โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี เหรียญดีของท่ามะกาที่น่าเก็บ

ภาพถ่ายหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี
หลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี

         หลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา หรือ พระครูกาญจนสังฆกิจ (ฉาบ อุตฺตโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่ามะกา ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี พื้นเพท่านเป็นคนเมืองกาญจน์ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อฉาบ ท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงเข้ารับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดท่ามะกา ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ได้รับฉายาว่า "อุตฺตโม" โดยมี

         พระครูวรวัตวิบูลย์(หลวงพ่อปิ๋ว) วัดหวายเหนียว เป็นพระอุปัชฌาย์

         เจ้าอธิการเที่ยง วัดม่วงชุม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการฉิ่ง วัดท่ามะกา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดท่ามะกาเรื่อยมา เพื่อร่ำเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม และภาษาบาลี รวมทั้งวิปัสสนากรรมฐาน จนเชี่ยวชาญ

ภาพถ่ายหลวงพ่อปิ๋ว วัดหวายเหนียว กาญจนบุรี
หลวงพ่อปิ๋ว วัดหวายเหนียว กาญจนบุรี พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอธิการฉิ่ง เจ้าอาวาสวัดท่ามะกาได้ถึงแก่มรณภาพลง ชาวบ้านในพื้นที่จึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อฉาบ ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดท่ามะกา เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่บริเวณริมถนนแสงชูโต หมู่ที่ ๓ ตำบลท่ามะกา อำเภอท่ามะกา มีเนื้อที่ตั้งวัด ๓๘ ไร่ ๒ งาน ๓๗ ตารางวา 

         ในยุคแรกเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ต่อมาได้ขอตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เดิมมีชื่อว่า วัดท่ามะกาศรัทธาธรรม หรือวัดท่ามะกาประชาบำรุง โดยช่วงเริ่มสร้างวัดนั้นมีการจดบันทึกไว้ว่าสร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๖๐ เดิมวัดตั้งอยู่ในเขตจังหวัดราชบุรี ริมแม่น้ำแม่กลอง

         เมื่อมีการสร้างถนนแสงชูโตขึ้น จึงได้ย้ายวัดมาอยู่ติดถนนสายนี้ เพื่อสะดวกในการสัญจร และเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดท่ามะกา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีรายนามเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม

         ๑. พระจูด

         ๒. พระฉิ่ง (ญาณสโย) พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๗๕

         ๓. พระครูกาญจนสังฆกิจ (ฉาบ อุตฺตโม) พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๕๒๘

         ๔. พระครูวินัยธรพิมล

         ๕. พระครูรังษีกาญจนพิศิษฎ์

         ๖. พระปลัดจำเเริญ เกสรธมฺโม เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

         หลังจากที่หลวงพ่อฉาบ ได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น

          ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อฉาบ ได้จัดสร้างโรงเรียนพระปริยัตฺธรรม แผนกธรรม ขึ้นเพื่อให้พระเณรของทางวัดไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนที่อื่น

          หลวงพ่อฉาบ ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านนั้นเคยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลท่ามะกาวัดท่ามะกา 

         ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความรักและเคารพหลวงพ่อเป็นอย่างมาก จนมีการจัดงานประจำปีเพื่อสักการะหลวงปู่ฉิ่ง หลวงปู่ฉาบ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗ เมษายน ของทุกปี เป็นระเวลา ๕ วัน ๕ คืน โดยมีจุดประสงค์เพื่อรำลึกนึกถึงบุรพาจารย์ของวัดท่ามะกา

         หลวงพ่อฉาบ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นับรวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี ๖๑ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา

         เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์มแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี รุ่นแรก 2511 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉาบครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อฉาบ"

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ด้านบนของอักขระยันค์ห้ามีอุนาโลม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึก วัดท่ามะกา ๒๕๑๑"

         เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดและแจกในงานอายุครบ ๗๐ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี รุ่น อายุ 70 2517 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อฉาบ วัดท่ามะกา กาญจนบุรี รุ่นอายุ ๗๐ ปี ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฉาบครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ บนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูกาญจนสังฆ์กิจ หลวงพ่อฉาบ"

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ด้านบนของอักขระยันค์ห้ามีอุนาโลม มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกอายุครบรอบ ๗๐ ปี วัดท่ามะกา พ.ศ. ๒๕๑๗"



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้