โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม พระเก่งที่สมาถะของเมืองแม่กลอง

หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ท่านถือกำเนิดในพื้นที่บ้านสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี โดยหลวงพ่อเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โยมบิดาชื่อนายฉลู ตรีเพชรคง โยมมารดาชื่อนางแป้น ตรีเพชรคง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน ๖ คน โดยหลวงพ่อเก๋ ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

          ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ขณะนั้นหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ ท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้ทำการอุปสมบถ ณ พัทธสีมาวัดวชิรคาม ตำบลท้ายหาด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "สุนันโท" โดยมี

          พระครูธรรมวิถีสถิต (หลวงพ่อโต) วัดคู้ธรรมสถิต เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระครูสุตาภิรัต (หลวงพ่อรอด) วัดบางขันแตก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          หลวงพ่อทองอยู่ วัดแม่น้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          หลังจากอุปสมบทแล้วท่านก็ได้อยู่จำพรรษาที่วัดวชิรคามเรื่อยมาเพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ ซึ่งหลวงพ่อเก๋ นั้นมีความสามารถโดดเด่นในเชิงช่างไม้ พอสอบนักธรรมตรีได้

          หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดแม่น้ำ จึงขอตัวท่านให้มาช่วยงานที่วัดแม่น้ำ หลวงพ่อทองอยู่ท่านมีชื่อเสียงในด้านวิชาอาคมทำตะกรุดใต้น้ำและแพทย์แผนโบราณ เก่งสมุนไพร ว่านยา ทำให้หลวงพ่อเก๋ได้ศึกษาวิชาการต่างๆเหล่านี้จากหลวงพ่อทองอยู่ไว้จนหมดสิ้น

          ต่อมาหลวงพ่อทองอยู่ได้นำท่านไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ”หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิต” และ “หลวงพ่อรอด วัดบางขันแตก” ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านวิชาอาคมขลัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม
หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม

          นอกจากนี้ท่านยังได้ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนกรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงปู่บ่าย วัดช่องลม  

          โดยในเวลากลางวันท่านจะไปเรียนกับหลวงปู่บ่าย พอตกเย็นท่านก็จะเดินทางไปจำวัดที่วัดบางกะพ้อม เพื่อเรียนวิชากับหลวงพ่อคง ในเวลากลางคืน โดยร่ำเรียนแบบนี้อยู่หลายปี นอกจากนี้ท่านยังได้ไปศึกษากับหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา อีกด้วย

          ในพรรษาที่ ๖ ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงพ่อเก๋ ท่านได้เริ่มเดินธุดงค์วัตร โดยท่านได้ธุดงค์ไปที่จังหวัดอุตรดิตร์ พิษณุโลก และเลยขึ้นไปทางภาคเหนือ 

          ซึ่งในสมัยนั้นเป็นบ้านป่าบ้านดง รกร้าง ไม่ค่อยมีผู้คนอยู่อาศัย โดยท่านจะเดินธุดงค์ทุกปี แต่เมื่อถึงเวลาอันสมควรท่านก็จะเดินทางกลับมาที่วัดแม่น้ำ เพื่อให้ทันเข้าพรรษาเนื่องจากท่านเป็นพระที่สวดปาฏิโมกข์ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา

          จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งปีนั้นหลวงพ่อเก๋ บวชเรียนได้ ๑๑ พรรษา หลวงพ่อทองอยู่ เจ้าอาวาสวัดแม่น้ำ มรณภาพลง ชาวบ้านและบรรดาศิษย์วัดแม่น้ำเห็นพ้องกันนิมนต์หลวงพ่อเก๋ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

          กล่าวถึงวัดแม่น้ำ เดิมมีชื่อว่าวัดบางนางจีนนอก พื้นที่บริเวณนี้มีวัดอยู่ติดกันถึงสามวัด โดยปรากฏหลักฐานเป็นซากของพระอุโบสถเก่าๆ อยู่ในบริเวณนี้ถึงห้าหลัง กาลเวลาต่อมาเนินนานเข้าจึงได้ยุบมารวมกันเป็นวัดเดียวและเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า "วัดแม่น้ำ"

          วัดแม่น้ำ เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่อดีต ภายในวัดมี “หลวงพ่อวิหาร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด สอบถามจากชาวบ้านได้ความว่า หลวงพ่อวิหารเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ปางอุ้มบาตร          แต่จะมาอยู่ที่วัดแม่น้ำแห่งนี้ได้อย่างไร ไม่มีใครสามารถตอบได้ บางคนบอกว่าเกิดมาก็เจอท่านอยู่ในวัดแล้ว ขณะที่บางคนก็บอกว่าลอยน้ำมา บ้างก็ว่าปั้นจำลองมาจากหลวงพ่อวัดบ้านแหลม

หลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ สมุทรสงคราม

          ความน่าสนใจเกี่ยวกับ ”หลวงพ่อวิหาร” คือ หลวงพ่อวิหาร(องค์จริง) ถูกเก็บรักษาไว้บนกุฏิ มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรเหมือนหลวงพ่อวัดบ้านแหลม 

          แต่หลวงพ่อวิหาร(องค์จำลอง) ที่อยู่ในวิหาร มีพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ส่วนเหรียญหลวงพ่อวิหาร(รุ่นแรก) ซึ่งสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ ก็เป็นรูปแบบเดียวกับองค์จริงที่อยู่บนกุฏิ.

         เมื่อหลวงพ่อเก๋ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ภาระสมภารมีมากมาย จึงหยุดการศึกษาจากอาจารย์ต่างๆ ลง และทำหน้าที่เจ้าอาวาสสืบต่อมาโดยหลวงพ่อได้พัฒนาวัดแม่น้ำ ให้มีความเจริญรุ่งเรืองและยังได้สร้างเสนาสนะต่างๆให้แข็งแรงมั่นคงสืบต่อมา

          หลวงพ่อเก๋ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ นับรวมสิริอายุได้ ๙๐ ปี  ๖๙ พรรษา โดยหลังจากที่ท่านมรณภาพลงแล้ว ปรากฏว่าร่างกายไม่เน่าเปื่อย.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คนสมัยก่อนมักเรียกว่าทรงเรือบด โดยเป็นเหรียญที่มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และทองแดงกระไหล่เงิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ (ในบางเหรียญจะมีการตอกเลข "๒๔๙๐" เพื่อบอกปีที่สร้างซึ่งหายาก)

          เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ โดยเชื่อกันว่าเหรียญเนื้อเงินสร้างจำนวน ๑๐๐ เหรียญ เท่านั้น เหรียญรุ่นนี้มีชื่ออีกชื่อว่าเหรียญจิ๊กโก๋ เหตุเพราะเหรียญรุ่นมีประสบการณ์ยิงฟันไม่เข้า พวกนักเลงจึงนิยมเสาะหามาบูชาติดตัว จนเป็นชื่อเรียกของพระรุ่นนี้ในเวลาต่อมา

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อเงิน ของคุณรูญ หลักห้า

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๒ (จิ๊กโก๋) ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวิริยาภรณ์ (เก๋)"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ"

          เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน และเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ จัดเป็นเหรียญดีพิธีเก่าลึก มีประสบการณ์มากมายเนื่องด้วยมีสุดยอดพระเกจิอาจารย์ร่วมพิธีปลุกเสกอย่างยิ่งใหญ่สุดเข้มขลัง อาทิ เช่น หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ หลวงพ่อโต วัดคู้ธรรมสถิตย์ หลวงพ่อบุญรอด วัดบางขันแตก หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี และหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ เป็นต้น

เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐

เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ของพระปลัดจติชัย มหาวายาโม วัดปากท่อ

เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นแรก เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อวิหาร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด ด้านข้างมีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวิหาร"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์  (ในบางเหรียญจะมีการตอกเลข "๒๔๙๐" เพื่อบอกปีที่สร้าง)

          เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นสอง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ลักษณะเป็นเหรียญใบเสมาทรงสูง มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ จัดเป็นเหรียญดีอีกเหรียญหนึ่งของวัดแม่น้ำ เล่ากันว่าเหรียญรุ่นนี้ปลุกเสกโดย หลวงปู่รุ่ง วัดท่ากระบือ และหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

เหรียญหลวงพ่อวิหาร วัดแม่น้ำ รุ่นสอง เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อวิหาร พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของวัด ด้านข้างมีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวิหาร"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และยันต์อื่นๆล้อมรอบ

          เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๓

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ โดยเหรียญรุ่นนี้ได้ หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ร่วมปลุกเศก และจัดเป็นเหรียญที่ออกแบบได้สวยงามมาก และเหมือนหลวงพ่อมากที่สุด ประสบการณ์ เด่นทางด้าน คงกระพันชาตรี

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์ (เก๋) วัดแม่น้ำสมุทรสงคราม"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ บนยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ศิษย์สร้างถวาย พ.ศ. ๒๕๑๗"

          เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๔

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลม มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋เต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งสมาธิบนตั่ง ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ ๒๕๒๙"

          เหรียญกองกษาปณ์ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ ไม่มีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้มีการว่าจ้างกองกษาปณ์เป็นผู้ออกแบบและผลิตให้ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ กองกษาปณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์ (หลวงพ่อเก๋) วัดแม่น้ำ จ.สมุทรสงคราม"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และล้อมรอบด้วยอักขระยันต์ล้อไปกับขอบเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวีไพรีพินาจ พุทธศักราช ๒๕๓๖"

          เหรียญจิ๊กโก๋ ๒ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูในตัว(ไม่เจาะหูเหรียญ) ซึ่งคล้ายกับเหรียญรุ่น ๒ ของท่าน โดยหลวงพ่อเก๋ ทำการพุทธภิเศกในวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ มีการสร้างด้วยหลายเนื้อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ (จิ๊กโก๋ ๒) ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนันทวิริยาภรณ์"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดแม่น้ำ"

          เหรียญมหามงคล หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ โดยเหรียญรุ่นนี้มีการแกะเหรียญได้สวยงาม มีการสร้างด้วยเนื้อทองคำ เงิน ทองแดง และเนื้อตะกั่ว ทุกเหรียญจะมีการตอกโค้ด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๖ มหามงคล ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ รุ่น ๖ มหามงคล ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อตะกั่ว

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันข้างครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะหน้าทอง และอักขระยันต์อื่นๆ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "มหามงคล ๓๙ จ.สมุทรสงคราม"

          เหรียญปาดตาล หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะคล้ายเหรียญปาดตาลของหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญปาดตาลหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๓๙

          ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อเก๋หันครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ ที่ระลึก"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๕๓๙"

          ตะกรุดจันทร์เพ็ญ หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          จัดเป็นวัตถุมงคลที่หลวงพ่อเก๋ สร้างขึ้นในยุคแรกๆ ยิ่งในสมัยที่ท่านยังไม่ชรา ชาวบ้านที่ได้รับแจกจะบอกกันว่าท่านจะลงไปเสกตะกรุดจันทร์เพ็ญในแม่น้ำ ตะกรุดนี้มีพุทธคุณทางคงกระพันสูง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ หลังตะกรุดจันทร์เพ็ญ

          จัดเป็นวัตถุมงคลที่หายากมากของท่าน เนื่องจากท่านหวงตะกรุดที่ท่านทำเองกับมือเป็นอย่างมาก ไม่แจกให้กับใครง่ายๆ แม้จะทำบุญกับท่านหนักเพียงใดก็ตาม

          ดอกบานไม่รู้โรย หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          ส่วนวัตถุมงคลทางมหานิยม ค้าขายโชคลาภขึ้นชื่อของหลวงพ่อเก๋คือ ดอกบานไม่รู้โรยปลุกเสกตามวิชาที่ท่านเรียนมาจากหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา ซึ่งลูกศิษย์ตลอดจนญาติโยมละแวกวัดรู้ดีว่า นั่นแหละเป็นของเมตตาชั้นเยี่ยม

ดอกบานไม่รู้โรย หลวงพ่อเก๋ วัดแม่น้ำ

          ท่านว่า...ดอกบานไม่รู้โรยเป็นของดี นามของดอกไม้นี้ก็บอกแล้วว่า “บานไม่รู้โรย ฉะนั้นความมั่งมีมันจะไม่โรยรา....”

          หลวงพ่อเก๋ ท่านเป็นพระที่เก่งกาจ ใครยิงฟันกันถ้ามีของดีของหลวงพ่ออยู่ในคอรับรองว่าไม่เสียเลือด ขนาดที่มีศิษย์ของท่านโดนยิงตกคลองร่องสวน ยังลุกขึ้นมาเดินปร๋อ จนเป็นที่ฮือฮา นอกจากนี้ท่านยังมีอุปนิสัยรักความเป็นระเบียบและรักความถูกต้อง ท่านจะไม่ออกเลี่ยไล่ให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อน ท่านสร้างและบูรณะวัดของท่านไปเรื่อยๆ รวมทั้งท่านยังไม่รับตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ ด้วยท่านเบื่อหน่ายกับคนที่จะมาบวชที่ท่องบทขอบวชได้มั่งไม่ได้มั่ง ต้องบอกต้องสอนกันตอนบวช เป็นที่น่าเบื่อหน่าย

          ท่านจะสอนศิษย์เสมอๆว่าให้ละเว้นความชั่วต่างๆ เพื่อจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องกลัวภัยอันตรายใดๆ เพราะความดีจะเป็นเกราะคุ้มกันเอง.


**วัตถุมงคลช่วงท้ายๆของท่านทั้งเนื้อผงและเหรียญบางรุ่นไม่ได้จัดทำต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย**
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้