วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ราชบุรี พระเกจิสายเหนียวอีกหนึ่งรูปของโพธาราม

ภาพหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ราชบุรี
หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน (วัดแก้วฟ้า) ราชบุรี

           หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน หรือ วัดแก้วฟ้า ธรรมเสน ท่านเป็นพระเกจิที่ทรงวิชาเข้มขลังรูปหนึ่งของอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ท่านเป็นศิษย์สายวัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดอยุธยา ซึ่งเกจิอาจารย์ที่เรื่องชื่อหลายๆท่านก็เป็นศิษย์สายวัดประดู่ทรงธรรมแทบทั้งสิ้น อาทิ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นต้น

         ท่านเกิดเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ที่บ้านเกาะ หมู่ที่ ๙ ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายหุ่น ไพรวรรณ โยมมารดาชื่อนางชุ่ม ไพรวรรณ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ประกอบไปด้วย

          ๑. อุบาสิกาแกละ นิ่มนวล
          ๒. เจ้าอธิการแทน ไพรวรรณ
          ๓. พระภิกษุหรีด ไพรวรรณ
          ๔. นายชื่น ไพรวรรณ
          ๕. นายยิ้ม ไพรวรรณ
 
หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน (วัดแก้วฟ้า) ราชบุรี
 
          เมื่อหลวงพ่อแทนท่านมีอายุประมาณ ๙ ขวบ บิดาได้ถึงแก่กรรม ท่านและพี่น้องทุกคนจึงตกเป็นภาระของมารดาตลอดมาจนกระทั่งอายุพอสมควร มารดาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์วัดบางโตนด โดยมีท่านพระครูวิมลเกียรติ (หลวงพ่อแดง) เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนอักษรขอมและภาษาไทยจนมีความรู้ความเข้าใจในอักขระขอมเป็นอย่างดี 

          แต่แล้วไม่นานเท่าไหร่ท่านก็ได้ลาออกจากวัดเพื่อกลับไปช่วยงานเล็กๆน้อยๆที่บ้าน เพราะในขณะนั้นมารดาก็แก่ชราลงแล้ว ไม่มีใครช่วยเหลืองานทางบ้าน จะกระทั่งเมื่อท่านเข้าเกณฑ์รับคัดเลือกไปเป็นทหาร ก็ได้รับการคัดเลือกเข้าไปเป็นทหารเข้าไปเป็นทหารรับใช้ชาติ เป็นเวลา ๒ ปี หลังจากปลดประจำการท่านได้กลับมาช่วยงานที่บ้านอีกครั้ง
หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน (วัดแก้วฟ้า) ราชบุรี
 
          จนกระทั้งมารดาและพี่น้องของท่านเห็นสมควรว่าท่านควรบวชได้แล้ว จึงจัดการบวชให้ ซึ่งท่านบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดแก้วฟ้า ตำบลธรรมเสน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เมื่อวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับฉายาว่า "ธรรมโชติ" โดยมี

          พระครูวิมลเกียรติ (หลวงพ่อแดง) วัดบางโตนด เป็นพระอุปัชฌาย์

          พระอธิการคง วัดแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์

          พระอธิการเจ่อ วัดใหม่ชำนาญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย โดยพรรษาแรกไปจำพรรษาที่วัดเขาถ้ำกรวย ตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี

หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน (วัดแก้วฟ้า) ราชบุรี
 
          พอออกพรรษาแล้วได้จาริกธุดงค์ไปนมัสการพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี จวนจะเข้าพรรษาจึงได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดแก้วฟ้า พอออกพรรษาก็จาริกธุดงค์ไปทางปักษ์ใต้ ตลอดฤดูแล้ง เมื่อจวนจะเข้าพรรษาก็กลับวัด

          พรรษาที่ ๓ ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดกำแพง โดยแทบทุกปีท่านจะออกจาริกธุดงค์ไปเรื่อยๆ โดยท่านธุดงค์ไปร่ำเรียนวิชาที่วัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งเป็นสำนักดังที่มีเกจิอาจารย์นิยมไปร่ำเรียนวิชากันมากมาย

ภาพตะกรุดของหลวงพ่อแทนที่ไม่ละลาย ณ พิธีวัดปราสาทบุญญาวาส พ.ศ. ๒๕๐๖
 
          จวบจนกระทั่งท่านมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้า ท่านจึงได้หยุดการธุดงค์เนื่องด้วยงานที่มากขึ้น เนื่องด้วยนับตั้งแต่ท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้า ท่านก็ได้ก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ไว้มากมาย
 
          หลวงพ่อแทน ท่านมามีชื่อเสียงโด่งดังมากในช่วงที่มีสงครามเวียดนาม ซึ่งศิษย์ทุกคนที่ได้รับแจกเหรียญรุ่นแรกของท่านไปรบในสงครามครั้งนั้น ทุกคนกลับมาอย่างปลอดภัยทุกคน และทุกคนที่กลับมาก็มักจะเล่าเรื่องพุทธคุณที่ตนเองได้พบเจอมากับตัว จนชื่อเสียงของหลวงพ่อเริ่มกระจายไปทั่วผู้คนต่างมุ่งหมายมาที่วัดธรรมเสน เพื่อมาขอของดีจากท่านกันอย่างมากมาย

ภาพตะกรุดของหลวงพ่อแทนที่ไม่ละลาย ณ พิธีวัดปราสาทบุญญาวาส พ.ศ. ๒๕๐๖

          นอกจากนี้ในคราวที่มีการสร้างพระครั้งใหญ่ของวัดปราสาทบุญญาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งมีพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากทั่วประเทศมาชุมนุมกันเพราะสร้างวัตถุมงคล โดยในงานนี้หลวงพ่อแทน ท่านเป็นพระเกจิเพียงไม่กี่รูปที่จารตะกรุดแล้วหลอมไม่ละลาย  ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง

          หลวงพ่อแทน ท่านสร้างและพัฒนาวัดธรรมเสนเรื่อยมา จนกระทั้งหลวงพ่อแทน ป่วยด้วยโรคมะเร็งในหลอดลม และได้รับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภูมิพล เป็นเวลาถึง ๑๐ เดือน ท่านจึงมรณะภาพลงเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. เศษ สิริอายุได้ ๗๓ ปี  ๕๐ พรรษา.

วัตถุมงคลหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          เหรียญหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน รุ่นแรก(ปราบภัยสยาม)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จัดเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อแทน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงเสมา มีการสร้างด้วยกัน ๔ เนื้อ คือ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะ เนื้อทองแดง และเนื้ออัลปาก้า จำนวนการสร้างมีดังนี้

         เนื้อเงินสร้าง                ๙ เหรียญ
         เนื้อนวะสร้าง             ๑๐ เหรียญ
         เนื้ออัลปาก้าสร้าง   ๒๐๐ เหรียญ
         เนื้อทองแดงสร้าง   ๘๐๐ เหรียญ

เหรียญเสมาหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน รุ่นแรก(ปราบภัยสยาม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อนวะโลหะ

          เล่ากันว่าหลวงพ่อแทนท่านเป็นพระที่ไม่สร้างเหรียญที่เป็นรูปท่าน ท่านจะถ่อมตัว ว่าหากสร้างไปแล้วไม่ดีเขาจะว่าเราได้ จนกระทั่งเสธนนท์ ศิษย์เอกของหลวงพ่อแทนต้องไปรบที่เวียดนาม จึงขอให้หลวงพ่อสร้างเหรียญแจกทหารที่ไปรบ หลวงพ่อจึงยอมสร้างให้

เหรียญเสมาหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน รุ่นแรก(ปราบภัยสยาม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้ออัลปาก้า ของคุณอัคร์พล

          ปรากฎว่าหลังจากสิ้นสงครามเวียดนามเหรียญหลวงพ่อแทนก็เป็นที่รู้จักกันไปทั่วประเทศ ลงหนังสือพิมพ์กันครึกโครม เนื่องจากหน่วยพลร่มของเสธนนท์นั้น ได้รับรางวัลบอดี้เคาว์ คือสามารถฆ่าข้าศึกได้มากเป็นอันดับหนึ่งและที่สำคัญคือหน่วยรบของเสธนนท์ไม่มีใครเสียชีวิตในสงครามเลยแม้แต่คนเดียว

เหรียญเสมาหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน รุ่นแรก(ปราบภัยสยาม) ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เนื้อทองแดง ของคุณอัคร์พล

          ด้านหน้า จำลองรูปของหลวงพ่อแทน ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ ด้านบนมีอักขระขอมอ่านได้ว่า "อะ ระ หัง" ใต้องค์หลวงพ่อ มีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "หลวงพ่อแทน วัดแก้วฟ้า ราชบุรี"

          ด้านหลัง จำลองรูปพระพุทธรูปทวาราวดีปางห้ามสมุทร มีอักขระยันต์อยู่ด้านข้าง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยอ่านได้ว่า "ที่ระลึกของศิษย์ปราบภัยสยาม"

          พระรูปเหมือนหลวงพ่อแทน

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ลักษณะแบบเหรียญจอบ มีการสร้างด้วยเนื้อดีบุกผสมตะกั่วเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระรูปเหมือนหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อแทน ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิรัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์มีตั่งรองรับ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแทน"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์น้ำเต้า เหนือยันต์น้ำเต้ามีอักขระยันต์ "นะ มะ อะ อุ" บนสุดมีตัวอุนาโลม

          พระพิมพ์ทวารวดี หลวงพ่อแทน

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ องค์พระมีขนาดใหญ่พอสมควร มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยเนื้อตะกั่วผสมดีบุก โดยหลวงพ่อจะจารอักขระบนแผ่นตะกั่วแล้วจึงนำไปหลอมและปั๊มพิมพ์ต่อไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพิมพ์ทวารวดี หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระปางห้ามญาติสมัยทวารวดีไว้ ด้านข้างองค์พระมีอักขระขอมล้อมรอบล้อไปกับพิมพ์พระ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์จำนวน ๗ แถว

          พระนางเก้า หลวงพ่อแทน

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างด้วยเนื้อตะกั่วผสมดีบุก โดยหลวงพ่อจะจารอักขระบนแผ่นตะกั่วแล้วจึงนำไปหลอมและปั๊มพิมพ์ต่อไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระนางเก้า หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานเขียงสามเหลี่ยม จำนวน ๙ องค์ โดยแบ่งเป็น ๓ แถว แถวละ ๓ องค์

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้า ๕ พระองค์และยันต์อื่นๆประกอบ

          พระวัดปราสาทพิมพ์หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ มณฑลพิธีวัดปราสาทบุญญาวาส ซึ่งเป็นพิธีใหญ่ที่สุดหลังจากปีกึ่งพุทธกาล เนื้อพระมีสีเทาอมดำแบบพระวัดปราสาททั่วๆไป จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระวัดปราสาทพิมพ์หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อแทน ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิรัดประคต นั่งสมาธิเต็มองค์มีตั่งรองรับ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแทน"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ด้านล่างมีรูสำหรับเสียบงัดพระออกจากแม่พิมพ์

           พระขุนแผนหน้ายักษ์หลวงพ่อแทน

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยเนื้อผงสีออกเทาดำ มีลักษณะทรงห้าเหลี่ยมแบบพระขุนแผนบ้านกร่าง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระขุนแผนหน้ายักษ์ หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานบัว ๒ ชั้น ด้านข้างมีซุ้ม

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

           พระนาคปรกหลวงพ่อแทน เนื้อผงผสมแร่เขาเขียว

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยเนื้อผงผสมแร่เขาเขียวสีออกเทาดำ มีลักษณะทรงห้าเหลี่ยม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระนาคปรกหลวงพ่อแทน วัดะรรมเสน เนื้อผงผสมแร่เขาเขียว

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าปางนาคปรก

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

          พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อช้าง หลวงพ่อแทน เนื้อผงผสมแร่เขาเขียว

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยเนื้อผงผสมแร่เขาเขียว อันประกอบไปด้วยผงวิเศษที่หลวงพ่อแทนรวบรวมไว้ องค์พระมีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยองค์ องค์พระจะมีสีเทาดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อช้าง หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานเขียง ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อช้าง"

          ด้านหลัง มีผ้าสังฆาฎิพาดยาวลงมาแต่ไม่จรดฐาน ด้านล่างองค์พระมีรูสำหรับงัดพระออกจากพิมพ์

          พระสมเด็จหลวงพ่อแทน

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยเนื้อผงอันประกอบไปด้วยผงวิเศษที่หลวงพ่อแทนรวบรวมไว้ องค์พระมีลักษณะเป็นสมเด็จรูปสี่เหลี่ยม องค์พระจะมีสีเทาดำ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระสมเด็จหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานเขียง ๓ ชั้น มีซุ้มครอบแก้ว

          ด้านหลัง เรียบไม่มีอักขระใดๆ

          พระสมเด็จเคลือบเขียวหลวงพ่อแทน

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๐ มีลักษณะคล้ายพระสมเด็จทั่วไป สร้างจากเนื้อผงแต่มีการเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบสีเขียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระสมเด็จเคลือบเขียว หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีรูปจำลององค์พระประทับนั่งปางสมาธิ บนฐานเขียง ๓ ชั้น มีซุ้มครอบแก้ว

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ผนวกกับยันต์สาม ด้านล่างมีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "นะมะพะทะ พุทธะสังมิ"

          พิรอดแขนหลวงพ่อแทน

          สร้างด้วยผ้าดิบที่หลวงพ่อจารอักขระต่างๆลงไป แล้วจึงทำการควั้นให้เป็นเชือกเกลียวก่อนที่จะถักให้เป็นพิรอดแขนมงคล แล้วจึงนำไปชุบน้ำยาเพื่อรักษาสภาพ จำนวนการสร้างไม่มากนักหาชมได้ยาก

พิรอดแขนหลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านบน มีลักษณะการถักแบบพิรอดแขนทั่วไป โปรดจดจำลายถักและเนื้อผ้าให้ดี

          ผ้ายันต์หนุมาน หลวงพ่อแทน

          สร้างด้วยผ้าดิบสีขาว โดยมีการพิมพ์ยันต์ลงไปในผืนผ้า จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ผ้ายันต์หนุมาน หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน

          ด้านหน้า มีอักขระยันต์ต่างๆมากมาย ตรงกลางของภาพมีรูปหนุมาน กำมือจับพญานาคอยู่ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแทน ธรรมโชติ วัดธรรมเสน จ.ราชบุรี"

          ด้านหลัง ว่างไม่มีอะไร แต่ในบางผืนจะมีการปั๊มตราวัดไว้ ซึ่งหายาก



พระที่นั่งถือพานใส่ตะกรุดในภาพพิธีวัดปราสาทฯ คือพระครูสมุห์อำพล วัดปราสาทบุญญาวาส
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง



***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

4 ความคิดเห็น:

  1. ขุนแผนหน้ายักที่ลงในรุปเปิดป่าวคับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. พระเปลี่ยนมือไปแล้วครับ

      ลบ
    2. ขุนแผนหน้ายักษ์ ราคาประมาณเท่าไรค่ะ

      ลบ
    3. ไม่ทราบราคาตลาดเลยครับ อยู่ที่ความพอใจเป็นหลักครับ

      ลบ