โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวอ้อมน้อย สมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร
หลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร

         หลวงพ่อเพ็ง‎ วัดอ้อมน้อย ถือเป็นอีกหนึ่งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของชาวบ้านตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ตามประวัติความเป็นมาในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนชัดเจน ว่าพระสร้างในปีพ.ศ.ใด 

         จากคำบอกเล่าฃองผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ตำบลอ้อมน้อยกล่าวว่า เมื่อเกิดมาก็เห็นหลวงพ่อเพ็งเป็นพระประธานในอุโบสถ์วัดอ้อมน้อยมาก่อนแล้ว 

         หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพระประธานของทางวัด องค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง ๔๔ นิ้ว สูง ๖๙ นิ้ว องค์พระห่มจีวรลายดอกพิกุล สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พร้อมกันนี้ก็เรียกขานนามของพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อเพ็ง" 

         วัดอ้อมน้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย วัดตั้งอยู่ในหมู่ที่ ๔ บ้านแถว ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร วัดอ้อมน้อยสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

         เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดใหม่ตาอ่วม หรือ วัดใหม่ปลายคลอง โดยอุบาสิกาฉิม เกิดเจริญ มีจิตศรัทธายกที่ดินให้กับทางวัด และอุบาสกอ่วม เกิดเจริญ เป็นผู้สร้างวัดให้โดยปลูกกุฏิขึ้น ๒ ห้อง หอสวดมนต์ ๑ หลัง ๓ ห้อง ฝากรุด้วยกระแชงอ่อน 

         หลังจากสร้างวัดเสร็จ จึงได้อาราธนาพระภิกษุผันมาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ต่อมาได้สร้างอุโบสถขึ้น ๑ หลัง มุงด้วยจาก ฝากรุด้วยจากเช่นกัน

         จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระอธิการผันได้ข้อพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาปิดทองฝังลูกนิมิตเสร็จสมบูรณ์ 

         วัดมีความเจริญขึ้นตามลำดับ ได้เปลี่ยนวัสดุมุงหลังคาอุโบสถมาเป็นหลังคากระเบื้อง จนกระทั่งถึงเจ้าอาวาสวัดอ้อมน้อยรูปที่ ๙ คือพระอาจารย์เล้ง จนฺทสุวณฺโณ 

         ท่านได้สร้างสาธารณูปการให้เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น สร้างถนนก่ออิฐถือปูน เปลี่ยนแปลงกุฏิหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น ทั้งยังสร้างเพิ่มขึ้นเป็น ๘ หลัง สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น ๑ หลัง สร้างสุสานเก็บศพ สร้างศาลาการเปรียญด้วยไม้สักเป็นศาลาอเนกประสงค์ และอื่นๆ

         ในสมัยที่พระมหาสว่าง ญาณทีโป เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการบูรณะซ่อมแซมกุฏิสงฆ์ที่ทรุดโทรมให้ดีขึ้น สร้างกุฏิอีก ๒ หลัง สร้างหอฉัน สร้างหอระฆัง มีช่อฟ้าและใบระกา ซ่อมแซมอุโบสถด้วยการฉาบปูนทั้งข้างนอกและข้างใน 

          สร้างศาลาบำเพ็ญกุศล ขุดสระน้ำ ซ่อมแซมโรงเรียนประชาบาล และนางสาวอาบ ได้ถวายที่ดินเป็นธรณีสงฆ์ของวัดเพิ่มเติมอีก

         หลวงพ่อเพ็ง เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวตำบลอ้อมน้อย และตำบลใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง 

         ทุกคนมักได้ประจักษ์ถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านอยู่เสมอ เช่น คนที่เจ็บป่วยมาเป็นเวลานานรักษาหมอที่ไหนไม่หาย ก็ไปกราบหลวงพ่อเพ็งบนต่อหน้าท่าน ขอให้โรคหายแล้วอธิฐานขอน้ำมนต์  ดอกบัว  และผงก้านธูปที่อยู่ในอุโบสถ์มาต้มดื่มกิน  โรคที่เป็นมาเรื้อรังก็หาย

         ชาวบ้านบางคนเกิดประสบอุบัติเหตุสลบไม่ได้สติมีอาการหนักมาก  จนหมอไม่รับรองว่าจะรอดชีวิต หรือถ้าหายก็จะต้องกลายเป็นคนพิการแน่นอน  แต่พอญาติพี่น้องของคนเจ็บได้มาอธิฐานบนต่อหลวงพ่อเพ็ง

          และขอน้ำมนต์ไปหยอดใส่ปากให้คนเจ็บกินทุกวันและเอาน้ำมันของหลวงพ่อไปทาให้ทั่ว ปรากฏว่าคนเจ็บนั้นฟื้นและหายได้เป็นปกติโดยไม่พิการหรือสมองเสื่อมเลย สร้างความประหลาดใจให้กับแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลอย่างยิ่ง

         คนในท้องถิ่นอื่นได้ยินได้ฟังกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเพ็ง เกิดความศรัทธาเดินทางมากราบไหว้บนบานขอพรให้ตนพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความเจ็บป่วยก็ได้สมดังปรารถนา  มีผู้มาบูชาวัตถุมงคลหลวงพ่อเพ็ง  ไปคล้องคอและพกติดตัว  

         บางคนได้ประสบอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถชนพลัดตกจากที่สูง ถูกทำร้ายร่างกายฯลฯ แต่คลาดแคล้วปลอดภัยมาได้โดยไม่เป็นอะไรเลย ก็ยิ่งทำให้มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในองค์หลวงพ่อเพ็งมากยิ่งขึ้น 

         ดังนั้นในงานประจำปีปิดทองหลวงพ่อเพ็ง จึงมีพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาเลื่อมใส เดินทางมากราบไหว้และปิดทองกันอย่างมากมายเป็นประจำทุกปี  

         นอกจากนี้วัตถุมงคลของหลวงพ่อเพ็งก็เป็นที่นิยมของประชาชนทั้งหลายมาเช่าบูชากันในหมู่ของนักสะสมพระเครื่อง  และผู้ที่ชอบแสวงหาไว้เพื่อขอบารมีท่านให้ช่วยคุ้มครอง

         หลวงพ่อเพ็งนับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่ตำบลอ้อมน้อยอย่างแท้จริง ด้วยเมตตาบารมีของหลวงพ่อที่ช่วยปกป้องคุ้มครองภัยพาล  สร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้ลูกหลานชาวตำบลอ้อมน้อย และผู้ที่นับถือในองค์หลวงพ่อเพ็งเสมอมา 

         ผู้ใดมีความทุกข์ความเดือดร้อนอันใด มาขอพรขอบารมีให้ท่านช่วย ท่านก็มักจะช่วยให้สมปรารถนาดับทุกข์ร้อนที่มีอยู่  ยังความร่มเย็นทั้งกายใจ  แก่ผู้ที่มากราบไหว้ได้อย่างอัศจรรย์ยิ่ง.

วัตถุมงคลหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย

         เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สมัยพระอธิการอาบ ปุญญฺโชโต หรือ พระครูโสภณธรรมสาคร (ณรงค์ฤทธิ์ ฉิมมณี) เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองและเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 อัลปาก้า-เข็มกลัด
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก แจกกรรมการ(นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 ทองเหลือง
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก(นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่ทอง

เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก(นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก(นิยม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 อัลปาก้าชุปนิเกิ้ล -เสริม
เหรียญหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก(เสริม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพ็ง พระประธานศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งบนฐานบัว บนรูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเพ็ง" 

         ด้านหลัง ตรงกลางมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดอ้อมน้อย พ.ศ. ๒๕๐๘"

         รูปหล่อหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ สมัยพระอธิการอาบ ปุญญฺโชโต หรือ พระครูโสภณธรรมสาคร (ณรงค์ฤทธิ์ ฉิมมณี) เป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นรูปหล่อโบราณอุดกริ่งทองแดง มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย สมุทรสาคร รุ่นแรก 2508 ทองเหลือง
รูปหล่อหลวงพ่อเพ็ง วัดอ้อมน้อย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพ็ง พระประธานศักดิ์สิทธิ์ของทางวัดประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ที่ฐานไม่ปรากฏอักขระใด

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏอักขระใดๆ ที่ฐานเป็นรูปหกเหลี่ยม ใต้ฐานมีรอยอุดกริ่งด้วยโลหะทองแดง

 

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้