ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น ผู้สร้างเหรียญท่านนอร่าริมโปเช ที่มีราคาของกาญจนบุรี
![]() |
หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี |
หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น หรือ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย อดีตเจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัดโพธิ์เย็น (จีนนิกาย) ตำบลดอนขมิ้น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส และวัดโพธิ์แมนคุณาราม
หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง (จีน: 普淨 สำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า "ผู่จิ้ง" พินอิน: Pǔ Jìng) ท่านมีนามเดิมว่าอึ้ง ธง พื้นเพท่านเป็นชาวเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เกิดในครอบครัวขุนนาง เมื่อวันที่ ๑๖ เดือน ๖ ปืขาล ตามปฏิทินจีน ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๔๔
โยมบิดาของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านยังเยาว์ นางจางไท โยมมารดาของท่านได้อบรมเลี้ยงดูท่านต่อมา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา ท่านเข้ารับราชการเป็นทหาร คนสนิทของประธานาธิบดีเจียง ไคเชก
ต่อมาท่านเกิดเบื่อหน่ายทางโลกจึงตัดสินใจออกจากราชการในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ จากนั้นจึงตัดสินใจเดินทางมาศึกษาและปฏิบัติธรรมในประเทศไทย
หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง ท่านจึงได้อุปสมบทเพื่อศึกษาพระธรรม ณ สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เช็งจุ้ยยี่) อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้รับฉายาว่า "โพธิ์แจ้ง" โดยมี
พระอาจารย์หล่งง้วน เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู๋จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ถ้ำประทุน (เช็งจุ้ยยี่) เรื่อยมาเพื่อศึกษาและฝึกปฏิบัติกรรมฐานที่สำนักฯ จนแตกฉาน และรักษาพระวินัยอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง ท่านยังได้ช่วยรักษาประชาชนที่ป่วยไข้โดยใช้วิชาสมุนไพรตามที่เคยร่ำเรียนมาจากประเทศจีน จนมีชื่อเสียง
ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงพ่อโพธิ์แจ้งได้เดินทางไปประเทศจีน และได้อุปสมบทตามหลักศาสนานิกายมหายาน ณ พัทธสีมาวัดฮุ่ยกือยี่ มณฑลกังโซว ประเทศจีน เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยมี
พระคณาจารย์กวงย๊วก เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดฮุ่ยกือยี่ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมตามหลักนิกายมหายานอยู่ ๒ ปี จึงเดินทางกลับประเทศไทย
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ ท่านเดินทางไปทิเบตเพื่อศึกษาวัชรยานกับนอรา รินโปเช (Nora Rinpoche) หรือ Gara Lama Sonam Rabten และได้รับอภิเษกเป็นวัชรธราจารย์ แล้วเดินทางกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านเดินทางไปประเทศจีนและศึกษาในนิกายวินัยกับพระปรมัตตาจารย์เมี่ยวยิ้ว ซึ่งเป็นสังฆปริณายกรูปที่ ๑๘ และได้รับแต่งตั้งเป็นสังฆปริณายกรูปที่ ๑๙ ของนิกาย แล้วเดินทางกลับไทย
ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ท่านได้เดินทางมาสร้างวัดจีนที่ตำบลดอนขมิ้น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี เรียกชื่อวัดว่า "วัดโพธิ์เย็น"
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์เย็น รับสมณศักดิ์เป็น หลวงจีนธรรมรสจีนศาสน์ ปลัดซ้าย และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
วัดโพธิ์เย็น เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์จีนนิกาย ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓ หมู่ที่ ๗ ตำบลดอนขมิ้น อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี
วัดโพธิ์เย็น ตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดเท่าที่ทราบนามดังนี้ คือ
๑. หลวงจีนโพธิ์แจ้ง
๒. หลวงจีนธรรมรัตน์ จีนประจักษ์
๓. หลวงจีนธรรมนาท จีนประพันธ์
๔. พระอาจารย์ธรรมานุกร พ.ศ. ๒๕๔๓ - ปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อโพธิ์แจ้งได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะและถาวรวัตถุต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น หลวงจีนคณาณัติจีนพรต ปลัดขวา
ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาสและเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนเนตา เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ท่านสได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนเนตา สาธุชนธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย
ปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธปริษัทจีนพิเนต วิเทศธรรมประสิทธิ์ บรมนริศรานุวัตร เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์แมนคุณาราม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทัตตาราม
ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร พุทธบริษัทจีนพิเนตุ วิเทศธรรมประสาท นวกิจพิลาสประยุกต์ ทำนุกจีนประชาวิสิฐ เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่อาพาธด้วยโรคโลหิตอุดตันในสมอง ถึงมรณภาพ ณ โรงพยาบาลธนบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๗.๓๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๕ เดือน ๑๑ วัน ๖๑ พรรษา
ได้รับพระราชทานโกศโถ ฉัตรเบญจาตั้งประดับ รับศพในพระบรมราชานุเคราะห์ ๓ วัน มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมกำหนด ๓ คืน และบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วันพระราชทาน ต่อมาวันเสาร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนชั้นเกียรติยศศพเป็นโกศแปดเหลี่ยม (เสมอพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ)
วันพุธที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เวลา ๑๖.๐๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๑๐) เสด็จฯ แทนพระองค์ ไปพระราชทานดินบรรจุศพพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร ณ สถูปเจดีย์วัดโพธิ์แมนคุณาราม.
![]() |
เหรียญท่านนอรารินโปเช หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง |
![]() |
เหรียญท่านนอรารินโปเช หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง |
![]() |
เหรียญท่านนอรารินโปเช หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์เย็น กาญจนบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๔๙๗ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปพระอาจารย์ท่านนอรารินโปเชประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัว องค์หลวงพ่อห่มจีวรจีนแบบมหายาน ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาจีน
![]() |
เหรียญท่านนอรารินโปเช หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดมังกรกมลาวาส กรุงเทพฯ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า เป็นรูปพระอาจารย์ท่านนอรารินโปเชประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัว องค์หลวงพ่อห่มจีวรจีนแบบมหายาน ขอบเหรียญด้านบนมีอักขระภาษาจีน
![]() |
เหรียญท่านนอรารินโปเช หลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า เป็นรูปพระอาจารย์ท่านนอรารินโปเชประทับนั่งมารวิชัยบนฐานบัว องค์หลวงพ่อห่มจีวรจีนแบบมหายาน
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ออกวัดโพธิ์แมนคุณาราม เพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อโพธิ์แจ้ง วัดโพธิ์แมนคุณาราม กรุงเทพฯ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เนื้อทองแดงรมดำ |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อโพธิ์แจ้งหันข้างครึ่งองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรจีนแบบมหายาน ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง)"
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น