โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของแดนสยาม

พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี

           พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ ๓ ของวัดสัตตนารถปริวัตร ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๓๗ - ปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ผู้นิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาว่า เหรียญของท่านถือเป็นเหรียญพระสงฆ์ เหรียญแรกของประเทศไทย ถึงแม้ว่าในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์โดยทั่วไปแล้ว จะไม่นิยมเล่นหาเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกเนื่องในการฌาปนกิจศพ หรือที่เรียกว่า "เหรียญตาย" กันนัก 

           แต่มีข้อยกเว้นก็เฉพาะ "เหรียญตาย ๒ เหรียญ" ที่กลับได้รับการยอมรับและนิยมสะสมอย่างกว้างขวาง นั่นคือ เหรียญที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ เสด็จในกรมฯ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และเหรียญพระพุทธวิริยากรที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๘

           พระพุทธวิริยากร (จิตร) ท่านเกิดเมื่อวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม ปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ณ บ้านตำบลคลองยายแฝง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โยมบิดารับราชการ แต่มิได้มีการจดบันทึกชื่อไว้ ท่านได้เริ่มศึกษาอักขระสมัยที่สำนักพระอาจารย์บ่าย วัดบางน้อย อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี

           จนท่านมีอายุครบบวช จึงได้อุปสมบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๑ ณ พัทธสีมาวัดตาล หรือชื่อในปัจจุบันคือวัดอมรินทราราม ตำบลพงสวาย อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายา "ฉันโน" โดยมี  

           หลวงพ่อปาน วัดบางคนทีนอก เป็นพระอุปัชฌาย์  

           หลังจากอุปสมบทแล้วได้อยู่จำพรรษาที่วัดตาล ต่อมาได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสัตตนารถปริวัตร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อปาน วัดบางคนทีนอก สมุทรสงคราม
หลวงพ่อปาน วัดบางคนทีนอก สมุทรสงคราม

           ในระหว่างที่อุปสมบท ท่านศึกษาด้านพระธรรมวินัยเป็นที่แตกฉาน แล้วจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมเพิ่มเติม ณ สำนักพระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง) เมื่อสำเร็จแล้วจึงเดินทางกลับไปจำพรรษาที่วัดตาลดังเดิม

           ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่ใฝ่ในสมถะ และมีวัตรปฏิบัติฝ่ายธรรมยุตที่เคร่งครัดตามหลักของพระธรรมวินัย มีเมตตาธรรม และกรุณาธรรม จึงเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสและเคารพรัก ของเหล่าพุทธศาสนิกชนที่ได้มากราบนมัสการ และรับฟังธรรมะจากท่าน รวมถึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหากันเนืองแน่นทั้งชาวราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ท่านดูแลปกครองคณะสงฆ์ ให้มีความประพฤติดีปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และพัฒนาวัดวาอารามให้เจริญรุ่งเรืองอยู่เสมอ

พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี

           ยิ่งกว่านั้นท่านยังเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก ท่านได้รับการแต่งตั้งและ สถาปนาสมณศักดิ์เรื่อยมาตั้งแต่พระสมุห์จิตร เจ้าอาวาสวัดตาล พระครูอุดมธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีสุริยวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ฝ่ายธรรมยุต มณฑลราชบุรี เจ้าอาวาสวัดสัตตนารถปริวัตร และสุดท้ายได้เป็นพระราชาคณะที่พระพุทธวิริยากร

           พระพุทธวิริยากร (จิตร) ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ สิริอายุ ๖๘ ปี พรรษา ๔๗ และได้รับการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพด้วย.

วัตถุมงคลของพระพุทธวิริยากร(จิตร)

           วัตถุมงคลที่ทันท่านไม่ได้มีการสร้างไว้ จะมีก็แต่เหรียญที่สร้างขึ้นในภายหลังจากที่ท่านมรณะภาพแล้ว ที่นิยมในปัจจุบันมีอยู่ ๒ รุ่น คือเหรียญเต่า และเหรียญพระแก้ว

ปี พ.ศ. ๒๔๕๘

           เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) หรือเหรียญเต่ารุ่นแรก

           สร้างปี พ.ศ. ๒๔๕๘  ถือว่าเป็นเหรียญพระสงฆ์เหรียญแรกของประเทศไทย สร้างเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยเหรียญนั้นผลิตจากประเทศญี่ปุ่น

ภาพถ่ายพระพุทธวิริยากร (จิตร ฉนฺโน) ซึ่งใช้เป็นแบบในการแกะแม่พิมพ์เพื่อสร้างเหรียญ

           เนื่องจากมัคทายกของวัดฯ มีบุตรชายทำงานด้านการช่างที่ญี่ปุ่น เป็นคนดำเนินการจัดสร้างให้มี ๒ ชนิด คือเหรียญปั๊มสร้างจากประเทศญี่ปุ่น ส่วนเหรียญหล่อสร้างขึ้นในประเทศเไทย โดยสร้างคนละครั้งกัน โดยเหรียญปั๊มเนื้อทองแดงสร้างก่อนพอแจกหมด จึงทำเหรียญหล่อขึ้นมาอีก 

           ซึ่งเหรียญทั้งหมดปลุกเสกโดยพระครูวินัยธรรมอินทร์ (พระที่ชาวจังหวัดราชบุรีเคารพนับถือมาก และพากันขนานนามท่านว่า "หลวงปู่เฒ่าอินทร์เทวดา") และพระคณาจารย์ชื่อดังของยุคนั้นหลายองค์ด้วยกัน เหรียญนี้มีการสร้างด้วยกันหลายเนื้อ ทั้งเงิน ทองแดง สัมฤทธิ์ และชินเงิน ลักษณะรูปทรงของเหรียญจะคล้ายรูป "เต่า" หูเชื่อม สามารถแบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ด้วยกันคือ พิมพ์พุทธไม่มีหัว และพิมพ์พุทธมีหัว

เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี รุ่นแรก 2458 พุทธมีหัว ทองแดง
เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พิมพ์พุทธมีหัว ของคุณเก่งคลองขวาง
เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร ราชบุรี รุ่นแรก 2458 พุทธมีหัว ทองแดง-ข้าง
เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พิมพ์พุทธมีหัว ของคุณเก่งคลองขวา

เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พิมพ์พุทธมีหัว ของคุณโอ๊ต บางแพ
เหรียญพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พิมพ์พุทธไม่มีหัว
เหรียญหล่อพระพุทธวิริยากร(จิตร) วัดสัตตนารถปริวัตร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พิมพ์พุทธมีหัว

           ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระพุทธวิริยากรครึ่งองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอมอ่านว่า "อะสังวิสุโลปุสะพุภะ สังวินาปุกยะปะ"

           ด้านหลัง ส่วนบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า "ทุ สะ มะ นิ" คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งก็คือ ยอดหัวใจพระไตรปิฎก ช่วงกลางเป็นอักษรไทยว่า "ที่ระลึกในการฌาปะนะกิจ" ต่อลงมาเป็นอักขระขอม อ่านว่า "ฉันโน" ซึ่งเป็นฉายาของท่าน ล่างสุดเป็นปี พ.ศ. ที่จัดพิธีฌาปนกิจศพพระพุทธวิริยากร คือ "๒๔๕๘"

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑

           เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต

           ในส่วนของเหรียญพระพุทธวิริยากรหลังพระแก้วมรกตนั้น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยเหรียญรุ่นนี้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษก ณ วัดราชบพิตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งเป็นงาน "พิธีหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช เจ้ากรมหลวงชินวรณ์สิริวัฒน์" โดยมีพระยาศรีสุรสงคราม เป็นแม่งาน และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เมื่อครั้งสมณศักดิ์เป็น “พระวันรัต” เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ในพิธีครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ ที่พระเถราจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษเข้าร่วมพิธีอย่างมากจำนวนถึง ๑๐๘ รูปสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และทองแดงกระไหล่เงิน สามารถจำแนกออกตามหลักความนิยมเป็น ๓ พิมพ์ด้วยกันคือ คือ ๑. พิมพ์อู่ทอง (โชคลาภ) ๒. พิมพ์สุโขทัย (เมตตามหานิยม) ๓. พิมพ์เชียงแสน (มหาอุตม์) มีจำนวนการสร้างรวมกันทั้งหมดประมาณ ๑๕,๐๐๐ เหรียญ

           เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์อู่ทอง

           ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง มีทั้งที่เป็นกระไหล่ทอง และกระไหล่เงิน เชื่อกันว่ามีพุทธคุณโดดเด่นด้านโชคลาภ จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์อู่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๘๑

           ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระพุทธวิริยากรนั่งเต็มองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธวิริยากร"

           ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลององค์พระแก้วมรกต พาดผ้าสังฆาฎิไม่มีลวดลาย แบบพระสุโขทัย (จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์) ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแก้วมรกต"

           เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์สุโขทัย

           ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง มีทั้งที่เป็นกระไหล่ทอง และกระไหล่เงิน เชื่อกันว่ามีพุทธคุณโดดเด่นด้านทางด้านเมตตามหานิยม จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์สุโขทัย ปี พ.ศ. ๒๔๘๑

           ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระพุทธวิริยากรนั่งเต็มองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธวิริยากร"

           ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลององค์พระแก้วมรกต พาดผ้าสังฆาฎิปลายสังฆาฎิอ่อนช้อยสวยงาม แบบพระสุโขทัย (จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์) ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแก้วมรกต"

           เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์เชียงแสน

           ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ จัดสร้างด้วยเนื้อทองแดง มีทั้งที่เป็นกระไหล่ทอง และกระไหล่เงิน เชื่อกันว่ามีพุทธคุณโดดเด่นด้านมหาอุตม์ จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้

เหรียญพระพุทธวิริยากร หลังพระแก้วมรกต พิมพ์เชียงแสน ปี พ.ศ. ๒๔๘๑

           ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปเหมือนพระพุทธวิริยากรนั่งเต็มองค์ ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพุทธวิริยากร"

           ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลององค์พระแก้วมรกต พาดผ้าสังฆาฎิลายตาราง แบบพระเชียงแสน (จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์) ล้อมรอบด้วยอักขระขอม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระแก้วมรกต"

           พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมา วัตถุมงคลของท่าน เด่นทางด้าน เมตตามหานิยม และด้านทำธุรกิจค้าขาย นอกจากนี้ยังมีเรื่องคล้าดแคล้ว.



หมายเหตุ : วัดตาล หรือ วัดอมรินทราราม เป็นวัดสายธรรมยุติกนิกาย แห่งแรกของจังหวัดราชบุรี

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้