โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ตอนที่ ๑ เหรียญพระประจำวันหลวงปู่ใจ รุ่นแรก

หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จังหวัดสมุทรสงคราม

          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ ตรงกับวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ปี พ.ศ. ๒๔๐๕ ณ บ้านตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีชื่อเดิมว่า ใจ นามสกุล ขำสมชัย มีโยมบิดาชื่อ นายขำ ขำสมชัย มีโยมมารดาชื่อ นางหุ่น ขำสมชัย หลวงปู่ใจมีพี่น้องด้วยกันถึง ๑๑ คน โดยเป็นหญิง ๖ ชาย ๕

          ต่อมาครอบครัวของท่านได้ย้ายมายังหมู่ที่ ๙ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม อันเป็นภูมิลำเนาเดิมของปู่ และบิดาของท่าน

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ เมื่อหลวงปู่ใจมีอายุได้ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบท ณ อุโบสถวัดบางเกาะเทพศักดิ์ เมื่อวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม โดยมีพระอุปัชฌาย์จุ้ย วัดบางเกาะเทพศักดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "อินฺทสุวณฺโณ"

          หลวงปู่ใจ หรือ พระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ อินฺทสุวณฺโณ) หลังจากบวชแล้วได้จำพรรษายังวัดบางเกาะเทพศักดิ์ เพื่อศึกษาทั้งด้านวินัยและด้านพระปริยัติ จนมีความรู้แตกฉาน ทั้งอักษรไทยและขอม หลังจากนั้นท่านจึงไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอุปัชฌาย์ยิ้ม วัดหนองบัว เพื่อฝึกสมาธิ และวิชาอาคม จนท่านแตกฉาน

หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ จังหวัดสมุทรสงคราม

          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือท่านมากมาย ท่านได้เคยสร้างพระไว้หลายอย่าง ทั้งเหรียญและพระหล่อเนื้อเมฆพัด พระปรกใบมะขามเนื้อเมฆพัดของท่านจัดเข้าอยู่ในชุดพระเบญจฯปรกใบมะขาม ซึ่งโด่งดังมาก นอกจากพระเครื่องแล้วท่านยังได้สร้างตะกรุดไว้หลายแบบ ที่โดดเด่นมากก็คือตะกรุดลูกอม ที่มีทั้งเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อนาค ซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว กาญจนบุรี

          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จท่านได้รับสมณศักดิ์ดังต่อไปนี้

          ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ เป็นผู้รั้งเจ้าคณะแขวงบางคนที
          ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เป็นเจ้าคณะแขวงบางคนที และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรมีพระราชทินนามว่า "พระครูสุทธิสาร"
          ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เป็นเจ้าคณะแขวงอัมพวา
          ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เป็นพระสุทธิสารวุฒาจารย์
          ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เป็นพระราชมงคลวุฒาจารย์

          หลวงปู่ใจ ท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ สิริอายุได้ ๑๐๐ ปี พรรษาที่ ๗๘

          ในสมัยที่หลวงปู่ใจ ท่านกำลังสร้างวัดเสด็จอยู่นั้นท่านได้เดินทางไปที่จังหวัดกาญจนบุรีอยู่บ่อยๆ เพื่อไปหาซื้อไม้มาสร้างวัด ท่านขึ้นล่องอยู่หลายปีจึงสร้างวัดได้สำเร็จ และทุกปีท่านจะมาแวะพักที่วัดหนองบัว เอาหมากพลูมาถวายหลวงปู่ยิ้ม ซึ่งท่านเคารพหลวงปู่ยิ้มมาก.

          หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ท่านได้สร้างเหรียญพระประจำวันไว้รุ่นหนึ่ง ซึ่งในพื้นที่ถือเป็นเหรียญพระประจำวันรุ่นแรกของหลวงปู่ คาดว่าสร้างในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๐ กว่าๆ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามโลกขึ้นโดยมีการแกะแม่พิมพ์ใหม่ให้เหรียญมีขนาดใหญ่ และออกแบบเหรียญให้สวยงามตามศิลปการแกะเหรียญยุคเก่า ในบางองค์จะเป็นแบบเหรียญข้างเลื่อย แต่บางองค์จะเป็นเหรียญข้างปั๊มธรรมดา ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการสร้างขึ้น โดยใช้แม่พิมพ์เดิมอย่างน้อย ๒ ครั้ง เพราะบางเหรียญด้านหลังจะมีกรากและบางเหรียญจะไม่มีกราก(ปั๊มก่อน)

เหรียญพระประจำวัน หลวงปุ่ใจวัดเสด็จ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๘๐ กว่าๆ ถึงปี ๒๔๙๐ กว่าๆ  ในหนังสือลุ่มน้ำแม่กลองระบุว่าเป็นรุ่นแรก ด้วยเหตุที่เล่ากันมาว่าเหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นในคราวที่หลวงพ่อกำลังจะได้รับสมณะศักดิ์ที่พระสุทธิสารวุฒาจารย์ แต่สงครามโลกขึ้นเสียก่อน ทำให้การแต่งตั้งอย่างเป็นทางการต้องเลื่อนออกไป และมีผลให้เหรียญชุดที่สร้างก่อนสงครามโลกจึงไม่มีกราก หลังจากนั้นน่าจะมีการเว้นว่างอีกหลายปีจึงมีการสร้างเหรียญเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เองจึงทำให้เกิดกรากที่บล็อกด้านหลัง

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา สร้างด้วยเนื้อทองแดง ทองแดงกระไหล่เงิน และทองแดงกระไหล่ทอง สามารถแยกออกเป็น ๗ บล็อกตามจำนวนวัน โดยใช้แม่พิมพ์ด้านที่เป็นรูปหลวงปู่ใจ เพียงบล็อกเดียว สามารถจำแนกออกเป็นดังนี้

          ๑. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันอาทิตย์

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้
เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันอาทิตย์ รุ่นแรก  ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางถวายเนตร มีลักษระพระพุทธรูปที่อยู่ในพระอริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา (ตัก) มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันอาทิตย์" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง  เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๒. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันจันทร์

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันจันทร์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร มีลักษณะพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ(อก) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันจันทร์" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๓. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันอังคาร

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดง เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญประจำวันอังคาร หลวงปุ่ใจ วัดเสด็จ รุ่น 1
เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันอังคาร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕* ของคุณคิม จอมทอง
เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันอังคาร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางโปรดอสุรินทราหู หรือ ปางไสยาสน์ หรือ ปางปรินิพพาน มีลักษณะพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียร และมีพระเขนย (หมอน) รองรับ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันอังคาร" เหนือองค์พระมีอุนาโลม อยู่ ๑ ตัว ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๔. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันพุธ

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันพุธ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางอุ้มบาตร มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอว มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันพุธ" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๕. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันพฤหัสบดี

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันพฤหัสบดี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางสมาธิ หรือ ปางตรัสรู้ มีลักษณะเป็นพระพุทธรูป พระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันพฤหัสบดี" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๖. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันศุกร์

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันศุกร์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางรำพึง มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานกัน ยกขึ้นประทับที่พระอุระ (อก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันศุกร์" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ"  ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

          ๗. เหรียญประจำวัน หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ พิมพ์วันเสาร์

          ลักษณะเป็นเหรียญทรงเสมา มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงและทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว

เหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ  พิมพ์วันเสาร์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕*

          ด้านหน้า  จำลองรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางนาคปรก มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปอยู่ในพระอริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้ายเหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาคขนดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วันเสาร์" ขอบเหรียญมีลายกนกล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง   เป็นรูปจำลองหลวงปู่ใจ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือบ่าของหลวงปู่ใจมีอักขระยันต์ขอม อ่านว่า "จะภะกะสะ นะมะพะทะ" ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระสุทธิสารวุฒาจารย์" ขอบเรียบ ไม่มีลวดลาย

         ปัจจุบันเหรียญประจำวันหลวงปู่ใจ เล่นหาสับสนกันมาก แต่มีข้อสังเกตุง่ายๆ ที่อีกด้านต้องมีรูปหลวงปู่ใจอยู่ด้วยเสมอ ถึงจะเป็นเหรียญที่ออกที่วัดเสด็จ และเป็นที่ยอมรับของคนพื้นที่ พุทธคุณของเหรียญประจำวันโดดเด่นเรื่องทำมาค้าขาย โชคลาภ และคลาดแคล้ว เป็นที่แสวงหาของลูกศิษย์ลูกหาอย่างมากมาย เหรียญสวยๆกะไหล่ทองเติม ราคาเล่นหากันมิใช่ถูก ใครมีครอบครองไว้จงเก็บไว้ให้ดี.


* ปีที่มีการรับสมณะศักดิ์อย่างเป็นทางการ
ข้อมูล : คุณอานุภาพ ลิขิตอำนวยชัย
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


    ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

    ไม่มีความคิดเห็น

    ค้นหาบล็อกนี้