟมาถือเป็นอันว่าใช้ได้

แหวนพิรอดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
แหวนพิรอดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
แหวนพิรอดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
แหวนพิรอดหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

         จากนั้นจึงลงรักเพื่อรักษาเนื้อแล้วค่อยแจกจ่ายให้ลูกศิษย์ต่อไป ด้านพุทธคุณเชื่อกันว่าช่วยให้รอดพ้นจากพยันตรายทั้งปวง จัดเป็นของเก่าหายากของหลวงปู่ยิ้ม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

         ลูกอมด้ายสายสิญจน์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๓ กรรมวิธีการสร้างคือ นำตะกรุดลูกอมที่สร้างจากเนื้อกระดาษสา มาเขียนคาถาหัวใจโลกธาตุลงในกระดาษสา แล้วม้วนเป็นวง เหมือนเช่นตะกรุดลูกอม ส่วนใหญ่หลวงปู่ยิ้ม ท่านจะใช้ด้ายสายสิญจน์ พันม้วนรอบกระดาษสาเป็นลูกกลม หลายๆ ชั้น จนมีลักษณะเป็นลูกกลม ซึ่งต่อมาได้เรียกกันว่า "ลูกอมสายสิญจน์"

ลูกอมด้านสายสิญจน์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี
ลูกอมด้านสายสิญจน์หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี ของร้านกาญจนสินธ์

         สมัยก่อนชาวบ้านเรียกว่า "ลูกอมด้ายสาว" เพราะกรรมวิธีที่ท่านสร้างนั้น ท่านจะให้หญิงสาวที่บริสุทธิ์ มาถือศีล ๕ นุ่มขาวห่มขาว ปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานและสวดมนต์ เป็นเวลา ๙ วัน ๙ คืน ท่านก็จะนำสายสิญจน์ที่ท่านไว้ใช้เสกวัตถุมงคลต่างๆของท่าน นำมาให้หญิงสาวพันวนไปทางขวา และบริกรรมคาถา ๑๐๘ จบ เมื่อครบแล้ว ท่านจะโยนเข้ากองไฟ ลูกไหนไม่ไหม้ถึงจะใช้ได้ หลังจากนั้นท่านจะนำไปจุ่มรักบ้างไม่จุ่มรักบ้าง และทำการปลุกเสกทับอีกครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นค่อยนำมาแจกแก่ญาตโยมต่อไป.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้