โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ ราชบุรี เจ้าของเหรียญหล่อของคลองดำเนิน

หลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ ราชบุรี

         หลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ หรือ พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์ วัดโคกบำรุงราฎรษ์ ตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ท่านว่าไม่เป็นสองรองใครในยุคนั้น ความเก่งของท่านนั้นเอาเป็นว่าขนาดนักบวชวัดคริตส์จะนิมนต์ท่านไปฉันท์ข้าวและสวดทุกงานปี และมิหนำซ้ำสร้างเหรียญนักบุญอันตนที่วัดคริตส์สร้างยังต้องให้หลวงพ่อจุ่นเป็นผู้เสก

         หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ เกิด ณ พื้นที่บ้านวัดแก้ว ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ โยมบิดาชื่อนายทิม ใบบน โยมมารดาชื่อนางลำใย ใบบน ในสมัยเด็กๆท่านเรียนหนังสือกับพระอธิการแจ้ง วัดแก้ว ท่านสามารถอ่านได้ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอมตั้งแต่สมัยเด็กๆ ต่อมาท่านได้ย้ายมาอยู่กับลุงและป้าที่ ตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงพ่อจุ่น มีอายุครบ ๒๓ ปี ลุงกับป้าถึงจัดการเรื่องบวชให้ ณ พัทธสีมาวัดโคกบำรุงราฎรษ์ ตำบลดอนกรวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "รตนลาโภ" โดยมี

         หลวงพ่อฮั้ว วัดกลางวังเย็น เป็นพระอุปัชฌาย์ 
         พระอธิการแจ้ง วัดโคกบำรุงราฎรษ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
         พระอาจารย์ชม วัดกลางวังเย็น เป็นพระอนุสาวนาจาย์

         เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดโคกบำรุงราฎรษ์นานถึง ๑๐ พรรษา ต่อมาบิดาป่วยท่านจึงกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดแก้ว เป็นระยะเวลา ๘ พรรษา เพื่อที่จะได้ใกล้ชิดและดูแลโยมบิดา หลังจากโยมบิดาท่านสิ้นชีวิตแล้วจัดการงานศพเสร็จ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดโคกบำรุงราฎรษ์ดั่งเดิม

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์เกิด เจ้าอาวาสองค์เก่าของวัดโคกบำรุงราษฎร์ ท่านได้ลาสิกขาไป ชาวบ้านจึงนิมนต์หลวงพ่อจุ่น ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลังจากที่หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม ได้มรณภาพลง หลวงพ่อจุ่นจึงรับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่านัด สืบแทน

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลวงพ่อจุ่น ท่านได้รับตำแหน่งพระครูชั้นประทวน

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ หลวงพ่อจุ่น ท่านได้รับตำแหน่งพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ "พระครูมงคลรัตนาภิรักษ์"

         หลวงพ่อจุ่น ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์

         เหรียญหล่อหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณทรงเสมา แบบมีหูในตัว เหรียญสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้กับญาติโยมที่ช่วยผ้าป่า เพื่อนำเงินมาบูรณะวัด มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจุ่น ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ นั่งสมาธิเต็มองค์ ด้านบนมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อจุ่น รตนลาโภ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโคกบำรุงราษฏร์ ๒๕๐๙"

         เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาย่อมุมขนาดเล็ก แบบมีหูในตัว ขาวบ้านมักเรียกว่าเหรียงยแจกแม่ครัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจุ่นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อจุ่น"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโคกบำรุงราษฏร์"

         เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลม แบบมีหูในตัว เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์และงานทำบุญอายุครบ ๗๒ ปีของหลวงพ่อจุ่น มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจุ่น วัดโคกบำรุงราษฏร์ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจุ่นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมงคลรัตนภิรักษ์ วัดโคกบำรุงราษฏร์"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานฉลองสมณศักดิ์ทำบุญอายุครบ ๖ รอบ ๒๕๑๔" 

         หลวงพ่อจุ่น เป็นพระเกจิที่นับว่าเก่งทางวิชาอาคมมาก ยิ่งเรื่องด้านคงกระพันชาตรีแล้วนับว่ามั่นใจได้ถึงขนาดหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง ยังยกย่องว่าท่านเก่งกาจนักหาใครเทียบได้ยากยิ่ง และยิ่งพูดถึงปาฏิหารย์การหยุดลมหนุดฝน  ธงกันฝนท่านถือว่ายอดนักแล หลายต่อหลายครั้งที่ท่านแสดงให้คนได้เห็นว่าลมฝนมาแรงๆท่านเรียกให้เอาธงท่านมาเสกแป๊ปเดียวลมฝนหยุดทันตา

         และตอนที่ท่านสร้างโบสถ์หลังใหม่ ท่านเอาธงขึ้นจนฝนไม่ตกบริเวณนั้นเป็นปี จนชาวบ้านเริ่มจะเดือดร้อนอาจารย์พร ต้องมาขอให้ท่านเอาธงลงฝนถึงได้ตกตามปกติ

         ลุงแกละศิษย์ใกล้ชิดของหลวงพ่อจุ่น ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนที่ท่านสร้างเหรียญเพื่อหาเงินทำบุญ แกได้เดินทางไปกับหลวงพ่อจุ่น โดยลุงแกละจะทำหน้าที่ขับรถให้ท่านเวลาไปไหนมาไหนอยู่เป็นประจำ

         มีอยู่วันหนึ่งหลวงพ่อจุ่นท่าน ได้ไปที่ปราณบุรีเพื่อหาผ้าป่า ชาวไร่สัปปะรดถามว่าเหรียญท่านแน่จริงหรือ ท่านจึงให้ลุงแกละแขวนเหรียญของท่านเอาไว้

         แล้วให้ชาวไร่สัปปะรด ลองเอาปืนมายิง ปรากฎว่าปืนยิงไม่ออก จนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้านต่างพากันมาขอเหรียญหล่อของท่าน แต่ท่านไม่ให้ใครเลยสักเหรียญ และกลับวัดเสียดื้อๆ

         ปรากฏว่าวันงานผ้าป่าที่วัดมีคณะผ้าป่า เดินทางมาจากปราณบุรี ด้วยกันถึงสองคันรถบัส เมื่อมาถึงชาวบ้านปราณบุรีเหล่านั้นก็ได้ช่วยกันถากหญ้าพัฒนาวัด และร่วมทำบุญ เพื่อจะขอเหรียญหล่อของท่านเอาไปบูชา

         นอกจากนี้หลวงพ่อจุ่น ท่านเห็นความสำคัญของการศึกษามาก ท่านจะรับเลี้ยงเด็กกำพร้าและส่งให้เรียนหนังสือจนจบ และมีหลายคนที่ได้ดิบได้ดี และส่วนที่มาบวชเป็นพระอีกหลายรูปที่ได้เป็นเจ้าอาวาส

         แม้กระทั่งหลวงพ่อพร เจ้าอาวาสวัดโคกบำรุงราษฏร์ องค์ต่อมาก็คือเด็กกำพร้าหนึ่งในจำนวนมากที่หลวงพ่อจุ่น ท่านเอามาส่งเสียให้เรียนหนังสือนั่นเอง.


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้