โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ต้นแบบเหรียญสายราชบุรีที่ไม่ควรพลาด

หลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

         หลวงพ่อฟัก หรือ พระครูสังฆกิจบริหาร วัดบ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ท่านเป็นคนจีนแคระ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ ที่บ้านห้วยลึก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากประวัติที่สืบค้นได้ความว่า หลวงพ่อฟักท่านบรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่มีอายุได้เพียง ๑๒ ปี เพื่อเป็นการทดแทนคุณให้กับบิดาของท่านที่ถึงแก่กรรม และบวชเรื่อยมาโดยไม่ลาสิกขา

         ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๑ หลวงพ่อฟักมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทที่วัดบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้รับแายาว่า "อุตโม" โดยมี

         พระอธิการโพธิ์ วัดบ้านโป่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         หลวงพ่อเข็ม วัดม่วง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอาจารย์ดำ(อินทร์)​ วัดตาลบำรุงกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลวงพ่อฟัก เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็ปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำวัตรสวดมนต์อยู่เป็นนิจย์ มั่นคงอยู่ในศีลในธรรม ฉันเจ ไม่ทานเนื้อสัตว์ เพื่อจะไม่เบียดเบียนสัตว์ทุกชนิด จนกิตติคุณของหลวงพ่อท่านปรากฏเล่าลือกันว่า ท่านเป็นพระผู้ทรงวิทยาคุณหลายด้าน และมีคุณธรรมอันวิเศษ เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้านและประชาชนโดยทั่วไปโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ หรือยากดีมีจน

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ได้เสด็จประทับแรมที่วัดบ้านโป่ง และมีบันทึกที่สมเด็จฯ กล่าวถึงวัดตอนหนึ่งว่า "วัดบ้านโป่งที่เสด็จประทับแรมนี้มีพระสงฆ์ ๑๙ รูป เป็นที่อยู่ของพระสังฆกิจบริหาร เจ้าคณะแขวง มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นรมณียสถาน ทั้งการรักษาความสะอาดเรียบร้อยดี" ซึ่งแสดงให้ทราบว่าวัดบ้านโป่งขณะนั้นเจริญรุ่งเรือง สะอาด เงียบสงบ วัดหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งวัดที่ดีได้เพราะมีหลวงพ่อฟัก ปกครองวัดนี่เอง

         หลวงพ่อฟัก ท่านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ ตามประวัติที่คนเฒ่าคนแก่ในระแวกวัดบ้านโป่งเล่าให้ฟังว่ามีคนมาลักขโมยเอาขนุนที่ปลูกอยู่ในวัดไปลูกหนึ่ง หลวงพ่อถามศิษย์ว่ารู้ไหมว่าใครมาเอาไป ถ้ารู้ให้ไปบอกมันรีบมา หลวงพ่อจะได้ยกให้ไม่เป็นบาป หากไม่มาขอครั้งหน้ามาขโมยอีกคงได้ตกลงมาแน่ กาลล่วงเลยต่อมา ผู้ที่ลักขนุนได้กลับมาลักขนุนอีกครั้งผลปรากฏว่าร่วงหล่นมาตามวาจาของท่านร้องโอดโอยเดือดร้อน พระเณร ต้องมาช่วยกันดูแลรักษา.

ภาพถ่ายหมู่ ซ้ายคือหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ขวาคือหลวงพ่อเข็ม วัดม่วง

         หลวงพ่อฟัก หยุดรถไฟได้ ในสมัยก่อนที่ต้องเดินทางโดยรถไฟ และเส้นทางรถไฟจะต้องผ่านหน้าวัดบ้านโป่ง เวลาหลวงพ่อจะมาขึ้นรถไฟ ถ้าหลวงพ่อยังมาไม่ถึง รถไฟจะไปไม่ได้ต้องรอให้ท่านขึ้นก่อน จึงจะออกรถได้ ถึงกับมีคนเล่าลือกันว่าหลวงพ่อฟักหยุดรถไฟได้

         หลวงพ่อฟัก ผู้ที่นายช่างฝรั่งยังนับถือ เรื่องเกิดขึ้นเพราะนายช่างฝรั่งที่คุมการสร้างทางรถไฟ เมื่อมีเวลาว่างก็มักจะออกไปยิงนกอยู่เป็นประจำ มีอยู่วันหนึ่งเข้าไปยิงนกถึงในวัดบ้านโป่ง แต่ยิงอย่างไรปืนก็ไม่สามารถยิงออกได้เพราะด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อฟัก เมื่อนายช่างฝรั่งผู้นั้นพิสูจแล้วว่าหลวงพ่อนั่นเก่งกาจจริงเพราะยิงปืนอย่างไรก็ไม่ออกซักนัด จึงยอมศิโรราบนับถือหลวงพ่อฟักจากใจจริงถึงขนาดต้องมาใส่บาตรให้หลวงพ่อทุกๆเช้า

         นอกจากนี้หลวงพ่อฟัก ยังเก่งกาจเรื่องยาสมุนไพร โดยหลวงพ่อจะทำยาอายุวัฒนะที่ทำจากสุมนไพรหายากต่างๆมาดองรวมกันไว้ในโอ่ง  ชาวบ้านที่นับถือหรือเป็นโรคภัยไข้เจ็บจะมาตักยาไปกินกันเสมอ เป็นยาบำรุงกำลังและอายุวัฒนะขนาดวิเศษที่ขึ้นชื่อมาก

         หลวงพ่อฟัก ได้เป็นกำลังสำคัญของการพระศาสนาตลอดมากระทั่งถึงราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ จึงได้มรณภาพ สิริอายุได้ ๖๐ ปี พรรษาที่ ๔๐

วัตถุมงคลของหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง

ปี พ.ศ. ๒๔๖๑

         เหรียญปั๊มหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง

         เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง รุ่นนี้สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ จากการสอบถามประวัติแล้วได้ความว่า สร้างขึ้นภายหลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว โดยลูกศิษย์ของหลวงพ่อชื่อ "พระครูชื่น" เป็นผู้จัดสร้างเพื่อแจกศิษยานุศิษย์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ จำนวนประมาณ ๑,๐๐๐ เหรียญ สมัยก่อนนิยมแยกเป็น ๓ พิมพ์ ได้รับความนิยมเหมือนกันทั้งสามพิมพ์ โดยแยกพิมพ์จากบล็อคด้านหลังของเหรียญ

         เหรียญปั๊มหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง บล็อค ๑ รัศมีสลับเล็ก

         ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย มีหูเชื่อมสำหรับห้อยพระ สร้างด้วยเนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พิมพ์เส้นรัศมีสลับเล็ก

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฟักแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีโบว์ ปลายโบว์มีตัวเลข "๒๔๖๑" บอกปีที่สร้าง กลางโบว์มีอักขระขอมเป็นฉายาของท่าน อ่านได้ว่า "อุตโม" ด้านบนมีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

         ด้านหลัง จารึกอักขระยันต์ประกอบไปด้วย ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์หัวใจธาตุทั้งสี่ ยันต์พุทธสังมิ ด้านบนสุดของเหรียญมีอักขระยันต์ตัว อุ เหนือตัว อุ มีรัศมีโดยพิมพ์นี้เส้นแฉกรัศมีจะสั้นยาวสลับกันหัวตัวอุ ม้วนลึก ด้านล่างมีโบว์ภายในโบว์มีอักษรภาษาไทยอ่านว่า "ให้ไว้เปนที่ระฤก"

         เหรียญปั๊มหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง บล็อค ๒ รัศมีสลับใหญ่

         ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย มีหูเชื่อมสำหรับห้อยพระ สร้างด้วยเนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พิมพ์เส้นรัศมีสลับใหญ่

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฟักแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีโบว์ ปลายโบว์มีตัวเลข "๒๔๖๑" บอกปีที่สร้าง กลางโบว์มีอักขระขอมเป็นฉายาของท่าน อ่านได้ว่า "อุตโม" ด้านบนมีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

         ด้านหลัง จารึกอักขระยันต์ประกอบไปด้วย ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์หัวใจธาตุทั้งสี่ ยันต์พุทธสังมิ ด้านบนสุดของเหรียญมีอักขระยันต์ตัว อุ เหนือตัว อุ มีรัศมีโดยพิมพ์นี้เส้นแฉกรัศมีจะสั้นยาวสลับกันแต่ยาวกว่าพิมพ์แรก หัวตัวอุม้วนสั้น ด้านล่างมีโบว์ภายในโบว์มีอักษรภาษาไทยอ่านว่า "ให้ไว้เปนที่ระฤก"

         เหรียญปั๊มหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง บล็อค ๓ รัศมีใหญ่

         เข้าใจว่าน่าจะปํ๊มหลังสุดเพราะบล็อคนี้เมื่อปั๊มไปแล้ว ตาของหลวงพ่อเริ่มชำรุดเสียหาย จนเรียกกันว่า บล็อคตาปิด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มข้างเลื่อย มีหูเชื่อมสำหรับห้อยพระ สร้างด้วยเนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อฟัก วัดบ้านโป่ง ปี พ.ศ. ๒๔๖๑ พิมพ์เส้นรัศมีใหญ่

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อฟักแบบครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีโบว์ ปลายโบว์มีตัวเลข "๒๔๖๑" บอกปีที่สร้าง กลางโบว์มีอักขระขอมเป็นฉายาของท่าน อ่านได้ว่า "อุตโม" ด้านบนมีอักขระยันต์ล้อมรอบไปกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "อาปามะจุปะ ทีมะสังอังขุ สังวิธาปุกะยะปะ"

          ด้านหลัง จารึกอักขระยันต์ประกอบไปด้วย ยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ยันต์หัวใจธาตุทั้งสี่ ยันต์พุทธสังมิ ด้านบนสุดของเหรียญมีอักขระยันต์ตัว อุ เหนือตัว อุ มีรัศมีโดยพิมพ์นี้เส้นแฉกรัศมีจะยาวไล่ระดับกัน ตัวอุหนาใหญ่ ด้านล่างมีโบว์ภายในโบว์มีอักษรภาษาไทยอ่านว่า "ให้ไว้เปนที่ระฤก"

         พระครูชื่น ภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูโยคาภิรมย์" ตำแหน่งเจ้าคณะแขวง เมื่อจัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญเสร็จแล้ว ได้นำไปถวายพระอุปัชฌาย์เข็ม วัดม่วง แผ่เมตตาจิตปลุกเสก ฉะนั้นวัตถุมงคลเหรียญพระครูสังฆกิจบริหาร (ฟัก) จึงน่าจะเป็นรูปแบบตัวอย่างของเหรียญในย่านจังหวัดราชบุรี ที่สร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นมา.



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้