โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว อีกหนึ่งพระเกจิมอญของบ้านแพ้ว สมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร
หลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร

         หลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว หรือ พระครูสาครกิจโกศล อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้ว ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังวหัดสมุทรสาคร ท่านเป็นพระเชื้อสายมอญ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ที่บ้านบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โยมบิดาชื่อนายริด ขะมิ โยมมารดาชื่อนางแจ่ม ขะมิ มีอาชีพทำนา

         ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๔ คน โดยท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง ในวัยเยาว์ท่านถือเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กทั่วไป รักการศึกษาหาความรู้ รักคุณธรรม มีจิตใจกล้าหาญกว่าเด็กอื่นๆ ชอบช่วยเหลือที่บ้านทำนา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ หลวงพ่อจ้อน ท่านมีอายุได้ ๒๓ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป้นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเจ็ดริ้ว ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังวหัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "วรุโณ" โดยมี

         หลวงพ่อหงส์ ฐิตตธมโม วัดเจ็ดริ้ว เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากที่ท่านอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเจ็ดริ้วเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาอาคมและฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระอาจารย์หงษ์

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอธิการหงษ์เจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้ว ได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านและศิษยานุศิษย์ตลอดจนคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อจ้อน ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดริ้วทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดเจ็ดริ้ว เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๓ บ้านต้นคลองเจ็ดริ้ว ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร วัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยชาวตำบลเจ็ดริ้วเชื้อสายรามัญ

         ในช่วงแรกวัดใช้วัสดุพื้นบ้าน หลังคามุงจาก โครงสร้างทำด้วยไม้รวก ไม้ไผ่ เดิมตั้งชื่อวัดว่า วัดรามัญวงศ์วราราม ต่อมาเปลี่ยนมาเป็น วัดเจ็ดริ้วรามัญวงศ์ และเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบันว่า "วัดเจ็ดริ้ว" วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ 

         แต่เดิมวัดตั้งอยู่บนที่ดอน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ชาวเจ็ดริ้วได้ร่วมมือกับทางราชการขุดคลองยาว ๘ กิโลเมตรเศษ ขึ้นตามแนวร่องน้ำซึ่งมีอยู่เดิม เพื่อสะดวกในการสัญจรไปมา และขุดผ่านหน้าวัดพอดี โดยขุดตัดกับคลองดำเนินสะดวกไปทะลุคลองจินดา จึงทำให้วัดตั้งอยู่ริมคลองทางฝั่งตะวันตกดังเช่นในปัจจุบัน มีเจ้าอาวาสปกครองวัดตามบันทึกดังนี้

         ๑. พระอธิการเกศ สุเมโธ พ.ศ. ๒๔๓๖ - ๒๔๕๓

         ๒. พระอธิการหงส์ จิตธัมโม พ.ศ. ๒๔๕๖ - ๒๔๘๖

         ๓. พระครูสาครกิจโกศล (จ้อน วรุโน) พ.ศ. ๒๔๘๘ - ๒๕๒๘

         ๔. พระครูโกศลสาครกิจ (ทองเสริม สุเมโธ) พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๙

         ๕. พระครูปริยัติสาครกิจ(พระมหาสมยา ฐานฑตโต) พ.ศ. ๒๕๔๐ - ๒๕๖๒

         ๖. พระครูสังฆรักษ์ก้องไพร สุวัฒโณ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ปัจจุบัน

ภาพถ่ายหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร
หลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว สมุทรสาคร

         หลังจากที่หลวงพ่อจ้อน ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และยังอบรมชาวบ้านในพื้นที่ให้อยู่ในศีลในธรรม 

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อจ้อน ในการพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมาก ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร (ชั้นตรี) ที่พระครูสาครกิจโกศล เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔

         หลวงพ่อจ้อน ท่านเป็นสหธรรมมิกธรรมกับหลวงพ่ออุตตมะ วัดวังวิเวการาม กาญจนบุรี สมัยก่อนหลวงพ่ออุตตมะ มักมาค้างแรมที่วัดบ่อยครั้ง และอยู่คราวละนานๆ 

         ด้วยเป็นวัดมอญท่ามกลางชุมชนมอญขนาดใหญ่ อีกทั้งเจ้าอาวาสในขณะนั้นคือหลวงพ่อจ้อน ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีความรักในเชื้อชาติมอญของตนเหนือสิ่งอื่นใด

         หลวงพ่อจ้อน ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๔๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว

         เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ใหเกับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่นแรก 2504 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจ้อน ครึ่งองค์ห่มจีวดลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสาครกิจโกศล (จ้อน)"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "นะ" มอญ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์ วัดเจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว ๒๕๐๔"

         เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ใหเกับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปหยดน้ำแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น 2 2512 เนื้ออัลปาก้าชุบนิกเกิ้ล
เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้าชุบนิกเกิ้ล

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจ้อน ครึ่งองค์ห่มจีวดลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ เหนือรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสาครกิจโกศล"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "นะ" มอญ ข้างอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดเจ็ดริ้ว พ.ศ. ๒๕๑๒"

         เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกในงานแซยิดหรืองานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้าชุปนิกเกิ้ลเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น 3 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น 2 2517 อัลปาก้าชุบนิกเกิ้ล
เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้ออัลปาก้าชุบนิกเกิ้ล

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจ้อน ครึ่งองค์ห่มจีวดลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสาครกิจโกศล วัดเจ็ดริ้ว"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์มอญ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ๑๔ ก.ย. ๑๗"

         เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ใหเกับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น 4 2525 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อจ้อน วัดเจ็ดริ้ว รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อจ้อนนั่งสมาธิเต็มองค์บนอาสนะ องค์หลวงพ่อห่มจีวดลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสาครกิจโกศล วัดเจ็ดริ้ว ต.เจ็ดริ้ว อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์มอญ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๔ เม.ย. ๒๕"

 

 โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้