โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อวัน วัดดอนคา ราชบุรี อีกหนึ่งเหรียญดีของราชบุรีที่น่าสะสม

ภาพถ่ายหลวงพ่อวัน วัดดอนคา ราชบุรี กำลังขี่เจ้าโพธิ์
หลวงพ่อวัน วัดดอนคา ราชบุรี

           หลวงพ่อวัน วัดดอนคา หรือ พระครูธรรมสาทิศ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนคา ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองอาคมอีกรูปหนึ่งของชาวบางแพ ราชบุรี

         ในสมัยก่อนบริเวณวัดดอนคานี้เป็นป่า และมีบ่อนำ้เก่าแก่ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อศาล" จะเป็นบ่อน้ำที่สัตว์ทั้งหลายลงมากินน้ำ ที่แปลกคือเป็นบ่อที่น้ำแห่งนี้ไม่เคยแห้ง และตามยอดไม้ต่างๆที่อยุ่บริเวณบ่อศาลนี้จะเป็นที่อาศัยของฝูงนกแร้ง

         ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่อยู่อาศัยจะเป็นพวกลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) เจ้าอาวาสของวัดจึงเป็นเชื้อสายลาวโซ่งด้วย เดิมวัดตั้งอยู่คนละฝั่งคลองกับปัจจุบันนี้ (ปัจจุบันวัดเก่าเป็นสถานีอนามัย)

         ต่อมาในช่วงที่พระครูธรรมสาทิศ (หลวงพ่อวัน) เป็นเจ้าอาวาส จึงได้ทำการย้ายมาสร้างพระอุโบสถในสถานที่ปัจจุบัน โดยการบริจาคที่ของนายผง มียอด ซึ่งเป็นลาวโซ่ง

         หลวงพ่อวัน ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ แต่ไม่มีการบันทึกว่าเกิดเมื่อวันที่เท่าไหร่และโยมบิดาโยมมารดาชื่อว่าอะไร ทราบแต่เพียงว่าเดิมท่านบวชและจำพรรษาอยู่ที่วัดตากแดด โดยมี


         หลวงพ่อแพร วัดตากแดด เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ พระอาจารย์ส่าง เจ้าอาวาสวัดดอนคา ได้มรณภาพลง ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนิมนต์หลวงพ่อวัน ให้มาเป็นเจ้าอาวาสที่วัดดอนคานี้ 

         หลวงพ่อวัน ท่านเป็นพระที่มีวิริยะอุตสาหะ จนสามารถสร้างพระอุโบสถได้สำเร็จ จากเดิมที่วัดย้ายมามีแค่ศาลาไม้หลังเล็กๆและกุฏิเพียงไม่กี่หลัง ด้วยความที่ท่านเป็นพระที่กว้างขวางและมีสหมิกธรรมเป็นพระเถระผู้ใหญ่มากจากการออกธุดงค์แลช่วยงานกิจของสงฆ์ในงานต่างๆ ท่านจึงสามารถสร้างพระอุโบสถเสร็จและศาสนสถานในวัดได้แล้วเสร็จโดยเร็ว 

          หลวงพ่อวัน ท่านสร้างโบสถ์เสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ และทำการปิดทองฝังลูกนิมิตในปี พ.ศ. ๒๕๐๐  และในงานนั้นก็ได้มีการนำเหรียญเสมาของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม มาแจกแค่คนที่มาทำบุญในงานอีกด้วย

         ในสมัยที่หลวงพ่อวัน เป็นเจ้าอาวาส สมเด็จพระสังฆราชวาสน์วาสโน เสด็จมาวัดดอนคาถึงสองครั้งสองครา และได้นำควายหนึ่งตัว(เจ้าโพธิ์) และวัวสิบตัวมาให้หลวงพ่อวันดูแล ควายที่สมเด็จพระสังฆราชวาส นำมาให้นั้นมีลักษณะแปลกกว่าควายทั่วๆไป และถูกต้องตามตำราของควายมีบุญ

         ควายทั่วไปตัวจะสีดำสนิทหรือถ้าเป็นควายเผือกตัวก็จะสีขาว แต่ควายตัวนี้มีลักณษะเด่นคือ หน้าผากเป็นสีขาว (หน้าโพธิ์) ขามีปลอกขนเป็นสีขาว(ขากำไล) ปลายหางเป็นสีขาว(หางดอก) ที่เรียกตามตำราของควายมีบุญคือ "หน้าโพธิ์ ขากำไล หางดอก" ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อวันจึงตั้งชื่อมันว่าเจ้า"โพธิ์" 

          เป็นที่น่าอัศจรรย์คือเจ้าโพธิ์ตัวนี้จะมีอำนาจในการดูแลสัตว์ทั้งวัด ไม่ว่าจะเป็นการต้อนฝูงวัว ร้องเรียกหมู ไก่ให้เข้าที่นอน และที่เห็นจะอัศจรรย์มากที่เรียกได้ว่าเป็นสัตว์คู่บุญหลวงพ่อคือ ตกเย็นหลวงพ่อวันจะขึ้นไปนั่งทำสมาธิบนหลังเจ้าโพธิ์ทุกวัน เป็นเวลานานนับหลายชั่วโมง เจ้าโพธิ์มันก็จะยืนนิ่งอยู่อย่างนั้น 

          หลวงพ่อวัน ท่านจึงมีวัตถุมงคลที่เป็นรูปถ่ายขี่ควาย ที่เลื่องลือด้านความแคล้วคลาดยิ่งนัก (คนขับวินมอเตอร์ไซด์นิยมใช้กันมาก) ด้วยที่หลวงพ่อวันท่านแสดงสิ่งประหลาดเหล่านี้จึงเป็นที่นับถือของชาวบ้านมากทั้งในระแวกวัดดอนคาและจังหวัดใกล้เคียง 

ภาพถ่ายหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี
หลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ราชบุรี

          ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ หลวงพ่อวัน ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ "พระครูธรรมสาทิศ" ซึ่งเดิมเป็นของหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก อีกด้วย


         หลวงพ่อวัน วัดดอนคา ท่านมรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นับรวมสิริอายุได้ ๖๘ ปี ยังความโศกเศร้าเสียใจมาสู่ชาวบ้านวัดดอนคาเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อวัน วัดดอนคา

         เหรียญหลวงพ่อวัน วัดดอนคา รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อวัน วัดดอนคา ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อวัน วัดดอนคา ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวัน ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาธิศ"

         ด้านหลัง มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดดอนคา ต.ดอนคา ๒๕๐๖"

         เหรียญหลวงพ่อวัน วัดดอนคา รุ่น ๕ รอบ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อแจกในคราวทำบุญอายุหลวงพ่อ ๖๐ ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อวัน วัดดอนคา รุ่น ๕ รอบ ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อวัน ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาธิศ ๒ (วัน) ครบ๕รอบ๒๕๒๒ วัดดอนคา ต.ดอนคา อ.บางแพ จ.ราชบุรี"

         ด้านหลัง มีรูปหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสาทิศ ๑ (แม้น) วัดใหญ่โพธิ์หัก ๒๔๗๔"

         เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหมอ ออกวัดดอนคา

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว โดยเหรียญนี้หลวงพ่อเงิน ให้นำมาแจกที่วัดดอนคา เพื่อสมนาคุณให้แก่ผู้ที่บริจาคเงินเข้าวัดดอนคา มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหมอ ออกวัดดอนคา ปี พ.ศ. 2500-2505 เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหมอ ออกวัดดอนคา ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดงรมดำ

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหมอ ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ เหนือยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพอเงิน"          

         วัตถุมงคลที่เป็นเครื่องรางอีกอย่างหนึ่งของท่านที่หายากมากคือตระกรุดกระดูกแร้ง จากการที่มีชาวบ้านวางยาเบื่อหมาตายเป็นจำนวนมาก แร้งก็จะลงมาจิกกินหมาที่ตายแต่ด้วยหัวหน้าแร้งไม่ลงมาจิกกินก่อนทำให้สมุนแร้งหิวทนไม่ไหว ลงมาจิกกินก่อนและตายจำนวนมาก 

         หลวงพ่อจึงนำกระดูกแร้งมาทำตระกรุด หลวงพ่อวันท่านเก่งเรื่องเครื่องรางของคลังมากยิ่งตะกรุดสายสิญจ์ที่คล้องสวมหัว ใครมีไว้ติดตัวเดินทางปลอดภัยดีนักแล


 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง




***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้