โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลพระอุปัชฌาย์อ่วม ติสฺสรสฺโส (หลวงพ่ออ่วม) วัดไทร พระเกจิแม่กลองที่อายุถึง ๑๐๐ ปี

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่วม (ติสฺสรสฺโร) วัดไทร สมุทรสงคราม
หลวงพ่ออ่วม (ติสฺสรสฺโร) วัดไทร สมุทรสงคราม

          หลวงพ่ออ่วม หรือ พระอุปัชฌาย์อ่วม ติสฺสรสฺโส วัดไทร ถือเป็นพระเกจิคณาจารย์ยุคเก่า ผู้มีตบะบารมีแก่กล้าแห่งเมืองสมุทรสงครามอีกรูปหนึ่ง เล่ากันว่าท่านมากด้วยอิทธิคุณและบุญฤทธิ์ เสียดายที่ประวัติของท่านไม่มีการจดบันทึกไว้ แต่จากคำบอกเล่า สามารถสันนิษฐานได้ว่า

          หลวงพ่ออ่วม วัดไทร เกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๖๐ พื้นเพท่านน่าจะเป็นชาวบ้านกระดังงา อำเภอบางคณที จังหวัดสมุทรสงคราม ตามบันทึกไม่ปรากฏชื่อโยมบิดาและโยมมารดาของท่าน 

         ราวปี พ.ศ. ๒๓๘๐ หลวงพ่ออ่วม ท่านเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธีสมาวัดไทร ตำบลกระดังงา อำเภอบางคณที จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "ติสฺสรสฺโส" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดไทรเรื่อยมา เพื่อเรียนวิชากับหลวงพ่อตัด (คงทอง) เจ้าอธิการวัดไทรในสมัยนั้น จนสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย

         ซึ่งหลวงพ่อตัด ท่านนี้ถือเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เล่ากันว่าหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อมยังเคยพายเรือมาขอฝากตัวร่ำเรียนวิชาต่อกระดูกกับท่าน แต่เห็นว่าวิชานี้พิศดารจึงได้ล้มเลิกเสียก่อน

         นอกจากนี้หลวงพ่อตัด ท่านยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์และเป็นหนึ่งในอาจารย์ของหลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย พระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามอีกด้วย

         เล่ากันว่าหลวงพ่ออ่วม ท่านได้เคยเล่าเรียนศึกษาวิชากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยไล่เลี่ยกับ หลวงปู่อ้น วัดบางจาก อีกด้วย เพราะในสมัยนั้นสมเด็จโต เมื่อท่านมีกิจนิมนต์มาที่เมืองสมุทรสงคราม ท่านมักจะอยู่จำวัดที่วัดไทรแห่งนี้เป็นประจำนั่นเอง

         ต่อมาพระอธิการตัด คงทอง เจ้าอาวาสวัดไทรได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่ออ่วม ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

          วัดไทร เป็นวัดราษฏร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เดิมชื่อ "วัดไซ" วัดตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลกระดังงา อำเภอบางคณที จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นวัดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยโบราณ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา แต่กลายเป็นวัดร้างมานานหลายปี 

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๐๒๓ ขุนวิเศษฯ ซึ่งเป็นนายด่านพระเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี ได้มาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่ แต่นั้นมาก็เริ่มมีพระสงฆ์มาจำพรรษา แต่วัดก็ไม่ได้มีการพัฒนาให้เจริญรุ่งเรือง เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ และเป็นที่ประกอบการบุญทางพระพุทธศาสนาเท่านั้น

         ในอดีตวัดไทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางสวน ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ต่างๆและสงบเงียบ การเดินทางไปวัดสมัยก่อนโดยสารทางเรือ หรือไม่ก็เดินลัดเลาะไปตามร่องสวนค่อนข้างลำบาก จึงเป็นสถานที่มีความสงบวิเวก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนา

         และเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม แม้การเดินทางไปวัดไทร ในสมัยก่อนจะลำบากแต่ก็เป็นวัดที่พระสงฆ์ผู้ใฝ่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมเดินทางไปเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิชาอยู่เสมอ วัดได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ วัดมีรายนามเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้

         ๑. พระอุปัชฌาย์ปาน

         ๒. พระอธิการช่วง

         ๓. พระอธิการอิน

         ๔. พระอุปัชฌาย์พุ่ม ปญฺญาโชโต

         ๕. พระอุปัชฌาย์จั่น

         ๖. พระอุปัชฌาย์รอด ขนฺธสีโล

         ๗. พระอุปัชฌาย์ตัด (คงทอง)

         ๘. พระอุปัชฌาอ่วม ติสฺสรสฺส

         ๙. พระอธิการนวล ธมฺมโชโต  พ.ศ. ๒๔๕๙ - พ.ศ. ๒๔๙๕

         ๑๐. พระครูพิชิตสมุทรการ (ศักดิ์ ฐิตธมฺโม)  พ.ศ. ๒๔๙๕ - พ.ศ. ๒๕๒๔

         ๑๑. พระครูวิมลสมุทรวัฒน์ (เผือด) พ.ศ. ๒๕๒๔ - พ.ศ. ๒๕๓๑

         ๑๒. พระครูสมุทรสิทธิวัฒน์ (จรินทร์ ฐิตนนฺโท) พ.ศ. ๒๕๓๔ - พ.ศ. ๒๕๖๓

         ๑๓. พระสมุห์ธนพงษ์ (หน่อง กิตฺติวํโส) พ.ศ. ๒๕๖๕ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่ออ่วม (ติสฺสรสฺโร) วัดไทร สมุทรสงคราม
หลวงพ่ออ่วม (ติสฺสรสฺโร) วัดไทร สมุทรสงคราม

         หลังจากที่หลวงพ่ออ่วม ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ แต่ด้วยที่ท่านเป็นพระภิกษุที่รักสันโดษ และวัดแห่งนี้อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางน้อย ทำให้ในสมัยนั้นวัดไม่เจริญเท่าที่ควรนัก เสนาสนะต่างๆ ถูกสร้างด้วยไม้พอถึงหน้าน้ำหลากพื้นที่ในวัดจะถูกน้ำท่วมทุกปี

         ในด้านวิทยาคมของท่านนั้น คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่เล่าสืบต่อกันมาว่าตอนมีชีวิตอยู่ หลวงพ่ออ่วม ท่านมีชื่อเสียงทางวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ แพร่หลายไปทั่งแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ท่านสำเร็จวิชาผงวิเศษห้าประการ และเก่งกาจมากเรื่องการทำน้ำมนต์ 

         น้ำมนต์ของท่านนอกจากจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บหลายอย่างให้หายอย่างอัศจรรย์แล้ว ยังแก้และรักษาคุณไสย ขับไล่ภูตผีปีศาจได้ชยัดอีกด้วย 

          แม้การเดินทางไปวัดไทร สมัยก่อนจะลำบาก แต่ก็มีคนบากหน้า มาขอความอนุเคราะห์ให้หลวงพ่ออ่วมรดน้ำมนต์อยู่เสมอ 

          สมัยก่อนเล่ากันว่าคนป่วยบางคนญาติต้องนำใส่เรือนอนมาจากที่ไกลๆ เพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ให้ ซึ่งย่อมแสดงว่ากิตติศัพท์หลวงพ่ออ่วม ในสมัยนั้นเป็นที่กล่าวขวัญกันไปทั่วทุกหัวระแหงเลยที่เดียว

          หลวงพ่ออ่วม ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ของวัดไทร โดยเจ้าอาวาสแต่ละรูปในอดีตเป็นต้นมา ล้วนแต่มีอายุยืนยาว เจ้าอาวาสหลายๆ รูป อายุ ๙๐ กว่าปี และ ๑๐๐ กว่าปี แทบทุกรูป 

          จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สมัยที่พระอธิการนวล เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ หลวงพ่อนวลก็เริ่มทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดไทรเป็นการใหญ่ โดยมีพระศักดิ์ ฐิตธมฺโม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง

          มีการสร้างเสนาสถาน ศาสนสถานต่างๆ จนมีการพัฒนาเจริญรุ่งเรืองกว่าวัดอื่นๆ ในระแวกนั้น และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับมาจนกระทั่งทุกวันนี้

          หลวงพ่ออ่วม วัดไทร  ท่านมรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ นับรวมสิริอายุได้ ๙๙ ปี ๗๙ พรรษา ซึ่งถือเป็นพระเถระที่มีอายุยืนยาวที่สุดของสมุทรสงครามเลยทีเดียว.

วัตถุมงคลของหลวงพ่ออ่วม วัดไทร

           หลวงพ่ออ่วม ท่านสร้างวัตถุมงคลไว้หลากหลายอย่างทั้ง ตะกรุด  ผ้ายันต์ พระเนื้อดินเผา หรือเหรียญหล่อสี่เหลี่ยม พุทธคุณโดดเด่นด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด โยพระของท่านสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ปัจจุบันของแท้หาชมได้ยากที่รวบรวมไว้มีดังนี้.

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่ออ่วม วัดไทร รุ่นแรก

           สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๐ กว่าๆ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษย์ของท่าน  ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบโบราณแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อสำริดแก่ทองเหลือง บางเหรียญมีผิวพลายเงินขึ้น จัดเป็นเหรียญหล่อโบราณยุคเก่าที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ที่นับวันจะหาชมยากส์มากๆ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่ออ่วม วัดไทร รุ่นแรก เนื้อสัมริด ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นพิมพ์พระพุทธนั่งปางสมาธิ มีฐานรองรับ ใต้ฐานและด้านข้างซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์

          ด้านหลัง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่ออ่วม นั่งเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนผ้าสังฆาฏิปรากฏอักขระยันต์ขอม อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"  ด้านซ้ายมือ มีข้อความภาษาไทยอ่านได้ความว่า "วัดไทร" ด้านขวามือมีอักขระขอมเป็นยันต์หัวในธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" 
  
          พระสมเด็จหลวงพ่ออ่วม วัดไทร

           สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระเนื้อผงน้ำมันสี่เหลี่ยม สร้างจากผงวิเศษต่างๆ ท่านหลวงพ่อ่วม ท่านได้รวบรวมไว้ และชาวบ้านที่ได้รับแจก นิยมเรียกกันว่า สมเด็จหลวงพ่ออ่วม วัดไทร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระสมเด็จหลวงพ่ออ่วม วัดไทร ปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นพิมพ์พระพุทธนั่งปางสมาธิ มีฐานรองรับ ใต้ฐานและด้านข้างซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์

          ด้านหลัง ปรากฏอักขระข้อความภาษาไทยอ่านได้ความว่า "วัดไทร พ.ศ. ๒๔๕๙" ด้านล่างมีมีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห

          พระปิดตาหลวงพ่ออ่วม วัดไทร

           สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิย์ของท่าน ลักษณะเป็นพระปิดตาภควัมบดี องค์พระมีลักษณะสี่เหลี่ยม มีเส้นบังคับพิมพ์ชัดเจน สร้างด้วยเนื้อดินผสมผงใบลาน ถือเป็นเนื้อเนื้อดินที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี จัดเป็นพระหายากของหลวงพ่ออ่วมเลยทีเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปุ่อ่วม วัดไทร สมุทรสงคราม เนื้อดิน ปี 2459
พระปิดตาหลวงพ่ออ่วม วัดไทร สมุทรสงคราม เนื้อดิน ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๕๙

          ด้านหน้า เป็นพระปิดตาภควัมบดีประทับนั่งบนฐานบัวหงาย ๘ เม็ด ใต้ฐานบัวมีฐานเขียง มีเส้นบังคับพิมพ์ องค์พระมีความชัดลึก ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

          ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักชระยันต์ใดๆ

          เหรียญเงินลงถมหลวงพ่ออ่วม วัดไทร

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยหลวงพ่อศักดิ์เจ้าอาวาสวัดไทรในสมัยนั้น เพื่อแจกในงานศพของพระอธิการนวล เจ้าอาวาสวัดไทร ลักษณะเป็นเหรียญสี่เหลี่ยมเนื้อเงินแบบมีหูในตัว ข้างเลื่อย แล้วลงถมเป็นรูปหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญเงินลงถมหลวงพ่ออ่วม วัดไทร ปี พ.ศ. 2459
เหรียญเงินลงถมหลวงพ่ออ่วม วัดไทร ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ของคุณธีระ อมรพรวิวัฒน์

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่ออ่วมครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่ออุปัชฌาย์อ่วม วัดไทร"

          ด้านหลัง เรียบไม่ปรากฏอักชระยันต์ใดๆ

          เหรียญหล่อโบราณหลวงพ่ออ่วม วัดไทร รุ่น ๒

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยหลวงพ่อจรินทร์เจ้าอาวาสวัดไทรในสมัยนั้น เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด  ลักษณะเป็นเหรียญหล่อแบบโบราณแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่ออ่วม วัดไทร รุ่น  2 2540 ทองแดง
เหรียญหล่อหลวงพ่ออ่วม วัดไทร รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นพิมพ์พระพุทธนั่งปางสมาธิ มีฐานรองรับ ใต้รูปพระพุทธมีเลขไทยเขียนว่า "๒" ใต้ฐานและด้านข้างซ้าย-ขวา มีอักขระยันต์ ที่พื้นเหรียญมีโค้ด "อุ" ตอกไว้

          ด้านหลัง เป็นรูปเหมือนหลวงพ่ออ่วม นั่งเต็มองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนผ้าสังฆาฏิปรากฏอักขระยันต์ขอม อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ"  ด้านซ้ายมือ มีข้อความภาษาไทยอ่านได้ความว่า "วัดไทร" ด้านขวามือมีอักขระขอมเป็นยันต์หัวในธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" 



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้