โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม เจ้าของพระยอดธงอันลือชื่อ

หลวงพ่อเฟื่อง หรือ พระครูอดุลสารธรรม วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

          หลวงพ่อเฟื่อง หรือ พระครูอดุลสารธรรม (ธมฺมปาโล) วัดอมรญาติสมาคม ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ถือว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ทรงพุทธาวิทยาคมที่ชาวราชบุรีและชาวพื้นที่ใกล้เคียงเลื่อมใสศรัทธา เรื่องวิทยาคมของขลังของท่านถือเป็นอันดับต้นๆ ในพื้นที่ดำเนินฯ

          หลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม มีนามเดิมว่า เฟื่อง ภู่สวัสดิ์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๐ ที่บ้านท่านัด หมู่ที่ ๓ ตำบลท่านัด อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ นายภู่ ภู่สวัสดิ์ โยมมารดาชื่อ นางมิ่ง ภู่สวัสดิ์ ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา โดยท่านเป็นบุตรคนแรก(หัวปี) จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๙ คน

          ในวัยเด็กหลวงพ่อเฟื่องไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนเนื่องจากพื้นที่แห่งนี้อยู่ห่างไกลจากระบบการศึกษาในสมัยนั้น แต่ได้มาศึกษาร่ำเรียนต่อเมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว

          หลวงพ่อเฟื่อง อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ตรงกับวันที่พฤหัศบดีที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ ณ วัดโชติทายการาม โดยมี

          พระครูวรปรีชาวิหารกิจ (ช่วง) วัดโชติทายการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

          พระอาจารย์ทองอยู่ วัดโชติทายการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

          พระอธิการโต เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ 

          หลังจากอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาที่วัดโชติทายการามกับพระอุปัชฌาย์ พร้อมศึกษาวิทยาคม จากตำรับตำราต่างๆ โดยหลวงพ่อเฟื่อง มีความสนใจทางด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการปฏิบัติธรรม หรือวิทยาคมต่างๆ ถึงแม้ว่าเมื่อตอนที่ท่านบวชนั้น ท่านยังอ่านหนังสือไม่ออก แต่ด้วยความพากเพียรร่ำเรียนและอาศัยการท่องจำจากพระภิกษุด้วยกัน

หลวงพ่อเฟื่อง หรือ พระครูอดุลสารธรรม วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

          ทำให้เพียงพรรษาแรก ท่านสามารถท่องจำบทสวดมนต์และพระปาติโมกข์ได้จนจบ ทั้งยังไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปโดยปราศจากประโยชน์ หลวงพ่อเฟื่องได้พากเพียรต่อการเรียนหนังสือไทยและหนังสือขอม จนสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม สามารถเขียนยันต์ต่างๆได้อย่างถูกต้อง

          หลวงพ่อเฟื่อง เคยกล่าวไว้ว่า "การเจริญกรรมฐานทำให้เกิดปัญญาได้เหมือนกัน เพราะกรรมฐานเป็นที่ตั้งแห่งการงาน คือเป็นรากเหง้าของปัญญา ซึ่งเมื่อผู้ใดได้ฝึกกรรมฐานก็เท่ากับ ฝึกจิตใจให้มีสมาธิ เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็โปร่งใส อ่านอะไรก็ทะลุปรุโปร่ง เพราะมีปัญญาที่อยู่เหนือกว่าปัญหาทั่วๆไป คือปัญญาของพระอริยะ"

          ต่อมาท่านได้ย้ายไปจำพรรษายังวัดไผ่ล้อม ตำบลบางป่า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ในระยะนั้นอุโบสถของวัดโชติทายการามได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนไม่สามารถที่จะทำสังฆกรรมอีกต่อไปได้ ท่านจึงได้ร่วมมือกับพระอธิการโต เจ้าอาวาสวัด ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์ของท่าน จัดการก่อสร้างขึ้นใหม่หมดทั้งกุฏิ วิหาร และศาลาการเปรียญ 

         ท่านได้บูรณะวัดจนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน เมื่อครั้งพระอธิการโตมรณภาพลงด้วยโรคชรา ท่านก็ได้รับการนิมนต์จากชาวบ้านให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อมสืบแทน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เมื่อหลวงพ่อน้อย เจ้าอาวาสวัดอมรญาติสมาคม ได้มรณภาพลง หลวงพ่อเฟื่อง ได้รับการนิมนต์ให้รักษาการตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดนี้ด้วยอีกวัดหนึ่ง 

         จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีชวด พ.ศ.๒๔๕๕ ตรงกับวันที่ ๒๘ มิถุนายน หลวงพ่อเฟื่อง จึงได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดอมรญาติสมาคม

หลวงพ่อเฟื่อง หรือ พระครูอดุลสารธรรม วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

          ด้วยความที่หลวงพ่อเฟื่องรักในการศึกษาและหมั่นพัฒนาวัดอมรญาติสมาคมให้เจริญอยู่เสมอ ทำให้ท่านได้ก่อสร้างถาวรวัตถุและพัฒนาวัดในด้านต่างๆดังนี้

          พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม และจัดหาครูมาสอนหนังสือ

          พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่แทนของเดิมคับแคบ

          พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านได้ดำเนินการสร้างโรงเรียนประชาบาลอมรวิทยาคาร

         นอกจากนี้หลวงพ่อเฟื่องยังได้ดำเนินการก่อสร้างถนนหลวงและสะพานข้ามคลองมอญ รวมทั้งย้ายโรงเรียนปริยัติธรรมมายังด้านทิศตะวันตก เพื่อให้เป็นสัดเป็นส่วนและง่ายต่อการดูแลอีกด้วย

         ส่วนตำแหน่งหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์

         พ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงพ่อเฟื่องได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลท่านัด เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

         พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓

         พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔

         พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรในราชทินนามที่ ระครูอดุลสารธรรม  เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒

หลวงพ่อเฟื่อง หรือ พระครูอดุลสารธรรม วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

          ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เดือน ๑๑ หลวงพ่อเริ่มมีอาการป่วยเท้าบวม ลูกศิษย์ลูกหาได้ทำการักษาท่านโดยการพอกยาสมุนไพร ด้วยเหตุที่หลวงพ่อไม่ชอบยาแผนโบราณมากกว่ายาแผนปัจจุบัน และนั่นคือเหตุให้หลวงพ่อป่วนกระเสาะกระแสะเรื่อยมาจน

          หลวงพ่อเฟื่อง มรณภาพด้วยโรคชราลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เวลา ๑๕.๕๔ น. ตรงกับขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๙ นับรวมสิริอายุได้ ๘๐ ปี ๖๐ พรรษา

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม

          เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๗ สร้างขึ้นแจกในคราวสร้างศาลาการเปรียญ ลักษณะเหรียญเป็นรูปกรงจักรแบบเดียวกับของหลวงพ่อแช่ม วัดตากล้อง มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะอัลปาก้า เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เนื้ออัลปาก้า

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเฟื่องครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระขอมล้อมรอบอ่านได้ว่า  "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง"

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระยันต์ตรีนิสิงเห  ไม่มีอักขระภาษาไทยเลย

         พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นแรก

         สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เพื่อแจกในคราวสร้างโรงเรียนอมรวิทยาคาร โดยใช้วิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบ แล้วตะไบขอบข้างเพื่อเก็บรายละเอียด ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธปางสมาธิขัดราบ ก้นมีชนวน หน้าตักกว้างประมาณ ๑.๘ ซม. สูงประมาณ ๒.๗ ซม. สร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง วรรณเหลืองอมเขียว

พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ของคุณเปี้ยง

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิขัดราบองค์พระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

          ด้านหลัง ปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน ก้นองค์พระมีเดือยของชนวน 

         พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นสอง

         สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๐ โดยใช้วิธีการหล่อโบราณแบบเบ้าประกบเนื้อโลหะเป็นเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง ลักษณะองค์พระเป็นพระพุทธปางสมาธิ แต่มีขนาดเล็กกว่ารุ่นแรกมาก ขนาดและพิมพ์พระคล้ายพระชัยของพระครูลืม วัดอรุณฯ สมัยก่อนคนในพื้นที่จะเรียก พระยอดธง วัดใต้ เหตุเพราะหลวงพ่อเฟื่อง นั้นเป็นพระสหธรรมมิกกับ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ กาญจนบุรี​ และหลวงพ่อเปลี่ยนท่านสร้างแล้วนำมาให้หลวงพ่อเฟื่องแจก ซึ่งมีผลให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าใช่/ไม่ใช่ พระของหลวงพ่อเฟื่อง หรืออาจเป็นพระที่หลวงพ่อเฟื่องแค่เอามาแจกเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเล่นกันเป็นรุ่น ๒

พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ - ๒๔๙๐

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย องค์พระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

          ด้านหลัง ปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน เรียบมีการแต่งตะไบ

         พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นสาม

          สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยให้วิธีการหล่อโบราณแบบเข้าช่อ ออกแบบโดยหมออยู่ อุบาสกที่ใกล้ชิดกับหลวงพ่อ ลักษณะเป็นพระพุทธปางสมาธิ ขนาดอวบอ้วนกว่ารุ่นแรก เนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง ในรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่คนพื้นที่ให้การยอมรับในพุทธคุณเป็นอย่างมาก เพราะหลวงพ่อเฟื่องสร้างเองที่วัดและมีประวัติการสร้างชัดเจน

พระยอดธงหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๔๙๖

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ องค์พระห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

          ด้านหลัง ปรากฏผ้าสังฆาฏิชัดเจน ก้นองค์พระมีเดือยของชนวน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อพระยอดธง

          เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นสิบตัง

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ โดยผู้สร้าง​คือ​ผู้​ใหญ่​สง่า ช่วงทอง​ สร้างถวายหลวงพ่อเฟื่อง​ ปลุกเสก​แจกในงาน เปิดป้าย​โรงเรียน​วัดอมรญาติฯ ลักษณะเหรียญเป็นรูปวงกลมขนาดเท่าเหรียญสิบสตางค์สมัยเก่าจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์นี้  มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะดีบุก และเนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นสิบตัง ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อดีบุก
เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นสิบตัง ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เนื้อทองแดง ของคุณศักดิ์ ดำเนิน

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเฟื่องครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูอดุลสารธรรม" หากเป็นเนื้อทองแดงจะมีข้อความเพิ่มเติม เป็นอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดอมรญาติสมาคม 6 มี.ค.93" เพิ่มมาอีกข้อความหนึ่ง

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ไม่มีอักขระภาษาไทยเลย

          เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นสอง

           สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ลักษณะเหรียญเป็นรูปกรงจักรแบบเดียวกับของหลวงพ่อแช่ม วัดตากล้อง มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงรมดำ ทองแดงผิวไฟ ทองแดงกะไหล่เงิน และทองแดงกะไหล่ทอง นับ​เป็น​เหรียญ​รุ่น​สุดท้าย​ของหลวง​พ่อ​ที่ได้สร้าง​ไว้​ใน​สมัย​ที่​ท่าน​ยัง​มีชีวิต​อยู่​

เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นสอง ปี พ.ศง ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเฟื่องครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ในรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "พระครูอดุลสารธรรม" มีอักขระขอมล้อมรอบอ่านได้ว่า  "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอัง"

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระยันต์ตรีนิสิงเห  มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "วัดอมรญาติสมาคม"

          เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ รุ่นสุดท้าย

          สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ลักษณะเหรียญเป็นรูปไข่ สร้างด้วยเนื้อทองแดง มีทั้งที่เป็นกระไหล่ทอง กระไหล่เงิน และผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ โดยหลวงพ่อเฟื่องทำการสร้างเหรียญรุ่นนี้ก่อนท่านมรณะภาพในปีถัดไป

เหรียญหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม รุ่นสุดท้าย

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเฟื่องนุ่งเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ มือทั้งสองข้างจับที่หน้าแข้ง ด้านข้างซ้าย-ขวา มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่ออดุลสารธรรม วัดอมรญาติสมาคม" ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "เฟื่อง ธรรมปาโร"

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระยันต์สาม ใต้ยันต์สามมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ"

          ปรกหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติฯ

          สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ลักษณะเหรียญปั๊มแบบไม่มีหูรูปพระนาคปรก เชื่อกันว่าสร้างเป็นพระประจำวันของหลวงพ่อเฟื่อง เนื่องจากหลวงพ่อเฟื่องท่านเกิดวัดเสาร์ สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองจำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ โดยหลวงพ่อเฟื่องทำการสร้างเหรียญรุ่นนี้ก่อนท่านมรณะภาพในปีถัดไป

ปรกหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคม ราชบุรี

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปางนาคปรก ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ  

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระยันต์ขอม เหนือยันต์มีตัวอุณาโลม ๑ ตัว

          พุทธคุณของวัตถุมงคลของหลวงพ่อเฟื่อง วัดอมรญาติสมาคมนั้น คนสมัยก่อนนับถือกันว่าเหนียวไม่เป็นสองรองใคร นอกจากนี้ในด้านคลาดแคล้ว ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อชาวดำเนินฯ และศิษย์ยานุศิษย์มานักต่อนักแล้ว จัดเป็นพระที่หายากและมีราคามาตั้งแต่สมัยโบราณ ผู้ใดมีครอบครองก็มักจะยิ่งหวงแหนเป็นยิ่งนัก.




โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้