โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม ผู้สร้างเหรียญนาคเกี้ยววัดตรีจินดาวัฒนารามอันโด่งดังของเมืองสมุทรสงคราม

ภาพถ่ายหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม ท่านเป็นผู้ที่สร้างเหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนารามอันโด่งดัง โดยหลวงพ่อเล็ก ได้นำเอายันต์นาคเกี้ยว ซึ่งเป็นยันต์ประจำวัดที่หลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค (วัดตรีจินดาวัฒนาราม) ที่ได้ค้นพบในถ้ำรัฐไทยใหญ่ และได้คัดลอกมาในสมัยที่ท่านเดินธุดงค์

         หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม หรือ พระครูสุตสาร อดีตเจ้าอาวาสวัดตรีจินดาวัฒนาราม ท่านมีนามเดิมว่า เล็ก รัตนไพศาล(แซ่ตัน) เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด โยมบิดาชื่อนายฮวด รัตนไพศาล โยมมารดาชื่อนางจี่ รัตนไพศาล มีภูมิลำเนาอยู่ที่ ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คนโดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

         เมื่อเยาว์วัยท่านได้ศึกษาที่โรงเรียนวัดสามจีน(ชื่อเก่าวัดตรีจินดาฯ) เรียนหนังสือใหญ่หรือที่ในสมัยปัจจุบันเรียกว่าภาษาขอม และเรียนต่อวิชามูลกัจจาญยนะที่วัดเกาะใหญ่ จนเมื่ออายุได้ ๑๖ ปี จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่วัดเกาะแก้ว จนอายุ ๑๘ ปี ได้สึกจากสามเณรไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพค้าขาย

หลวงพ่อเพชร (ปุญญวชิโร) วัดไทรโยค หรือ วัดตรีจินดาวัฒนาราม

          ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ หลวงพ่อเล็ก มีอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสามจีน(วัดตรีจินดาวัฒนาราม) ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับว่า "ปุสฺสเทว" โดยมี

         หลวงพ่อเพชร ปุญญชชิโร วัดไทรโยค เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระครูเลี้ยง วัดเกาะใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทได้จำพรรษาอยู่ที่วัดสามจีนเป็นระยะเวลา ๒ พรรษา จึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดใหม่ยายแป้น ธนบุรี เพื่อไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุฯ ท่าพระจันทร์ พระนคร จนได้นักธรรมตรี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๖ จากนั้นจึงได้รับอาราธนาไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดหวายเหนียว จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงพ่อปิ๋ว เป็นเจ้าอาวาส 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ จึงได้กลับมาเปิดสอนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดสามจีน ซึ่งในระหว่างที่กลับมาที่วัดสามจีนนี้เอง หลวงพ่อเล็กได้เริ่มออกธุดงค์ไปตาม สถานที่ต่างๆเป็นการบำเพ็ญตามสมณวิสัยของบรรพชิต โดยเดินทางไปตามป่าราชบุรี กาญจนบุรี ตาก เชียงราย ติดต่อไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๑ จึงได้กลับวัด

         ซึ่งตอนนั้นหลวงพ่อเพชร พระอุปัชฌาย์ได้เริ่มอาพาธ และถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้อารธนาหลวงพ่อเล็ก ให้ปกครองวัดและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๔

         เมื่อหลวงพ่อเล็ก ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ รวมถึงการเล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของบุตรหลานในพื้นที่ระแวกวัด ท่านจึงได้ริเริ่มให้มีการเรียนการสอนหนังสือขึ้นดังนี้

ภาพถ่ายหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม สมุทรสงคตราม
หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม สมุทรสงคตราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้เปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาไทย ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ศาลาการเปรียญเป็นอาคารเรียน โดยจัดให้พระภิกษุที่มีความรู้เป็นผู้ทำการสอน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากเปิดการเรียนการสอนมาได้ ๔ ปี ท่านก็ได้ขอเปิดเป็นโรงเรียนประชาบาล (เฉลิมรัฐราษฏร์นุกูล) และให้ทางการจัดหาครูมาสอนอย่างเป็นรูปธรรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านได้ปรับปรุงกุฏิสงฆ์ หล่อพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และการสร้างวิหารประดิษฐานพระป่าเลไลย์ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้ทำการเปลี่ยนนามวัดสามจีนเป็น วัดตรีจินดาวัฒนาราม รวมทั้งยังซ่อมพระอุโบสถและหอสวดมนต์ รวมทั้งสร้างสะพานข้ามคลองไทรโยค สร้างสะพานข้ามคลองวัดกลาง สร้างสะพานข้ามคลองบางน้อย ตรงข้ามวัดเกาะแก้ว

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ อัญเชิญพระประธานปูนปั้น ขนาดหน้าตัก ๒.๗๗ เมตร จากวัดกลางใต้ มาประดิษฐานไว้ที่พระวิหาร และภายหลังจึงอัญเชิญมาเป็นพระประธานในโบส์ถ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สร้างพระไตรปิฏกฉบับหลวง จำนวน ๑,๒๕๐ ฉบับพร้อมตู้เก็บจำนวน ๒ ตู้

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ สร้างเป็นหอพระไตรปิฏกชื่อ "หอพระไตรปิฏกเพชรรัตนไพศาลประชากุล" โดยทำการซื้อบ้านของเอกชนมาก่อสร้าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ สร้างธรรมาสน์เทศน์ จำนวน ๒ ธรรมาสน์ แทนของเก่าที่ผุพังลงตามกาลเวลา

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ทำการขยายพื้นที่วัดออกไปโดยทำการซื้อดินของเอกชน ซึ่งติดกับวัด เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๘๑ วา

หนังสือพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม
หนังสืออนุสรณ์ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ อำนวยการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แทนที่หลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม ในพื้นที่ที่ซื้อใหม่ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ และทำการผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ และทำการผาติกรรมโบสถ์หลังเก่าให้วัดหัวตะเข้(วัดชัยมงคล) จังหวัดสมุทรสาคร

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ทำการหล่อพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ขนาดสูง ๖ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว ถวายนามว่า "พระเกตุโมลีร่วงเลิศเทวาฤทธิ์พิชิตมาร" ไว้ประจำวัด

         หลวงพ่อเล็ก ปกครองวัดเรื่อยมาจนมรณภาพลง เมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๐๔.๐๐ น. บันทึกไว้ว่า ท่านได้ให้พระที่พยาบาลพยุงให้ท่านนั่ง แล้วถามว่าสว่างหรือยัง พระตอบว่าตี ๔ แล้ว จากนั้นท่านก็มรณภาพอย่างสงบ นับรวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ๕ วัน ๕๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม

         เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกในคราวผูกพัทธสีมาพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงสี่เหลี่ยมแบบมีหูในตัว โดยจำลองมาจากยันต์นาคเกี้ยวที่หลวงพ่อเพชร คัดลอกมาในช่วงที่ท่านธุดงค์ไปพบในถ้ำ รัฐไทยใหญ่ เป็นเหรียญที่สร้างไว้แจกให้กับผู้ชาย มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ(เล่ากันว่าสร้าง ๑๒ เหรียญ) เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันกับพิมพ์แจกผู้หญิงประมาณ ๘๔,๐๐๐ องค์  

เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย 2500 ทองคำ
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองคำ ของคุณฤทธิ์

เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย ปี พ.ศ. 2500 เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง


เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย 2500 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ของคุณสุพจน์

เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย 2500 ทองแดง
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้ชาย ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปยันต์นาคเกี้ยว ซึ่งเป็นยันต์ประจำวัดตรีจินดาวัฒนาราม ที่คัดลอกมาจากถ้ำในรัฐไทยใหญ่โดยหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค(ชื่อเดิมของวัด)ธุดงค์ไปพบเข้า มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดตรีจินดาวัฒนาราม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๐๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกในคราวผูกพัทธสีมาพระอุโบสถของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว โดยจำลองมาจากยันต์นาคเกี้ยวที่หลวงพ่อเพชร คัดลอกมาในช่วงที่ท่านธุดงค์ไปพบในถ้ำ รัฐไทยใหญ่ เป็นเหรียญที่สร้างไว้แจกให้กับผู้หญิงและเด็ก มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวมกันกับพิมพ์แจกผู้ชายประมาณ ๘๔,๐๐๐ องค์

 
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง 2500 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง


เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง 2500 ทองแดงกระไหล่เงิน
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน
 

เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์แจกผู้หญิง 2500 ทองแดงกระไหล่ทอง เข็มกลัด
เหรียญนาคเกี้ยว วัดตรีจินดาวัฒนาราม พิมพ์กรรมการ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปยันต์นาคเกี้ยว ซึ่งเป็นยันต์ประจำวัดตรีจินดาวัฒนาราม ที่คัดลอกมาจากถ้ำในรัฐไทยใหญ่โดยหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค(ชื่อเดิมของวัด)ธุดงค์ไปพบเข้า

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดตรีจินดาวัฒนาราม ๒๕๐๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ (ในพิมพ์ที่แจกกรรมการจะไม่เจาะหูเหรียญ แต่จะติดเข็มกลัดไว้แทน)

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว เป็นเหรียญที่สร้างไว้แจกให้กับศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อ ถือเป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียวที่ปรากฏหน้าของหลวงพ่อในเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้  

เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม 2510 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า
 
เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม 2510 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเล็กครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุตฺตสาร (เล็ก) ปุสฺสเทว วัดตรีจินดาวัฒนาราม สมุทรสงคราม" ที่คัดลอกมาจากถ้ำในรัฐไทยใหญ่โดยหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค(ชื่อเดิมของวัด)ธุดงค์ไปพบเข้า

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ศิษย์สร้างบูชาคุณหลวงพ่อ  ๒๕๑๐" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแจกงานศพ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว เป็นเหรียญที่สร้างไว้แจกให้กับผู้ที่มาร่วมในงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้


เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม 2514 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแจกงานศพ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
 
เหรียญหลวงพ่อเล็ก  วัดตรีจินดาวัฒนาราม 2514 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม รุ่นแจกงานศพ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเล็กครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุตสาร วัดตรีจินดาวัฒนาราม ๑๔ ก.พ. ๑๔" ซึ่งคือวันที่มีพิธีพระราชทานเพลิงศพของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

          เล่ากันว่าเหรียญนาคเกี้ยว ในสมัยนั้นทางวัดได้สร้างขึ้นมา ๒ พิมพ์คือ เหรียญสี่เหลี่ยมสำหรับแจกผู้ชาย (เน้นคงกระพัน) และเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สำหรับผู้หญิงและเด็ก (เน้นเมตตามหานิยม เป็นพิเศษ) มีพิธีปลุกเสกใหญ่โดยนิมนต์พระเกจิแถบลุ่มแม่น้ำกลองมาอย่างคับคลั่ง โดยเฉพาะศิษย์สายหลวงปู่เพชร เช่น หลวงพ่อเล็ก วัดตรีจินดาวัฒนาราม หลวงพ่อโห้ วัดบางกล้วย และหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ เป็นต้น เมื่อเสร็จพิธีจึงได้ออกให้ทำบุญบูชาในงานผูกพัทธสีมาของพระอุโบสถหลังใหม่ ในราคาองค์ละ ๕ บาท

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้เกิดเพลิงไหม้ศาลาที่เก็บรักษาเหรียญนาคเกี้ยว พร้อมกระดาษใบปลิวโฆษณาของทางวัด ชาวบ้านต่างช่วยกันดับไฟอย่างสุดความสามารถ แต่ไฟได้ไหม้ศาลาเสียหายไปทั้งหลัง พระบูชาต่างๆที่เก็บรักษาอยู่ในศาลาหลอมละลายหมดสิ้น 

         แต่เหรียญนาคเกี้ยว พร้อมกระดาษใบปลิว ไม่ปรากฏว่าโดนอันตรายจากเพลิงไหม้ และเพลิงไหม้ในครั้งนั้น ไม่ได้ลามไปยังกุฏิที่อยู่ข้างๆ เพียงแต่ไหม้ในศาลาเก็บพระเท่านั้น เมื่อชาวบ้านทราบเรื่อง ต่างแห่กันมาบูชาเหรียญนาคเกี้ยว กันจนหมดด้วย นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าหากมีติดบ้านไว้สามารถกันไฟได้.


ข้อมูล : หนังสืออนุสรณ์ในพิธีพระราชทาน​เพลิงศพพระครูสุตสาร(เล็ก ปุสสเทว) ของท่าน​พระครูธรรมธรรัตนะ วัดใหม่ต้นกระทุ่ม

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้