โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ พระเกจิชื่อดังของดำเนินสะดวก ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี
หลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี

         หลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ หรือ วัดอุดรราษฎร์สัทธาราม ท่านมีนามเดิมว่า หวล นามสกุล ทองปาน พื้นเพท่านเป็นชาวตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล ตรงกับวันจันทร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙  โยมบิดาของท่านชื่อนายชื่น ทองปาน โยมมารดาชื่อนางเปรม ทองปาน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องจากพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๔ คน

         ๑. นางรุม ทองปาน

         ๒. นายรวม ทองปาน

         ๓. นายรัด ทองปาน

         ๔. หลวงพ่อหวล ขนฺติสาโร (ทองปาน)

         ในวัยเด็กนั้น หลวงพ่อหวลเป็นเด็กที่ตัวเล็กกว่าเพื่อนๆ แต่มีนิสัยซื่อสัตว์สุจริต พูดน้อย มีความขยันหมั่นเพียรในการงาน และเป็นเด็กที่ชอบในการศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลกศึกษาจบชั้น ป. ๔ (ในขณะนั้น) และจากนั้นได้ออกมาช่วยครอบครัว ซึ่งมีอาชีพทำนา

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงพ่อหวล มีอายุได้ ๒๔ ปี หลังจากเกณฑ์ทหารแล้ว ท่านจึงขอลาจากครอบครัวเพื่ออุปสมบท เนื่องจากมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเพื่อตอบแทนบุญคุณของบิดา มารดา ณ พัทธสีมาวัดชาวเหนือ ตำบลบ้านไร่ อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "ขนฺติสาโร" โดยมี

         พระครูโพธิสาทร (หลวงพ่อเฟื้อ) วัดบางลาน เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อสนาม วัดชาวเหนือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลวงพ่อปี วัดท่ามะขาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดชาวเหนือเพื่อร่ำเรียนวิชา และศึกษาพระธรรมวินัยจากหลวงพ่อสนามเป็นเวลา ๒ พรรษา จนสามารถสอบได้นักธรรมโท 

         พรรษาที่ ๓ ได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดอรุณรัตนคีรีราม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในขณะที่จำพรรษาที่วัดอรุณรัตนคีรีราม ได้ร่วมสร้างหอฉันและเสนาสนะต่างๆ 

ภาพถ่ายหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี
หลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี

         พรรษาที่ ๔ หลวงพ่อหวลก็เริ่มบำเพ็ญสมณะธรรมอยู่ที่ถ้ำเขาพริก ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันกับวัดอรุณรัตน์ศีรีราม โดยท่านใช้เวลาเกือบทั้งคืนทั้งวัน ในการเจริญภาวนาและนั่งสมาธิปฏิบัติจิต จนวางรากฐานของจิต จนพอในขณะจิตเกิดความสงบเยือกเย็นพอที่จะปฏิบัติกัมมัฏฐาน ก้าวขึ้นสู่การบำเพ็ญสมณะธรรมขั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

         พรรษาที่ ๕ หลวงพ่อหวล ท่านได้ออกเดินทางธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้เดินทางไปหาหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา จังหวัดเพชรบุรี ได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อขอเรียนธรรมปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่างๆ

         เมื่อศึกษาวิชาอาคมกับหลวงพ่อแก้วจนครบสิ้นแล้ว ท่านได้แนะนำให้หลวงพ่อหวลไปฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่บุดดา ถาวโร วัดกลางชูศรีเจริญสุข จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่บุดดา ได้ปฏิบัติเจริญสมณะธรรมอยู่ที่วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ ตำบลธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 

         และหลวงพ่อหวลได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดบุญทวี ถ้ำแกลบ หลังจากการปฏิบัติธรรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน กับหลวงปู่บุดดาแล้ว ท่านจึงได้ออกเดินทางธุดงค์ ไปตามสถานที่ต่างๆ 

          และได้เข้าไปนมัสการ ขอฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อสงฆ์ วัดแก้วฟ้าศาลาลอย จังหวัดชุมพร ในขณะที่หลวงพ่อสงฆ์ เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรมที่เขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งหลวงพ่อสงฆ์นั้น เป็นพระเกจิชื่อดังของภาคใต้รูปหนึ่ง มีวิชาอาคมสูง 

         จากนั้นหลวงพ่อหวลก็ได้ออกธุดงค์ไปสถานที่สำคัญต่างๆ ของพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย พม่า ลาว 

ภาพถ่ายหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี
หลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ หลวงพ่อหวล จึงได้เดินทางกลับมาที่วัดชาวเหนือ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านอีกครั้ง พร้อมกับได้ทำการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุและพัฒนาวัดเรื่อยมา 

          ตลอดเวลาที่หลวงพ่อท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดชาวเหนือนั้น ท่านได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และได้นำวิชาความรู้ต่างๆ ที่สามารถนำมาช่วยเหลือ พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกท่านตลอดมา

         หลวงพ่อหวล แม้ท่านจะไม่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดชาวเหนือ แต่ท่านก็เป็นถึงเป็นประธานคณะสงฆ์วัดชาวเหนือ หลวงพ่อนั้นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอมา ท่านสร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ได้พบเห็น เป็นผู้พร้อมด้วยจริยาวัตร อันงดงาม 

         ผู้ที่มาเคารพสักการะขอพรจากหลวงพ่อก็ประสบกับความสำเร็จเรื่อยมา จตุปัจจัยไทยธรรมที่สาธุชนได้มีจิตศรัทธาบริจาคมานั้น ท่านไม่เคยสะสม มีผู้บริจาคมาเท่าไร ท่านก็ได้นำไปบริจาคสร้าง ถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด

         และสร้างความเจริญให้แก่วัดชาวเหนือ ทั้งด้านสาธารณูปการ ด้านสาธารณะสงเคราะห์ โดยเฉพาะด้านศึกษาสงเคราะห์ และเผยแผ่พระธรรมวินัยได้ครบถ้วน สมกับเป็นพระสุปฏิปันโน และและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริง

         หลวงพ่อหวล จำพรรษาที่วัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลา ๐๗.๔๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๑๑ เดือน ๙ วัน ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ

         เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์หรือทำคุณูประโยชน์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว หลวงพ่อหวลปลุกเสกเดี่ยว เหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์มาก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่นแรก 2531 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหวลครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหวล ขันติสาโร" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดชาวเหนือ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ๙พ.ค.๒๕๓๑"

         เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์หรือทำคุณูประโยชน์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่น 2 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหวลครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหวล ขนฺติสาโร" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดชาวเหนือ ต.บ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี"

         เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่นยันต์เก้ายอด

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์หรือทำคุณูประโยชน์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่น ยันต์เก้ายอด 2536 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี รุ่นยันต์เก้ายอด ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหวลครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหวล ขนฺติสาโร" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์เก้ายอด ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดชาวเหนือ พ.ศ. ๒๕๓๖"

         เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่น ๘๐ ปี (ท้ายิง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุ ๘๐ ปีของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญเสมาท้ายิงหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่น80ปี 2540 ทองเหลือง
เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ รุ่น ๘๐ปี(ท้ายิง) ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหวลครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ที่ผ้าสังฆาฏิมีอักขระยันต์ "นะ" บนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหวล" พื้นเหรียญมีการตอกโค้ด "ห"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พุฒซ้อนอ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รุ่น ๘๐ ปี วัดชาวเหนือ ต.บ้านไร่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ๙ เม.ย. ๔๐"

         เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ออกวัดใหม่ต้นกระทุ่ม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ สมัยพระครูวรธรรมนิทัศน์(บุญเลิศ) เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถที่สร้างค้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น เหรียญปลุกเสกโดยหลวงพ่อบุญเลิศและหลวงพ่อหวล (ท่านเคยจำพรรษาที่นี่) และเหรียญที่เหลือยังเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดเนกขัมมาราม ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยมีหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ เป็นเจ้าพิธี จำนวนการสร้างเนื้อทองแดงผิวไฟ ๕,๐๐๐ เหรียญ และเนื้อทองแดงรมดำ ๕,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี ออกวัดใหม่ต้นกระทุ่ม 2531 ทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อหวล วัดชาวเหนือ ราชบุรี ออกวัดใหม่ต้นกระทุ่ม ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เนื้อทองแดงผิวไฟ

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อหวลครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อหวล ขนฺติสาโร" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดใหม่ต้นกระทุ่ม ต.บางปลา อ.เมือง จ.ราชบุรี"



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้