โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี ศิษย์เอกหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร

ภาพถ่ายหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี
หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี

         หลวงปู่นนท์ วราโภ วัดเหนือวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่า นนท์ ศรีจันทร์สุก เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ ตรงกับวันพุธ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ ณ บ้านเตาอิฐ หมู่ที่ ๑ ตำบลเตาอิฐ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี 

         ในวัยเด็กเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดหนองม่วง ตำบลวังเย็น อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และยังเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อเงิน นนโท วัดหนองม่วง ได้เล่าเรียนวิชาโดยหลวงพ่อเงินเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ตั้งแต่วัยเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคาถาอาคม เวทมนตร์ ไสยศาสตร์ ทั้งสำหรับกันและแก้ นอกจากนั้น ยังได้ศึกษาตำรับตำรายาแพทย์แผนโบราณเพิ่มเติมอีกด้วย

         ปี พ.ศ.๒๔๗๐ ในขณะที่หลวงพ่อนนท์ มีอายุได้ ๑๗ ปี พระครูใบฎีกาถาวร ผู้เป็นพระอาจารย์ จึงได้บรรพชาเป็นสามเณรให้ ณ วัดเหนือวน ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระครูอุดมธีรคุณ (ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร จังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ครั้นได้บวชเป็นสามเณรแล้ว พระครูใบฎีกาถาวรได้ส่งไปเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรม ณ วัดสนามพราหมณ์ ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี โดยหลวงพ่อสอบได้นักธรรมชั้นตรีในพรรษาแรก ที่ทำการบวชเรียน

ภาพถ่ายหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี
หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ราชบุรี

         ในขณะที่สามเณรนนท์กำลังเรียนนักธรรมชั้นโทอยู่นั้น พระครูใบฎีกาถาวรเกิดอาพาธหนัก สามเณรนนท์จึงต้องกลับมาปรนนิบัติดูแลพระอาจารย์ จนกระทั่งท่านได้มรณภาพลง ต่อจากนั้นเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี ได้หันมาเรียนทางด้านกรรมฐาน บำเพ็ญทางจิตเพื่อเป็นการกำราบกิเลสที่จะเกิดขึ้นกับจิตใจ 

         โดยฝากตัวเรียนกรรมฐานกับ หลวงปู่บุดดา ถาวโร แห่งวัดกลางชูศรีเจริญสุข อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี พระอริยสงฆ์ที่ทรงคุณด้านวิปัสสนาธุระเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เนื่องจากหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระสหธรรมิกได้ธุดงควัตรผ่านมา และจำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวน

         ครั้นเมื่อสามเณรนนท์ มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๔ ณ พัทธสีมาวัดเหนือวน ตำบลคุ้งน้ำวน อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับนามฉายาว่า "วราโภ" ซึ่งแปลว่า "ผู้มีรัศมีอันประเสริฐ" โดยมี

         พระพุทธวิริยากร(ดา) วัดสัตตนารถปริวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระครูเมธีธรรมานุยุต(เม้ย) วัดลาดเมธังกร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอธิการเฉื่อย วัดเหนือวน เป็นอนุสาวนาจารย์  

         ครั้นบวชแล้ว ก็จำพรรษาอยู่ที่วัดเหนือวนมาตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอธิการเฉื่อย เจ้าอาวาส ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา ด้วยความศรัทธาชาวบ้านและพระเถระผู้ใหญ่ได้มีบัญชาแต่งตั้งพระภิกษุนนท์ วราโภ รักษาการแทนเจ้าอาวาส ไปพลางก่อนเป็นเวลา ๑ ปี จึงได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเหนือวน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ 

          ตลอดเวลาที่หลวงปู่นนท์ ได้ปกครองวัดเหนือวน ท่านได้ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรทุกรูป ส่งเสริมการเรียนรู้พระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลี เพื่อเป็นการเรียนรู้พระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า เพื่อเป็นรากฐานแห่งการปฏิบัติทางจิตอันเป็นจุดสูงสุดของพระพุทธศาสนา

         เมื่อมีเวลาจะดูแลซ่อมแซมทำนุบำรุงเสนาสนะของวัด และยังได้ดูแลโรงเรียนประชาบาล อันเป็นสิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ชาวละแวกตำบลคุ้งน้ำวน เท่ากับเป็นการตอบแทนชาวบ้านทั้งหลายที่มีต่อท่าน ด้วยการอุปถัมภ์ค้ำจุนโรงเรียนประชาบาลวัดเหนือวนประชาอุทิศ ตลอดมา

ภาพถ่ายหลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี
หลวงพ่อเม้ย วัดลาดเมธังกร ราชบุรี พระอาจารย์ของหลวงพ่อนนท์

          การศึกษาพุทธาคมของหลวงพ่อนนท์ ท่านได้สืบทอดวิชามาจากครูบาอาจารย์หลายรูป นับตั้งแต่เป็นเด็กวัด อาทิ พระพุทธวิริยากร(ดา), พระครูเมธีธรรมานุยุต (หลวงพ่อเม้ย) วัดลาดเมธังกร อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี, พระภิกษุชม วัดบางแพเหนือ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี และอาจารย์พงษ์ พรรณารักษา (ฆราวาส) ฯลฯ ครั้งยังเป็นสามเณรในสมัยเป็นผู้ใกล้ชิดกับหลวงปู่บุดดา ถาวโร พร้อมด้วยพระมหาเลื่อน ท่านได้ศึกษาด้านการกรรมฐานบำเพ็ญทางจิตจนสำเร็จ

         หลวงปู่นนท์ วัดเหนือวน ท่านละสังขารลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ในเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น ของวันพุธที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๐ สิริอายุรวม ๙๖ ปี ๙ เดือน ๑๙ วัน ๗๖ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน

         เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์ สร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง เพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นแรก ปี 2511
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูวราโภคพินิต วัดเหนือวน ราชบุรี"

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ"       

         เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ สร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสอง ปี 2519 เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อเงิน

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) วัดเหนือวน จ.ราชบุรี"

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกได้รับแต่งตั้งเป็น อุปัชฌาย์ ๕ มีนาคม ๒๕๑๙"    

         เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลมแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นเอก มีการสร้างด้วยทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสาม ปี 2530 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสาม ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต"

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกฉลองสมณศักดิ์พระครูชั้นเอก ๒๒ มี.ค ๓๐"    

         เหรียญเสมาหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์มีอายุ ๘๔ ปี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี 2536 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) วัดเหนือวน จ.ราชบุรี"

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกครบอายุ ๘๔ ปี ๒๒ มี.ค. ๓๖"    

         เหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว สร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์ในคราวที่หลวงพ่อนนท์มีอายุ ๘๔ ปี มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี 2536 ทองแดงเหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี 2536 ทองแดง
เหรียญรูปไข่หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน รุ่นสี่ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อนนท์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูวราโภคพินิต (นนท์) ครบ ๗ รอบ ๒๒ มี.ค. ๓๖ วัดเหนือวน ต.คุ้งน้ำวน จ.ราชบุรี"

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์มีอักขระขอม "มะ อะ อุ"

         พระเครื่องของหลวงพ่อนนท์ กล่าวขานว่า ดีทางเมตตามหานิยม ผสมแคล้วคลาดปลอดภัย มีไว้ไม่อับจน พระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยและพระเถระผู้ใหญ่ยกย่องนับถือหลวงพ่อนนท์ ในเรื่องปฏิปทาว่ามีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ศีลาจารวัตรงดงามเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่พระเกจิอาจารย์วัดดังต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกมีงานพุทธาภิเษกจะต้องนิมนต์หลวงพ่อนนท์ วัดเหนือวน ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลอยู่เป็นประจำ.


โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

 ***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้