โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่ผูก วัดเขาดินสุวรรณคีรี พระเกจิลึกลับของเมืองโพธาราม ราชบุรี

ภาพถ่ายหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี
หลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี

         หลวงพ่อผูก วัดเขาดิน  ท่านเป็นพระเกจิอีกรูปหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ที่มีการจดบันทึกไว้น้อยมาก ทราบแค่เพียงว่าท่านมีนามเดิมว่า ผูก มุมเกตุ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๐ โยมบิดาชื่อนายพุ่ม มุมเกตุ โยมมารดาชื่อนางรอด  มุมเกตุ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๗ คน ชายสองคน หญิงห้าคนโดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๕๐ หลวงพ่อผูกท่านมีอายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ณ พัทธสีมาวัดเขาดิน ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "อินฺทสโร" โดยมี

         พระครูวิมลเกียรติ (หลวงพ่อแดง) วัดบางโตนด เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการปลั่ง วัดเขาดิน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         หลังจากที่อุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดเขาดินเรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชากับพระอธิการปลั่ง ผู้เป็นอาจารย์ ด้วยบุญวาสนาบารมีของหลวงปู่ผูกนั้นร่ำเรียนตำราคาถาเวทมนตร์ต่างๆจนแตกฉาน ในวิชานั้นๆ ไม่ว่าจะเรื่องการสวดมนต์หรือเรื่องตำราสมุนไพรในการรักษาโรคต่างๆ 

         หลวงปู่ผูก ท่านเก่งกาจมากในด้านคาถาอาคม เมตตามหานิยมแคล้วคลาด มหาอุตม์ ป้องกันอาวุธปืนไฟต่างๆดีนักแลฯ ขนาดหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ก็ยังให้ความเคารพนับถือเรียกหลวงปู่ผูกว่าหลวงพี่มาโดยตลอด

         ต่อมาพระอธิการปลั่ง เจ้าอาวาสวัดเขาดิน ได้ถึงแก่มรณภาพลงชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงพร้อมใจกันนิมนต์หลวงปู่ผูก ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

ภาพถ่ายหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี
หลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี

         วัดเขาดินสุวรรณคีรี เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดตั้งอยู่บนเขา ๒ ลูก เลขที่ ๗๓ บ้านเขาดินหมู่ที่ ๑ ตำบลนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี วัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 

         และได้ประกาศตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ วัดมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามได้แก่

         ๑. พระอธิการเทียน

         ๒. พระอธิการปลั่ง 

         ๓. พระอธิการผูก

         ๔. พระอธิการแสวง

         ๕. พระครูวิชัยพัฒนาภรณ์

         หลังจากที่หลวงปู่ผูกได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัด ท่านก็ได้ทุ่มเทกายใจพัฒนาว่าวัดเขาดินให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามอันดับ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และสร้างถาวรวัตถุต่างๆภายในวัด

         นอกจากนี้ท่านยังถือเป็นพระเกจิที่เป็นที่พึ่งพาของชาวบ้าน ในสมัยนั้นท่านถือเป็นหมอยาที่ค่อยช่วยเหลือชาวบ้านภายในพื้นที่ใกล้วัด ใครเป็นไข้ได้ป่วยอะไรมา ก็มักจะมาขอยาหรือรดน้ำมนต์กับหลวงปู่ อาการป่วยไข้ก็หายในไม่นาน

         หลวงปู่ผูก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๔ พรรษา. 

วัตถุมงคลของหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน

         เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุหลวงพ่อครบ ๘๐ ปี และแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อผูกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อผูก วัดเขาดิน"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"

         เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน รุ่นแจกงานศพ (มีกลาก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ โดยพระอธิการแสวง เจ้าอาวาสรูปถัดมาได้ใช้บล็อกของเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มซ้ำ เพื่อแจกในงานศพของหลวงปู่ผูก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว แต่รูเจาะเหรียญจะใหญ่กว่าพื้นเหรียญมีกลาก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้ากระไหล่เงินเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก อัลปาก้า-ชุปกระไหล่เงิน มีกลาก
เหรียญหลวงพ่อผูก วัดเขาดิน ราชบุรี ร่นแรก(มีกลาก) ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้ออัลปาก้ากระไหล่เงิน

         ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อผูกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อผูก วัดเขาดิน" พื้นเหรียญจะมีกลากและรูเจาะหูใหญ่

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ที่พื้นเหรียญมีกลาก

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

4 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ30 ก.ย. 2566 11:06:00

    ขอแสดงความนับถือ พี่ ส.แม่กลองที่นำความรู้ดีดีมาเผยแพร่

    ตอบลบ
  2. ขอแสดงความนับถือ พี่ ส.แม่กลองที่นำความรู้ดีดีมาเผยแพร่

    ตอบลบ

ค้นหาบล็อกนี้