โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่กล่อม วัดขนอน พระเกจิผู้สร้างหนังใหญ่โบราณของไทย

หลวงปู่กล่อม หรือ พระครูศรัทธาสุนทร วัดขนอน ราชบุรี

         หลวงปู่กล่อม วัดขนอน หรือ พระครูศรัทธาสุนทร แห่งวัดขนอน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของลุ่มน้ำแม่กลองที่เก่งในด้านศิลปเชิงช่างที่โดดเด่น โดยท่านเป็นผู้ที่ริเริ่มฟื้นฟูการทำหนังใหญ่ ที่หายสาปสูญไปในสมัยอยุธยาให้กลับมาโลดเแล่นอีกครั้ง

         นอกจากนี้เหรียญยันต์เฑาะห์ของท่าน ยังจัดว่าเป็นเหรียญหายากที่มีค่านิยมที่สูงของจังหวัดราชบุรีอีกเหรียญหนึ่งด้วย

         หลวงปู่กล่อม ท่านเปนพระที่โด่งดังของเมืองราชบุรี แต่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกประวัติที่ชัดเจนของหลวงปู่เอาไว้ ทราบแค่เพียงว่าท่านเกิดในราวปี พ.ศ. ๒๓๙๑ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ หลวงปู่กล่อม ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดขนอน (วัดกานอน) ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "จนฺทโชโต" โดยไม่มีการจดบันทึกว่าผู้ใดเป็นพระอุปัชฌาย์ 

         หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปุ่กล่อม ท่านได้จำพรรษาที่วัดขนอน เรื่อยมาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและคาถาอาคมต่างๆจากพระอาจารย์คง เจ้าอาวาสวัดกานอนในสมัยนั้น จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ต่อมาพระอาจารย์คง หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อช้างเจ้าอธิการวัดกานอน ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่กล่อม ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดขนอน ตั้งอยู่ที่บ้านหมู่ ๔ ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ หรือก่อนหน้านั้น 

         เดิมชื่อ "วัดกานอน" ด้วยเหตุที่มีชื่อเช่นนี้เพราะว่า ที่ดินบริเวณนี้มีป่าไม้แดง ไม้ยาง และมีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ ได้แก่ เสือ เก้ง กวาง เม่น ลิง ค่าง บ่าง ชะนี นกพันธุ์ต่างๆ เช่น นกอ้ายงั่ว นกกาบบัว เป็นต้น 

         แต่มีนกชนิดหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากคือ นกกา ในเวลากลางวันจะบินไปอาหารตามลำน้ำแม่กลอง และพักเกาะตามต้นไม้ในวัดซึ่งอยู่ใต้วัดขนอนนี้ประมาณ ๒ กิโลเมตร 

         ในตอนเย็นมักจะกลับมานอนที่วัดขนอน ผู้คนจึงเรียกวัดที่นกกาไปเกาะนี้ว่า วัดกาเกาะ และวัดที่กาไปนอนนี้ว่า "วัดกานอน" หรือ "วัดกานอนโปราวาส"

         จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่เล่าว่า แต่เดิมพื้นที่บริเวณหน้าวัดขนอนแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งด่านเก็บภาษีอากร 

         ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนค้าขายสินค้าต่างๆ ที่ล่องขึ้นมาขายจากปากแม่น้ำแม่กลอง เรียกว่า "ด่านขนอน" มีการเก็บจังกอบชนิดหนึ่งเพื่อเก็บภาษีเข้าท้องพระคลังเรียกว่า "สิบหยิบหนึ่ง" 

         ต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ มีข้าราชการมาสำรวจและสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสทางชลมารค จากไทรโยคมาตามลำน้ำแม่กลองจนถึงเมืองราชบุรี 

         หลวงพ่อกล่อม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดขนอน ได้กล่าวว่า "อายหลวงท่านว่า ชื่อวัดวาอารามยังเอาชื่อสัตว์มาตั้ง เห็นควรให้เปลี่ยนชื่อจะดีกว่า" 

         ด้วยเหตุนี้ วัดกานอนจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดขนอนโปราวาส" ตามชื่อสถานที่ด่านเก็บภาษีอากร ที่มีอาณาบริเวณติดกับวัด และเมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้านจึงใช้ชื่อนี้ตลอดมา แต่ชาวบ้านมักเรียกสั้นๆ ว่า "วัดขนอน"

หลวงปู่กล่อม หรือ พระครูศรัทธาสุนทร วัดขนอน ราชบุรี

         หลวงปู่กล่อม ท่านเป็นผู้ริเริ่มสร้างหนังใหญ่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยหลวงปู่ท่านมีความสามารถในด้านเชิงช่างและการแกะสลัก โดยสมัยนั้นที่วัดขนอนก็มีหนังใหญ่อยู่บ้างแล้ว เรียกกันว่าหนังเดี่ยว ซึ่งมีลักษณะตัวไม่ใหญ่เรียกว่าหนังกลาง

         ประกอบกับที่ช่วงนั้นหลวงปู่กล่อมมีความสนิทสนมกับนายอู๋ ผู้ที่เคยเป็นโขน อยู่ในคณะของพระแสนฟ้า เจ้าเมืองราชบุรี จึงช่วยกันทำหนังใหญ่ให้เป็นสมบัติของวัด 

         โดยมีช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง ร่วมกันทำตัวหนังไว้สำหรับรอการแกะลาย โดยมีครูอั๋งเป็นช่างสลัก และยังมีชาวบ้านอีก ๓ คนเป็นช่างเขียน หนังชุดแรกที่ทำสำเร็จคือ หนังชุดหนุมานถวายแหวน

         ต่อมาจึงมีการสร้างเพิ่มขึ้นอีกหลายชุด โดยหนังวัวที่นำมาแกะจะเป็นหนังวัวที่ชาวบ้านนำมาถวายหลวงปู่กล่อม 

         สมัยนั้นคณะหนังใหญ่จะเป็นชาวบ้านในละแวกวัดขนอนนั้นแหล่ะเป็นผู้แสดง ซึ่งทุกคนมีอาชีพหลักคืออาชีพทำนา ถ้าว่างเว้นก็จะมาฝึกซ้อมและรับจ้างแสดงหนังใหญ่ หากมีผู้ใดต้องการให้มีการแสดงก็จะว่าจ้างไปทางวัดอีกทอดหนึ่ง

หลวงปู่กล่อม หรือ พระครูศรัทธาสุนทร วัดขนอน ราชบุรี

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ หลวงปู่กล่อม ท่านยังได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถของวัดขนอน ขึ้นใหม่ โดยมีช่างชาวจีนเป็นแม่งาน ในการก่อสร้างท่านเป็นผู้ออกแบบ คิดประดิษฐ์ผูกลายประตู หน้าต่างหน้าบัน ฯลฯ ทั้งหมด 

         โดยบานประตูมีการลงรักปิดทอง ลวดลายดอกไม้ ส่วนล่างเป็นภาพทวารบาลยืนถืออาวุธ ซุ้มประตูตอนบนมีจารึกอักษรไทยคำว่า "เจกหัว" ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นชื่อช่างชาวจีน 

         ด้านหน้าพระอุโบสถมีบันไดเตี้ยๆ ขึ้นทางด้านข้าง เสาบันไดมีภาพจิตรกรรมจีนและอักษรจีน ด้านหนึ่งมีอักษรไทยว่า "โบษเจ๊กทำงาม"

         หลวงปู่กล่อม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรรภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ นับสิริอายุได้ ๙๔ ปี ๗๒ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงปู่กล่อม วัดขนอน

          เหรียญหลวงปู่กลอม วัดขนอน รุ่นแรก

           สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปพัดยศ หูเชื่อม จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะ เงิน ทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างมิได้ระบุไว้

เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่กล่อม วัดขนอน เนื้อเงิน 2466
เหรียญหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่นแรก เนื้อเงิน ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ของคุณบางแก้ว
เหรียญหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่นแรก เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖

          ด้านหน้า มีอักขระยันต์เฑาะห์หนึงตัว ขมวดอยู่ในพื้นเหรียญอย่างสวยงาม

          ด้านหลัง เรียบในบางเหรียญมีรอยจาร

          เหรียญหลวงปู่กลอม วัดขนอน รุ่นสอง

          จัดสร้างขึ้นหลังจากที่หลวงปู่กล่อมได้มรณภาพลงแล้ว ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อยรูปพัดยศ หูเชื่อมแบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรก แต่ด้านหลังจะมีอักขระยันต์ จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างมิได้ระบุไว้

เหรียญหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่น ๒ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า มีอักขระยันต์เฑาะห์หนึงตัว ขมวดอยู่ในพื้นเหรียญอย่างสวยงาม

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ"

          เหรียญหลวงปู่กลอม วัดขนอน รุ่น ๓

          จัดสร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลังจากที่หลวงปู่กล่อมได้มรณภาพลงแล้ว ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดง และทองแดงกะไหล่ทอง จำนวนการสร้างมิได้ระบุไว้

เหรียญหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่น ๓ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า มีอักขระยันต์เฑาะห์หนึ่งตัว ขมวดอยู่ในพื้นเหรียญอย่างสวยงาม

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

          รูปหล่อหลวงปู่กลอม วัดขนอน รุ่นแรก

          จัดสร้างขึ้นก่อน ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลังจากที่หลวงปู่กล่อมได้มรณภาพลงแล้ว ลักษณะเป็นพระรูปหล่อลอยองค์แบบหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง ผู้สร้างคือพระอาจารย์ฮิ้น เจ้าอาวาสองค์ต่อจากหลวงปู่ฯ และได้นำเอาผงเถ้ากระดูกของหลวงปู่กล่อม อุดไว้ใต้ฐานและปิดทับด้วยโลหะตะกั่ว จำนวนการสร้างมิได้ระบุไว้ 

รูปหล่อหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่นแรก
รูปหล่อหลวงปู่กล่อม วัดขนอน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองเหลือง

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงปู่กล่อมนั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครู(กล่อม)"

          ด้านหลัง ฐานเขียงด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานมีรอยอุดตะกั่ว

          หลังการมรณภาพลงของหลวงปู่กล่อม หนังใหญ่ก็เข้าสู่ช่วงเสื่อมถอยลง ด้วยขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงมีผลทำให้หนังใหญ่ไม่ได้รับความนิยม ประกอบกับหลวงปู่กล่อมผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงได้มรณภาพลง ยิ่งทำให้หนังใหญ่เสื่อมถอยลงจนถึงขีดสุด หนังใหญ่ที่วัดสร้างขึ้นจึงถูกนำมาเป็นไว้ที่ใต้กุฏิของวัดจนเสื่อมสภาพเสียหายไปเป็นอันมาก 

          ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์ตัวหนังใหญ่ทั้งหมด และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน 

          โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด และได้นำหนังใหญ่ชุดใหม่ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ณ โรงละครแห่งชาติ และทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป

ภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา กับวัดขนอน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้มหาวิทยาลัยศิลปากรสร้างหนังใหญ่ขึ้นมาใหม่

         สำหรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอนนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินการ โดยได้ปรับปรุงบูรณะหมู่เรือนไทยที่เป็นกุฏิสงฆ์และศาลาการเปรียญ 

         ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์หนังใหญ่เพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาตัวหนังใหญ่ชุดเก่าอย่างถูกวิธี สามารถใช้เป็นแหล่งค้นคว้าวิทยาการแขนงนี้แก่ผู้สนใจทั่วไป 

         ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ – ๒๕๔๒ ได้ดำเนินการตกแต่งภายในเพื่อเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในการร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

         วัดขนอนได้เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจได้เข้าศึกษา เยี่ยมชมนิทรรศการหนังใหญ่ พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ ตลอดจนการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้

         เพื่อสนองโครงการตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบต่อไป

         ปัจจุบันวัดขนอน เป็นวัดสำคัญของประเทศไทย ที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการแสดงหนังใหญ่ และได้รับรางวัลจากทางยูเนสโก 

         ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของโลกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ และได้รับการยกย่องจาก ยูเนสโกให้เป็น ๑ ใน ๖ ชุมชนดีเด่น ที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกเชิงนามธรรม.




โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้