โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทองอยู่ (พระครูสุนทรโฆสิต) วัดประชาโฆสิตารามหรือวัดบางนกแขวก

ภาพถ่ายหลวงพ่อทองอยู่ วัดประชาโฆสิตาราม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก (วัดประชาโฆสิตาราม) จ.สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อทองอยู่ หรือ พระครูสุนทรโฆสิต วัดบางนกแขวก ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดประชาโฆสิตาราม จ.สมุทรสงคราม เป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีวิชาวิทยาคมสูง มีความชำนาญเก่งกาจในด้านลงกระหม่อม และตะกรุดโทน 

         ถึงขนาดที่หลวงพ่อคงวัด บางกะพ้อม และหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้เมืองกาญจน์ ต่างเอ่ยปากชื่นชมว่าท่านเป็นพระที่ "เก่ง" อิทธิวัตถุมงคลของท่านที่สร้างไว้มากที่สุด คือ ตะกรุดโทน และเหรียญปั๊ม สร้างขึ้นในคราวทำบุญอายุ ๗๓ ปี มีจำนวนการสร้างค่อนข้างน้อย

         หลวงพ่อทองอยู่ หรือ พระครูสุนทรโฆสิต เกิดเมื่อวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปี วอก จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ณ บ้านหมู่ที่ ๖ ตำบลบางขันแตก อำเภอ อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดาชื่อใหญ่ โยมมารดาชื่อพวง 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ หลวงพ่อทองอยู่ ท่านมีอายุย่าง ๒๐ ปี ท่านจึงเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางนกแขวก (วัดประชาโฆสิตารามปัจจุบัน) โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์

         เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจายน์ กับ พระมหานิล ป.๙ ที่วัดวชิรคาม แล้วไปเรียนกับพระอาจารย์แก้ว วัดบางขันแตก ต่อมาได้เดินทางเข้ามาเรียนที่วัดทองนพคุณ คลองสาน และวัดบพิตรภิมุข

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ พระอธิการผึ้ง เจ้าอาวาสวัดประชาโฆสิตารามถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะศิษย์วัดบางนกแขวก จึงได้นิมนต์หลวงพ่อทองอยู่มาเป็นเจ้าอาวาส

หลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก (วัดประชาโฆสิตาราม) จ.สมุทรสงคราม

         วัดประชาโฆสิตาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๒ บ้านวัดประชา ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีชื่อว่า วัดบางนกแขวก ตามชื่อคลองและชื่อหมู่บ้าน 

         สันนิษฐานว่าวัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๕๑ ตรงกับปลายสมัยพระเจ้าเสือ กษัตริย์องค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติเท่าที่สืบค้นได้

         ในสมัยพระอธิการช่อเป็นเจ้าอาวาส ได้มีการย้ายพระอุโบสถหลังเก่าไปทางทิศเหนือของวัด ลักษณะของพระอุโบสถเป็นแบบอาคารไม้มุงด้วยจากและได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ 

         ต่อมาในสมัยของพระอธิการผึ้งซึ่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองต่อ ในราวปี พ.ศ. ๒๔๒๒ นายเมืองและนางขำได้มีจิตศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่เปลี่ยนมาเป็นแบบก่ออิฐถือปูน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา สร้างทับหลังเก่า 

         ราวปี พ.ศ.  ๒๔๔๓ วัดได้ย้ายศาลาการเปรียญจากริมน้ำไปทางทิศใต้และเปลี่ยนแปลงให้กว้างขวางกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ นายเมืองและนางขำได้สร้างหอสวดมนต์อีกหลังหนึ่ง 

         ภายในวัดมีพระประธานในอุโบสถ มีนามว่า พระมงคลโฆสิต ขนาดหน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๙ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยโลหะหลายอย่าง โดยมีนายเมือง นางขำ เป็นผู้สร้างถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ วัดรับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๒ มีรายนามเจ้าอาวาสที่จดบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. พระอธิการช่อ

         ๒. พระอธิการผึ้ง พ.ศ. ๒๔๒๒ - ๒๔๔๕

         ๓. พระครูสุนทรโฆสิต (หลวงพ่อทองอยู่) พ.ศ. ๒๔๔๕ - ๒๔๘๗

         ๔. พระครูสมุทรวิจารณ์ (หลวงพ่อคลี่ฐานวิจาโร (วิจารณ์ศิริสวัสดิ์)) พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๕๓๓ 

         ๕. พระอธิการอุทัยอิสฺสรธมฺโม (หลวงพ่ออุทัย เอี่ยมสะอาด) 

         ๖. พระครูวิจิตรสรคุณ (หลวงพ่อเจี๊ยบ)

หลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก (วัดประชาโฆสิตาราม) จ.สมุทรสงคราม

         หลังจากที่หลวงพ่อทองอยู่ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาลนะต่างๆ ตลอดจนถาวรวัตถุต่างๆจนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ทดแทนอุโบสถหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม โดยทำการรื้อแล้วปลูกสร้างใหม่โดยก่อสร้างในที่เก่าขนาดกว้าง ๔ วา ๒ ศอก, ยาว ๑๒ วา 

         สร้างในลักษณะก่ออิฐถือปูน หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาและสร้างกำแพงแก้วล้อมรอบ โดยมีประชาชนในละแวกนั้นและขุนพัฒนโพงพาง(สมบูรณ์ กล้ายประยงค์) และนางตาบ กล้ายประยงค์ (ภรรยา) ได้รวบรวมจตุปัจจัยสมทบทุนสร้าง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ท่านจึงได้รับสมณศักดิ์เป็น "พระครูสุนทรโฆสิต" ฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช(แพ) วัดสุทัศน์ฯ

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ท่านได้สร้างโรงเรียนและอาคารเรียน โดยนางตาบ กล้ายประยงค์ ได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ ๔ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา ให้ปลูกสร้างอาคารเรียนและสร้างโรงเรียน และได้มอบบ้านทรงไทย ๒ ชั้น เพื่อปลูกสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ท่านได้เปลี่ยนชื่อวัดจาก "วัดบางนกแขวก" มาเป็น "วัดประชาโฆสิตาราม" อันมีความหมายว่า "วัดเจริญรุ่งเรืองมาได้ก็เนื่องด้วยประชาชนเป็นผู้อุปการะสนับสนุน โดยมีสุนฺทรโฆสิต ภิกขุ เป็นผู้นำ"

         มีเรื่องเล่ากันว่า หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม กล่าวยืนยันถึงหลวงพ่อทองอยู่ว่า เป็นพระที่เก่งคือ ราวปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ในช่วงเวลาสงครามโลก มีผู้มาหาพลวงพ่อคง เพื่อให้ท่านลงกระหม่อม ผู้ที่มานั่งรอนั้นมีทั้งบรรชิตและฆราวาส 

         หลวงพ่อคงเห็นภิกษุและฆราวาสนั่งอยู่เป็นกลุ่มหลายคน จึงให้พระไปถามว่ามาจากที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่ามาจากบ้านปลายโพงพาง ท่านจึงว่า "ท่านวัดประชาก็เก่งทำไมต้องลงมาถึงนี่" การลงกระหม่อมนั้น พลวงพ่อคงจะใช้ขมิ้นชัน แต่หลวงพ่อทองอยู่ จะใช้ดินสอดำ

ภาพยันต์ หลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก (วัดประชาโฆสิตาราม) จ.สมุทรสงคราม

         ใช่แต่หลวงพ่อคงเท่านั้นที่กล่าวชมหลวงพ่อทองอยู่ แม้แต่หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เมืองกาญจนบุรี ก็ยังพูดถึงหลวงพ่อทองอยู่ด้วยเช่นกัน มีเรื่องเล่ากันอีกว่า ในพิธีปลุกเศกคราวหนึ่ง หลวงพ่อเปลี่ยน ซึ่งมาเป็นประธานพิธีได้หันไปถาม พระครูธรรมวิถีสถิติ์(โต) วัดคู้ฯ ว่าทำไมไม่นิมนต์อาจารย์อยู่ วัดประชาฯมาด้วย 

         ซึ่งแสดงว่า หลวงพ่อเปลี่ยนให้ความเชื่อถือในวิทยาคมของหลวงพ่อ และการที่ท่านได้เป็นพระครูฐานานุกรมของ สมเด็จพระสังฆราช (แพ) นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกประหลาดที่พระต่างจังหวัดเล็กๆองค์หนึ่งจะได้รับฐานอันดรนี้ ถือว่าเป็นการรับรองในความสามารถของท่านได้เป็นอย่างดี

         เรื่องพระครูฐานานุกรมนี้มีเรื่องเล่ากันว่า คราวหนึ่งท่านมาเข้าเฝ้า สมเด็จพระสังฆราช(แพ) จะด้วยเรื่องใดไม่แจ้งระหว่างที่เฝ้าอยู่นั้น มีคุณพระท่านหนึ่งกำลังเฝ้าสมเด็จฯ เพื่อจะขอให้ทรงลงยันต์ในแผ่นทองให้ 

         สมเด็จฯท่าน ได้ส่งแผ่นทองคำมาให้หลวงพ่อทองอยู่เป็นผู้ลง เมื่อลงเสร็จเรียบร้อยก็ได้รับคำชมเชยว่า เพียงเห็นหยิบเหล็กจารแล้วจารลงในแผ่นทองคำก็ทราบว่าจารอะไรและใช้ได้หรือไม่ แล้วสมเด็จฯได้ประทานพัดยศและแต่งตั้งให้เป็น "พระครูสุนทรโฆสิต"

         เมื่อหลวงพ่อทองอยู่กลับไปถึงวัด ได้มีผู้ไปถามถึงเหตุที่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมของสมเด็จฯซึ่งท่านได้กล่าวตอบทำนองติดตลกว่า "ข้าลงตะกรุดดอกเดียวได้เป็นพระครู แต่ลงให้พวกเองไม่รู้เท่าไหร่ไม่ได้อะไรเลย" 

         ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นไปได้ว่า สมเด็จฯ ทรงต้องพระทัยจะให้หลวงพ่อเป็นพระครูอยู่ก่อนแล้ว และนามสมณศักดิ์นั้น ก็ตรงกับกิติศัพท์ที่เล่าลือกัน ว่าหลวงพ่อทองอยู่มีความสามารถเทศน์มหาชาติกัณฑ์ มหาราชได้ไพเราะนัก

         นอกจากนี้หลวงพ่อทองอยู่ ยังมีญาณทัศนะรู้ถึงมรณภาพล่วงหน้า ในวัดงานสวดศพหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ท่านได้ไปร่วมงานด้วย ท่านได้กล่าวกับศิษย์หลวงพ่อคงว่า "ในวันเผาไม่รู้จะมาได้หรือไม่" ซึ่งทางนั้นศิษย์ของหลวงพ่อคงก็ไม่ได้เฉลียวใจ เพราะยังอีกนานจะถึงวันเผา และเมื่อถึงวันเผาศพหลวงพ่อคง ก็ได้ทราบว่า หลวงพ่อทองอยู่ได้ถึงแก่มรณภาพแล้ว

         หลวงพ่อทองอยู่ ปกครองวัดเรื่อยมาจนอาพาธด้วยโรคชราและถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ นับรวมสิริอายุได้ ๗๓ ปี ๕๓ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก

         เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สร้างในโอกาสที่หลวงพ่อมีอายุครบ ๗๓ ปี ลักษณะเป็นเหรียญรูปเหมือนปั้มเนื้อโลหะผสมรูปไข่แบบมีหูในตัว จำนวนที่สร้างไม่ทราบ แต่เข้าใจกันว่าคงจะมีจำนวนไม่มาก เพราะพบเห็นค่อนข้างยาก

เหรียญหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก หรือวัดประชาโฆสิตาราม เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

เหรียญหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก หรือวัดประชาโฆสิตาราม เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อทองอยู่ในลักษณะครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระไทยเขียนว่า "ที่ระลึกพระครูทองหยู่ อายุ ๗๓ ปี" ล้อไปกับขอบเหรียญ

         ด้านหลัง เป็นยันต์ที่หลวงพ่อท่านใช้ในการลงกระหม่อม

         เหรียญปั๊มรูปเหมือนหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางนกแขวก รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยหลวงพ่อคลี่ วัดประชาโฆสิตาราม เจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อระลึกถึงหลวงพ่อทองอยู่ ผู้เป็นอาจารย์และแจกจ่ายในงานฉลองวัดประชาโฆสิตาราม เพราะมีการเปลี่ยนชื่อวัด ลักษณะเป็นเหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ มีหูในตัว สร้างด้วยเนื้องทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อทองอยู่ วัดประชาโฆสิตาราม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อทองอยู่ในลักษณะครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ ด้านซ้าย มีอักขระไทยเขียนว่า "พระครูสุนทร" ด้านขวา มีอักขระไทยเขียนว่า "โฆสิต" ด้านล่างเขียนว่า "ทองอยู่"

         ด้านหลัง เป็นยันต์ที่หลวงพ่อท่านใช้ในการลงกระหม่อม มีอักขระไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานแลองวัดประชาโฆสิตาราม"

         ก่อนที่ท่านจะสร้างเหรียญหลวงพ่อทองอยู่มีชื่อเสียงมากในเรื่องการลงกระหม่อมและตะกรุดโทน ซึ่งปรากฎคุณวิเศษทางคงกระพันแคล้วคลาด ฉะนั้นเหรียญของท่านคงมีความศักดิ์สิทธิ์ดุจเดียวกัน.



โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้