ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว ผู้สร้างลูกอมติดวิญญาณสุดเข้มขลังของเมืองกาญจนบุรี
หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
หลวงพ่อแน่น (ปุสฺโส) วัดหนองขาว หรือ อดีตเจ้าอาวาสวัดอินทาราม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าตำรับลูกอมผ้าห่อศพพรายท้องกลม อันโด่งดังหนึ่งในตำนานจังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อแน่น ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอก หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หรือ พระวิสุทธิรังษี อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี
หลวงพ่อแน่น ท่านเกิด ปีระกา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ มีนามเดิมว่า แน่น พัฒนมาศ เป็นชาวบ้านหนองขาวโดยกำเนิด มีโยมบิดาชื่อนายนุ้ย พัฒนมาศ มีโยมมารดาชื่อนางปลีก พัฒนมาศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาด้วยกัน ๓ คนโดยหลวงพ่อแน่น เป็นบุตรคนรอง ประกอบด้วย
๑. นางน่วม โพธิ์เงิน
๒. หลวงพ่อแน่น ปุสฺโส
๓. นายหน่วง พัฒนมาศ
ในวัยเด็กหลวงพ่อแน่นท่านเป็นเด็กที่มีความมุมานะ ขยันอดทน ตั้งใจเด็ดเดี่ยว ทำสิ่งใดต้องทำให้สำเร็จ เจ้าระเบียบเป็นที่เกรงใจของเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ต่อมาได้เข้ารับการศึกษาโรงเรียนชั้นมูลศึกษา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ขณะที่มีอายุได้ ๘ ปี แต่เข้าเรียนได้แค่ชั้น ป.๒ ไม่ทันได้จบการศึกษาก็ต้องลาออกจากการเรียนมาช่วยบิดามารดาทำนา เลี้ยงวัว
หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
จนเมื่อหลวงพ่อแน่นมีอายุได้ ๒๒ ปี จึงเข้ารับการอุปสมบท (ครั้งแรก) ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ณ พัทธสีมาวัดหนองขาว (วัดอินทาราม) โดยมีพระวิสุทธิรังษี (หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์ ตอนนั้นพระครูโกวิทสุตคุณ (หลวงพ่อพยอม) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทารามได้ปีเศษๆ ท่านพระครูปลัดแน่นได้อยู่จำพรรษา ณ วัดอินทาราม เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและบทสวดมนต์ต่างๆ และปฏิบัติกิจของสงฆ์ที่ดีพึงปฏิบัติตลอดมา หลังจากที่บวชเรียนได้ ๒ พรรษา จึงลาสึกขาออกมาช่วยบิดามารดาทำนา เลี้ยงวัว
ต่อมาได้มีภรรยาชื่อนางสาท แต่ยังไม่ได้แต่งงานอยู่กินด้วยกัน ภรรยาของท่านเกิดตั้งท้อง นายแน่น จึงคิดสร้างครอบครัว โดยเลื่อยไม้ไว้มากมายเตรียมปลูกบ้านเพื่ออยู่กินกับภรรยาและบุตร แต่แล้วนายแน่น ก็ประสพเคราะห์กรรมครั้งใหญ่ในชีวิต ภรรยาของท่านได้คลอดบุตรชายให้แก่ท่าน
แต่ด้วยการแพทย์โบราณที่ไม่ทันสมัยทำให้ภรรยาของท่านเสียชีวิต บุตรชายสุขภาพก็ไม่แข็งแรงอยู่ได้เพียงปีกว่าๆ ก็เสียชีวิตไปอีกคนด้วยโรคหัด ด้วยความเสียใจจากเคราะห์กรรมครั้งนี้ หลังจากจัดงานศพเรียบร้อยแล้วท่านจึงได้ตัดสินใจเด็ดขาดสละทุกอย่างแล้วจึงออกบวชโดยไม่หันหลังกลับ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบิดา มารดา ภรรยาและบุตร
หลวงพ่อแน่น ได้เข้าอุปสมบทครั้งที่ ๒ ณ พัทธสีมาวัดอินทาราม เมื่อวันพุธ ที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง เวลา ๑๒ นาฬิกา ๕๘ นาที ได้รับฉายาว่า "ปุสฺโส" โดยมี
พระวิสุทธิรังษี (หลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้) วัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านพระครูโกวิทสุตคุณ (หลวงพ่อพยอม) วัดหนองขาว เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูพนมคุณาธาร (หลวงพ่อป้อง) วัดห้วยสะพาน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ภายหลังการอุปสมบทได้จำพรรษา ณ วัดหนองขาว(วัดอินทาราม) ด้วยเหตุผลของการบวชในครั้งนี้ทำให้ท่านพระครูปลัดแน่นจึงตั้งใจศึกษาพระธรรมวินัยและเรียนนักธรรมอย่างมุ่งมั่น และปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดมากได้เพียง
พรรษาแรก สอบได้นักธรรมชั้นตรี
พรรษาที่สอง ท่องพระปฏิโมกข์จนจบบริบูรณ์
พรรษาที่สาม สอบนักธรรมชั้นโท และเริ่มเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้พระภิกษุสามเณรในวัด
พรรษาที่สี่ สอบนักธรรมชั้นเอก และได้รับแต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
หลังจากได้ร่ำเรียนศึกษาวิชาการต่างๆ ตลอดจนฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐานจนมีความเชี่ยวชาญมาได้ระยะหนึ่ง ต่อมาในพรรษาที่ ๔ (พ.ศ.๒๔๘๖) หลังจากออกพรรษาแล้วท่านพระครูปลัดแน่นก็ได้ออกเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาความสงบวิเวก ฝึกจิตสมาธิให้เข้มแข็งโดยท่านออกธุดงค์ไปกับพระจอก (พระครูกาญจนวิธาน สุชาโต อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านมะขามเตี้ย) พระคลี่ (พระสมุห์คลี่อดีตเจ้าอาวาสวัดสำรอง) พระเล็ก (พระบวชใหม่) ได้เดินทางขึ้นเหนือธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทางภาคเหนือหลายแห่งจนไปถึง จังหวัดสุโขทัย และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่ากุมเกาะ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
และที่อำเภอสวรรคโลกนี้ มีชาวบ้านหนองขาวมาอาศัยอยู่จำนวนหนึ่งได้นิมนต์ท่านพระครูปลัดแน่นให้จำพรรษาอยู่ที่นี่และด้วยท่านพระครูปลัดแน่นเป็นพระผู้มีวัตรปฏิบัติงดงามเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของญาติโยมทั้งหลาย จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่ากุมเกาะนี้ ๒ พรรษา พระครูปลัดแน่นยังเป็นที่รักของชาวสวรรคโลกอย่างยิ่ง หลังจากท่านแล้วเดินทางกลับวัดอินทาราม ในปี พ.ศ.๒๔๘๘ ชาวสวรรคโลกยังคงตามมานมัสการท่านพระครูปลัดแน่น ที่วัดอินทาราม(หนองขาว) เป็นประจำทุกๆ ปี
และต่อมาเมื่อท่านพระครูปลัดแน่นได้สร้างลูกอม ตะกรุด เครื่องรางของขลัง ชาวสวรรคโลกได้มาขอบูชากันไปอย่างมากมายบางคนที่มาไม่ได้ก็ยังสั่งให้ญาติพี่น้องที่ขึ้นไปสวรรคโลกติดไปฝากครั้งละมากๆ หลายต่อครั้งและด้วยพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ของลูกอมปรากฏขึ้นสามารถคุ้มครองป้องกันภัยให้แก่บรรดาศิษย์ได้ตลอด
หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ทำให้เป็นที่เลื่องลือกล่าวขานกันไปทั่วและในปัจจุบันเป็นที่หวงแหนของชาวสวรรคโลกยิ่งนัก และท่านพระครูปลัดแน่นได้นำประสบการณ์และสิ่งที่ได้พบเจอกลับมาพัฒนาวัดบ้านเกิด และยังเพื่อช่วยงานหลวงพ่อพยอมอีกครั้ง
สมณศักดิ์ที่ได้รับและงานปกครอง
พรรษาที่ ๑๒ (อายุ ๔๓ ปี) วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมสนามหลวง และได้ใบรับรองครูสอนพระปริยัติธรรม
พรรษาที่ ๓๓ (อายุ ๖๔ ปี) วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งโดยพระราชาคณะชั้นราชปัญญาสุธีฯ ตั้งให้พระแน่น ปุสฺโส เป็นพระฐานุกรม พระครูปลัดแน่น
พรรษาที่ ๔๓ (อายุ ๗๔ ปี) วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลวังขนาย
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๗ ได้รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทาราม แทนหลวงพ่อพยอม ที่มรณภาพลงด้วยโรคชรา
การสร้างสาธารณะประโยชน์
พ.ศ.๒๕๑๒ สร้างกุฏิสงฆ์ ตึกสามัคคีธรรม
พ.ศ.๒๕๒๒ สร้างศาลาเมรุ
พ.ศ.๒๕๒๗ สร้างศาลาธรรมสังเวช
หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ตรงกับแรม ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีฉลู เวลา ๒๐.๒๐ นาที ณ วัดอินทาราม ตำบลหนองขาว อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พรรษาที่ ๔๕ อายุ ๗๖ ปี ๓ เดือน เป็นเจ้าอาวาสวัดอินทารามได้เพียง ๑๑ เดือน ๒๗ วัน ประกอบพิธีประชุมเพลิงศพ วันอาทิตย์ ที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ เวลา ๑๖.๐๐ น.
วัตถุมงคลหลวงพ่อแน่น
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๔ มูลเหตุในการสร้างเล่าต่อกันมาว่า หลังจากที่หลวงพ่อแน่น บวชได้ไม่นาน หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ได้มีคำสั่งมาถึงวัดหนองขาวให้พระภิกษุแน่น ให้ไปพบที่วัดใต้ เมื่อเดินทางไปถึงวัดใต้ก็ได้พบกับหลวงพ่อเปลี่ยน ท่านก็ได้เอ่ยกับพระภิกษุแน่นว่า ท่านก็บวชเรียนมาหลายพรรษาแล้ว มีความเก่งกาจในทางวิชาอาคมพอสมควร และด้วยตัวของหลวงพ่อเปลี่ยนก็อายุมากแล้ว ไม่รู้จะมอบหน้าที่นี้ให้ใคร ถือเป็นการสมควรจะทำหรือครอบครองสิ่งนี้ แล้วหลวงพ่อเปลี่ยนเดินเข้าไปในกุฏิถือตำรามา ๑ เล่ม แล้วพูดว่านี่เป็นตำราไสยศาสตร์
หลวงพ่อเปลี่ยน พูดว่าตำรานี้มีหลายอย่างมีวิชาทำพระ ทำลูกอม ทำหนังหน้าเสือ และอื่นๆอีกหลายอย่าง แล้วหลวงพ่อเปลี่ยนก็มอบตำราให้พระภิกษุแน่น ต่อจากนั้นเมื่อมีเวลาว่างอาจารย์แน่นก็จะเอาตำรามาศึกษาทบทวนอยู่เป็นประจำ
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
และเวลาต่อมาได้มีผู้หญิงตายท้องกลม ซึ่งคนในสมัยโบราณเมื่อนำศพลงโลงแล้วจะใช้ผ้าขาวคลุมศพไว้และจะไม่ปิดฝาโลงศพ งานสวดอภิธรรมศพก็จัดขึ้นน้อยคืน ในรายของศพหญิงมีครรภ์ที่ตายท้องกลมนั้น ก็จะใช้วิธีการฝังศพแทนการประชุมเพลิงศพและตอนที่มีการฝังศพนี้หลังจากพิธีต่าง ๆ จบลง
พระอาจารย์แน่น เห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำลูกอมตามตำหรับวิชาที่ได้มา จึงได้ให้ลูกศิษย์เปลี่ยนผ้าห่อศพ โดยใช้ผ้าผืนใหม่ห่อศพไว้แทนของเก่า และนำผ้าขาวที่ได้มาใช้ในการทำลูกอมและเมื่อได้ผ้าขาวมาแล้วท่านจะนำมาตัดเป็นชิ้นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเท่าๆ กัน แล้วแต่ขนาดของลูกอม นำผ้าที่ตัดแล้วมาเขียนยันต์โดยท่านพระปลัดแน่นจะลงมือเขียนเองเสร็จแล้วก็นำผ้ามาม้วนแล้วจึงมัดด้วยสายสิญจน์มงคลที่ได้จากการปลุกเสกไว้แล้ว
จากนั้นก็จะใช้ลวดทองแดงที่ถักเป็นตาข่ายมัดให้แน่น และใช้ลวดทองแดงขึ้นเป็นหูด้วยในตัว แล้วจึงนำเชือกด้ายมาถักเป็นลูกอมที่มีขนาดแตกต่างกันไป โดยที่ท่านพระครูปลัดแน่นจะเป็นผู้ขึ้นต้นถักเองด้วยเชือกด้ายในส่วนหูของลูกอมไปจนเกือบครึ่งลูกแล้วจึงให้ลูกศิษย์ ลูกหา พระในวัดเป็นผู้ถักต่อจนเสร็จ แล้วจึงนำไปจุ่มรักซึ่งรักยุคแรกๆ ได้จากต้นรักใหญ่ใช้มีดสับที่ต้นนำยางดิบออกมานำมาเคี่ยวไฟจนได้สีแดงลูกหว่าสุกหรือสีแดงเข้ม
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
แต่ด้วยเมื่อนำลูกอมยุคแรกมาให้บูชาลูกศิษย์บางคนมีอาการแพ้ยางรัก บางคนก็ใช้ไม่ได้ท่านครูปลัดแน่นจึงเปลี่ยนมาใช้รักกระป๋องในยุคต่อมาและมีบางช่วงเวลาที่รักกระป๋องหมดจึงได้ใช้น้ำมันเหนียวผสมผงทองบรอนซ์มาจุ่มลูกอมแทน แต่มีจำนวนไม่มากนัก แล้วจึงนำลูกอมไปตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้น พระครูปลัดแน่นก็จะอธิษฐานจิตเพียงลำพังเพียงรูปเดียวในกุฏิ
เล่ากันว่าในการถักลูกอมครั้งแรกถักได้ ๑๐๘ ลูก ตามตำรา ท่านอาจารย์แน่น จะปลุกเสกในกุฏิไม้ของท่านจะสวดพระคาถา ๑๐๘ คราบ ตามตำรา โดยจะนำลูกอมใส่ในมือ ๑ ลูก ที่เหลือใส่ไว้ในบาตรโดยการโยงสายสิญย์จากมือของท่านไปหาบาตร
ช่วงแรกๆอาจารย์แน่นมีการลังเลว่าจะสวดพระคาถาครบ ๑๐๘ คราบ หรือยัง เมื่อไม่มั่นใจท่านก็เริ่มสวดใหม่ คืนแรกก็ไม่บรรลุจะคล้ายว่ามีอะไรมาจิ้มตามตัวท่านเหมือนมีมารมาผจญ ท่านจึงพยายามสวดให้สำเร็จใช้เวลาเป็นปีจึงจะสวดพระคาถา ๑๐๘ คราบจนสำเร็จขึ้นใจ
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
เมื่อสวดได้แคล่วคล่องแล้วจะปลุกเสกทุกคืนก่อนจะจำวัด แล้วถ้าถึงเวลาจำวัดก็จะสวดก่อนทุกวัน ถ้าวันไหนสวดไม่ครบ ๑๐๘ คราบก็จะสวดในวันต่อมา และถ้าวัดไหนมีงานปิดทองฝังลูกนิมิตถ้าอาจารย์แน่นได้ มีกิจนิมนต์ไปวัดนั้น ท่านก็ได้นำลูกอม ๑๐๘ ลูก ใส่ย้ามไปเข้าพิธีด้วยเสมอ
ท่านจะสวดพระคาถา ๑๐๘ คราบปลุกเสกลูกอม จนลูกอมที่อยู่ในมือและที่อยู่ในบาตรวิ่งได้ จึง ถือว่าเป็นการสำเร็จวิชานี้
โดยลูกอมที่ท่านได้แจกจ่ายให้ไปนั้น แรกๆท่านได้แจกให้กับลุกศิษย์ที่เดินทางมาจากสรรคโลก สุโขทัย ซึ่งศิษย์เหล่านี้จะเดินทางมานมัสการท่านที่วัดหนองขาวแทบทุกปี เพราะเกิดความเลื่อมใสในตัวของท่านอาจารย์แน่น ที่เคยธุดงค์ไปจำพรรษาที่สรรคโลกถึง ๒ พรรษา
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ลูกอมติดวิญญาณหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ต่อมาลูกชายของชาวบ้านที่ได้รับแจกลูกอมไป ได้ไปที่ร้านถ่ายรูปเพื่อถ่ายรูป แต่ปรากฎว่าถ่ายรูปไม่ติด จะทำการถ่ายใหม่ก็ไม่ติดถ่ายกี่ครั้ง กี่หนก็ไม่ติด ช่างถ่ายรูปสงสัยว่าในตัวของเด็กมีของดีอะไรอยู่ในตัว ก็เลยค้นตัวดูปรากฏว่าพบลูกอม และเมื่อนำลูกอมออกจากตัวแล้วทำการถ่ายรูปใหม่ ปรากฏรูปที่ก็ติดรูปออกมาได้อย่างปกติ
ต่อจากนั้นลูกอมก็ดังขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านสรรคโลกต่างเดินทางมาที่วัดหนองขาวเพื่อขอเปลี่ยนลูกอมไปใช้กันอย่างล้นหลาม แต่หลวงพ่อแน่นได้แจกลูกอมให้ลูกศิษย์เป็นบางคนเท่านั้น โดยจะให้เฉพาะคนที่เก็บรักษาของท่านเป็นอย่างดี ในสงครามอินโดจีนที่เวียดนามท่านได้แจกลูกอมให้ลูกศิษย์นำไปใช้ พอกลับมาจากสงครามลูกศิษย์ของท่านไม่ได้รับบาดเจ็บเลยรอดชีวิตกันมาได้ทุกคน จึงยิ่งทำให้ลูกอมของท่านโด่งดังมากขึ้นไปอีก
ลูกอมหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๔ กว่าๆ โดยมีลูกศิษย์คนหนึ่งได้นำหนังหน้าผากเสือมาถวายให้แก่หลวงพ่อแน่น ท่านจึงได้สร้างลูกอมหนังหน้าผากเสือขึ้นโดยใช้วิธีการเดียวกับลูกอมติดวิญญาณของท่านนั้นก็คือ หลวงพ่อจะนำหนังหน้าผากเสือมาตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมแล้วจึงจารอักขระยันต์ตามตำราของท่าน
ลูกอมหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี ของคุณยุทธนา |
ลูกอมหนังหน้าผากเสือหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี ของคุณยุทธนา |
จากนั้นก็จะใช้ลวดทองแดงที่ถักเป็นตาข่ายมัดให้แน่น และใช้ลวดทองแดงขึ้นเป็นหูด้วยในตัว แล้วจึงนำเชือกด้ายมาถักเป็นลูกอม โดยที่ท่านพระครูปลัดแน่นจะเป็นผู้ขึ้นต้นถักเองด้วยเชือกด้ายในส่วนหูของลูกอมไปจนไปจบที่ก้นจึงเป็นอันเสร็จ แล้วจึงนำไปจุ่มรักและนำไปตากแดดอีกทีหนึ่ง แล้วจึงทำการปลุกเสก
พระพิมพ์พระโมคคัลลา-สารีบุตร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยมวลสารที่ได้นั้นหลวงพ่อแน่น เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์โมคคัลลา สารีบุตร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว ของคุณภัทร์ วัชรทนงค์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางประทานพร ด้านข้างขององค์พระมีพระอัครสาวกทั้ง ซ้ายและขวา นั่นคือพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร โดยพระองค์พระทั้งหมดประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว รองรับด้วยฐานเขียง ๓ ชั้น
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีจาร
พระพิมพ์ปางถวายเนตร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ
ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาขนาดค่อนข้างใหญ่ เหมือนพระประประจำวันทั่วไปแต่มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย โดยมวลสารที่ได้นั้นหลวงพ่อแน่น
เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปางถวายเนตร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว เนื้อดิน |
พระปางถวายเนตร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว เนื้อดิน หลังยันต์ใบพัด ของคุณนพพงษ์ |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปปางถวายเนตร โดยพระองค์พระประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว รองรับด้วยฐานบัว ๑ ชั้น
ด้านหลัง มีทั้งแบบหลังเรียบ และแบบหลังยันต์ตามรูป (ในบางองค์เป็นยันต์ใบพัด)
พระพิมพ์นางพญา หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ
ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผาทรงสามเหลี่ยม แต่มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย โดยมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นหลวงพ่อแน่น
เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์นางพญา หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว ของคุณยุทธนา |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย บนฐานเขียง
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีรอยจาร
พระพิมพ์ทุ่งเศรษฐี หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ
ลักษณะเหมือนพระทุ่งเศรษฐีทั่วไปแต่มีเอกลักษณ์จดจำได้ง่าย ที่พบเห็นมีทั้งเนื้อดินและเนื้อผงใบลาน โดยมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นหลวงพ่อแน่น
เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระทุ่งเศรษฐี หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว |
ด้านหน้า เป็นรูปพระพุทธรูปยืนงปางลีลาทุ่งเศรษฐี
ด้านหลัง เรียบ ในบางองค์มีรอยจาร
พระพิมพ์หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๙๐ กว่าๆ
ลักษณะพิมพ์คล้ายพระพิมพ์กลีบบัวทั่วไป สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อแน่น สร้างด้วยเนื้อดินเผา
โดยมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นหลวงพ่อแน่น
เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระพิมพ์หลวงพ่อวัดใต้ หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว ของคุณยุทธนา |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ในลักษณะนั่งสมาธิบนฐานเขียง ภายใยฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อวัใต้"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์
พระสมเด็จหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ
ลักษณะพิมพ์คล้ายพระสมเด็จทั่วไป โดยผงมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นหลวงพ่อแน่น
เป็นผู้ที่เก็บรวบรวมเองทั้งหมด เล่ากันว่าหลวงพ่อแน่นจะเก็บดอกพิกุลที่ร่วงหล่นมาในตอนเช้า เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อผงของท่าน นอกจากนี้ยังมีผงวิเศษที่ท่านลบผงเองกับมือผสมอยู่ด้วย สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ พิมพ์คือพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก พุทธคุณเน้นหนักไปทางเมตตามหานิยม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
สมเด็จหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสมเด็จพิมพ์พระประธานประทับบนฐาน ๓ ชั้น ด้านข้างบนสุดเป็นรูปดอกพิกุล ใต้ดอกพิกุลมีอักขระยันต์เขียนว่า "นะ มะ พะ ทะ"
ด้านหลัง เรียบ
พระพิมพ์ปางประทานพรหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ
ลักษณะพิมพ์คล้ายพระประทานพรของหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว แต่มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย
โดยผงมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นเล่ากันว่า หลวงพ่อแน่นจะเก็บดอกพิกุลที่ร่วงหล่นมาในตอนเช้า
เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อผงของท่าน
นอกจากนี้ยังมีผงวิเศษที่ท่านลบผงเองกับมือผสมอยู่ด้วย พุทธคุณเน้นหนักไปทางเมตตามหานิยม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระปางประทานพร หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี ของคุณยุทธนา |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานนาค ประทับอยู่ในซุ่มเรือนแก้วสวยงาม
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
พระขุนแผนหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ
ลักษณะพิมพ์คล้ายพระขุนแผนของหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว แต่มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย
โดยผงมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นเล่ากันว่า หลวงพ่อแน่นจะเก็บดอกพิกุลที่ร่วงหล่นมาในตอนเช้า
เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อผงของท่าน
นอกจากนี้ยังมีผงวิเศษที่ท่านลบผงเองกับมือผสมอยู่ด้วย พุทธคุณเน้นหนักไปทางเมตตามหานิยม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
พระขุนแผนหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี ของคุณยุทธนา |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิ บนฐานบัว ๒ ชั้น องค์พระประทับอยู่ในซุ่มเรือนแก้ว สวยงาม
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
นางกวักหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว
สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ
ลักษณะของพระเป็นรูปหัวใจ มีเอกลักษณ์สามารถจดจำได้ง่าย
โดยผงมวลสารที่ใช้ในการสร้างพระนั้นเล่ากันว่า หลวงพ่อแน่นจะเก็บดอกพิกุลที่ร่วงหล่นมาในตอนเช้า
เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการสร้างพระเนื้อผงของท่าน
นอกจากนี้ยังมีผงวิเศษที่ท่านลบผงเองกับมือผสมอยู่ด้วย พุทธคุณเน้นหนักไปทางเมตตามหานิยม ค้าขาย โชคลาภ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
นางกวัก หลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี ของคุณยุทธนา |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองนางกวัก ด้านบนมีดอกพิกุล ทั้งสองข้าง
ด้านหลัง เรียบในบางองค์มีรอยจาร
เหรียญหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงรมดำเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ เหรียญ
เหรียญหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อแน่นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนสุดมีตัวอุณาโลมอยู่ ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "๒๕๑๐ อาจารย์ แน่น วัดอินทาราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ
เหรียญหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว รุ่นสอง
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ หลังจากที่เหรียญรุ่นแรกหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว ลักษณะเป็นเหรียญทรงกลมมีหูในตัวเหมือนกับเหรียญรุ่นแรกแต่มีการแกะบล็อกขึ้นมาใหม่
มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่เงินเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว รุ่นสอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้อทองแดงกระไหล่เงิน |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองของหลวงพ่อแน่นครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนสุดมีตัวอุณาโลมอยู่ ๑ ตัว มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "๒๕๑๐ อาจารย์ แน่น วัดอินทาราม"
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ
ข้อมูล : เพจชมรมพระเครื่องหลวงพ่อแน่น วัดหนองขาว กาญจนบุรี
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น