โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร พระเกจิยุคเก่าศิษย์หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี

หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร กาญจนบุรี
หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร กาญจนบุรี

         หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร หรือ พระปลัดซ้ง (อินฺทสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาเพชร ท่านเป็นคนบ้านทุ่งสมอ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ มีนามเดิมว่า ซ้ง สงวนศักดิ์ โยมบิดาชื่อนายพุก สงวนศักดิ์ เป็นคนเชื้อชาติจีน โยมมารดาเป็นคนเชื้อสายไทยชื่อนางเย็น สงวนศักดิ์ ท่านมีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน ๑๑ คน เป็นชาย ๔ หญิง ๗ โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๑๐ 

         โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเล็กๆอยู่ โยมมารดาจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูพวกบุตรแต่ผู้เดียว ถึงกระนั้นก็ได้เลี้ยงดูจนเติบโตมาด้วยดี เมื่อท่านอายุได้ ๑๐ ปีเศษ โยมมารดาได้นำไปฝากท่านอาจารย์รอด วัดทุ่งสมอ เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและขอม ตามประเพณีของไทยในครั้งนั้น เพราะว่าในครั้งนั้นตามชนบทยังไม่มีโรงเรียน ถ้าผู้ใดอยากให้บุตรหลานของตนเล่าเรียน ก็นำไปฝากวัดให้พระสอนให้ 

         ท่านได้เล่าเรียนหนังสือไทยและขอมกับอาจารย์รอด จนอ่านออกเขียนได้ แล้วก็อยู่ปฏิบัติอาจารย์เรื่อยๆมา ต่อมาโยมมารดาได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้าน "เพ็ญพาด" ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี จึงได้ขอลาท่านอาจารย์ติดตามโยมมารดาออกจากวัดไป เพื่อช่วยทางบ้านประกอบอาชีพ อาจารย์รอดก็ได้อนุญาตให้ออกจากวัดไปด้วยดี 

         เมื่อท่านอยู่บ้านเพ็ญพาดไม่นานเท่าไรนัก ก็ต้องอพยพจากบ้านเพ็ญพาดไปอยู่บ้านดอนตาเพชร ตำบลพนมทวนอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยครอบครัวของท่าน 

หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี
หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อซ้ง

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ท่านมีอายุได้ ๒๒ ปี โยมมารดาดจึงได้จัดการอุปสมบทให้ ณ พัทธสีมาวัดทุ่งสมอ ตำบลทุ่งสมอ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้รับฉายาว่า "อินฺทสโร" โดยมี

         พระครูสิงคีคุณธาดา (หลวงปู่ม่วง จันทสโร) วัดบ้านทวน เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระครูวัตตสารโสภน (หลวงพ่อดอกไม้) วัดดอนเจดีย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระปลัดทา วัดทุ่งสมอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

         เมื่ออุปสมบทแล้วก็ไปจำพรรษา ณ วัดดอนงิ้ว ๓ พรรษา จึงได้ไปสร้างวัดขึ้นใหม่ พร้อมกับด้วยญาติและโยมทั้งหลายที่บ้านดอนตาเพชร อยู่จำพรรษาอีก ๖ พรรษา ที่วัดดอนตาเพชร จากนั้นจึงลาญาติโยมไปศึกษาพระปริยัติธรรมในจังหวัดพระนครและได้พักอยู่วัดใหม่คณิกาผล เพราะในครั้งนั้นตามหัวเมือง การศึกษาพระปริยัติธรรมยังไม่มี สอบได้ประกาศนียบัตรองค์นักธรรมชั้นตรีของสนามหลวงในครั้งนั้น เมื่อศึกษาอยู่ได้ ๖ ปี จึงได้กลับมาจำพรรษาที่วัดดอนตาเพชรเรื่อยมา 

         ตอนที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนตาเพชรนี้ ท่านคิดเห็นว่าที่วัดเก่าคับแคบมาก เพราะมีบ้านและนาอยู่ติดต่อกับวัดจึงได้ย้ายมาตั้งใหม่ ซึ่งอยู่คนละฝั่งคลองกับวัด อันมีชัยภูมิเหมาะดีและกว้างขวางมาก ต่อนั้นจึงได้สร้างกุฏิไม้ ขึ้น ๔ หลัง หลังละ ๓ ห้อง มุงกระเบื้อง ๑ หลัง อีก ๓ หลังมุงด้วยจาก 

         ตอนนี้พอดีกับโยมมารดาของท่านถึงแก่กรรม แต่ท่านก็คงอยู่ในเพศพรหมจรรย์เรื่อยมา เมื่อท่านเห็นว่า กุฏิพอจะเป็นที่อาศัยจำพรรษาเพียงพอแก่ภิกษุและสามเณรบ้างแล้ว จึงได้ทำรายงานขอร้องต่อคณะสงฆ์ตั้งวัดเป็นสำนักสงฆ์ต่อไป ทางคณะสงฆ์ก็ได้อนุมัติให้โดยดี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้ทำกุฏิไม้ทรงปั้นหยามุงกระเบื้องขึ้นอีก ๓ หลัง เพื่อใช้เป็นหอสวดมนต์ แต่ต่อมาได้แก้ไขดัดแปลงไปหมดแล้ว 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้ทำศาลาการเปรียญ ๔ ห้องมุงกระเบื้อง พื้นลาดด้วยซีเมนต์ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลของมหาชนขึ้นอีก ๑ หลัง ในตอนนั้นทางวัดยังไม่มีพระอุโบสถที่จะทำสังฆกรรม ถึงวันพระปาฏิโมกข์หรือทำสังฆกรรมต่างๆ ต้องพาพระภิกษุในวัดไปผสมวัดอื่นทำบ้าง หรือทำในน้ำบ้างโดยทำเป็นแพกลางน้ำแล้วทำบ้าง นับว่ายังลำบากมาก

         หลวงพ่อซ้ง มีอุปนิสสัยชอบสงบ พอใจในการประพฤติและปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยดุหรือว่ากล่าว
ใครนัก พูดน้อย ชอบปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในตอนกลางคืน โดยใช้การจำวัดกลางวันให้มากเท่าที่จะ
มากได้ แต่กลางคืนไม่ใคร่จำวัด 

         ฉะนั้นท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของชาวอำเภอพนมทวนทั้งหลาย ตลอดถึงชนทั้งหลายที่ได้
เห็นหรือรู้จักและสมาคมกับท่าน ถึงแม้ท่านจะล่วงลับไปแล้ว แต่ท่านก็ล่วงลับไปแต่ร่างกาย ส่วน
คุณงามความดีของท่านยังฝังอยู่ในจิตใจของศิษยานุศิษย์ทั้งหลายไม่มีวันจะลืมได้ 

         นอกจากนี้หลวงพ่อซ้ง อินฺทสโร ท่านยังเจียรนัยเพชรเม็ดงามให้กับคณะสงฆ์กาญจนบุรี
เป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากลูกศิษย์ที่ท่านนั่งเป็นอุปัชฌาช์ให้มีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัด
กาญจนบุรีถึง ๒ รูปและเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส จะกล่าวพอสังเขปดังนี้ 

         ๑. พระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญฺโญ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัด
ไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) 

         ๒. พระเทพเมธากร ( ณรงค์ วิเศษสิงห์ ) เจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีองค์ปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัด
ราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม) 

         ๓. พระครูนิวิฐชยากร (หมุน อค.คจิตฺโต) อดีตเจ้าคณะอำเภอพนมทวน อดีตเจ้าอาวาสวัด
พังตรุ 

         ๔. พระครูพิศาลวิริยกิจ (เสงี่ยม สุธมฺโม) เจ้าคณะตำบลบ้านทวน เจ้าอาวาสวัด
บ้านทวน

         ๕. หลวงพ่อเตี้ย อดีตเจ้าอาวาสวัดสระสำเภาทอง 

         หลวงพ่อซ้ง อินฺทสโร ท่านได้สร้างความประหลาดใจและประทับใจให้กับชาวดอนตาเพชร เมื่อคราวทำการผูกพัทธสีมา ตกราวปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทางวัดได้รับความร่วมมือจากลูกศิษย์ของท่านที่เป็นนายทหารอากาศ นำเครื่องบินมาบริการให้ชาวบ้านได้นั่งเครื่องบินบินรอบบริเวณวัด โดยนำรายได้จากค่านั่งเครื่องบินเข้าร่วมสมทบทุนสร้างอุโบสถ เป็นวัดเดียวของจังหวัดกาญจนบุรีที่สามารถนำเครื่องบินมาให้ชาวบ้าน
นั่งเป็นงานกุศล 

         หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร

         เหรียญหลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อใช้แจกในงานฌาปจกิจของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา แบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดง เท่านั้น ซึ่งได้พระเกจิอาจารย์ในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร 2499 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อซ้งครึ่องค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปของท่านมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌาย์ซ้ง"

         ด้านหลัง มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ พระอุปัชฌาน์ซ้ง วัดดอนตาเพ็ชร์ ๒๔๙๙"

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง



***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้