โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี เจ้าของตำนานเหรียญฉายารถไฟชนไม่ตาย

ภาพถ่ายหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี
หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี

         หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว หรือ อาจารย์ชื่น อดีตเจ้าอาวาสวัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นพระเกจิชื่อดังอีกรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ตามประวัติที่พอสืบค้นได้นั้นมีเพียงว่า ท่านเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ เป็นชาวบ้านคูบัว เมื่อยังเล็กท่านเป็นเด็กที่เฉลี่ยวฉลาด ชอบการผจญภัยและรักการเรียนเขียนอ่าน

         ท่านได้เรียนหนังสือสมัยที่วัดคูบัว ตามสมัยนิยมจนสามารถอ่านออกเขียนได้ จนเมื่อหลวงพ่อมีอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้เข้ารับการเกณท์ทหาร 

         จนเมื่อปลดประจำการ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทตามคติโบราณ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ ซึ่ง ขณะนั้นหลวงพ่อชื่นมีอายุได้ ๒๖ ปี ณ พัทธสีมาวัดคูบัว ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "ธัมมโชโต" โดยมี

         เจ้าอธิการวัดคูบัว เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลังจากอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดคูบัวเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชาต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังนิยมการธุดงค์วัตรไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อร่ำเรียนวิชาและฝึกฝนตนเอง ตามแบบสมัยนิยมในสมัย 

         หลวงพ่อชื่น นอกจากท่านจะเก่งเรื่องวิชาอาคมแล้ว ท่านยังมีชื่อเสียงด้านยาสมุนไพรอีกด้วย เล่ากันว่าท่านได้ฉันสมุนไพรพญารากดำ เพราะเมื่อท่านมรณภาพลงแล้วกระดูกของท่านเป็นสีดำสนิท

         หลวงพ่อชื่นอยู่จำพรรษาที่วัดคูบัวเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระอธิการไฝ อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดคูบัวในสมัยนั้นได้มรณภาพลง ชาวบ้านและศิษยานุศิษย์จึงได้นิมนต์หลวงพ่อชื่น ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน

         วัดคูบัว เป็นวัดเก่าที่ตั้งอยู่ใกล้พื้นที่โบราณสถานคูบัว ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ในสมัยทวารวดี ชาวบ้านส่วนใหญ่มีเชื่อสายไทยวน ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยสงครามไทย-พม่า ในรัชกาลที่ ๑ 

        หลวงพ่อชื่น หลังจากท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดคูบัวเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ

         มีเรื่องเล่ากันว่า ครูจัน ปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่ ครูจันเดิมทีท่านเป็นชาวตำบลคูบัวโดยเป็นท่านดำรงค์ตำแหน่งครูสอนอยู่ที่โรงเรียนวัดคูบัว ซึ่งครูจันเล่าว่า ท่านได้รับคำชักชวนจากญาติใน กรุงเทพฯ ให้ไปช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านที่กรุงเทพฯ 

         ขณะเดินทางกลับด้วยรถกะบะพร้อมคนที่โดยสารมาด้วยกัน รวมทั้งหมด ๔ คน ครูจันท่านได้เล่าว่าได้นั่งด้านหลังคนขับ 

         เมื่อขับมาได้สักพักจนถึงทางรถไฟรถกะบะคันที่นั่งมาก็ได้ขับเพื่อที่จะข้ามทางรถไฟตามปกติ แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบ รถที่ตามหลังผู้คนใกล้เคียงกลับบีบแตส่งสัญญาณบ้างร้องตะโกนบอกให้รถกะบะที่โดยสารมาได้ระวังก็ตาม

         จะด้วยถึงคราวเคราะห์กรรมหรือสิ่งใดดลให้บังตา คนในรถกลับไม่รับรู้และยังคงขับเพื่อที่จะข้ามผ่านทางรถไฟต่อไป ครูจันบอกว่า ขณะที่ตัวรถได้แล่นผ่านจนค่อมกับรางรถไฟนั้น ทันใดกลับต้องตื่นตกใจ เพราะรถไฟได้วิ่งเข้ามาใกล้กับรถของตัวเองเสียแล้ว 

         ด้วยความตกใจท่านจึงได้กำไปที่กระเป๋าเสื้อของตัวเอง โดยครูจันท่านได้พกเหรียญ ท่านอาจารย์ชื่นไว้ในกระเป๋า จำนวน ๒ เหรียญ มีเหรียญอัลปาก้า ๑ เหรียญ เหรียญ ทองแดง ๑ เหรียญ พร้อมกับพูดออกมาว่า "หลวงพ่อช่วยด้วย" จากนั้นเพียงช่วงเสี้ยวเวลารถไฟชนเข้ากับรถกะบะด้านที่ครูจันนั่งอย่างเต็มๆแรง

         จะด้วยพุทธคุณวิเศษหรือไม่? ครูจันเล่าว่าท่านกระเด็นออกมาจากตัวรถอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนกับว่ามีคนมาอุ้มออกมา จากสิ่งที่เกิดควรจะเจ็บหนักหรือถึงแก่ชีวิต กลับมีแค่เพียงรอยแผลขูดขีดเพียงเล็กน้อย ซึ่งตรงข้ามกับผู้ที่โดยสารร่วมคันกันมาซึ่งเสียชีวิตหมดทั้ง ๓ คน 

         เหตุนี้จึงเป็นสิ่งที่สร้างความอัศจรรย์แก่คนที่พบเห็นร่วมถึงศิษย์ยานุศิษย์หรือแม้แต่กระทั้งผู้หลงใหลในคุณพระทำให้เหรียญของท่านโด่งดังเป็นที่แสวงหาเป็นอย่างยิ่ง.

         หลวงพ่อชื่น ปกครองวัดเรื่อยมาจนมรณภาพใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นับรวมสิริอายุได้ ๗๑ ปี ๔๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว

         เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรกนิยม (ไม่มี พ.ศ.)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดเพื่อสร้างเสนาสนะต่างๆภายในวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๕๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 ไม่มีพศ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก ไม่มี พ.ศ. เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์ชื่น ธมฺมโชโต วัดคูบัว"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "มิ พุท ธะ สัง หะ ตะ อะ สัง" ภายนอกยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ" เหนือยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์ อุ และตัวอุณาโลม อยู่บนสุด

         เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก (มี พ.ศ.)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังจากที่ได้เหรียญบล็อกไม่มี พ.ศ. มา ทางวัดได้ตรวจพบว่าไม่มีปี พ.ศ. ที่เหรียญจึงได้กราบเรียนหลวงพ่อให้ทราบ ซึ่งหลวงพ่อได้ให้ลูกศิษย์ไปแก้ไขให้มี พ.ศ. เพื่อให้ครบตามที่ออกแบบไว้  ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 มีพศ ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก มี พ.ศ. เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 มีพศ อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก มี พ.ศ. เนื้ออัลปาก้า ของคุณแม็ก คูบัว

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์ชื่น ธมฺมโชโต วัดคูบัว"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "มิ พุท ธะ สัง หะ ตะ อะ สัง" ภายนอกยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ" เหนือยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์ อุ และตัวอุณาโลม อยู่บนสุด ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๖" ซึ่งเป็นปีที่จัดสร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก (ไม่มี พ.ศ. มีกลาก)

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๖ หลังจากที่เหรียญรุ่นแรกบล็อกไม่มี พ.ศ. และเหรียญบล็อกมี พ.ศ. ได้หมดไปจากวัด และเหรียญมีประสบกาณ์ จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก ทางคณะศิษย์จึงได้ขออนุญาติหลวงพ่อ ปั๊มพระขึ้นมาใหม่โดยใช้แม่พิมพ์เก่ามาปั๊มใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยเหตุที่ระยะเวลาที่สร้างเหรียญห่างกันมากไป บล็อกด้านหน้าจึงเกิดมีขี้กลาก แต่ได้แกะบล็อกหลังแบบไม่มี พ.ศ. ขึ้นใหม่อีกครั้ง (สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างก่อนบล็อกมีกลากมี พ.ศ. เพราะกลากด้านหน้าเหรียญมีจำนานน้อยกว่า) ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ (ค่อนข้างหายาก พบเห็นน้อย)

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 ไม่มีพศ กลาก ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก(มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก ไม่มีพ.ศ. เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์ชื่น ธมฺมโชโต วัดคูบัว" ตรงบริเวณริมฝีปากและคางของหลวงพ่อมีขี้กลากปรากฏขึ้นชัดเจน

         ด้านหลัง พื้นเหรียญไม่มีกลาก มีอักขระยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "มิ พุท ธะ สัง หะ ตะ อะ สัง" ภายนอกยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ" เหนือยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์ อุ และตัวอุณาโลม อยู่บนสุด

         เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก (มี พ.ศ. มีกลาก)

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการที่เหรียญมีประสบกาณ์ จึงเป็นที่ต้องการของประชาชนเป็นอย่างมาก ทางคณะศิษย์จึงได้ขออนุญาติหลวงพ่อ ปั๊มพระขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยใช้แม่พิมพ์บล็อก มี พ.ศ. มาปั๊มใหม่อีกครั้ง แต่ด้วยเหตุที่ระยะเวลาที่สร้างเหรียญห่างกันมากไป บล็อกจึงเกิดมีขี้กลากขึ้นทั้งบล็อกหน้าและบล็อกหลัง (สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างหลังจากบล็อกมีกลากไม่มี พ.ศ. เพราะด้านหน้าของหลวงพ่อมีกลากมากกว่า)  จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์นี้ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 มีพศ มีกลาก ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก(มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก มีพ.ศ. เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรีรุ่นแรก 2506 มีพศ กลาก อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก(มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ บล็อก มีพ.ศ. เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อาจารย์ชื่น ธมฺมโชโต วัดคูบัว" ตรงบริเวณริมฝีปากและคางของหลวงพ่อมีขี้กลากปรากฏขึ้นชัดเจน

         ด้านหลัง พื้นเหรียญมีขี้กลาก มีอักขระยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "มิ พุท ธะ สัง หะ ตะ อะ สัง" ภายนอกยันต์น้ำเต้า มีอักขระภาษาขอมอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ธะ" เหนือยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์ อุ และตัวอุณาโลม อยู่บนสุด ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๖" ซึ่งไม่ใช่ปีที่จัดสร้างเหรียญ

         ภาพถ่ายห้อยคอหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว รุ่นแรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เพื่อแจกให้กับศิษยานุศิษน์ของท่าน ลักษณะเป็นภาพถ่ายขาวดำขนาดเล็ก สำหรับนำไปเลี่ยมห้อยคอ จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นสากลของหลวงพ่อ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพถ่ายขนาดห้อยคอหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี
ภาพถ่ายขนาดห้อยคอหลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี รุ่นแรก ของคุณแม็ก คูบัว

         ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อชื่นครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ แต่ไม่มีอักขระภาษาไทยใดๆ

         ด้านหลัง มีการปั๊มอักขระยันต์ขอมอ่านได้ว่า "นะ มิ" ด้วยหมึกสีที่ตรงกลางของรูป ในบางภาพมีรอยจาร

         ตะกรุด ๘ ดอก หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๑  ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อชื่น ที่เป็นเอกลักษณ์หายาก (แบบดอกเดียวถักเชือกก็มี แต่ต้องพิจารณารอยจารให้ดี) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ตะกรุด8ดอก หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี
ตะกรุด ๘ ดอก หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี ของคุณแม็ก คูบัว

         ลักษณะเป็นตะกรุดชุด ๘ ดอก ถักด้วยเชือกด้ายดิบเป็นลวดลายใส้หนุมาน ตัวตะกรุดสร้างจากเนื้อตะกั่วแผ่นจารอักขระโดยมือของหลวงพ่อเอง โดยตะกรุดแต่ละดอกยาวประมาณ ๓ นิ้ว แล้วม้วนจากนั้นถักร้อยเป็นคู่เพื่อใช้คาดเอว พุทธคุณดีทางคงกระพันแคล้วคลาด

         ผ้ายันต์หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๑  ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อชื่น ที่เป็นเอกลักษณ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ผ้ายันต์หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี
ผ้ายันต์หลวงพ่อชื่น วัดคูบัว ราชบุรี ของคุณแม็ก คูบัว

         ลักษณะเป็นผ้าดิบรูปทรงสี่เหลี่ยม พิมพ์อักรขระยันต์ด้วยหมึก พุทธคุณดีทางคลาดแคล้ว คงกระพัน​ชาตรี​ ศิษย์ของท่านบางคนนำไปพับเลี่ยมไว้ด้านหลังของรูปถ่ายรุ่นแรกของท่านก็มี ปัจจุบันเริ่มหาชมได้ยากแล้ว


 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้