โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติการสร้างวัดเสด็จและตะกรุดหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ สมุทรสงคราม ตะกรุดลูกอม ตะกรุดมหาปราบ และตะกรุดมหาระงับปราบหงสา

หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ สมุทรสงคราม


          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเสด็จ ในปี พ.ศ. ๒๔๒๘ นั้นหลังจากที่ หลวงปู่ใจบรรชาได้ ๒ พรรษา ท่านได้ไปเยี่ยมญาติที่มีศักดิ์เป็นอา ชื่อนางอิ่ม สามีชื่อนายอ่อน ทั้งสองไม่มีบุตร เวลานั้นนางอิ่มอายุ ๖๐ ปีเศษ ได้ปรารภกับท่านว่า จะถวายที่บ้านและที่สวนพื้นที่รวมกัน ๓ ไร่ ๓ งาน ๙๑ วา ให้สร้างวัด ท่านอนุโมทนาด้วย

          แต่นางอิ่มยังไม่ได้ถวายในขณะนั้น ต่อมาอีก ๒ ปีเศษ คือในราวปี พ.ศ. ๒๔๓๐ นางอิ่มจึงนำโฉนดที่ดินไปถวายพระสมุห์แพ เจ้าอาวาสวัดใหม่ยายเงิน (ปัจจุบัน​เปลี่ยนชื่อเป็น วัดราษฎร์บูรณะ) เพื่อสร้างวัดตามที่เคยดำริไว้

หลวงพ่อแพ วัดใหม่ยายเงิน สมุทรสงคราม
พระสมุห์แพ เจ้าอาวาสวัดใหม่ยายเงิน สมุทรสงคราม

          ท่านพระสมุห์แพ เจ้าอาวาสวัดใหม่ยายเงิน รับถวายที่ดินไว้แล้วก็ยังมิได้ลงมือสร้างวัดแต่อย่างไร ทิ้งไว้ประมาณ ๒ ปีเศษ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านสมุห์แพเกิดอาพาธหนัก และเห็นว่าชีวิตจะอยู่ได้อีกไม่นาน 

          จึงได้มอบโฉนดที่ดินให้ ขุนศรีโยธามาตย์ภักดี กับ หมื่นชำนาญ รับภาระนำโฉนดที่ดินไปมอบให้เจ้าอาวาสวัดใดวัดหนึ่ง ที่สมควรจะจัดสร้างวัดตามเจตนาของนางอิ่มผู้ถวายต่อไป

ซุ้มประตูทางเข้าวัดเสด็จ สมุทรสงคราม

          ครั้นต่อมาท่านสมุห์แพ ได้อาพาธหนักถึงแก่มรณภาพลงใน ปี พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านขุนศรีโยธามาตย์ภักดี กับ หมื่นชำนาญ จึงนำโฉนดที่ดินไปมอบให้ พระอุปัชฌาย์จุ้ย เจ้าอาวาสวัดบางเกาะเทพศักดิ์ รับหน้าที่สร้างวัดต่อไป

ภาพถ่ายหลวงพ่อจุ้ย วัดบางเกาะเทพศักดิ์ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อจุ้ย วัดบางเกาะเทพศักดิ์ สมุทรสงคราม

          เมื่อพระอุปัชฌาย์จุ้ย ได้จัดการฌาปนกิจศพของพระสมุห์แพเรียบร้อยแล้ว จึงปรารภที่จะสร้างวัดตามเจตนาของนางอิ่ม จึงมีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์สมทบด้วยเป็นเงิน ๒๖๐ บาท ท่านพระอุปัชฌาย์จุ้ย จึงได้นำเงินไปซื้อเรือนฝากระดาน ๑ หลัง ปลูกเป็นกุฏิสงฆ์ขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. ๒๔๓๔

พระประธานภายในพระอุโบสถวัดเสด็จ สมุทรสงคราม

          ครั้นวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ พระอุปัชฌาย์จุ้ย เจ้าอาวาสวัดบางเกาะเทพศักดิ์ จึงได้จัดการส่งพระใจ อินสุวณโณ พร้อมด้วยภิกษุอีก ๔ รูป ไปอยู่ที่วัดนี้ ซึ่งชาวบ้านเรียกชื่อว่า "วัดใหม่ยายอิ่ม"

ศาลาท่าน้ำวัดเสด็จ สมุทรสงคราม

          ต่อมาท่านพระครูวิมลเกียรติ์ (ป้าน) เจ้าคณะเมืองราชบุรี ได้แต่งตั้งพระใจ อินสุวณโณ เป็นพระอธิการปกครองวัดใหม่ยายอิ่มตั้งแต่นั้นมา ครั้นต่อมาได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมาวัดใหม่ยายอิ่ม จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดใหม่ใต้ปากคลองดอน"

หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          ครั้นต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ตรวจการคณะสงฆ์ มาแวะประทับที่วัดแห่งนี้และทรงรับสั่งว่า 

ภาพถ่ายสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

          วัดจัดการเรียบร้อยดี และทรงเปลี่ยนนามวัดใหม่ใต้ปากคลองดอน โดยพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดเสด็จ" ซึ่งทางวัดได้ใช้ชื่อนี้จวบจนปัจจุบัน.

ตะกรุดของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ท่านได้ไปฝากตัวร่ำเรียนวิชากับหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว โดยขณะที่ไปขอเรียนวิชานั้น หลวงปู่ยิ้ม ได้ทำการทดสอบหลวงปู่ใจว่ามีคุณสมบัติดีพอจะรับการถ่ายทอดวิชาจากท่านหรือไม่ ผลปรากฏว่าหลวงปู่ใจ ท่านผ่านการทดสอบไปได้อย่างง่ายดาย หลวงปู่ยิ้ม แห่งวัดหนองบัวพอใจเป็นอันมากจึงมอบตำราแล้วให้หลวงปุ่ใจเลือกเรียนวิชาที่ชอบได้ตามต้องการ หลวงปู่ใจเมื่อได้รับตำรามา ท่านก็หมั่นศึกษาวิชาทุกแขนง แต่วิชาที่ท่านชื่นชอบและร่ำเรียนจนชำนาญนั้นคือวิชาตะกรุดลูกอม กับ วิชาตะกรุดโทนมหาระงับ

          ตะกรุดลูกอมของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          ตะกรุดลูกอมที่หลวงปู่ใจสร้างมีด้วยกัน ๓ เนื้อคือ เนื้อทองคำ เนื้อนาก และเนื้อเงิน จะลงจารครบตามตำราหัวใจโลกธาตุ หรือเรียกอีกอย่างว่า คาถาพระพุทธเจ้าเดินจงกรมในพระครรภ์มารดา ดังนี้ "(ยันต์ใบพัด) อิจฉันโต จิตโต อิจฉันโต โลกธาตุมหิ (ยันต์ใบพัด) อัตตะภาเวนัง นาทุยิ วาระวีสะติ สิทธังละอะ (ยันต์ใบพัด)" ท่านว่าดีทางมหาแคล้วคลาด มหากำบัง เล่ากันว่าเมื่อถึงคราวจวนตัวผจญด้วยศัตรูนับร้อยพัน ให้ระลึกถึงพระรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์ผู้ประสิทธิ์แล้วกลืนตะกรุดเข้าไป

ตะกรุดลูกอม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เนื้อทองคำ

          จะเป็นมหากำบังล่องหนหายตัว ศัตรูจะมองไม่เห็น รอจนพ้นอันตรายแล้ว ท่านให้นำดอกไม้ธูปเทียนมาอาราธนาตะกรุดออกจากตัว โดยกระทำก่อนนอน เมื่อตื่นขึ้นตะกรุดจะวางอยู่ที่หัวนอน ครูบาอาจารย์ท่านว่าหากทำสำเร็จจริง ตะกรุดนั้นจะไม่ออกเบื้องต่ำเลย (ถ่ายออก) โดยศิษย์ที่ได้รับมอบไปนั้น ท่านให้รับปากว่าให้ทำแค่ความดีละเว้นความชั่ว ซึ่งก็มีศิษย์บางคนที่เมื่อได้รับไปแล้วกลับทำชั่ว จนภายหลังทางราชการต้องมาขอร้องให้ท่านเลิกทำตะกรุด ท่านจึงเลิกทำตะกรุดตั่งแต่นั้นมา

ตะกรุดลูกอม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เนื้อนาก ของบารมีพระเครื่อง

          ตะกรุดลูกอมนั้นมีการทำออกมาเรื่อยๆ แต่ครั้งที่มีการทำออกมาแจกมาที่สุดมีด้วยกัน ๒ ครั้งคือ ๒ ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงปู่ใจได้ทำตะกรุดลูกอมจำนวน ๖๔ ลูก เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ที่มาช่วยในงานสอบธรรมสนามหลวงส่วนภูมิภาค

ตะกรุดลูกอม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เนื้อเงิน

ตะกรุดลูกอม หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เนื้อเงิน

          ครั้งที่ ๒ ก็คือคราวที่มีการสร้างโรงเรียน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งหลวงปู่ใจ ทำตะกรุดออกแจกจ่ายแก่ผู้ที่ร่วมบริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียนดังกล่าว

          ตะกรุดมหาระงับปราบหงสาของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          สําหรับตะกรุดมหาระงับปราบหงสาของท่านนั้น มีอานุภาพชัดเจนในด้านระงับดับภัย โชคร้ายกลายเป็นดี ,ทางคงกะพัน มหาอุด ,ระงับดับทุกข์โศก หรือเรื่องร้ายๆ มีเงินอย่างเดียวใช่ว่าจะหามาบูชาติดตัวได้ เพราะว่าท่านสร้างน้อย หาของแท้ๆได้ยากมาก เหตุที่หายากนั้นหลวงปู่ใจเคยกล่าวว่า "สำหรับตะกรุดโทนดอกใหญ่นั้น มีดีหลายอย่าง แต่ไม่ได้ทำมากนักเพราะทำยาก จะให้ใครก็ต้องพิจารณาให้แน่ใจว่าเป็นคนดีจริงๆถึงจะทำให้"

ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา มีประวัติเกิดขึ้นชัดเจนที่สุดในสมัยสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว อยุธยา เพราะเป็นเครื่องรางของขลังประจำพระวรกายขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการออกทำศึกรบกับพม่าโดยทำยุทธหัตถี มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา (มังสามเกียด) จึงทำให้ทหารพม่าแพ้พ่ายแตกทัพไป ซึ่งด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้คนส่วนใหญ่เรียกว่าตะกรุดมหาระงับปราบหงสา หรือตะกรุดนเรศวรปราบหงสา สืบต่อมาจนทุกวันนี้

          ตะกรุดมหาระงับปราบหงสามีวิธีการสร้างอย่างละะเอียดอ่อน และจะต้องเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการจารอักขระเลขยันต์หรือที่เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่าการเดินยันต์นั่นเอง การเดินยันต์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการเดินยันต์หนึ่งตัวก็ต้องบริกรรมคาถาไปด้วยหนึ่งจบ โดยบทบริกรรมคาถา ส่วนใหญ่จะเป็นบทสรรเสริญพุทธคุณ สำหรับตัวยันต์มหาระงับนั้น จะมีเอกลักษณ์เฉพาะโดยเป็นเหมือนแผนผังกั้นเป็นห้องๆ ซ้อนกันล้อมด้วยพระคาถามหาระงับ พระคาถาบารมี ๓๐ ทัศ และอิติปิโส ๘ ทิศ เป็นต้น

ตะกรุดมหาระงับปราบหงสา หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          เมื่อลงอักขระเลขยันต์ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะม้วนให้เป็นแท่งกลม โดยมีช่องว่างตรงกลางไว้สำหรับร้อยเชือกเมื่อม้วนเสร็จแล้วก็ต้องพอกด้วยว่านยาคือ ใบไม่รู้นอน ๗ ชนิด ประกอบด้วย ใบระงับ ,ใบผักกะเฉด ,ใบกระทืบยอด ,ใบชุมเห็ดเทศ ,ใบหญ้าใต้ใบ ,ใบแคขาว ,ใบสมี เมื่อได้ครบทั้ง ๗ อย่าง อย่างละเท่าๆ กัน นำไปสุมไฟให้ใหม้แต่อย่าให้เป็นขี้เถ้า หรือนำไปตากให้แห้ง จากนั้นนำมาบดให้ระเอียดจึงนำไปกวนกับน้ำรัก หรือชันยางเรือ ทำเป็นสมุกพอกตะกรุด หลังจากพอกยาเสร็จแล้วก็เอาไปตากให้แห้ง จากนั้นใช้เชือกหรือด้ายดิบถักทับแล้วจึงลงรักปิดทองเพื่อรักษาตะกรุดไว้อีกชั้นหนึ่ง

          ในการปลุกเสกนั้นก็ต้องปลุกเสกให้จนมั่นใจว่าเป็นมหาระงับ มหาปราบ โดยชนิดที่ว่าจะต้องปลุกเสกจนสามารถสะกดและระงับให้บริเวณนั้นเงียบสงบแบบไม่มีเสียงใดๆ ให้ได้ยินเลยนั่นแหละถึงจะเป็นการปลุกเสกที่สมบูรณ์ที่สุด ในการสร้างตะกรุดมหาระงับปราบหงสานั้น ท่านจะใช้แผ่นโลหะ ขนาดที่พบส่วนมาก ๖.๕ - ๗ นิ้ว ซึ่งในเรื่องของความกว้าง ความยาวนี้ อาจมีเล็กหรือยาวกว่ากันได้พึงพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมอีกครั้งเป็นสำคัญ มีทั้งเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง และตะกั่ว

          ตะกรุดมหาปราบ ของหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          ตะกรุดมหาปราบจะมีขนาดไม่เกิน ๕ นิ้ว สร้างตามแบบกรรมวิธีเดียวกับตะกรุดมหาระงับปราบหงสา แต่จะมีอักขระยันต์บางชุดที่ถูกถอดออกไป เนื่องด้วยกรรมวิธีการสร้างของตะกรุดปราบหงสาที่ยุ่งยาก หลวงปู่ใจ จึงสร้างตะกรุดมหาปราบแทน ซึ่งทำได้ง่ายกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นตะกรุดที่หายากอยู่ดี เพราะกรรมวิธีการสร้างที่ยุ่งยากและพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของตะกรุดนั้น เป็นที่แสวงหาของคนเป็นอันมาก และตัวของหลวงปู่ใจเองก็ ไม่นิยมทำตะกรุดให้กับลูกศิษย์ทั่วไปง่ายๆ ด้วยเกรงว่าคนเหล่านั้นจะเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี อันจะทำให้เกิดบาปกรรมและเกิดความเดือดร้อนแก่คนดีๆได้

ตะกรุดมหาปราบ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

          ตะกรุดมหาปราบนั้นด้วยมีวิธีการสร้างที่เหมือนกับตะกรุดปราบหงสา จึงมีจุดสังเกตุที่เหมือนกันคือเมื่อลงอักขระยันต์ต่างๆเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการพอกผงยา ก่อนที่จะมีการนำเอาไปตากให้แห้ง จากนั้นใช้เชือกหรือด้ายดิบถักทับแล้วจึงลงรักปิดทองเพื่อรักษาตะกรุดไว้อีกชั้นหนึ่งเป็นอันเสร็จสิ้นการทำตะกรุด หลังจากนั้นหลวงปู่ใจจะหาฤกษ์งามยามดีตามตำราที่ท่านร่ำเรียนมาจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว เพื่อทำพิธีเสกตะกรุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าตะกรุดนั้นมีพุทธคุณดังต้องการ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธีแล้วค่อยนำมาแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ต่อไป.

คุณปรเมษย์ เอื้อเฟื้อข้อมูล
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้