โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี เหรียญขลังที่หลอมไม่ละลาย

ภาพถ่ายหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี
หลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี

          หลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสแห่งวัดหนองม่วง อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่า สง่า เล่ห์ปะสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ เป็นบุตรของนายเขี้ยม เล่ห์ปะสุวรรณ และนางเม้า เล่ห์ปะสุวรรณ เกิดที่บ้านหม้อ ตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ชีวิตในวัยเยาว์ของท่านได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดบ้านหม้อ โดยมีบรรดาพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้อบรมสั่งสอนวิทยาวิชาการ 

         อีกทั้งบางวันยังต้องนอนค้างที่วัดเพื่อช่วยปรนนิบัติรับใช้ พระสงฆ์อยู่เสมอๆ ดังนั้นชีวิตของหลวงพ่อสง่าจึงอยู่ใกล้ชิดกับพระและวัดมาโดยตลอด จนกระทั่ง ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จึงได้ออกจากโรงเรียนมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา 

         อุปนิสัยของท่านในวัยหนุ่มก็เหมือนกับวัยรุ่นในสมัยนั้นส่วนใหญ่ทั่วไป คือเมื่อเสร็จจากการทำงานก็มักไปเที่ยว เล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆไปตามเรื่อง บางครั้งท่านก็ไปเที่ยวยังหมู่บ้านอื่น เพื่อเสาะแสวงหาความรู้ด้านคาถาอาคมจากครูอาจารย์ที่เก่งๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจ

         จนกระทั่งทราบมาว่าที่วัดไทรอารักษ์ มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญคาถาอาคมอยู่รูปหนึ่ง ท่านจึงดั้นด้นไปพบเพื่อขอเรียนวิชา แต่หลวงพ่อวัดไทรอารักษ์ กลับตั้งคำถามว่ามาจากที่ใดและพอทราบว่ามาจากบ้านหม้อ ท่านจึงปรารภขึ้นว่า "หาหญ้ากินไกลคอกเหลือเกินนะเรา อย่าลืมหญ้าปากคอกดูบ้างว่าหญ้าปากคอกนั้นงามขนาดไหน" 

         นายสง่า ในขณะนั้นได้แต่คิดถึงถ้อยคำปริศนาที่หลวงพ่อวัดไทรฯ ได้พูดถึงแต่ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งไม่นานท่านจึงไขปริศนาได้ว่า หญ้าปากคอกที่พูดถึงนั้นก็คือท่านพระครูเจ้าอาวาสวัดบ้านหม้อนั่นเอง ท่านจึงได้ปวารณาตัวเป็นศิษย์เพื่อเล่าเรียนวิชาอาคมนานนับปี จนมีความรู้แคล่วคล่องในบทสวด คาถาอาคม อักขระเลขยันต์พอควร

         ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านได้ตัดสินใจอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบ้านหม้อ จังหวัดราชบุรี ขณะมีอายุได้ ๒๒ ปี ได้รับฉายาว่า "อนุปุพฺโพ" โดยมี 

         พระอธิการกลิ่น วัดคงคาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระอาจารย์เกลี้ยง วัดเฉลิมอาสน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอาจารย์เช้งและพระอาจารย์แป๊ะ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ (สมัยนั้นใช้พระคู่สวดในพิธีกรรม ๓ รูป)

         หลวงพ่อสง่า เริ่มศึกษาคาถาอาคมและอักขระเลขยันต์ มาตั้งแต่ตอนสมัยเป็นหนุ่ม ทั้งวิชาสักยันต์ รดน้ำมนต์ ครั้นเมื่อท่านได้อุปสมบท แล้วก็ยังให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องด้วยว่า แม้ไม่ใช่กิจของสงฆ์แต่ก็เป็นความนิยมของคนสมัยนั้น เพื่อให้เกิดศรัทธายึดเหนี่ยวทางจิตใจ 

         โดยหลวงพ่อท่านได้เป็นอาจารย์สักยันต์อยู่หลายปีจนกระทั่งได้ข่าวว่า ผู้ที่ท่านสักให้ส่วนมากไปกระทำความชั่ว เป็นนักเลงเพราะฮึกเหิมลำพองในความคงกระพันของรอยสักที่หลวงพ่อสักให้ ท่านจึงได้เลิกพิธีกรรมการสักทั้งหมด เพราะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่เกิดแก่นสารที่แท้จริง 

         หลวงพ่อสง่า ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จังหวัดกาญจนบุรี โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาลบผงอิทธิเจ ปถมัง และการเขียนยันต์ ๑๐๘ ฝากตัวกับหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง เพื่อเรียนวิชามหาอุตม์ ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เพื่อเรียนวิชานะเมตตา และได้รับการถ่ายทอดวิชาเจริญวิปัสสนา และท่านยังมีครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆอีกมากมาย

         ปฏิปทากิตติคุณและคุณธรรมของหลวงพ่อสง่า หลวงพ่อท่านจะมีเมตตาธรรมสูงส่งยิ่งนัก ท่านได้พัฒนาวัดหนองม่วง และพัฒนาคนในชุมชนวัดหนองม่วง ให้รู้จักหลักการดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข สอนให้ทุกคนรู้จักอดทน ให้หมั่นเพียรพยายามพึ่งตนเองเป็นหลัก เอาชนะใจตนเองให้ได้ 

         ท่านจะเน้นวิถีชีวิตอย่างชาวบ้านดั่งที่ท่านพร่ำสอนศิษย์เสมอว่า "คนเราถ้าไม่รวยก็อย่าจน ให้มีหิริโอตัปปะ ให้มีความอดทนและเพียรพยายามจะไม่อดตาย ความจนความรวย เราไม่ได้เอามาตั้งแต่เกิด แต่เราทำตัวเราให้รวย ให้จนได้ทั้งนั้น เป็นหนี้ก็เอามาให้พระแก้ เราต้องแก้ที่ต้นเหตุคือตัวเราเอง หาได้ใช้เป็น ใช้ให้น้อย หาพอเพียงก็จะไม่จน"

         หลวงพ่อสง่า ท่านได้ละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๒๙ มีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ สิริอายุ ๘๘ ปี พรรษาที่ ๖๖

วัตถุมงคลของหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง

         เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก พิมพ์ไม่มี พ.ศ.(นิยม)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2511 พิมพ์ มี พศ
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พิมพ์ไม่มี พศ (นิยม)

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่าครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยล้อมรอบเขียนว่า "พระครูอนุรักษ์วรคุณ" ขอบเหรียญครึ่งบนมีอักขระยันต์ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

          เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก พิมพ์มี พ.ศ.

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อเงิน และทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่นแรก ปี 2511 มี พศ
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พิมพ์ มี พศ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่าครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทยล้อมรอบเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๑๑ พระครูอนุรักษ์วรคุณ วัดหนองม่วง" ขอบเหรียญครึ่งบนมีอักขระยันต์ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

         เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทองเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 2 ปี 2512 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่าครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนสังฆาฏิมีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๑๒" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ ขอบเหรียญมีอักขระยันต์ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ดวง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอนุรักษ์วรคุณ วัดหนองม่วง"

         เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นสาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อเงิน เนื้อนวะ เนื้อทองเหลืองฝาบาตร เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 3  ปี 2523 พิเศษ เนื้อเงิน
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น ๓ (พิเศษ)  ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 3  ปี 2523 พิเศษ เนื้อนวะ
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น ๓ (พิเศษ)  ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อนวะโลหะ

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 3  ปี 2523 พิเศษ เนื้อทองแดงผิวไฟ
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น ๓ (พิเศษ)  ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อทองแดงผิวไฟ

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 3  ปี 2523 พิเศษ เนื้อทองแดงรมดำ
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น ๓ (พิเศษ)  ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อทองแดงรมดำ

เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น 3  ปี 2523 พิเศษ เนื้อฝาบาตร
เหรียญหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ราชบุรี รุ่น ๓ (พิเศษ)  ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่าครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนสังฆาฏิมีเลขไทยเขียนว่า "๖๔" ซึ่งเป็นอายุของหลวงพ่อ ใต้รูปหลวงพ่อมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูอนุรักษ์วรคุณ" ขอบเหรียญมีอักขระยันต์ ในบางเหรียญจะมีรอยจารด้วยมือของหลวงพ่อ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ดวง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองม่วง รุ่นพิเศษ พ.ศ.๒๕๒๓"

         รูปหล่อปั๊มหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะเป็นรูปหล่อปั๊ม ถือเป็นพระรูปหล่อรุ่นแรกของหลวงพ่อ มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อเงิน เนื้อนวะ และเนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อปั๊มหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ทองแดง 2539
รูปหล่อปั๊มหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่านั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสง่า"

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองม่วง"

         ด้านฐาน เรียบ และมีการตอกโค้ด

         รูปหล่อโบราณหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณ ถือเป็นพระรูปหล่อโบราณรุ่นแรกของหลวงพ่อ มีการสร้างขึ้นด้วยเนื้อทองผสม และเนื้อตะกั่วลองพิมพ์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง ทองแดง 2539
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อสง่า วัดหนองม่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสง่านั่งสมาธิเต็มองค์บนฐานเขียง ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสง่า"

         ด้านหลัง ที่ฐานเขียง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดหนองม่วง อ.บางแพ จ.ราชบุรี"

         ด้านฐาน เรียบ


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้