โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง ศิษย์หลวงพ่อคง เจ้าของเหรียญบินอันโด่งดัง

ภาพถ่ายหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม นั่งเต็มองค์.jpg
หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง หรือ พระครูสมุทรวิริยาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง ท่านเป็นชาวสวนหลวงมาแต่กำเนิด ท่านเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๔๘ โยมบิดาชื่อนายอิ่ม โพธิ์อิ่ม โยมมารดาชื่อนางแจ่ม โพธิ์อิ่ม ซึ่งนายอิ่มท่านนี้ได้บวชและเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนหลวงอีกด้วย 

         ในสมัยเด็กท่านเป็นเด็กที่มีความฉลาดเฉลียวเกิดกว่าเด็กทั่วไป และได้บวชเป็นเณรเพื่อศึกษาวิชา จนอ่านบาลีออกจนคล่องแคลว 

         จนเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสวนหลวง ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "บุญฺญวิริโย" โดยมี

         ท่านเจ้าอธิการคง (ธมฺมโชโต) วัดบางกะพ้อม เป็นพระอุปัชฌาย์

         ท่านพระอธิการฮ้อ วัดราษฏร์บูรณะ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         ท่านพระอธิการอิ่ม วัดสวนหลวง เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดสวนหลวง แต่ได้เดินทางไปเรียนวิชาคาถาอาคมและวิชากรรมฐานกับหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่เสมอๆ ซึ่งท่านเป็นศิษย์สายตรงร่ำเรียนวิชามากจากหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม 

ภาพถ่ายหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม นั่งเต็มองค์
หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม

         โดยท่านจะพายเรือข้ามฟากไปเรียนกับหลวงพ่อคง อยู่เสมอบางครั้งก็ไปค้างแรมที่วัดบางกะพ้อม ทำอยู่อย่างงี้จนสำเร็จวิชาหลายอย่างจากหลวงพ่อคง โดยท่านเป็นศิษย์รุ่นเดียวกับหลวงพ่อสาย วัดจันทร์เจรืญสุข และเป็นศิษย์พี่ของหลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี

         ต่อมาท่านได้ขึ้นเป็นรองเจ้าอาวาสวัดสวนหลวง เพื่อช่วยพระอธิการอิ่ม ดูแลวัดสวนหลวง จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๑ พระอธิการอิ่ม ได้มรณภาพลง หลวงพ่อปึกจึงได้รับช่วงดูแลวัดสวนหลวงเรื่อยมา จนได้รับการการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนหลวงใน ปี พ.ศ. ๒๔๘๖ 

         แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ประวัติของท่านไม่ได้มีการจดบันทึกไว้อย่างละเอียดเพราะเหตุที่สมัยนั้นวัดสวนหลวงเป็นวัดเล็กๆ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้คนต่างพื้นที่เท่าใดนัก

ภาพถ่ายหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม
หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม

         ซึ่งวัดสวนหลวงนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในสมัยหลวงพ่อปึก เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้รักสันโดษ อยู่อย่างสมถะเรียบง่าย เป็นพระ ผู้ทรงอภิญญามีจิตใจเมตตาสูง เป็นที่นับถือยิ่งของชาวบ้านในแถบนี้

         โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเรือตังเก มักนำเรือมาให้ท่านเจิมอยู่เสมอๆ นอกจากนี้ท่านยังเก่งด้านยาสมุนไพร รับรักษาญาติโยมที่เดือดร้อนได้อย่างดียิ่งจนชาวบ้านเรียกกันว่าพระหมอวัดสวนหลวง

         วัดสวนหลวง เป็นวัดราษฏร์ ที่ตั้งของวัดตั้งอยู่ที่ บ้านแหลมสวนหลวง หมู่ที่ ๑ ตำบลสวนหลวง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม สันนิษฐานว่าเชื้อพระวงศานุวงศ์ เป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้นมา อีกข้อมูลหนึ่งเชื่อว่าเป็นพระยาในสมัยนั้นเป็นผู้สร้าง จึงไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ใดเป็นผู้สร้างวัดนี้ขึ้น 

พระเจดีย์เก่า สมัยอยุธยาของวัดสวนหลวง
พระเจดีย์เก่าสมัยอยุธยาตอนปลายของวัดสวนหลวง สมุทรสงคราม

         จากหลักฐานของกองพุทธศาสนาบันทึกไว้ว่า ได้ตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๕ ร่วมอายุของวัดนี้แล้ว ๓๐๐ ปีเศษ จึงทำให้ถาวรวัตถุในวัดหลายๆชิ้นที่เหลืออ­ยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ยืนยังได้ ถึงความเก่าแก่ของวัดสวนหลวง แห่งนี้ 

         ไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อจักรนารายณ์ พระพุทธรูปโบราณปูนปั้น ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ที่ประดิษฐ์สถานอยู่ในพระอุโบสถ เจดีย์โบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ข้างอุโบสถ กุฏิสงฆ์ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งเดียวในจังหวัดสมุทรสงคราม พระพุทธรูปโบราณอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน

         หลวงพ่อปึก ปกครองวัดสวนหลวง อย่างร่มเย็นเรื่อยมาจนท่านถึงแก่มรณะภาพลง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๖ นับรวมสิริอายุได้ ๖๘ ปี ๔๗ พรรษา และทางวัดได้เก็บรักษาสรีระของท่านไว้จนถึง ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จึงได้ขอพระราชทานเพลิงศพและทำการฌาปนกิจ ในวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ยังความโศกเศร้าเสียใจมาแก่ชาวสวนหลวงเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง

         เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อแจกจ่ายให้กับกรรมการวัดและศิษย์ใกล้ชิดในสมัยนั้น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น โดยหลวงพ่อปึกได้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้าง ๑๐๐ เหรียญ บางตำราว่าสร้าง ๒๕๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2503 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เนื้อทองแดง ของคุณผมชื่อ ประยุทธ

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อปึกครั่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อปึก ปุญฺญวิริโย"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ และมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ให้แก่คณะกรรมการวัดงานปี ๒๕๐๓"

         เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นสอง(เหรียญบิน)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกจ่ายในคราวที่ฉลองอายุหลวงพ่อครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า โดยหลวงพ่อปึกได้ปลุกเสกเดี่ยว ซึ่งในการเสกพระของท่าน ท่านจะปิดกุฏิเสก เนื่องจากเหรียญที่ทานเสกนั้นในระหว่างที่ปลุกเสกเหรียญลอยและหมุนวนในอากาศคล้ายบินได้ จนกลัวว่าจะบินหายไป จึงเป็นที่มาของชื่อเหรียญรุ่นนี้  จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น2 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น2 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า ของคุณผมชื่อ ประยุทธ

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อปึกครั่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปึก บุญฺญวิริโย"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์  เหนือยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดสวนหลวง" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๘ ศิษย์สร้างถวายในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี"

         เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกจ่ายในคราวที่ฉลองอายุหลวงพ่อครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี เพราะเหรียญที่แจกในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ มีประสบการณ์มาก ทางคณะศิษย์จึงขออนุญาตหลวงพ่อสร้างเพิ่มอีก แต่ต่าง พ.ศ. กัน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อนวะ เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า โดยหลวงพ่อปึกได้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น3 2509 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อนวะ ของคุณผมชื่อ ประยุทธ

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น3 2509 อัลปาาก้า
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น3 2509 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อปึกครั่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปึก บุญฺญวิริโย"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์  เหนือยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดสวนหลวง" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๙ ศิษย์สร้างถวายในงานทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี"

         เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่นสี่ (สุดท้าย)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อแจกในคราววางศิลาฤกษ์พระอุโบสถวัดสวนหลวง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น โดยหลวงพ่อปึกได้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม รุ่น 4 2513 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อปึกครั่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรวิริยาภรณ์ วัดสวนหลวง"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ เหนืออักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภผลพูนทวี"

         พระเล็บมือหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยพระเนื้อผงทั้งหมดที่เป็นของหลวงพ่อปึกนั้น หลวงพ่อไม่ได้สร้างเอง แต่เป็นพระที่มีคนสร้างแล้วมาถวายหลวงพ่อปึกแทบทั้งสิ้น ลักษณะเป็นพระเนื้อผงรูปเล็บมือทรงสูง มีการทารักในบางองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

พระเล็บมือหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง เนื้อผงคลุกรัก
พระเล็บมือหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง เนื้อผงชุบรัก

         ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางสมาธิบนฐาน ๔ ชั้น องค์พระคล้ายพระสมเด็จ มีเส้นขอบล้อไปกับพิมพ์พระ

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

         พระสมเด็จกล้วยหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๑๖ โดยพระเนื้อผงทั้งหมดที่เป็นของหลวงพ่อปึกนั้น หลวงพ่อไม่ได้สร้างเอง แต่เป็นพระที่มีคนสร้างแล้วมาถวายหลวงพ่อปึกแทบทั้งสิ้น ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพิมพ์สมเด็จ เนื้อผงผสมเนื้อกล้วย จึงเป็นที่มาของชื่อพระพิมพ์นี้ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

สมเด็จกล้วยหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง สมุทรสงคราม
สมเด็จกล้วยหลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง ของคุณผมชื่อ ประยุทธ

         ด้านหน้า เป็นรูปพระสมเด็จฐาน ๗ ชั้น หูบายศรี ครอบด้วยซุ้มระฆัง มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ


 

ข้อมูล : ดร.พระมหาจรูญ วัดสวนหลวง

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้