โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ เจ้าของพระปิดตาหายากของเมืองแม่กลอง

หลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อธูป ธมฺมสโรภิกขุ วัดใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเกิดในวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๘๙ ณ ที่บ้าน ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อนายห้วง บางส่วน มีอาชีพทำการประมง ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาคนเดียวกัน ๔ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ของครอบครัว

          หลวงพ่อธูป เมื่ออายุสมควรเล่าเรียน โยมบิดาของท่านได้นำไปฝากเรียนอักขระสมัยที่ สำนักวัดใหญ่ ใกล้บ้าน พออ่านออกเขียนได้ ก็ลาออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

          จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๕ หลวงพ่อธูป มีอายุได้ ๑๖ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรโดยมี พระอธิการเนตร วัดบ้านแหลม เป็นพระอุปัชฌาย์​ ได้ศึกษาธรรมวินัย

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๐ หลวงพ่อธูป ท่านมีอายุครบบวช จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ฉายาว่า "ธมฺมสโรภิกขุ" โดยมี

          พระสนิทสมณคุณ (เนตร) วัดบ้านแหลม เป็นพระอุปัชฌาย์​

          พระอธิการสุท วัดหลังป้อมพิฆาตข้าศึก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          พระอาจาย์โถ วัดใหญ่ เป็นพระคู่สวด

          หลังจากที่หลวงพ่อธูปได้บวชแล้ว ท่านได้ร่ำเรียนพระธรรมวินัย สูตรสนธิ มงคลทิปนีมูลกัจจายณ์ท่องบทสวดมนต์จนจบพระปาฏิโมกข์ โดยท่านสามารถท่องได้อย่างแม่นยำ

          ในยุคนั้นพระสงฆ์นิยมเดินธุดงค์ ท่านก็ได้ออกธุดงค์ฝึกพลังจิต จนกล้าแข็ง โดยท่านเดินไปทั่วประเทศไทย ภาคใต้จดภาคเหนือ ทิศตะวันตกไปจดเจดีย์ชเวดากองประเทศพม่า พระมุเตาเมืองหงษาวดี ระหว่างธุดงค์ได้พบกับพระอาจารย์ดังๆ หลายองค์ก็ได้ถ่ายทอดวิชาเวทมนต์เอาไว้ นับว่าท่านสนใจวิชาทางนี้มาก

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๙ หลวงพ่อธูป หลังจากบวชได้ ๑๐ พรรษา พระอธิการโถ วัดใหญ่ได้มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดใหญ่ ว่างลง ทางการคณะสงฆ์พร้อมด้วยทายก-ทายิกา ได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ สืบต่อมา

พระอุโบสถ์ วัดใหญ่ สมุทรสงคราม ในอดีต

         วัดใหญ่ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ตั้งอยู่เหนือปากคลองแม่กลอง มีแม่น้ำและคลองขนาบอยู่ ๒ ด้าน ทำให้พื้นที่วัดจึงถูกน้ำเซาะหายไปมาก ไม่ตรงกับเนื้อที่ในโฉนด แม้แต่พื้นที่ดินที่เคยเป็นเกาะอยู่ปากคลองปัจจุบันก็หายไปหมดแล้ว

         วัดใหญ่ สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๒๐๐ เดิมชื่อว่า วัดเนินเดิมมี วัดใหญ่บ้านปรก และวัดใหญ่ ตามลำดับ บริเวณที่ตั้งวัดเดิมนั้นอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ตั้งวัดปัจจุบัน เข้าใจว่าผู้สร้างมี ๓ พี่น้อง ชื่อ เนิน เดิม และ มี ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายหลังวัดมีสภาพทรุดโทรมจากภัยสงคราม 

         วัดจึงได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

         ต่อมาเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน) สมุหนายกในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดนี้ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ให้ใหม่ทั้งหมดโดยเป็นฝีมือช่างหลวง ประชาชนเรียก "วัดใหญ่" มาจนถึงทุกวันนี้ 

         ภายในวัดมี พระอุโบสถ หน้าบันจำหลักลวดลายสวยงามเป็นภาพพระนารายณ์ทรงครุฑ ศาลาการเปรียญไม้หน้าบันจำหลักลวดลายรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ภายในมีบุถษบกเล็กยอดมณฑปประดับกระจกสวยงาม

         หอกลอง มีกลองโบราณลูกหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลาง ๙๒ ซม. ยาว ๑๒๒ ซม. พระศรีสวัสดิ์ เจ้าเมืองกาญจนบุรี นำมาถวาบ (หนังหน้ากลองซ่อมใหม่เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๐๖)

         หลวงพ่อแก่นจันทน์ เป็นพระพระพุทธรูปทำด้วยไม้แกะสลักประทับยืน ปางห้ามญาติ สูงประมาณ ๑๙๐ ซม.  ทรงเครื่องแบบพระจักรพรรดิ ทรงภูษิตาภรณ์ และศิราภรณ์มหาพิชัยมงกุฏ ฉลองพระบาทงอน

         แต่แปลกกว่าพระพุทธรูปอื่นที่พระกรรณเล็กแบบหูคนธรรมดา ไม่เหมือนพระกรรณของพระพุทธรูปทั่วๆไป เดิมประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ พระครูวินัยธรศิลป์เจ้าอาวาส เห็นว่าไม่ปลอดภัย จึงได้นำไปเก็บรักษาไว้บนกุฏิ (ปัจจุบันได้ถูกโจรกรรมไปในปี พ.ศ. ๒๕๓๖)

         อนุสาวรีย์หลักหิน ที่บริเวณหน้าศลาการเปรียญมีหลักหินรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑.๕๐ เมตร สูง ๓ เมตร กล่าวกันว่า พระยาอมรินทรฦาไชย (จำรัส รัตนกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี  สร้างขึ้นเพื่อไว้เป็นที่บรรจุอังคารของต้นสกุล "รัตนกุล" คือ พระนารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล)

         วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองตามที่มีบันทึกไว้จนถึงปัจจุบันดังนี้

         ๑. พระอธิการพุ่ม

         ๒. พระอธิการจิ๋ว

         ๓. พระอธิการโถ

         ๔. พระอธิการธูป

         ๕. พระอธิการนุ่ม

         ๖. พระอธิการชุ่ม

         ๗. พระปลัดเจิม

         ๘. พระครูวินัยธรศิลป์

         ๙. พระดำ ปาสาทิโก รักษาการเจ้าอาวาส

         ๑๐. พระอธิการสนิท ภทฺทโก

         ๑๑. พระครูสมุทรภัทรคุณ

ภาพถ่ายหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม
ภาพถ่ายหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม ของคุณภาณุ เกตุแก้ว

         หลังจากที่หลวงพ่อธูป ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ ท่านได้เอาใจใส่ทั้งพัฒนาวัด และพัฒนาจิตใจคนควบคู่กันไป วัดใหญ่ในยุคนั้นมีความเจริญมาก เพราะท่านเป็นอาจารย์สอนในทางกัมมัฏฐานวิปัสสนาธุระ มีคนมาศึกษาเล่าเรียนกับท่านเป็นจำนวนมาก

         หลวงพ่อธูปได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ โดยมีพระยาอมรินทรฦาไชย (จำรัส รัตนกุล) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ได้ถวายไม้ซุงสักเป็นท่อนๆ มาเพื่อการบูรณะครั้งนั้น

         ท่านถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่สะสมทรัพย์สิน ได้อะไรมาก็เอามาพัฒนาวัดจนหมดสิ้น การอบรมศีลธรรมจรรยาท่านทำเป็นประจำวัน ไม่เคยขาดการทำวัตรสวดมนต์ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบล

         และต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัฌชาย์ ปีหนึ่งๆมีคนมาให้ท่านบวชพระปีละมากๆ เรื่องน้ำมนต์เวลาสึกก็ดังมาก ไม่ว่าจะเป็นเมืองใกล้ไกลชอบมาสึกกับท่าน สึกไปแล้วมีความเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาดอันตรายทั้งปวง ท่านป็นพระไม่ชอบคุยโอ้อวด เป็นนักปฏิบัติอยู่ในสมณสังวร

          สมัยนั้นเมืองสมุทรสงครามมีพระอาจารย์ชื่อดังๆ หลายองค์ ถ้าหากมีเวลาว่างมักจะไปทดสอบวิชากัน หรือไม่ก็แลกเปลี่ยนวิชากัน โดยเฉพาะท่านกับหลวงพ่อเทียน วัดละมุดใน แห่งคลองแควอ้อม สนิทสนมกันมาก ทั้งชื่อของท่านทั้งสอง ก็เข้ากันได้ดีก็คือ ธูป-เทียน นั่นเอง

          หลวงพ่อธูป เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ก็ถึงมรณภาพลงด้วยโรคชราอย่างสงบ นับรวมสิริอายุได้  ๗๔ ปี ๕๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อธูป วัดใหญ่

          ในยุคแรกหลวงพ่อธูป ท่านสร้างเครื่องรางของขลังไว้แจกชาวบ้านได้แก่ พระปิดตา ตะกรุด ผ้าประเจียด ธง และน้ำมนต์ ชาวบ้านที่ใครถูกคุณใส ผีเข้าเจ้าสิง ก็แก้ได้จนเป็นที่เลื่องลือ

          พระปิดตาหลวงพ่อธูป วัดใหญ่

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่าๆ มีลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมเนื้อผงมีทั้งสีดำและสีขาว เป็นพระที่มีคุณวิเศษทางด้านมหาลาภและมหาอุด สร้างจากผง ๑๐๘ มีทั้งผงมหาราช ผงอัทธิเจ ผงปฤมัง ฯลฯ จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ สมัยก่อนมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นของหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก จนปัจจุบันนี้จึงยอมรับกันว่าเป็นของหลวงพ่อธูป วัดใหญ่

พระปิดตาหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่าๆ ของคุณกีรกร แก้วเล็ก

พระปิดตาหลวงพ่อธูป วัดใหญ่
พระปิดตาหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กว่าๆ ของคุณประพันธ์ พระเครื่อง

          ด้านหน้า  เป็นรูปพระปิดตาภควัม

          ด้านหลัง  เรียบแต่อูมนูน

          เเหรียญอาร์มหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ รุ่นแรก

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในสมัยที่หลวงพ่อสนิทเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มหรือโล่แบบมีหูในตัว เหรียญรุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิสายแม่กลองชื่อดังในยุคนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2505 ทองแดง
เหรียญอาร์มหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองหลวงพ่อธูปนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์ธูป"

          ด้านหลัง  ตรงกลางเป็นรูปพระปิดตา มีอักขระยันต์ล้อมรอบ ใต้รูปพระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหญ่ สมุทรสงคราม"

          เเหรียญรูปไข่หลวงพ่อธูป วัดใหญ่ รุ่นแรก

          สร้างในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในสมัยที่หลวงพ่อสนิทเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด มีลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว เหรียญรุ่นนี้ได้รับการปลุกเสกจากพระเกจิสายแม่กลองชื่อดังในยุคนั้น มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม รุ่นสอง 2514 ทองแดง
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อธูป วัดใหญ่ สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า  เป็นรูปจำลองหลวงพ่อธูปครึ่งองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์ธูป วัดใหญ่ จ.สมุทรสงคราม"

          ด้านหลัง  ตรงกลางมีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๔" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

          หลวงพ่อธูป ท่านเคยเอาหนังหน้าผากเสือมาลงเป็นมหาอำนาจม้วนเป็นตะกรุด มีสายสิญจน์มัดกลาง ดังทางคงกระพันชาตรี ทำให้ศิษย์ผู้ใกล้ชิดไม่มากนัก นอกจากนี้ยังมีลูกอมผง ลูกสะกด ตะกรุดไม้ไผ่เย็นมหาอุด ของพวกนี้มีตกอยู่ตามบ้านคนเก่าในแม่กลอง ชั้นลูกหลานเห็นเข้าก็ไม่รู้ว่าเป็นของวัดไหน แค่รู้ว่าเป็นของเก่า เพราะคนรุ่นนั้นต่างล่วงลับกันไปหมด


ข้อมูล : นิตยสารลานโพธิ์
โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้