โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค(วัดตรีจินดาวัฒนาราม) เจ้าของอมตะวาจา อยากได้ไปหยิบเอา แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

หลวงพ่อเพชร (ปุญญวชิโร) วัดไทรโยค หรือ วัดตรีจินดาวัฒนาราม

         หลวงพ่อเพชร หรือ พระอธิการเพชร (ปุญฺญวชิโร) วัดไทรโยค ผู้สร้างพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เป็นพระหายากที่น้อยคนนักจะรู้ รวมทั้งยังเป็นผู้ที่นำยันต์นาคเกี้ยวจากพม่ามาเก็บรักษาไว้ที่วัดจนถึงสมัยหลวงพ่อเล็กจึงจัดสร้างเหรียญนาคเกี้ยวอันโด่งดังอีกด้วย 

         นอกจากนี้หลวงพ่อเพชร ท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของลุ่มน้ำแม่กลองที่เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อดังๆ ในเขตลุ่มน้ำแม่กลองหลายองค์เลยทีเดียว

         หลวงพ่อเพชร หรือพระอธิการเพชร วัดไทรโยค เกิดเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ปีชวด ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๙๕ ที่บ้านวัดกลาง ตำบลบางแขยง อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่ออายุได้ ๑๓ ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางใต้ ตำบลไทรโยค (ตำบลบางกุ้งในปัจจุบัน) อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม 
 
ภาพถ่ายหลวงพ่อเพชร (ปุญญวชิโร) วัดไทรโยค หรือ วัดตรีจินดาวัฒนาราม
หลวงพ่อเพชร (ปุญญวชิโร) วัดไทรโยค หรือ วัดตรีจินดาวัฒนาราม

         หลังบรรพชาได้ศึกษาเล่าเรียนวิชา กับพระอธิการดอนเจ้าอาวาส เป็นระยะเวลา ๑ พรรษา จากนั้นจึงไปเรียนวิชากับพระมหาขำ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้าที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพมหานคร

         หลวงพ่อเพชร เมื่อมีอายุครบอุปสมบทได้กลับมาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดกลางใต้ เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ ได้รับฉายาว่า "ปุญฺญวชิโร" โดยมี

         พระอธิการกลัด วัดบางพรหม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระอธิการเที่ยง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอธิการนุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเพชรได้จำพรรษาที่วัดกลางใต้ เป็นเวลา ๒ พรรษา จากนั้นได้ติดตามพระอธิการเที่ยง ที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามจีน (วัดตรีจินดาวัฒนาราม) แต่อยู่จำพรรษาได้ไม่นานนัก หลวงพ่อเพชรก็กราบลาพระอธิการเที่ยง เดินทางเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานคร ยังสำนักเดิม คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 

         จนเมื่อพระอธิการเที่ยงมรณภาพ หลวงพ่อเพชรจึงเดินทางกลับมาร่วมงานฌาปนกิจ ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามของหลวงพ่อเพชร ชาวบ้านและคณะสงฆ์ จึงนิมนต์ให้ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามจีนสืบต่อตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค (วัดตรีจินดาวัฒนาราม) สร้างปี พ.ศ. ๒๔๘๒

         วัดไทรโยค เดิมชื่อว่า "วัดสามจีน" เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ด้านข้างติดปากคลองไทรโยค อีกของวัดด้านติดริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง และด้วยเหตุที่ตั้งวัดอยู่ตรงบริเวณปากคลองไทรโยค ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดไทรโยค"

         เหตุที่ชื่อว่าวัดสามจีน นั้นเพราะมีเรื่องเล่าต่อๆกันมาว่าเป็นวัดที่ชาวจีน ๓ คนพี่น้องได้สร้างถวายในบวรพุทธศาสนา มีประวัติความเป็นมาว่าไว้ว่า มีชาวจีน ๔ คนพี่น้อง เกิดที่เมืองเจียงจิวฮู้ มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน 

         เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตจึงได้ลงเรือสำเภาเดินทางเข้ามาเมืองไทยเพื่อหางานทำ เมื่อแรกมาถึงนั้นได้อาศัยวัดเป็นที่พักพิง ก่อนขยับขยายมาปลูกบ้านเรือนในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบอาชีพเพาะถั่วงอกขายจนร่ำรวยมีเงินทอง

วัดตรีจินดาวัฒนาราม จ.สมุทรสงคราม

         ใน ๔ คนพี่น้องนี้ คนที่ ๒ มีชื่อไทยว่า ด้วง ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดบางสะแก แล้วย้ายมาจำพรรษาที่วัดกลางใต้ ส่วนอีก ๓ คนยังคงประกอบอาชีพต่อไป และได้ทำนุบำรุงวัดวาอารามต่างๆ ด้วยความศรัทธาและรำลึกเสมอว่าเมื่อแรกมาเมื่อไทยนั้นได้อาศัยวัดเป็นที่พักพิง 

         ว่ากันว่าเพราะความที่ทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาจนเป็นพอพระหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ‘ขุน’ ซึ่งต่อมาชาวจีนทั้ง ๓ คนได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๘ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ จากนั้นจึงได้นิมนต์พระอธิการด้วงพี่ชายคนรองมาเป็นเจ้าอาวาสวัดรูปแรกของวัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดสามจีน"

         เรื่อยมาในสมัยที่พระครูสุตาสาร (เล็ก ปุสฺสเทโว) เป็นเจ้าอาวาส จึงทำการเปลี่ยนชื่อวัดอีกครั้งว่า "วัดตรีจินดาวัฒนาราม" จวบจนถึงปัจจุบัน.

วิหารวัดตรีจินดาวัฒนาราม
 
          เมื่อหลวงพ่อเพชร ได้เป็นเจ้าอาวาสท่านพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรือง และได้ชื่อว่าเป็นผู้สอนวิปัสสนากรรมฐาน และพระปริยัติธรรม ที่มีชื่อเสียง หลวงพ่อมักได้รับนิมนต์ให้ไปเทศน์และแสดงธรรมอยู่บ่อยๆ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ลูกศิษย์ที่ศึกษาร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อเพชร ในกาลต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดดังหลายรูป เช่น

         พระครูสุตสาร (เล็ก ปุสฺสเทโว) วัดตรีจินดาวัฒนาราม 
         พระครูสมุทรสุธี (สุพจน์ ธมฺมสโร) วัดกลางเหนือ (หลาน)
         พระครูบุญศิริวัฒน์ (ไป๋) วัดปรกรังสฤษดิ์ 
         พระอธิการพับ วัดบางกล้วย 
         พระครูพิชิตสมุทรการ (ศักดิ์ ฐิตธมฺโม) วัดไทร 
         พระอาจารย์สืบ วัดกุฎีทอง

         หลวงพ่อเพชร หรือ พระอธิการเพชร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค

         ตะกรุดโทนของหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค

         ในส่วนของวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเพชร ได้สร้างขึ้นมาแจกจ่ายแก่ลูกศิษย์ลูกหานั้น ตะกรุด ถือเป็นเครื่องรางของขลังที่หลวงพ่อสร้างขึ้นเป็นลำดับแรกๆ เพราะวัตถุในการสร้าง ตลอดจนขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากมายเหมือนการสร้างพระเครื่อง 

         โดยตะกรุดของหลวงพ่อเพชร เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านจะใส่ไว้ในบาตรน้ำมนต์ขนาดใหญ่ โดยท่านได้กล่าวไว้ว่า "ของกูทำไว้ดี ใครอยากได้ไปหยิบเอา" ซึ่งผู้ที่มาขอตะกรุดจากท่านมีจำนวนมาก โดยแต่ละคนต้องควานมือลงไปหยิบในบาตรน้ำมนต์เอาเอง แต่บางคนไม่สามารถหยิบขึ้นมาได้ ทั้งที่ในบาตรฯนั้นใส่ตะกรุดไว้หลายดอกทีเดียว นับเป็นเรื่องที่อัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

         พระปิดตาหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ลักษณะเป็นพระปิดตารูปทรงห้าเหลี่ยมขนาดเล็ก เป็นพระปิดตาเนื้อผงคลุกรัก เท่าที่พบเห็นอยู่ด้วยกัน ๒ สี คือสีดำ และน้ำตาลแก่ สมัยก่อนพวกเซียนพระพบเจอแลัวไม่ทราบว่าเป็นของท่าน จึงนิยมเอาไปยัดว่าเป็นของหลวงพ่อศุข วัดปากคลองฯ ด้วยเหตุที่พระมีอายุเก่าและยังขายได้ราคาดีอีกด้วย

พระปิดตาหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค เนื้อผงคลุกรัก

         ด้านหน้า เป็นรูปพระปิดตา ภควัมปติ ประทับนั่งบนฐานเขียง

         ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปใบสาเกแบบมีหูในตัว แม้จะสร้างขึ้นหลังจากที่หลวงพ่อเพชรมรณภาพไปแล้ว ๑๐ ปี โดยได้จัดสร้างขึ้นเมื่อคราวหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อเพชรเท่าองค์จริงไว้เป็นที่สักการะของชาวบ้าน แต่ก็ได้พระเกจิที่เก่งกาจในสมัยร่วมปลุกเสก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ไว้สำหรับแจกจ่ายและร่วมทำบุญในงานวัดดังกล่าว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่นแรก ปี 2482-ผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร นั่งเต็มรูป ด้านบนรูปเหมือนเป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า "นิมิตตัง สาธุรูปนัง กตัญญูกตเวทิตา"’ ด้านล่างรูปเหมือนเป็นอักษรไทยว่า "หลวงพ่อวัดไทรโยค ปุญฺญชรเพ็ชร พ.ศ. ๒๔๘๒"

         ด้านหลัง แกะเป็นลวดลายมณฑปครอบ บรรจุอักขระขอมว่า "อะระหัง ติตัง วิปัสสนา นิ พา ระนัง อาระ ราโหติ"

         ในการปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้ ทางวัดได้นิมนต์​พระเกจิอาจารย์ดังหลายรูป ที่มีบันทึกไว้และสามารถสืบค้นได้มีดังนี้

         หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานในพิธี 
         หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม 
         หลวงพ่ออ่วม วัดไทร 
         หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ 
         หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ 
         หลวงพ่อเลี้ยง วัดเกาะใหญ่ 
         หลวงพ่อทองสุข วัดราษฎร์บูรณะ 
         หลวงพ่ออาน วัดกลางบางแขยง 
         และหลวงพ่อเหรียญ วัดลาดหญ้า

         มาร่วมปลุกเสกอย่างคับคั่ง​ เรื่องพุทธคุณดีเด่นทาง คลาดแคล้ว คงกระพัน ตามตำหรับพระสายแม่กลอง เป็นที่เสาะแสวงหาของชาวแม่กลองเป็นอย่างยิ่ง.

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในสมัยของหลวงพ่อแช่ม เป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มตัดขอบ รูปใบสาเกแบบมีหูในตัวแบบเหรียญรุ่นแรก แต่ให้วิธีการแกะบล็อคใหม่ทั้งหน้าและหลัง ปัจจุบันเล่นหาสับสนเป็นเหรียญรุ่นแรกไปแล้ว เช่าหาระวังผิดราคา เหรียญนี้มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงผิวไฟเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่น2 ปี 2512
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่น2 ปี 2512 ผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดไทรโยค รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเพชร นั่งเต็มรูป ด้านบนรูปเหมือนเป็นอักขระขอมอ่านได้ว่า "นิมิตตัง สาธุรูปนัง กตัญญูกตเวทิตา"’ ด้านล่างรูปเหมือนเป็นอักษรไทยว่า "หลวงพ่อวัดไทรโยค ปุญฺญชรเพชร พ.ศ. ๒๔๘๒" คำว่า เพชร ไม่มีไม้ไต่คู้

         ด้านหลัง แกะเป็นลวดลายมณฑปครอบ บรรจุอักขระขอมว่า "อะระหัง ติตัง วิปัสสนา นิ พา ระนัง อาระ ราโหติ"


เกร็ดความรู้

         วัดกลางใต้ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง ส่วนตำบลไทรโยคนั้น มีความเป็นมาคือ แต่เดิมบริเวณตำบลบางกุ้งเป็นหมู่บ้านเรียกกันว่า ‘บ้านบางกุ้ง’ เพราะแต่ก่อนในหมู่บ้านย่านนี้มีกุ้งชุกชุมมาก ชาวบ้านจึงประกอบอาชีพดักกุ้งมาทำกะปิขาย ต่อมาเมื่อมีจำนวนประชากรและครัวเรือนมากขึ้นจึงตั้งเป็นตำบลบางกุ้ง และเป็นตำบลใหญ่ตำบลหนึ่งในสมัยนั้น ต่อมาทางราชการได้แยกตำบลนี้เป็น ๒ ตำบล

         โดยกำหนดให้ทางทิศเหนือตั้งแต่คลองหมื่นขจรขึ้นไปเรียกว่า ‘ตำบลไทรโยค’ โดยเรียกตามชื่อวัดหนึ่งซึ่งมีต้นไทรขึ้นอยู่ริมน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า ‘วัดไทรโยค’ (ปัจจุบันคือวัดตรีจินดาวัฒนาราม) มีกำนันประจำตำบลคือ ‘ขุนสิทธิไทรโยค (เชย)’ ส่วนทางทิศใต้กำหนดตั้งแต่คลองหมื่นขจรลงมาถึงคลองแควอ้อม เรียกว่า ‘ตำบลวัดโบสถ์’ กำนันตำบลชื่อ ‘ขุนวัดโบสถ์บัญชร (พรหมดำรง)’ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงยุบให้เป็นตำบลเดียวกันเรียกว่า ‘ตำบลบางกุ้ง’.
 
 

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้