โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง และเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งที่โด่งดัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง หรือ พระครูสมุทรสัททาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม หลวงพ่อเยื่อพื้นเพท่านเป็นชาวหมู่ ๓ ตำบลบางกุ้ง (ไทรโยค) อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ โยมบิดาชื่อนายจีด ทรัพย์ละออ โยมมารดาชื่อนางพร ทรัพย์ละออ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงพ่อเยื่อ ท่านมีอายุครบบวชพอดี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลางเหนือ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "ฉตฺตโป" โดยมี

         
หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นพระอุปัชฌาย์

        
พระอธิการบุญผึ่น วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

        
พระครูสุตสาร (เล็ก) วัดตรีจินดาวัฒนาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกลางเหนือ เพื่อศึกษาวิชาและพระธรรมวินัยต่างๆกับหลวงพ่อเหมือน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อกอน วัดบางแคใหญ่ กับหลวงพ่อเยื่อมีความสนิทสนมและเป็นพระสหมิกธรรมกัน หลวงพ่อกอนจึงขอให้หลวงพ่อเยื่อ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่วัดกลางเหนือ ไปช่วยงานพัฒนาวัดบางแคใหญ่ร่วมกัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อกอน วัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อกอน วัดบางแคใหญ่ สมุทรสงคราม

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ พระครูสังฆรักษ์สุธน เจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าราบ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี พระครูสกลวิสุทธิ์ วัดกลางเหนือ ซึ่งสมัยนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล จึงต้องมารักษาการเจ้าอาวาสแทน

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ พระสมุทรสุธีเจ้าอาวาสวัดกลางเหนือ พร้อมด้วยทายกทายิกา จึงได้พากันไปนิมนต์พระอาจารย์เยื่อ ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่วัดบางแคใหญ่ กับหลวงปู่กอน โฆสโก (พระครูโฆสิตสุตคุณ) มาเป็นเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

         วัดบางกุ้ง เป็นวัดโบราณ ตั้งอยู่ที่บ้านค่าย หมู่ที่ ๔ ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม วัดตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง จากหลักฐาน ที่คงเหลืออยู่ ประมาณว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย 

         แต่เดิมวัดบางกุ้งมี ๒ วัดใกล้เคียงกันคือ วัดบางกุ้งน้อย และวัดบางกุ้งใหญ่ ผู้สร้างเป็นพี่น้องกัน ต่อมาวัดบางกุ้งน้อยได้รกร้างไป จึงได้รวบรวมเนื้อที่ของวัดบางกุ้ง ๒ วัดเข้าเป็นวัดเดียวคือ วัดบางกุ้งใหญ่ และใช้ชื่อว่าวัดบางกุ้ง ในปัจจุบัน

         มีเรื่องเล่าว่า วัด ๓ วัดในสมัยโบราณ มีความเกี่ยวเนื่องกันคือ วัดโบสถ์ วัดบางกุ้งใหญ่ และวัดบางกุ้งน้อย ตั้งอยู่เรียงกันไป เจ้าของวัดเป็นเศรษฐี และภรรยาของเศรษฐี เศรษฐีชื่อทอง (ชื่อเดียวกับบิดาของคุณนาก หรือสมเด็จพระอมรินทรามาตย์พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๑) เศรษฐีทองมีภรรยา ๒ คนพี่ชื่อใหญ่ คนน้องชื่อน้อย และเป็นภรรยาน้อย

         ต่อมาเศรษฐีทองมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า วัดโบสถ์ ริมคลองแควอ้อม ส่วนภรรยาหลวงก็สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ชื่อวัดบางกุ้ง (บางกุ้ง เป็นชื่อของหมู่บ้านโบราณเรียกกันว่า "บ้านบางกุ้ง" เพราะหมู่บ้านในย่านนี้มีกุ้งชุกชุมมาก ชาวบ้านส่วนมากประกอบอาชี ดักกุ้ง รอกุ้ง ช้อนกุ้ง มาทำกะปิขายอยู่ทั่วไปจึงเรียกว่าบ้านบางกุ้ง) ตามชื่อของหมู่บ้านนี้

         น้องสาวซึ่งเป็นภรรยาน้อยก็มีศรัทธาสร้างวัดเล็กๆ ขึ้นวัดหนึ่ง อยู่ระหว่างวัดโบสถ์กับวัดบางกุ้ง มีอุโบสถหลังเล็กๆ เป็นโบสถ์มหาอุด ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า วัดบางกุ้งน้อย ส่วนวัดบางกุ้งของพี่สาวก็เรียกว่า วัดบางกุ้งใหญ่ วัดทั้งสองพี่น้องนี้มีผืนดินติดต่อกัน 

         ภายหลังวัดบางกุ้งน้อยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นป่ารก กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญก็ผุพังตามกาลเวลา ยังเหลืออุโบสถ์หลังน้อยกับ หลวงพ่อนิลมณี (หลวงพ่อดำ) ซึ่งมีรากไม้หลายชนิดช่วยกันโอบอุ้มอุโบสถ ไว้ให้คงสภาพอยู่ได้มาจนทุกวันนี้

ภาพถ่ายหลวงพ่อนิลมณี วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม
หลวงพ่อนิลมณี วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่แลเห็นได้ชัดเจน คือ รากของต้นโพธิ์ จึงเรียกกันว่า อุโบสถปรกโพธิ์ อีกชื่อหนึ่ง อุโบสถหลังนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย

         ส่วนวัดบางกุ้งใหญ่ หรือวัดบางกุ้งปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก เพราะเป็นสถานที่สำคัญ แหล่งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว วัดบางกุ้ง เมื่อแรกก่อสร้างตั้งวัดมีความเจริญรุ่งเรืองมาก เพราะได้เจ้าอาวาสที่มีความสามารถมาปกครอง อาทิ

         หลวงปู่พระอุปัชฌาย์แย้ม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๘ ท่านมีความสามารถเรื่องแร่แปรธาตุ เป็นผู้สร้างตำหรับฆ่าปรอทได้สำเร็จ มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๔๔

         หลวงพ่อเพิ่ม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะหลายสาขา เช่น การเขียนภาพเหมือน การวาดภาพวิจิตรต่างๆ ภาพฝาผนัง การปั้นรูปเหมือนต่างๆทั้งสัตว์ และผลไม้ มีความสามารถมากในการทำดอกไม้ไฟ และวิชาการช่าง ได้ย้ายกุฏิสงฆ์เข้าเป็นหมวดหมู่ มีระเบียบ บริเวณสระน้ำใกล้อุโบสถ

         หลวงพ่ออธิการรอด ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ หลวงพ่อรอดมีความรู้ทางแพทย์แผนไทย เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมมาก ท่านมีชื่อเสียงมากด้านการทำยา เช่น ยาเขียว ยาหอม ยาธาตุโสฬส ยาธาตุบรรจบ ยาสำหรับเด็ก เช่น ยามหานิลแท่งทอง ยาเทพมงคล ยากวาดเม็ดแดง ซึ่งกลายเป็นยาตำราหลวงในการต่อมา นอกจากนี้ท่านยังช่วยกวาดยาเด็ก สูญฝี เป่ากระหม่อมเด็ก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของสาธุชนทั่วไป มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๗๐

         หลังปี พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา วัดบางกุ้งที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็เริ่มเสื่อมลงจนกระทั่งไม่มีพระอยู่และหาเจ้าอาวาสไม่ค่อยได้

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ทางวัดจึงได้พระครูสังฆรักษ์สุธน มาเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ทำการย้ายกุฏิสงฆ์จากข้างโบสถ์ออกมาอยู่ใกล้แม่น้ำ สภาพของวัดก็ยังไม่เจริญขึ้นมากนัก 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางกุ้งได้ว่างลง ประชาชนพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อเยื้อ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกุ้งสืบมา และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ วันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓

         หลังจากที่พระอาจารย์เยื่อ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ซึ่งพระอาจารย์เยื่อ เมื่อครั้งอยู่วัดบางแคใหญ่นั้น ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในการเทศน์มหาชาติ เมื่อท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ท่านได้พัฒนาวัดให้ดีขึ้นเป็นอันมาก เช่น

         สร้างถนนจากหน้าโบสถ์ถึงท่าน้ำ

         ย้ายกุฏิสงฆ์ไปปลูกในที่ใหม่มาบังพุทธาวาส

         สร้างหอสวดมนต์

         สร้างกุฏิเจ้าอาวาสจากเรือนบริจาค

         สร้างหอฉัน

         สร้างศาลาท่าน้ำ ๒ หลัง

         ซ่อมอุโบสถใหม่ทั้งหมด

         สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อเยื่อ ที่พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรโท ที่ พระครูสมุทรสัททาภรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ 

         หลวงพ่อเยื่อ ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง

         เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อครั้งที่หลวงพ่อยังจำพรรษาอยู่ที่วัดบางแคใหญ่ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบทรงสูงแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2499 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเยื่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอาจารย์เยื่อ สมุทรสงคราม"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๙" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบทรงสูงแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่น 3 2521 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเยื่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรสัททาภรณ์ (เยื่อ) วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ( วันฉลองสมณศักดิ์ ๑๗ มี.ค. ๒๑" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่น 2 2516 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเยื่อ วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเยื่อครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรสัททาภรณ์ เยื่อ ฉตฺตโป"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกทำบุญอายุ ๘๐ ปี วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม พ.ศ. ๒๕๓๖" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญพระเจ้าตากสิน เผด็จศึกค่ายบางกุ้ง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑  โดยนายเทพ สุนทรศารทูล ผู้เสนอความคิดต่อที่ประชุมคณะกรรมการลูกเสือ เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยาตราทัพได้ชัยชนะ ณ ค่ายบางกุ้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๑ โดยรายได้จากการจำหน่ายเหรียญจะนำมาบรูณะค่ายบางกุ้งและสร้างศาลพระเจ้าตากสิน ณ ค่ายบางกุ้ง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระเจ้าตากสิน วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม 2511 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระเจ้าตากสิน เผด็จศึกค่ายบางกุ้ง สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระเจ้าตากสิน วัดบางกุ้ง สมุทรสงคราม 2511 ทองแดงรมดำ
เหรียญพระเจ้าตากสิน เผด็จศึกค่ายบางกุ้ง สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระเจ้าตากสินมหาราชครึ่งองค์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระเจ้าตากสิน เผด็จศึกค่ายบางกุ้ง ๒๓๑๑"  

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์เขียนว่า "ชัยยะตุภะวัง สัพพะศัตรู วินาศสันติฯ" เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกสร้างค่ายบางกุ้ง" ใต้อักขระยันต์มีอักขระเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๑" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         สำหรับเหรียญพระเจ้าตากสิน นั้นเป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกครบ ๒๐๐ ปีของค่ายบางกุ้งที่พระเจ้าตากสินมหาราชได้มาตั้งค่ายที่วัดบางกุ้ง สมัััยนั้นเรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๑ ก่อนจะรบกับพม่า

         เพื่อประกาศเอกราช ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๐ ทางราชการได้บรูณะวัดใหม่ ทำเป็นค่ายลูกเสือขึ้น(ปัจจุบันได้ยกเลิกค่ายลูกเสือไปแล้ว) พร้อมกับได้สร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ และได้จัดสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินที่ระลึกสร้างค่ายบางกุ้ง ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ ดังประวัติการสร้างเหรียญมีบันทึกของนายเทพ สุนทรศารทูล ผู้สร้างเหรียญดังนี้

           วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อสั่งทำเหรียญ ข้าพเจ้าได้เตรียมเหรียญตัวอย่างแบบต่างๆ และพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าตากสินไปด้วย ได้จัดธูปเทียนดอกไม้พวงมาลัยไปถวายสักการะดวงวิญญาณของพระเจ้าตากสินมหาราชที่อนุุสาวรีย์วงเวียนใหญ่  อธิษฐานขอความเป็นสิริมงคลความสวัสดีมีชัย ปรากฎว่ามีนกฝูงใหญ่บินบ่ายหน้าไปทางเมืองสมุทรสงคราม ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความมั่นใจมากขึ้น 

          กลับสมุทรสงครามในคืนวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าได้ฝันว่ามีเด็กชายคนหนึ่งเป็นเด็กโบราณ อายุประมาณ ๕ ขวบ ได้วิ่งลงไปที่ชายฝั่งแม่น้ำ ข้าพเจ้าตกใจเกรงว่าเด็กจะจมน้ำจึงวิ่งตามไป แต่ปรากฎว่าน้ำในแม่น้ำแห้งขอด เด็กคนน้้นลงไปในแม่น้ำแล้วก็กลับขึ้นบันไดท่าน้ำโดยปลอดภัย ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาก็นึกว่าฝันนี้เป็นนิมิตดีเกี่ยวกับการสร้างเหรียญพระเจ้าตากสิน  

         เพราะคล้ายเรื่องในประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าตากสินยังทรงพระเยาว์ เป็นเด็กวัดเล่นซุกซนพระอาจารย์จึงจับผูกล่ามไว้กับบันไดท่าน้ำแล้วก็จำวัดหลับไป ตื่นขึ้นมาน้ำท่วมบันไดตกใจรีบไปดูก็เห็นบันไดหลุดลอยน้ำขึ้นมา พระเจ้าตากสินยังผูกติดกับบันไดลอยน้ำอยู่ เพราะบุญญาภินิหารของพระเจ้าตากสินจึงทำให้บันไดหลุดลอยน้ำไม่เป็นอันตราย ความฝันนี้ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจมากว่า การสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินคร้ังนี้จะมีพุทธานุภาพในทางแคล้วคลาดจากอุปัทวันตราย  

ภาพถ่ายนายเทพ สุนทรศารทูล
นายเทพ สุนทรศารทูล ผู้สร้างเหรียญพระเจ้าตากสินค่ายบางกุ้ง

          วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการทำเหรียญ เป็นการเหมาะสมจริงๆ แม่พิมพ์แกะเสร็จแล้ว แต่ด้านหลังมีช่องว่างเหลืออยู่ทำให้ไม่งาม ข้าพเจ้าจึงควักเหรียญรูปหน้าเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ ให้ช่างแกะตราหน้าเสือในตรงช่องว่างนั้น ด้วยพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเกิดปีขาล  

         พระองค์ท่านก็นับว่าเป็นยอดทหารเสือไปรบศึกเหนือเสือใต้ไม่เคยแพ้  เมือเสด็จยกทัพมาตีพม่าที่ล้อมค่ายบางกุ้งก็ได้ชัยชนะ  พงศาวดารกล่าวว่า  "พระเกียรติยศปรากฎขจรขจายไปทั่วทุกทิศดุจพระยาไกรราชสีห์อันมีฤทธิ์เป็นที่คร้ามเกรงแก่หมู่สุัตว์ดุจบาททั้งปวง"

          วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายอากาศ มีสมบูรณ์ ได้ออกนิมนต์พระตามวัดต่างๆซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อคลี่ วัดประชาโฆษิตาราม หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง หลวงพ่อเจียง วัดเจริญสุขาราม เป็นต้น   

         ท่านเจ้าคุณเทพสังวรวิมล วัดเจริญสุขาราม ท่านกล่าวว่า การทำพิธีควรจะมีการทำพิธีบวงสรวงบอกเล่าเชื้อเชิญเทวดาเขาด้วย ให้เขาอวยชัยให้พร  เทวดาพวกนี้เขามีฤทธิ์ ไม่บอกเล่าเขาไม่ดี ท่านพูดเป็นนัยๆว่า เทวดามี ๒ อย่าง เทวดาที่มองเห็นและเทวดาที่มองไม่เห็น ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดว่าจะเชื้อเชิญให้ครบถ้วนกระบวนความตามคำแนะนำของเจ้าคุณ 

         ข้าพเจ้าไปนมัสการท่านสมภารเยื่อ วัดบางกุ้ง ขอยืมสถานที่และเครื่องใช้ ข้าพเจ้าเรียนกับท่านว่า วัดอื่นก็สะดวกแต่ไม่ใช้  ตั้งใจจะใช้โบสถ์วัดบางกุ้งทำพิธี ถือเป็นนิมิตว่าพระเจ้าตากสินได้เคยเสด็จมาปราบศึกทีนี่ และเล่าความฝันที่ว่าได้เห็นเด็กชายโบราณนั้นให้ท่านฟังด้วย ท่านสมภารเยื่อฟังแล้วชอบใจมาก 

          ข้าพเจ้าได้อาศัยบารมีท่านเจ้าคุณสมุทรโมลี ช่วยนิมนต์พระสวดพุทธาภิเษกจากวัดพระเชตุพนฯได้ ๔ รูป นิมนต์พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิทยาคุณได้อีก ๒ รูป คือหลวงพ่อแหยม วัดบ้านเลือก โพธาราม หลวงพ่อสุด วัดกาหลง สมุทรสาคร นิมนต์พระวัดปรกได้ ๑๔ รูป พระสวดพุทธาภิเษกได้ ๔ รูป รวม ๑๘ รูป 

           วันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๑๑ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก เวลา ๐๖.๔๕ น. จันทร์เกาะภูมิปาโลฤกษ์ (ฤกษ์ผู้ครองแผ่นดิน) อาทิตย์บริวารสถิตราศีเมษ เป็นมหาอุจ อังคารเดชสถิตราศีเมษเป็นเกษตร พุธเป็นสิริสถิตราศีเมษ เกตุสถิตราศีเมษ ทั้ง ๔ ดวงนี้กุมลัคนา พฤหัสบดีสถิตราศีสิงห์ ศุกร์กาลกิณี  บัดนี้เป็นมหาอุจสถิตราศีมีนเป็นวินาส เสาร์มูละสถิตราศีมีน ราหูสถิตราศีมีน ทั้ง ๓ ดวงนี้เป็นวินาส หนุนลัคนา มฤตยูสถิตราศีกันย์เป็นอริ  

         ผู้รู้ทางโหราศาสตร์โปรดพิจารณาดูว่าดวงนี้เด่นเพียงใด บริวาร เดช ศรี กุมลัคนา อยู่ราศีเมษ เป็นบุญฤทธิ์เด่นมากอยู่แล้ว  ศุกร์กาลกิณีตัวปรปักษ์หรือปัจจามิตร ก็เป็นวินาสเสียแล้ว จะทำอะไรได้ เสาร์ก็เสื่อมฤทธิ์ ราหูก็หมดอิทธิพลทั้งคู่ ไม่ให้โทษมีแต่จะฟื้นขึ้นมาให้คุณหนุนหลังลัคนา ภูมิปาโลฤกษ์ก็ให้คุณในทางมั่นคงถาวรร่มเย็นเป็นสุข 

          ดวงฤกษ์นี้คล้ายดวงกรุงเทพฯ หรือดวงชะตาประเทศไทยที่โหรหลวงได้วางไว้ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อาทิตย์กุมลัคนา เป็นมหาอุจ ตั้งแต่ตั้งกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นต้นมา หมู่อมิตรทำอันตรายกรุงเทพฯมิได้เลย แม้มนตรีใดใหญ่คับเมืองขึ้นมาก็พินาศทุกราย ท่านผู้อ่านประว้ติศาสตร์พงศาวดารกรุงเทพฯ คงได้สังเกตในเรื่องนี้ 

          ท่านผู้รู้อธิบายว่า โหรโบราณท่านจะให้ฤกษ์ที่สำคัญๆ ท่านรอให้ดาวทุกดวงไปชุมนุมกันอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีป  (มีน เมษ พฤกษ) ทั่งสิ้น เช่น ดวงกรุงเทพฯ มีดาวอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปถึง ๖ ดวง รวมท้ังลัคนาด้วย เป็น ๗ ตำแหน่ง แม้จะมีดาววินาสก็ถือว่าโอบอุ้มลัคนา  ล้อมหน้าล้อมหลังมีกำลังมาก แม้ดวงชะตาของบุคคลสำคัญ ถ้ามีดวงดาวอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปมาก ก็มักมีบุญฤทธิ์ เช่น พระเจ้าตากสินมหาราช มี ๔ ดวง สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  มี ๓ ดวง ๔ ลัคนา นายควง อภัยวงศ์ มี  ๔ ดวง  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มี ๕ ดวง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มี ๔ ดวง พระจุลจอมเกล้าฯ มี  ๕ ดวง

          ดวงฤกษ์เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้  มีดวงดาวชุมนุมอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปถึง  ๗ ดวง  รวมท้ังลัคนาด้วยเป็น ๘ ตำแหน่ง เหมือนดวงกรุงเทพฯ  คือ อาทิตย์เป็นมหาอุจกุมลัคนา ศุกร์กาลกิณีเป็นวินาส ราหูมนตรีเป็นวินาส ทั้ง ๔ ดวงนี้ เหมือนกัน ดวงกรุงเทพฯยั่งยืนถาวร ศัตรูทำอันตรายมิได้  มนตรีใดมีอิทธิพลเข้ามาบดบังก็มักพินาศไป ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่า ดวงเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้ จะยั่งยืนถาวร ปราศจากซึ่งภัยพิบัติอุปัทอันตราย ศัตรูหมู่ร้ายก็มักแพ้ภัยพินาศเช่นเดียวกัน

         โดยทำพิธีพุทธาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ที่พระอุโบสถวัดบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐ มีพระเกจิอาจารย์ในยุคนั้นร่วมพุทธาภิเษกทั้งหมด ๕ จังหวัด คือ

         ๑. พระเทพสังวรวิมล (หลวงพ่อเจียง) วัดเจริญสุขาราม จ.สมุทรสงคราม

         ๒. พระราชสมุทรโมลี วัดเพชรสมุทร จ.สมุทรสงคราม 

         ๓. พระครูโพธาภิรมย์(หลวงพ่อแหยม) วัดบ้านเลือก อ.โพธาราม จ.ราชบุรี 

         ๔. พระครูสุนทรวิริยาภรณ์(หลวงพ่อปึก) วัดสวนหลวง จ.สมุทรสงคราม 

         ๕. พระครูโกวิท สมุทรคุณ(หลวงพ่อเนื่อง) วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม 

         ๖. พระครูสมุทรวิจารณ์(หลวงพ่อคลี่) วัดประชาโฆสิตาราม จ.สมุทรสงคราม 

         ๗. พระครูสุวรรณสุนทรคุณ วัดเทพประสิทธิ์คณาวาส จ.สมุทรสงคราม 

         ๘. พระครูสมุทรธรรมสุนทร(หลวงพ่อสุด) วัดกาหลง จ.สมุทรสาคร 

         ๙. พระครูสุนทรธรรมกิจ (หลวงพ่อหยอด) วัดแก้วเจริญ จ.สมุทรสงคราม 

         ๑๐ . พระครูสถิตสมุทรคุณ(หลวงปู่หนู) วัดภุมรินทร์กุฎีทอง จ.สมุทรสงคราม 

         ๑๑. พระครูสมุทรสัททาภรณ์(หลวงพ่อเยื่อ) วัดบางกุ้ง จ.สมุทรสงคราม 

         ๑๒. พระอาจารย์อ่วม วัดเพลง จ.ราชบุรี 

         ๑๓. พระอาจารย์แดง วัดบางเกาะเทพศักดิ์ จ.สมุทรสงคราม 

         ๑๔. พระอาจารย์เล้ง วัดปราโมทย์ จ.สมุทรสงคราม 

         ๑๕.พระพิธีธรรม วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ 

         หลังจากทำพิธีพุทธาภิเษกครบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหรียญจึงได้ทำการแจกจ่ายไป แต่ก็ยังมีเหรียญบางส่วนที่หลวงพ่อเยื่อได้เก็บเหรียญไว้ แล้วนำไปให้พระราชธรรมาภรณ์(หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม) ปลุกเสกอีก ๗ ปี คือตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และไปรับกลับคืนมาเมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ (หลังจากหลวงพ่อเงิน ท่านมรณะภาพแล้ว วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ )



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้