โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง ศิษย์สายหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือที่เข้มขลัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร
หลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร

         หลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง หรือ พระครูบวรสมุทร (สุขปุญฺโญ) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักสองราษฎร์บำรุง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเป็นอดีตพระเกจิร่วมสมัยกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ,หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี วัตถุมงคลของหลวงพ่อเป็นที่นิยมกันในพื้นที่มานานแล้ว

          หลวงพ่อเหลือ ท่านมีนามเดิมว่าเหลือ แผลงณรงค์ พื้นเพที่เป็นคนชาวบ้านคลองตัน ตำบลคลองตัน อำเภอบ่้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด โยมบิดาชื่อนายแผลง แผลงณรงค์ โยมมารดาชื่อนางหุ่น แผลงณรงค์ มีพี่น้องบิดา-มารดาเดียวกัน ๘ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๕

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๘ ปี ท่านได้เข้ารับราชการตำรวจ ประจำอยู่ที่ สภ.ปากคลองบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร 

         ภายหลังได้รับอุบัติเหตุจนขาพิการ จึงได้ลาออกจากราชการ ภายหลังมาพักฟื้นอยู่ที่บ้านเป็นเวลา ๒ ปี ท่านจึงฟื้นจากอาการบาดเจ็บจนสามารถเดินเหินได้

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสวนส้ม อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน  พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ได้รับฉายาว่า "สุขปัญโญ" โดยมี

         พระครูสังวรศีลวัตร (หลวงพ่ออาจ) วัดดอนไก่ดี เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการขาว วัดสวนส้ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบท ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดหลักสองราษฏร์บำรุง เพื่อเรียนพระธรรมวินัย และพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมตรีได้ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ จากสำนักเรียนวัดสุนทรสถิตร

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ท่านสามารถสอบได้นักธรรมโท จากสำนักเรียนวัดตึกมหาชยาราม

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านได้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ณ สำนักเรียนวัดท่าราบ ราชบุรี แต่ท่านก็ยังเป็นผู้อุปการะโรงเรียนวัดหลักสองราษฏร์บำรุง

         ในส่วนของวิชาอาคมนั้น ท่านได้ศึกษาวิชาอาคม จากหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ จนมีความชำนาญเชี่ยวชาญและเข็มขลัง

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลวงพ่อชม เจ้าอาวาสวัดหลักสองราษฏร์บำรุง ได้ลาสิกขาบท ชาวบ้านและคณะศิษย์วัดหลักสอง จึงได้นิมนต์ท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระครูสมุทรคุณากร เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร ได้แต่งตั่งให้หลวงพ่อเหลือ เป็นเจ้าอาวาสวัดหลักสอง อย่างเป็นทางการและแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวดเจ็ดริ้ว (เจ้าคณะตำบล) และยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         วัดหลักสองราษฎร์บำรุง เดิมมีชื่อว่า วัดมอญราษฎร์บำรุง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๘ โดยพระยาโชดกราชเศรษฐีกับพระยาไพบูลย์ราชรังสรรค์ เป็นผู้บริจาคที่ดินให้สร้างวัด ซึ่งในครั้งนั้นได้ทำการชักชวนประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมกันสร้างวัดอีกด้วยตามคติความเชื่อโบราณ 

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้มีการย้ายวัดจากเดิมตั้งอยู่ติดกับคลองดำเนินสะดวกมาสร้างบริเวณฝั่งคลองดำเนินสะดวกทางด้านใต้ ได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดราษฎร์ศรัทธากะยาราม" ส่วนวัดมอญราษฎร์บำรุงจึงเป็นวัดร้างใช้เป็นสถานที่เก็บศพ 

         ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ นายฉาย นายเบี้ยว นายบุญ นายจีน และราษฎรบ้านแพ้วได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ ในที่ดินของวัดมอญราษฎร์บำรุง และตั้งชื่อว่า "วัดหลักสองราษฎร์บำรุง" ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ 

         ๑. พระอินทร์ อินทโชโต พ.ศ.๒๔๑๘ – ๒๔๓๘ 

         ๒. พระมหาเลา มหาลาโภ พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๖๓ 

         ๓. พระรัช รตโน พ.ศ. ๒๔๖๔ – ๒๔๖๖ 

         ๔. พระชม โชติโก พ.ศ. ๒๔๖๗ – ๒๔๗๑ 

         ๕. พระครูบวรสมุทร(หลวงพ่อเหลือ) พ.ศ. ๒๔๗๔ – ๒๕๑๔

         ๖. พระครูพิพัฒน์วุฒิสาคร พ.ศ. ๒๕๑๕ – ปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อเหลือ ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดหลักสอง ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด และการพัฒนาจิตใจของชาวบ้านให้อยู่ในศีลในธรรม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ด้วยคุณงามความดีของท่าน จึงได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวน 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูบวรสมุทร     

         หลวงพ่อเหลือ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๑๕.๑๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๗๒ ปี ๔๗ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง

         เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี ๒๔๙๘ เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปกรงจักรหรือพัดยศแฉกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่นแรก 2498 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่นแรก 2498 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อเหลือครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "พุท โธ" รอบรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในงานรับสมณศักดิ์ พระครูบวรสมุทร วัดหลักสอง"  กลีบแฉกของเหรียญมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชร พระประธานของวัดหลักสอง นั่งเต็มองค์บนฐานเขียงบัวหงาย ข้างรูปองค์พระมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ พุท โธ สัง มิ" ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๔๙๘ หลวงพ่อเพ็ชร"  กลีบแฉกของเหรียญมีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นก่อนปี ๒๕๑๔ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่น 2  อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเหลือ วัดหลักสอง สมุทรสาคร รุ่น ๒ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อเหลือครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมดไหล่ ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระขอม แต่ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         ด้านหลัง ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชร พระประธานของวัดหลักสอง นั่งเต็มองค์บนยันต์ตรีนิสิงเห แต่ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้