โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี ผู้สร้างเหรียญทศพลญาณวัดยางงามที่หายาก

ภาพถ่ายหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี
หลวงพ่อเส็ง หรือ พระครูพิบูลธรรมเวที วัดปากท่อ ราชบุรี

          หลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ หรือ พระพิบูลธรรมเวที อดีตเจ้าอาวาสวัดปากท่อ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ท่านมีนามเดิมว่ากิมเส็ง แซ่ภู ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น สมบูรณ์ ห้าวหาญ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านโคกพระเจริญ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ โยมบิดาชื่อนายเจียว แซ่ภู โยมมารดาชื่อนางภาพ แซ่ภู 

         ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ หลวงพ่อท่านมีอายุครบอุปสมบท จึงได้รับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดปากท่อ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้รับฉายาว่า "พุทฺธสโร" โดยมี

         พระครูอินทเขมาจารย์(หลวงพ่อห้อง)วัดช่องลม เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระอธิการนวม(หลวงพ่อนวม)วัดแจ้งเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระปลัดแช่ม วัดโคกพระเจริญ เป็นอนุสาวนาจารย์

         พระอธิการห่วง วัดปากท่อ เป็นอนุสาวนาจารย์ 

         เมื่ออุปสมบทแล้วช่วงแรกก่อนเข้าพรรษา ท่านอยู่ที่วัดโคกพระเจริญ และครั้นจวนเข้าพรรษาจึงได้ย้ายมาอยู่ที่วัดปากท่อ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย 

         วัดปากท่อ เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๑ ตำบลปากท่อ อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ ชื่อวัดตั้งตามชื่อของตลาด เพราะตั้งอยู่ใกล้ตลาดปากท่อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เท่าที่ทราบนามคือ 

         ๑. พระอธิการห่วง 

         ๒. พระครูสุภัทรญาณวินิฐ (บุญยัง)

         ๓. พระธรรมเสนานี  (สุข สุภทฺโท ป.ธ.๔)   พ.ศ. ๒๔๗๖ - พ.ศ. ๒๕๐๑

         ๔. พระวิบูลธรรมเวที (หลวงพ่อเส็ง) พ.ศ. ๒๕๐๑ - พ.ศ. ๒๕๑๕

         ๕. พระครูอินทโชติวัฒน์ พ.ศ. ๒๕๑๕ – ปัจจุบัน

         หลวงพ่อเส็ง ท่านเป็นพระที่มีสติปัญญาเป็นอันมาก ท่านสอบได้นักธรรมชั้นตรีนวกภูมิได้ในสนามหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ซึ่งสอบได้ในพรรษาแรกที่อุปสมบท 

         เมื่อท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดปากท่อได้ ๑ พรรษา ได้ย้ายไปอยู่กรุงเทพ ที่วัดเทพธิดาราม เพื่อศึกษาพระธรรมปริยัติธรรม ต่อมาโดยลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ สอบได้ นักธรรมชั้นโท มัชฌิมภูมิและเปรียญธรรม ๓ ประโยค

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สอบได้ นักธรรมชั้นเอกเถรภูมิ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ สอบได้เปรียญ ๔ ประโยค 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ สอบได้เปรียญ ๕ ประโยค

         และในปี พ.ศ. ๒๔๘๐ นี้เองทางวัดปากท่อ โดยพระราชธรรมเสนานี(สุข สุภัททเถระ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูธรรมรสรูจีเจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอปากท่อ ได้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นสำนักเรียน จึงได้อาราธนาหลวงพ่อเส็ง มาจำพรรษาเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดปากท่อและเป็นอาจารย์สอนพระปริยัติธรรมอยู่ที่วัดปากท่อนั้น ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงามได้ว่างลง หลวงพ่อเส็ง จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดยางงาม โดยมี พระม่วง(พระครูสุนทรจริยาวัตร หลวงพ่อม่วง วัดยางงาม) อาสาเป็นพระอนุจร ติดตามจากไปจำพรรษาด้วย

ภาพถ่ายหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี
หลวงพ่อเส็ง หรือ พระครูพิบูลธรรมเวที วัดปากท่อ ราชบุรี

         ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นที่วัดยางงามตามแบบอย่างที่มีอยู่ที่วัดปากท่อ ฝึกอบรมพระภิกษุและสามเณรจำนวนมาก ซึ่งพระภิกษุหรือสามเณรองค์ไหนมีสติปัญญาเปรื่องปราชญ์ ท่านเจ้าคุณเส็ง จะส่งต่อไปศึกษาที่กรุงเทพ และท่านยังได้บูรณะปฎิสังขรณ์และก่อสร้างวัดเพิ่มเติมภายหลังอีกเป็นจำนานมาก 

         ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะหมวด(เจ้าคณะตำบลจอมประทัด) 

         ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         ในปีต่อมา วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสงฆ์อำเภอฝ่ายการศึกษา 

         และได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะอำเภอปากท่อเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ 

         และด้วยคุณงามความดีของท่าน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรนามว่า พระครูพิบูลสมณวัตร 

         หลวงพ่อเส็ง ได้ครองเจ้าอาวาสวัดยางงาม จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ และได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากท่อ หลวงพ่อม่วงจึงได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดยางงามสืบแทน

         วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะที่ "พระพิบูลธรรมเวที" นับเป็นพระราชาคณะรูปที่ ๒ ของอำเภอปากท่อ 

         หลวงพ่อเส็ง ท่านปกครองวัดปากท่อเรื่อยมา จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ นับรวมศิริอายุได้ ๖๘ ปี ๓ เดือน ๗ วัน ๔๙ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ 

         เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ในสมัยที่หลวงพ่อเส็งเป็นเจ้าอาวาสวัดยางงาม เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัดยางงาม โดยถอดพิมพ์คล้ายเหรียญของวัดไตรมิตร ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมาแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดงเพียงเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระทศพลญาณ หลวงพ่อเส็ง วัดยางงาม ราชบุรี 2494 เงิน
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อเงิน ของคุณไอดี ปักธง
เหรียญพระทศพลญาณ หลวงพ่อเส็ง วัดยางงาม ราชบุรี 2493 ทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญพระทศพลญาณ หลวงพ่อเส็ง วัดยางงาม ราชบุรี 2493 ทองแดง
เหรียญพระทศพลญาณ วัดยางงาม ราชบุรี ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระทศพลญาณ พระประธานของวัดไตรมิตร ประทับนั่งบนฐานชุกชีสวยงาม ใต้องค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระทศพลญาณ"

         ด้านหลัง  มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดยางงาม ปากท่อ"

         เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อแจกในงานฉลองสมณศักดิ์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่นแรก 2504 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเส็งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานฉลองสมณศักดิ์ พระพิบูลธรรมเวที ๕ ธ.ค. ๒๕๐๕"

         ด้านหลัง  มีอักขระยันต์สาม อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" บนยันต์สามมีตัวอุณาโลม อยู่หนึ่งตัว

         เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่ร่วมทำบุญกบัทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญรูปใบโพธิ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่น 2 2508 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้ออัลปาก้า

เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่น 2 2508 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเส็ง วัดปากท่อ ราชบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเส็งครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระพิบูลธรรมเวที วัดปากท่อ"

         ด้านหลัง  มีอักขระยันต์ห้า อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" บนยันต์ห้ามีตัวอุ  ๓ ตัว และเหนือตัวอุ มี อุณาโลม อยู่ ๓ ตัว เช่นกัน ใต้ยันต์มีเลขไทยเขียนว่า "๒๕๐๘" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้