ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน เกจิดังเจ็ดเสมียน โพธาราม ราชบุรี
![]() |
หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี |
หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน หรือ พระครูมงคลรัตน์ (พุทฺธสโร) วัดเจ็ดเสมียน ตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุน ณ บ้านสมถะ หมู่ที่ ๕ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีโยมบิดาชื่อนายเปี่ยม สินสมะ มีโยมมารดาชื่อนางนาค สินสมะ ซึ่งหลวงพ่อหุ่นเป็นบุตรคนเดียว
หลวงพ่อหุ่นใช้ชีวิตในวัยเยาว์เหมือนกับเด็กทั่วไป ตามแบบนิยมในสมัยนั้น โดยเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จนจบการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔
จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อหุ่นมีอายุครบบวชจึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หลังบวชได้ ๑ ปี หลวงพ่อหุ่นก็ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ โดยหลวงพ่อถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารเป็นเวลา ๒ ปี
หลังปลดประจำการในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ หลวงพ่อหุ่น ซึ่งมีจิตใจแนวแน่ในการศึกษาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมามันพุทธเจ้า จึงได้ขออุปสมบทเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดสมถะ ตำบลบางโตนด อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "พุทฺธสโร" โดยมี
พระครูสาธิตสุตการ(หลวงพ่อคง) วัดท่าหลวงพล เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์เจ่อ วัดท่าหลวงพล เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระอาจารย์มาด วัดบางลาน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์
หลังจากอุปสมบท หลวงพ่อหุ่นได้อยู่จำพรรษาที่วัดสมถะ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระอาจารย์ที่วัดสมถะ และคุณตาแดงเป็นเวลา ๒ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ หลวงพ่อหุ่นได้ย้ายไปอยู่วัดบางโตนด เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาอาคม เป็นเวลา ๑๘ พรรษา
ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้รับแต่งตั้งจากทางราชการคระสงฆ์เป็นพระอนุศาสนาจารย์ อบรมศีลธรรมสั่งสอนประชาชนตลอดมาเป็นพระธรรมกถึกที่สามารถรูปหนึ่งของคณะสงฆ์จังหวัดราชบุรี
ผลการแสดงธรรมของท่านยังเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วๆ ไปที่ได้สดับตรับฟังท่านแสดง
ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ หลวงพ่อหุ่น ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แก่พระภิกษุ สามเณรภายในวัด
ปี พ.ศ. ๒๔๘๔ หลวงพ่อหุ่น จึงย้ายมาอยู่วัดสมถะ เพื่อช่วยบริหารจัดการงานสงฆ์ของวัดสมถะ และเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ตลอดมาจนถึงกาลสมรณะ คือ ได้เป็นครูสอนตั้งแต่อยู่วัดบางโตนด วัดสมถะ และวัดเจ็ดเสมียน มีพระภิกษุสามเณรที่ได้รับการศึกษาเข้าสอบธรรมสนามหลวงได้ทุกปี
ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียนว่างลง ประชาชนชาวเจ็ดเสมียน นำโดยนายโกวิท วงศ์ยะรา กำนันตำบลเจ็ดเสมียน เป็นหัวหน้าได้อาราธนาหลวงพ่อหุ่น ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน
![]() |
หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี |
เมื่อหลวงพ่อหุ่น ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจ็ดเสมียน ท่านได้พยายามจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ของวัดเจ็ดเสมียนเป็นที่เรียบร้อย และพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาอย่างสุดความสามารถ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงพ่อหุ่น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระกรรมวาจารย์
ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงพ่อหุ่น สอบได้นักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดเจ็ดเสมียน และต่อจากนั้นก็มิได้ทำการสอบอีกเลยเป็นด้วยภารกิจมีอยู่มากมาย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ หลวงพ่อหุ่น ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูประทวน
ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อหุ่น ได้รับตำแหน่งเป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูมงคลรัตน์
หลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๑๗ ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยโรคซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า "การทำงานของหัวใจล้มเหลว" สิริรวมอายุได้ ๗๕ ปี ๕๒ พรรษา
วัตถมงคลของหลวงพ่อหุ่น
เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ แบบมีหูในตัว เพื่อแจกจ่ายในงานที่หลวงพ่อหุ่นได้ รับพระราชทานสมณศักดิ์ โดยมีการจัดสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้ออัลปาก้า |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อหุ่น ครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมงคลรันต์ วัดเจ็ดเสมียน"
ด้านหลัง เป็นอักขระยันต์สาม อ่านได้ว่า "มะ อะ อุ" ใต้ยันต์มีเลข ๑ ซึ่งหมายถึงเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อ
พระบูชาหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน รุ่นแรก
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ กว่าๆ ลักษณะเป็นพระบูชาขนาดหน้าตัก ๕ นิ้ว สร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
พระบูชาหลวงพ่อหุ่น วัดเจ็ดเสมียน ราชบุรี รุ่นแรก |
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อหุ่น นั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูมงคลรันต์ (หุ่น พุทะสโร)"
ด้านหลัง ไม่มีอักขระใดๆ ใต้ฐานเป็นดินไทย
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น