โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย ราชบุรี ศิษย์เอกหลวงปู่ปาน วัดบางคนทีนอก

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี
หลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี

          หลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย หรือ พระอธิการอ่ำ อิสิทินฺโน ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเกตุน้อยอัมพวัน โดยประวัติความเป็นมาของท่านนั้น ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงคำบอกเล่า ของผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งมีการเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า 

         หลวงพ่ออ่ำ ในอดีตก่อนที่ท่านจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัต ท่านเป็นอดีตขุนโจรมาก่อน มีชื่อเรียกกันว่า "เสืออ่ำ" โดยท่านหนีการจับกุมของทางการ ต่อมาเมื่อได้มาพบกับพระอุปัชฌาย์ปาน เจ้าอาวาสวัดบางคนทีนอก เสืออ่ำเกิดมีความศรัทธาในตัวหลวงพ่อปาน เป็นอย่างมาก

         จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์ และมีความคิดแน่วแน่ว่าจะกลับใจเลิกเป็นโจร และตัดขาดจากอบายมุขทั้งปวง ตั้งใจประพฤติดี อยู่ในศีลธรรม ท่านจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางคนทีนอก ตำบลกระดังงา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "อิสิทินฺโน" โดยมี

         พระอธิการปาน วัดบางคนทีนอก เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทหลวงพ่ออ่ำ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดบางคนทีนอก และเป็นกำลังสำคัญช่วยงานพระอุปัชฌาย์ปาน สร้างศาสนสถานเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งสร้างอุโบสถ วัดเกตุน้อยอัมพวัน 

         วัดเกตุน้อยอัมพวัน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๙๔ หมู่ ๙ ตำบลคุ้งกระถิน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ 

         ตามประวัติที่บันทึกไว้นั้น กล่าวถึง คุณตาเกตุ คุณยายน้อย เป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง ได้น้อมนำถวายที่ดินของตน แด่พระอุปัชฌาย์ปาน โสปาโก อดีตเจ้าอาวาสวัดบางคนทีนอก(ปากคลอง) เพื่อสร้างวัด 

          โดยท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ท่านนี้เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระเกจิชื่อดังมากมายอาทิเช่น พระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี เจ้าของเหรียญพระอริยสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย เป็นต้น

ภาพถ่ายหลวงพ่อปาน วัดบางคนทีนอก สมุทรสงคราม
หลวงพ่อปาน วัดบางคนทีนอก สมุทรสงคราม

          เมื่อหลวงพ่อปานได้รับถวายที่ดินแล้ว จึงได้ร่วมกันกับพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ และใกล้เคียง ช่วยกันระดมทุนสร้างอุโบสถ ตลอดถึงเสนาสนะต่างๆ โดยเมื่อสร้างอุโบสถ แล้วเสร็จจึงได้แจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ตามลำดับ 

         ขออนุญาตตั้งวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ โดยใช้ชื่อวัดว่า "วัดเกตุน้อยอัมพวัน" เพื่อเป็นอนุสรณ์ในกุศลศรัทธาของคุณตาเกตุ และคุณยายน้อย ที่ได้ถวายที่ดินอันเป็นที่สวนของตนเพื่อสร้างวัดไว้ในพระพุทธศาสนา แต่ชาวบ้านมักเรียกชื่อวัดกันสั่นๆว่า "วัดเกตุน้อย"

         มีเรื่องเล่าว่าทางการได้ติดตามมายังวัดเกตุน้อยอัมพวัน เพื่อจับกุมเสืออ่ำ ซึ่งขณะนั้นท่านกำลังช่วยงานพระอุปัชฌาย์ปานอยู่ 

         หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ปาน จึงได้ขอเอาไว้ ว่า "บัดนี้เสืออ่ำไม่มีแล้ว มีแต่พระอ่ำ" และรับรองกับทางการว่าจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบพระภิกษุอ่ำ เองในฐานะพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่ออ่ำ เมื่อบวชเรียนแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ศึกษาวิชาความรู้ต่างๆจากสำนักของพระอุปัชฌาย์ปาน จนมีความรู้ความสามารถในการบริหารปกครอง เป็นที่พึ่งให้กับพุทธศาสนิกชนได้ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเกตุน้อยอัมพวัน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ 

         ท่านได้พัฒนาเสนาสนะสร้างความเจริญให้กับวัด ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ และท่านยังเป็นที่รักและเคารพนับถือของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

          มีบันทึกของวัดบางคนทีนอกว่า หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ปาน มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗

         หลวงพ่ออ่ำ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่แก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ รวมเวลาที่ท่านปกครองวัด ๒๖ ปี

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน

         เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานประกอบพิธีฌาปนกิจศพของหลวงพ่ออ่ำ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ห่วงเชื่อมแบบโบราณ ตัวเหรียญเป็นเหรียญข้างกระบอก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี ปี 2462
เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่ออ่ำ ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปของท่านมีอักขระภาษาขอมเป็นชื่อของท่านอ่านได้ว่า " อิสีตินฺโน" ซึ่งคือฉายาของท่าน รอบเหรียญมีอักขระยันต์ภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ ชา ลี ติ สะ ทะ วิ ปิ ปะ สะ อุ พุท ธะ สัง มิ"

         ด้านหลัง เป็นอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "ทุ สะ มะ นิ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปะนะกิจ (ท่านอ่ำ) ๒๔๖๒"

         เหรียญหลวงพ่ออ่ำ หลังหลวงพ่อเปลี่ยน วัดเกตุน้อย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ตัวเหรียญเป็นเหรียญตัดขาด มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ หลังหลวงพ่อเปลี่ยน วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี 2511
เหรียญหลวงพ่ออ่ำ หลังหลวงพ่อเปลี่ยน วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๑

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่ออ่ำ ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปของท่านมีอักขระภาษาขอมเป็นชื่อของท่านอ่านได้ว่า " อิสีตินฺโน" ซึ่งเป็นฉายาของท่าน รอบเหรียญมีอักขระยันต์ภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ ชา ลี ติ สะ ทะ วิ ปิ ปะ สะ อุ พุท ธะ สัง มิ"

         ด้านหลัง เป็นรูปหลวงพ่อเปลี่ยน ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปของท่านมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๑๑ เกตุน้อย" รอบเหรียญมีอักขระภาษาขอม และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูเปลี่ยน สิริวทฒโน อายุ ๗๔ ปี

         เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อย รุ่นย้อนยุค

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นเหรียญย้อนยุคที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ตัวเหรียญเป็นเหรียญตัดขาด มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี ปี พ.ศ. 2520 ย้อนยุค เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่ออ่ำ วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ย้อนยุค เนื้อเงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่ออ่ำ ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปของท่านมีอักขระภาษาขอมเป็นชื่อของท่านอ่านได้ว่า " อิสีตินฺโน" ซึ่งคือฉายาของท่าน รอบเหรียญมีอักขระยันต์ภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ ชา ลี ติ สะ ทะ วิ ปิ ปะ สะ อุ พุท ธะ สัง มิ"

         ด้านหลัง เป็นอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "ทุ สะ มะ นิ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปะนะกิจ (ท่านอ่ำ) ๒๔๖๒"

หลวงพ่อดำ หรือ พระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตไพรี วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี
หลวงพ่อดำ หรือ พระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตไพรี วัดเกตุน้อยอัมพวัน ราชบุรี

          ภาพในวัดเกตุน้อยอัมพวัน มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งมีนามว่า หลวงพ่อดำ หรือ พระพุทธสัมฤทธิ์พิชิตไพรี ประดิษฐานอยุ่ภายในพระอุโบสถ เล่ากันว่า ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ตรงกับปีมะแม ในรัชสมัย รัชกาลที่ ๕ ชาวประมงกลุ่มหนึ่งได้ออกลากอวนหาปลา บริเวณปากอ่าวแม่กลอง 

         ขณะที่จะลากอวนขึ้นมานั้น เกิดเหตุขัดข้องไม่สามารถลากขึ้นมาได้ เนื่องจากติดวัตถุบางอย่าง ไต้ก๋ง จึงใช้ลูกเรือดำน้ำลงไปสำรวจ จึงได้พบว่าเป็นพระพุทธรูป ปรากฏว่ามีเฉพาะองค์พระ ปราศจากพระเกศและฐาน ชาวประมงกลุ่มนั้นหลังจากนำพระพุทธรูปขึ้นมาได้แล้ว 

         จึงได้นำมาถวายให้กับพระอุปัชฌาย์ปาน โสปาโก วัดบางคนทีนอก ซึ่งช่วงนั้นท่านพระอุปัชฌาย์ปาน ได้ทำการสร้างวัดเกตุน้อยอัมพวัน อยู่เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ของชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน 

         ท่านจึงได้นำพระพุทธรูปมาประดิษฐานในอุโบสถ วัดเกตุน้อยอัมพวัน และได้ทำการหล่อพระเกศ และฐานเสียใหม่ให้เรียบร้อยสมบูรณ์แบบ 

         และเนื่องด้วยเนื้อของจากพระพุทธรูปเป็นเนื้อสัมฤทธิ์มีสีดำ ชาวบ้านจึงขนานนาม ท่านว่า "หลวงพ่อดำ" ตั้งแต่สมัยนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้.
 

ข้อมูล :  
๑. พระครูประกาศธีรคุณ ( อำนวย ฐิตวํโส ) เจ้าคณะตำบลคุ้งกระถิน(ธ) เจ้าอาวาส วัดเกตุน้อยอัมพวัน รูปปัจจุบัน
๒. คุณพ่อสมศักดิ์ แสงอนันต์ ( อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๙ วัดเกตุน้อยอัมพวัน )
๓. ร.ต.ท.เสนาะ แก้วดี
๔. ส.อบต.สมุทร อุณหะ

ผู้รวบรวม และ เรียบเรียง ข้อมูล
๑. พระครูธรรมธรรัตนะ ( เจ้าอาวาสวัดใหม่ต้นกระทุ่ม ราชบุรี )
๒. นายพงศ์เทพ แสงอนันต์
 
เจ้าของภาพต้นฉบับพระอธิการอ่ำ อิสิทินฺโน : นายจตุวิทย์ นาคผจญ
 
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้