ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง พระเกจิยุคเก่าของเมืองกาญจนบุรี
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี |
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าอีกรูปหนึ่งของเมืองกาญจนบุรี ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดปากบาง และได้พัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
วัดปากบาง เป็นวัดเก่าแก่ ตั้งอยู่ที่ตำบลพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี มีปรากฏชื่อในเอกสารการเสด็จพระราชดำเนินการเสด็จประพาสมาแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ไม่มีหลักฐานว่าวัดปากบางสร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากการศึกษาศิลปกรรมอย่างอุโบสถ น่าเชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงช่วงรัชกาลที่ ๖
ภายในพระอุโบสถหลังเก่าประดิษฐาน พระพุทธรูปที่เรียกว่า "หลวงพ่อพระพุทธศรีมงคล" เป็นพระพุทธรูปแบบโบราณ ๔ องค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะแก้มอิ่ม มีรอยยิ้ม นัยน์ตาพระพุทธรูปมีแววอ่อนโยน ภายในตัวโบสถ์ไม่มีภาพใดๆทั้งสิ้นฝาผนังโล่งไม่มีภาพเขียน เพดานปูด้วยไม้กระดาน มี ๒ ระดับ
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี |
หน้าบันพระอุโบสถเป็นรูปปั้นพระพุทธเจ้ากับหญิงสาวที่มาถวายของ หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ มีช่อฟ้าใบระกาที่ยังอยู่ในสภาพดี ลายหน้าอุดปีกนก ๒ ชั้น ปั้นด้วยปูนเป็นตัวพยานาค ทั้ง ๒ ชั้น หน้าพระอุโบสถ มีพะไลที่สร้างด้วยไม้มุงกระเบื้อง
วัดปากบาง มีเจ้าอาวาสปกครองวัดดังนี้
๑. หลวงพ่อแขก
๒. หลวงพ่อเกตุ
๓. หลวงพ่ออินทร์
๔. หลวงพ่อเปาะ (โป๊ะ)
๕. หลวงพ่อชื่น
๖. หลวงพ่อแคล้ว
๗. หลวงพ่อปลิ๋ว
หลวงพ่อชื่น จากประวัติที่สืบได้นั้น คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านเป็นพระเกจิเก่งกาจด้านคาถาอาคม และยังมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้มีผู้มาฝากตัวเป็นศิษย์กับท่านมากมาย วัตถุมงคลของท่านเด่นทางด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน นอกจากนี้ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ที่มีลูกศิษย์ที่เป็นพระเกจิชื่อดังมากมาย อาทิเช่น หลวงพ่อจุ่น วัดเขาสะพายแร้ง ที่บวชในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ พัทธสีมาวัดสยามแย้
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง และหลวงพ่อแคล้ว วัดปากบาง กาญจนบุรี |
รวมทั้งท่านยังเป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเกลี้ยง วัดเขาใหญ่ ที่มาฝากตัวเรียนวิชาอยู่กับท่านในช่วง พรรษาที่ ๘ - ๑๒ นับเป็นเวลาถึง ๕ ปี กว่าจะเรียนวิชาจนหมด ซึ่งอยู่ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง ปี พ.ศ. ๒๔๗๖
นอกจากนี้ท่านยังเป็นพระอาจารย์และพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อหมั่น วัดดงสัก พระเกจิยุคหลังปี ๒๕๐๐ ที่โด่งดังของเมืองกาญจนบุรีอีกด้วย
หลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ นับเป็นการสูญเสียพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังอีกหนึ่งรูปของเมืองกาญจน์.
วัตถุมงคลของหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา ข้างเลื่อยแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นนี้แม้จะเป็นเหรียญตายแต่ก็ได้หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ ปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อเงิน |
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจพระอุปฌาชื่น ๒๔๘๐"
ด้านหลัง เป็นรูปใบเสมาอยู่ที่กลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก ในงานผูกพัทธสีมาวัดปากบาง"
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แต่แกะบล็อกด้านหน้าแบบเหรียญรุ่นแรก เพื่อแจกในให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง เหรียญรุ่นนี้แม้จะเป็นเหรียญตายแต่ก็ได้หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ปลุกเสก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง กาญจนบุรี รุ่น ๒ (ย้อน) ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกในการฌาปนกิจพระอุปฌาชื่น ๒๔๘๐" ซึ่งไม่ใช่ปีที่สร้าง
ด้านหลัง เป็นรูปยันต์เสืออยู่ที่กลางเหรียญ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดปากบาง"
พระปิดตาหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง
เชื่อกันว่าสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ลักษณะเป็นพระปิดตามหาอุดแบบเป้าประกบ มีการสร้างด้วยเนื้อเมฆพัตรเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น ปัจจุบันเล่นหากันเป็นพระของหลวงพ่อชื่น วัดบางปาก (โปรดใช้วิจารณญาณ) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกพระปิดตาหลวงพ่อชื่น วัดปากบาง ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื้อเมฆพัตร |
ด้านหน้า เป็นรูปพระปิดตามหาอุด ที่หัวไหล่และหัวเข่าขององค์พระ มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "อะ มะ อะ อุ" แถวล่างสุดมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"
ไม่มีความคิดเห็น