ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแช่ม โสฬส วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม พระอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่อง
![]() |
หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม |
หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี หรือ พระอธิการแช่ม อดีตเจ้าอาวาสวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม พื้นเพท่านเป็นพระเกจิยุคเก่าอีกรูปหนึ่ง ที่ไม่มีประวัติบันทึกไว้อย่างแน่ชัด
เมื่อหลวงพ่อแช่ม ท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางกะพ้อม ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับฉายาว่า "โสรสะ" โดยไม่ปรากฏชื่อพระอุปัชฌาย์
ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระอธิการนุ่ม เจ้าอาวาสองค์ที่ ๖ ของวัดจุฬามณีได้ถึงแก่มรณภาพลง วัดจึงอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่
กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขอให้หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ในฐานะเจ้าคณะตำบล พิจารณาหาพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถไปปกครองดูแล
หลวงพ่อคง ท่านจึงมอบหมายให้พระแช่ม โสฬส ศิษย์ผู้ใกล้ชิดรูปหนึ่งของท่านไปเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด
วัดจุฬามณี เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ในหมู่ที่ ๙ บ้านคลองวัดจุฬามณี ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เดิมมีชื่อเรียกว่า วัดแม่เจ้าทิพย์ สร้างมาแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๗๒ - ๒๑๙๐
ตามประวัติว่าท่านท้าวแก้วผลึก (น้อย) ธิดาคนหนึ่งของท่านพลายซึ่งเป็นนายตลาดบางช้าง มีหน้าที่เก็บภาษีอากรขนอนตลาด ต้นวงศ์ราชนิกูลบางช้าง เป็นผู้สร้าง
ในช่วงสงครามกรุงศรีอยุธยากับพม่า ท่านนาค (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี) พระอัครชายาเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะทรงครรภ์แก่ ได้หลบซ่อนพม่าอยู่ในป่าทึบหลังวัดจุฬามณี
ต่อมาได้มีประสูติการท่านฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) คาดว่าสถานที่ประสูติน่าจะใกล้ต้นจันทน์อันเป็นนิวาสถานหลังเก่าของท่านเศรษฐีทอง
อีกทั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) พระพี่นางองค์ที่ ๒ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ได้หลบภัยพม่ามาอาศัยอยู่กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชด้วย กำลังอยู่ในระหว่างทรงพระครรภ์แก่และได้มีพระประสูติการพระธิดาในป่าหลังวัดจุฬามณีด้วยเช่นกัน คือสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
วัดจุฬามณี เคยรุ่งเรืองในสมัยท่านพระอธิการเนียมเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ท่านตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยและหนังสือขอมขึ้นในวัดจุฬามณี
เมื่อสิ้นท่านไปเสียแล้วในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๙ วัดอยู่ในสภาพเกือบเป็นวัดร้าง มีพระจำพรรษาอยู่เพียงไม่กี่รูป จนวัดเสื่อมสภาพทรุดโทรมปรักหักพังเสียเป็นส่วนใหญ่ กำนันตำบลปากง่าม (ปัจจุบันคือตำบลบางช้าง) ขออาราธนาพระอาจารย์แช่ม โสฬส ซึ่งเป็นพระลูกวัดจำพรรษาอยู่ในวัดบางกะพ้อม มาปกครองวัดให้เจริญรุ่งเรือง
ในสมัยหลวงพ่อแช่ม ท่านได้ริเริ่มปลูกสร้างเสนาสนะสงฆ์และสร้างศาลาการเปรียญจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓ วัดจุฬามณี มีเจ้าอาวาสปกครองเท่าที่สืบได้ดังนี้
๑. พระอธิการยืน
๒. พระอธิการเนียม
๓. พระอาจารย์แป๊ะ
๔. พระอาจารย์ปาน
๕. หลวงพ่ออ่วม
๖. พระอาจารย์นุ่ม
๗. หลวงพ่อแช่ม
๘. หลวงพ่อเนื่อง โกวิโท
๙. พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (พระอาจารย์ อิฏฐ์ ภทฺทจาโร) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
หลังจากที่หลวงพ่อแช่มได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัด ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ รวมทั้งถาวรวัตถุต่างๆภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างสุดความสามารถ
ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ทดแทนหลังเก่าที่ชำรุด
หลวงพ่อแช่ม ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ทางวัดได้จัดงานฌาปนกิจ ๒๘ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๙๑
วัตถุมงคลของหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี
รูปถ่ายอัดกระจกหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ โดยหลวงพ่อนื่องเจ้าอาวาสรูปถัดมา เพื่อแจกในงานฌาปนกิจของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นรูปถ่ายขนาดเล็กอัดกระจกปิดทับทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
ภาพอัดกระจกหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี สมุทรสงคราม ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ |
ด้านหน้า มีรูปถ่ายหลวงพ่อแช่มครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระยันต์รอบรูปหลวงพ่อ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ฌาปนานุสรณ์ หลวงพ่อแช่ม โสรสะ วัดจุฬามณี อัมพวา สมุทรสงคราม ๒๘ เมษายน ๒๔๙๑"
ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ
รูปถ่ายหลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยหลวงพ่อเนื่องเจ้าอาวาสรูปถัดมา ลักษณะเป็นรูปภาพถ่ายขนาดเล็กไว้สำหรับห้อยคอ จำนวนการสร้างประมาณ ๓,๐๐๐ ใบ ถือเป็นเครื่องรางของหลวงพ่อเนื่องในยุคแรกๆ ที่เป็นสากล
ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อแช่ม เจ้าอาวาสองค์ก่อนผู้เป็นอาจารย์ของหลวงพ่อเนื่อง มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี ๒๕๑๒" ข้างรูปหลวงพ่อมีอักขระยันต์
ด้านหลัง มีอักขระยันต์ปั๊มด้วยหมึกแดง
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น