โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อก้าน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม(วัดใต้) ศิษย์หลวงปู่เปลี่ยน

ภาพถ่ายหลวงพ่อก้าน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี
หลวงพ่อก้าน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี

         หลวงพ่อก้าน วัดใต้ หรือ พระครูวัตตสารโสภณ อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ท่านมีนามเดิมว่า ก้าน นาคะพันธ์ เกิดที่บ้านชุกโดน ตำบลบ้านใต้  อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

         ท่านเป็นอดีตเจ้าคณะตำบลพนมทวน  อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี และศึกษาธิการจังหวัดกาญจนบุรี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติอื่นๆของท่านไม่มีการจดบันทึกไว้

         หลวงพ่อก้าน วัดใต้ ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ ได้รับตำแหน่งให้เป็นถึงครูใหญ่โรงเรียนวิสุทธรังษี ในปี พ.ศ.๒๔๔๙

         ซึ่งในสมัยนั้นโรงเรียนวิสุทธรังษี ยังตั้งอยู่ภายในพื้นที่ของวัดไชยชุมพลชนะสงคราม  หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากกันว่า วัดใต้

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่เปลี่ยน ท่านได้มรณภาพลง พระปลัดจูจึงได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสก็สืบแทน และปกครองวัดได้เพียง ๓ ปี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระปลัดจูก็ได้มรณภาพลง ชาวบ้านและคณะสงฆ์จึงพร้อมใจกันนิมนต์พระอาจารย์ก้านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตำบลบ้านใต้ อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พื้นที่ที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ ๔๔ ไร่ ๒ งาน ๘๑ ตารางวา

         วัดไชยชุมพลชนะสงคราม หรือ วัดใต้ เพราะวัดอยู่ทางใต้ของกำแพงเมือง ตามเรื่องเล่าจากผู้สูงอายุเล่าว่า พระยาตาแดงเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ หรือซ่อมแซมบูรณะต่อเติมจากของเดิมซึ่งมีอยู่มาก่อนแล้วก็ได้ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ยังหาหลักฐานไม่ได้ 

         สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔

         ภายในวัดมีพระเจดีย์เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใกล้พระอุโบสถหลังเก่า กรมศิลปากรได้จัดขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ ตามประกาศครั้งที่ ๑ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๘

         ในสมัยโบราณกองทัพไทยได้เคยชุมพลเหล่าทหารที่ทะแกล้วร่วมพิธีตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเทพารักษ์ทางไสยศาสตร์ ก่อนที่จะออกไปรบประจันกับเหล่าศัตรู 

         โดยชุมชุมร่วมพิธีกัน ณ ตรงที่ตั้งพระเจดีย์องค์นี้ และได้สร้างเจดีย์นี้เพื่อเป็นนิมิตฉลองชัย ชื่อ ไชยชุมพล แสดงว่าพระเจดีย์นี้สร้างขึ้นในที่ชุมพล ต่อมาขนานนามวัดให้เหมาะสมตามชัยนิมิตนี้

         อาคารเสนาสนะทีสำคัญ ได้แก่ พระอุโบสถหลังเก่า สร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพพรหมลูกฟัก ภาพเทวดา ภาพพระราหูอมจันทร์ และผนังด้านข้างเขียนภาพประวัติขุนแผนย่างกุมารทอง ตามบทประพันธ์เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน 

         พระอุโบสถหลังใหม่ กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ 

         ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาแลงปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัดกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ สูง ๕ ศอก ๑ คืบ สร้างสมัยทวารวดี และศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๗  เมตร ยาว ๖๐ เมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา ภายในเขียนภาพจิตรกรรม วัดมีรายนามเจ้าอาวาสดังนี้

         ๑. พระอธิการสวด

         ๒. พระอธิการเกด

         ๓. พระอธิการคง

         ๔. พระครูวิสุทธิรังสี (ช้าง)

         ๕. พระวิสุทธิรังสี (หลวงปู่เปลี่ยน อินฺทสโร)

         ๖. พระปลัดจู จนฺทโชติ

         ๗. พระครูวัตตสารโสภณ (พระอาจารย์ก้าน)

         ๘. พระธรรมคุณาภรณ์(ไพบูลย์ กตปุญฺโญ)

         ๙. พระเทพปริยัติโสภณ(ปัญญา วิสุทฺธิปญฺโญ ป.ธ.๙ พธ.บ. M.A)

         หลังจากที่หลวงพ่อก้านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ทดแทนหลังเก่าที่มีขนาดเล็ก และทรุดโทรมลงมาก โดยพระอุโบสถหลังใหม่มีขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๐ เมตร หลังคา ๓ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ 

         ซึ่งภายในประดิษฐานพระประธานศักดิ์สิทธิ์มีอายุหลายร้อยปี  (อัญเชิญจากที่อื่นมาประดิษฐานในพระอุโบสถหลังเก่า ต่อมาอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นประพระประธานหลังใหม่) องค์พระเป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางตรัสรู้ ขนาดหน้าตัดกว้าง ๔ ศอก ๑ คืบ สูง ๕ ศอก ๑ คืบ สร้างสมัยทวารวดี

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่โดยมีขนาดกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๖๐ เมตร 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ หลังจากสร้างพระอุโบสถก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านจึงได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๗ 

         หลวงพ่อก้าน ท่านได้ปกครองวัดใต้เรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๗

วัตถุมงคลของหลวงพ่อก้าน วัดใต้

         เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นผูกพัทธสีมา

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในสมัยที่หลวงพ่อก้านเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ฐานหมอนแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2506 ทองเหลืองกระไหล่ทอง
เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองเหลืองกระไหล่ทอง
เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2506 ทองเหลือง
เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองเหลือง

เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2506 ทองแดง
เหรียญแข้งหมอนหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดงรมดำ

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ รุ่นผูกพัทธสีมา ๐๗

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ในสมัยที่หลวงพ่อก้านเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมาของทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปโล่หรืออาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2507 ทองแดงกระไหล่ทอง ม.ชิด
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง (ม.ชิด)

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2507 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน  วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี 2507 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดไชยชุมพลชนะสงคราม ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

          ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อเปลี่ยนครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัดใต้"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานผูกพัทธสีมา วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) จ.กาญจนบุรี ๒๕๐๗"



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้