โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย ศิษย์เอกหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

หลวงพ่อแขก (พระครูสมุทรสุนทร)  วัดพวงมาลัยสมุทรสงคราม

          หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย ถือเป็นเกจิอาจารย์ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัยมาอย่างครบถ้วน พระเครื่องที่ได้รับการปลุกเสกจากท่าน มีความศักดิ์สิทธิ์เปี่ยมด้วยพุทธคุณ ชื่อเสียงของท่านก็ไม่ธรรมดา เพราะท่านเป็นหนึ่งใน ๔ พระเกจิเมืองแม่กลองที่ได้รับนิมนต์ให้ไปปลุกเสกในพิธี ๒๕ ศตวรรษ ซึ่งถือเป็นพิธีที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

         หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย มีนามเดิมว่า แขก นามสกุล ศาสดา เกิดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ณ บ้านคลองประจันทร์ ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โยมบิดามีชื่อว่า นายสาต ศาสดา โยมมารดาชื่อ นางสาต ศาสดา ท่านเป็นบุตรคนโต มีน้องสาวหนึ่งคนชื่อนางเชย กลั่นแสง

ภาพถ่ายหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม
หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย สมุทรสงคราม

           เมื่อเยาว์วัย บิดาและมารดาได้นำหลวงพ่อแขกไปฝากท่านอาจารย์ธง วัดบางประจันต์ใน เพื่อเรียนหนังสือ มีความรู้พออ่านออกเขียนได้ ต่อมาได้เรียนหนังสือขอมกับท่านพระอาจารย์สุด จนมีความรู้หนังสือขอมเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น

          ปี พ.ศ. ๒๔๔๔ ขณะนั้นหลวงพ่อแขกมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ณ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีพระครูทอง (พระมหาสิทธิการ(ทอง) ตำแหน่งหลังจากนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์

หลวงพ่อแขก (พระครูสมุทรสุนทร)  วัดพวงมาลัยสมุทรสงคราม

          ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เมื่อหลวงพ่อแขกมีอายุได้ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับฉายาว่า "สาสนปชฺโชโต" โดยมี

          พระครูวินัยธรรม (หลวงพ่อแก้ว) วัดพวงมาลัย เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระมหาสิทธิการ (แดง) วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระครูบ่าย (หลวงพ่อบ่าย) วัดช่องลม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          หลังจากอุปสมบทท่านได้ติดตามหลวงพ่อแก้ว ไปจำพรรษาที่วัดพวงมาลัย เพื่ออุปฐากพระอุปัชฌาย์และเล่าเรียนวิชามงคลคาถาต่างๆ ตลอดจนเล่าเรียนวิปัสสณากรรมฐานกับหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

หลวงพ่อแขก (พระครูสมุทรสุนทร)  วัดพวงมาลัยสมุทรสงคราม

          จนเมื่อหลวงพ่อแก้ว มรณะภาพลงในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ หลวงพ่อแขก ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดพวงมาลัยมาได้ ๑๕ พรรษา ซึ่งถือเป็นศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อแก้ว ชาวบ้านจึงได้นิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพวงมาลัย ต่อจากหลวงพ่อแก้ว

          หลังรับตำแหน่งเจ้าอาวาสหลวงพ่อแขก ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจวบจน 

          หลวงพ่อแขก ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ นับรวมสิริอายุได้ ๘๕ ปี ๖๕ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่นแรก บล็อกนิยม(อุตรง)

          สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพัดยศแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ บล็อกนิยม (อุตรง)

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรแบบคลุมไหล่ ด้านบนมีอักขระยันต์หนึ่งตัว ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรสุนทร วัดพวงมาลัย ๒๔๙๕"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ให้สังเกตุที่ตัวอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" ที่อยู่ด้านข้างกรอบยันต์ "ภู ภิ ภุ ภะ" ตัวยันต์ "อุ" หางจะตรง

          เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่นแรก บล็อกเสริม (อุหางงอ)

          สร้างขึ้นหลังจากเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว โดยทางวัดได้ใช้บล็อกแม่พิมพ์ด้านหน้าบล็อกเดิม แต่มีการแกะบล็อกด้านหลังขึ้นมาใหม่ ลักษณะเป็นเหรียญทรงพัดยศแบบมีหูในตัวแบบเหรียญรุ่นแรก มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ บล็อกเสริม (อุหางงอ)

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรแบบคลุมไหล่ ด้านบนมีอักขระยันต์หนึ่งตัว ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรสุนทร วัดพวงมาลัย ๒๔๙๕" ตามพื้นเหรียญมักมีกลาก

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ให้สังเกตุที่ตัวอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" ที่อยู่ด้านข้างกรอบยันต์ "ภู ภิ ภุ ภะ" ตัวยันต์ "อุ" หางจะงอ

          เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่นสอง

          สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังจากที่หลวงพ่อแขกได้มรณภาพลงแล้ว ลักษณะเป็นเหรียญทรงเดียวกับเหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย มีหูใน มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงอย่างเดียว โดยมีพระเกจิชื่อดัง ร่วมปลุกเสกมากมาย ทั้ง หลวงพ่อสุด วัดกาหลง หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อคลี่ วัดประชาฯ หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร หลวงพ่อเคล้า วัดบางขันแตก และหลวงพ่อเจียง วัดเจริญสุขาราม เป็นต้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อแขกเต็มองค์ นั่งสมาธิ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระยันต์เฑาะห์หนึ่งตัว ด้านข้างมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "ภู ภิ ภุ ภะ นะ มะ พะ ทะ" ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทรสุนทร พล."

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะอรหัง และพระเจ้าห้าพระองค์ "นะ โม พุท ธา ยะ"

          เหรียญพระพุทธหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลังจากที่หลวงพ่อแขกได้มรณภาพลงแล้ว ลักษณะเป็นเหรียญทรงเหรียญหล่อพระพุทธของหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย มีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงกระไหล่ทองเพียงอย่างเดียว โดยมีพระเกจิชื่อดังร่วมปลุกเสกมากมาย ทั้ง หลวงพ่อสุด วัดกาหลง หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี หลวงพ่อคลี่ วัดประชาฯ หลวงพ่อปึก วัดสวนหลวง หลวงพ่อเณร วัดปากสมุทร หลวงพ่อเคล้า วัดบางขันแตก และหลวงพ่อเจียง วัดเจริญสุขาราม เป็นต้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญพระพุทธหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย ปี พ.ศ. ๒๕๑๒

          ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิพาดผ้าสังฆาฏิ ด้านข้างมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะโมพุทธยะ" ด้านล่างองค์หลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อจ"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะอรหัง และยันต์ต่างๆ แบบเดียวพับเหรียญหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย

          สมเด็จกรอบกระจก หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ลักษณะเหมือนพระสมเด็จขนาดเล็กทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อผงสีขาวแต่บางองค์จะออกสีน้ำตาล โดยผงที่ใช้ในการสร้างนั้นหลวงพ่อแขกจะเป็นผู้รวบรวมเอง และพระทั้งหมดท่านได้ทำการกดพิมพ์เอง นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ามีส่วนผสมของพระผงสมเด็จบางขุนพรหมผสมอยู่มาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จกรอบกระจกหลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธบนฐาน ๕ ชั้น มีครอบแก้ว และขอบกระจกเหมือนพระสมเด็จทั่วไป

          ด้านหลัง มีเรียบไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          สมเด็จหลังยันต์นะ หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ลักษณะเหมือนพระสมเด็จทั่วไป มีการสร้างด้วยเนื้อดินผสมผง โดยผงที่ใช้ในการสร้างนั้นหลวงพ่อแขกจะเป็นผู้รวบรวมเอง และพระทั้งหมดท่านได้ทำการกดพิมพ์เอง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลังยันต์นะ หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธบนฐานสามชั้น มีครอบแก้ว เหมือนพระสมเด็จทั่วไป

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์  "นะ"

          ผ้ายันต์หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          สร้างขึ้นในช่วงหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยใช้แม่พิมพ์ พิมพ์ยันต์ลงในผ้าขาว แล้วแจกจ่ายให้แก่ลูกศิษย์และผู้ที่บริจาคเงินสำหรับสร้างถาวรวัตถุภายในวัดพวงมาลัย

ผ้ายันต์หลวงพ่อแขก วัดพวงมาลัย

          ด้านหน้า ใช้การพิมพ์ยันต์ด้วยหมึกสีน้ำเงินและหมึกสีดำลงบนผ้าสีขาว เนื้อผ้าจะหยาบกว่าผ้าทั่วๆไป

          ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ

          ในอดีตคุณนิพนธ์ นาคสมภพ เคยนำวัตถุมงคลของหลวงพ่อแขก ไปให้ท่านอาจารย์ ร.อ.ทวี ทิวแก้ว แห่งอาศรมชีปะขาว อาจารย์ผู้สอนวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังในอดีต ช่วยตรวจสัมผัสพลังพุทธคุณด้วยกำลังสมาธิ อาจารย์ทวี กล่าวว่า “วัตถุมงคลองค์นี้มีพุทธคุณสูงคล้ายพระสมเด็จ ฯ” พระเครื่องที่ว่านี้เป็นพระพิมพ์สมเด็จฐาน ๕ ชั้น ที่หลวงพ่อแขกท่านทำขึ้น.


บางตำราว่าท่านมรณภาพปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอีกครั้ง.

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้