โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง พระเกจิยุคเก่าของบางแพ ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง บางแพ ราชบุรี
หลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง บางแพ ราชบุรี

         หลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิชา เก่งกาจในด้านรักษาต่อกระดูก และตะกรุดแหวกน้ำ ที่เรื่องชื่อด้านความเหนียว กระทั่งแมลงวันยังไม่ได้กินเลือด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการบันทึกประวัติของท่านไว้เลย

         วัดดอนเซ่ง สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ ๑๑ ตำบลบางแพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี  ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๑ งาน

         วัดดอนเซ่ง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ในสมัยรัชกาลที่๖ ตามประวัติการสร้างวัดเล่าสืบต่อกันมาว่า มีพระธุดงค์รูปหนึ่งชื่อ พระอาจารย์ทอง ได้ธุดงค์มาปักกลดที่ใกล้หมู่บ้านดอนเซ่ง ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาจึงได้สร้างที่พักให้จำพรรษา ซึ่งต่อมาได้สร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นเมื่อคุณยายพุ่มได้ถวายที่ดิน และได้รับการพัฒนาจนรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นวัด

         เมื่อพระอาจารย์ทองมรณภาพไปแล้ว หลวงพ่อแช่ม พฺรหฺมสโร ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดต่อ และได้พัฒนาวัดร่วมกับหลวงพ่ออินทร์ ซึ่งต่อมาได้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าราบ โดยได้รับบริจาคที่ดินเพิ่มจากคุณยายเผื่อน จนสามารถพัฒนาจากสำนักสงฆ์กลายเป็นวัดได้ในสมัยของพระอาจารย์แช่ม การบริหารปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ

         ๑. เจ้าอธิการแช่ม พฺรหฺมสโร

         ๒. พระอธิการสำเภา ปัญญาธโร

         ๓. พระอธิการบุญเรือน

         ๔. พระอธิการเมี้ยน

         ๕. พระอธิการสมพงษ์ พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๒๙

         ๖. พระอธิการสมาน พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๓

         ๗. พระอธิการยม ฐานวุฑโฒ

         ๘. พระครูโสภณธรรมศาสน์ (สิงห์) เป็นเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

         ในสมัยก่อนวัดดอนเซ่ง เป็นวัดที่โด่งดังมาก เพราะวัดดอนเซ่งในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านบางแพ หัวโพ หรือ โพหัก ล้วนรู้จักนามของหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง เป็นอย่างดี รู้ดีถึงกิตติศัพท์ของ "ตะกรุดแหวกน้ำ" ของหลวงพ่อแช่ม

         ตะกรุดของหลวงพ่อแช่มเวลาที่ท่านทำ ท่านจะเดินไปที่คลองหน้าวัดแล้วระเบิดน้ำลงไปม้วนตะกรุด ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาตะกรุดนี้ให้แก่ลูกศิษย์ของท่าน และเคยกล่าวไว้ว่า "ถึงไม่มีน้ำก็ม้วนตกรุดได้ แต่ขอให้จิตตั้งมั่น"

วัดดอนเซ่ง บางแพ ราชบุรี
วัดดอนเซ่ง อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

         นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนเซ่งแล้ว หลวงพ่อแช่มยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย แต่จะเป็นเมื่อใดนั้นหาหลักฐานแน่ชัดไม่ได้ แต่น่าจะก่อน พ.ศ. ๒๔๖๘ เพราะในปีนั้นท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้กับหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง

         ลูกศิษย์ของหลวงพ่อแช่มที่โดดเด่นนอกจากหลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง ยังมีหลวงพ่อแม้น วัดใหญ่โพหัก และหลวงพ่อวิไล วัดโพธิ์งาม

         ไม่เพียงแต่จะโดดเด่นในเรื่องของตะกรุดแหวกน้ำ หลวงพ่อแช่มยังได้ชื่อในเรื่อง หมอแผนโบราณ ทำการรักษาคนเจ็บแก่ชาวบ้าน ที่โดดเด่นของหลวงพ่อแช่มแล้วคือ การรักษาคนเจ็บกระดูกหัก การต่อกระดูกให้กับคนเจ็บที่แขน-ขา หักนั้น หลวงพ่อแช่มจะนำน้ำมันมะพร้าวที่ท่านเคี่ยวด้วยตัวท่านเองมาทาให้ ขณะทาไปก็ภาวนาท่องคาถาสมานกระดูกไปด้วย การรักษาของหลวงพ่อแช่มสัมฤทธิ์ผลทุกราย จึงเป็นที่รักและศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก

         อีกเรื่องหนึ่งเล่าขานกันว่า คาถาไล่ผีของหลวงพ่อแช่มนั้นขลังนัก ในสมัยที่หลวงพ่อแช่มยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้สร้างพระเครื่องไว้แต่อย่างใด คงมีเพียงตะกรุดแหวกน้ำอันลือชื่อของท่านเท่านั้น ที่ชาวบ้านบางแพล้วนกล่าวตรงกันว่า ใครมีตะกรุดหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง ไม่ต้องกลัวของมีคมใดๆ ทั้งสิ้น แมลงวันไม่ได้กินเลือดแน่นอน

         หลวงพ่อแช่ม นอกจากจะเก่งด้านคาถาอาคมแล้ว ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาอีกด้วย ท่านสร้างโรงเรียนวัดดอนเซ่ง เมื่อวันที่ ๖  พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘  ในสมัยขุนศรีวิบูลย์ เป็นนายอำเภอบางแพ ขุนตปานนท์ เป็นศึกษาธิการอำเภอบางแพ โดยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เล่าเรียน

         ด้วยเล็งเห็นถึงคุณค่าของการศึกษาของกุลบุตรกุลธิดาของชาวบ้านในพื้นที่ จนถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อจึงจัดตั้งอาคารเรียนถาวรขึ้นโดยอาศัยที่ดินของวัด

         หลวงพ่อแช่ม ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มณรภาพลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ยังความโศกเศร้าเสียใจให้กับชาวดอนเซ่งและพิ้นที่ใกล้เคียงเป็นอย่างมาก.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง

         เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในยุคของพระอาจารย์บุญเรือนเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งภายหลังหลวงพ่อแช่มมรณภาพแล้ว ในพิธีปลุกเสกมีการขอบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งผู้ที่รับแจกไปมีประสบการณ์รอดตายอย่างปาฏิหาริย์มาหลายราย ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกได้

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นแรก ราชบุรี เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นแรก(หน้าหนุ่ม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นแรก 2505 ราชบุรี เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นแรก(หน้าหนุ่ม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌายะแช่ม วัดดอนเซ่ง"  ด้านบนของรูปมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ แต่ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ 

         เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ในยุคของพระอาจารย์บุญเรือนเป็นเจ้าอาวาส มูลเหตุที่สร้างเพราะเหรียญรุ่นแรกมีประสบการณ์มากไม่พอแจก ทางวัดจึงได้สร้างเหรียญขึ้นอีกครั้ง โดยล้อพิมพ์จากเหรียญรุ่นแรก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกได้

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่น 2 2506 ราชบุรี เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นสอง (หน้ากลาง) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่น 2 2506 ราชบุรี เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่นสอง (หน้ากลาง) ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแซ่งครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌายะแช่ม วัดดอนเซ่ง"  ด้านบนของรูปมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ แต่ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่น ๓

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในยุคของพระอธิการเมี้ยนเป็นเจ้าอาวาส สร้างขึ้นเพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด โดยล้อพิมพ์จากเหรียญรุ่นแรก แต่แกะหน้าหลวงพ่อให้แก่ลง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกได้

เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่น 3 2515 ราชบุรี เนื้อทองแดง-2
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดดอนเซ่ง รุ่น ๓ (หน้าแก่) ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อแซ่งครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอุปัชฌายะแช่ม วัดดอนเซ่ง"  ด้านบนของรูปมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ แต่ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         เกร็ดความรู้ บางแพเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ซึ่งเล่าขานสืบกันมาว่า สมัยก่อนพื้นที่ของตำบลบางแพเป็นที่ราบลุ่มจนจรดทะเล พื้นที่ทั่วไปเต็มไปด้วยป่าพง ป่ากก มีผู้คนอาศัยอยู่น้อย เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีชาวบ้านเข้ามาตัดไม้ในป่านำมาผูกเป็นแพ ล่องมาตามแม่น้ำแม่กลอง และล่องมาตามคลองตาคด การเดินทางต้องจอดพักแพบริเวณตำบลบางแพปัจจุบันนี้ 

         ต่อมามีผู้คนมาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยมากขึ้น ก่อให้เกิดเป็นชุมชนขนาดใหญ่ จึงเรียกชุมชนนี้ว่า บางแพ เมื่อมีการจัดตั้งการปกครองจึงตั้งเป็นชื่อตำบล ตำบลบางแพมีวัดในพื้นที่ถึง ๕ วัดด้วยกัน คือ วัดบางแพเหนือ วัดบางแพใต้ วัดท่าราบ วัดบางกุ่ม และวัดดอนเซ่ง

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้