ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่แขก วัดบางปลา พระเกจิผู้สืบทอดวิชาจากหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต)ผู้ขลังวิชา
![]() |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือ พระครูสมุทรวุฒาจารย์(แขก) สมุทรสาคร |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือที่ชาวเมืองสมุทรสาคร เรียกกันติดปากว่า หลวงปู่แขก วัดบางปลา ท่านเป็นพระเกจิที่เลืองเวทอีกหนึ่งท่านของเมืองสมุทรสาคร เก่งกาจไม่เป็นรองใครเนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดพระเกจิยุคเก่าของเมืองสมุทรสาคร
วัดบางปลา เป็นวัดของชุมชนชาวมอญในสมุทรสาคร อยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร วัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จประภาสต้นพร้อมเจ้านายหลายพระองค์ อาทิ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ.วัดบางปลาแห่งนี้ ด้านริมแม่น้ำหน้าวัดยังมีศาลาไม้ทรงแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างแสดงจุดที่รัชกาลที่ ๕ ทรงเคยประทับเสวยอาหารเช้าปัจจุบันได้บูรณะใหม่
พระครูสมุทรวุฒาจารย์(แขก) นั้น ท่านเกิดปีเถาะเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๐ ที่ตำบลบ้านเกาะ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕
ปี พ.ศ. ๒๔๓๔ หลวงพ่อแขกท่านมีอายุได้ ๒๔ ปี ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "อุตตโม" โดยมี
หลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต) วัดบางปลา เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดบางปลา เรื่อยมาเพื่อศึกษาร่ำเรียนวิชาต่างๆกับหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต) เจ้าอาวาสวัดบางปลาในขณะนั้น ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์และพระคณาจารย์ของท่าน จนสำเร็จวิชาอาคมต่างๆหลายอย่าง
![]() |
หลวงพ่อปู่เฒ่าเก้ายอด หรือ หลวงพ่อนุต วัดบางปลา สมุทรสาคร |
หลวงปู่เฒ่าเก้ายอด รูปนี้ท่านเป็นพระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงคุณรูปหนึ่งในยุคนั้น ท่านมีลูกศิษย์เป็นคณาจารย์ดังในเวลาต่อมาหลายรูป อาทิ หลวงปู่ไปล่ ฉันทสโร วัดกำแพง, พระครูสมุทรวุฒาจารย์(หลวงปู่แขก อุตตโม)วัดบางปลา, หลวงปู่เปลี่ยน วัดชัยมงคล, พระครูสังวรศีลวัตร(หลวงพ่ออาจ)วัดดอนไก่ดี ซึ่งหลวงพ่ออาจรูปนี้ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงอำเภอกระทุ่มแบนและต่อมาได้เป็นเจ้าคณะอำเภอกิติมศักดิ์
ความเข้มขลังของท่านเป็นที่ประจักษ์มิต้องสงสัยในบรรดาศิษย์ทั้งปวง มีงานพิธีปลุกเสกสำคัญครั้งใดท่านได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีเสมอ เช่น พิธีปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ณ.วัดสุทัศน์ฯ วันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑
มีศิษย์เอกผู้สืบทอดพุทธาคมอย่างครบถ้วนคือ หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี ผู้เป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกพิธี ๒๕ พุทธศตวรรษ ) ซึ่งแม้แต่กรมหลวงชุมพรยังให้ความเคารพนับถือหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเป็น อาจารย์องค์หนึ่งของท่าน
![]() |
ภาพถ่ายหลวงพ่อนุต วัดบางปลา สมุทรสาคร ของคุณโสฬศ๑๖ |
ปัจจุบันยังปรากฏหลักฐานแห่งความศรัทธาเป็นซุ้มศาลายาวคลุมทางเดินรอบบริเวณ วัดมีเชิงชายแกะสลักเอาไว้อย่างวิจิตรบรรจงตรงหน้าจั่วมีไม้แกะสลักเป็นรูปช้างเผือกสีขาวชูงวง ๒ เชือก หันหน้าเข้าหาสมอเรือสีขาว ซึ่งอยู่ตรงกลางสวยงามมาก
ที่เสด็จกรมหลวงชุมพรทรงสร้างถวายเพื่อฉลองศรัทธาที่มีต่อหลวงปู่เฒ่าเก้ายอด(นุต) วัดบางปลา อาจารย์ของท่านองค์นี้ ( ซุ้มศาลายาวคลุมทางเดินรอบบริเวณวัดนี้มีหน้าจั่วอยู่จั่วหนึ่งที่ติดไม้แกะ สลักเป็นรูปเหมือนพานพุ่มด้านล่างระบุ ร.ศ.๑๕๓ จ.ศ. ๑๒๖๙ พ.ศ. ๒๔๗๗ (น่าจะเป็นปีที่บูรณะเนื่องจากกรมหลวงชุมพรท่านเสียตั้งแต่ปี ๒๔๖๖)
![]() |
หลวงพ่อแขก วัดบางปลา หรือ พระครูสมุทรวุฒาจารย์(แขก) สมุทรสาคร |
วัดบางปลา เป็นวัดราษฏร์ สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ บ้านบางปลา ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร สถานที่ตั้งวัดติดริมแม่น้ำท่าจีน วัดสร้างขึ้นและได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ต่อมาวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสแม่น้ำท่าจีน พระองค์สนพระทัยวัดบางปลา ทรงหยุดพักทำครัวและเสวยพระกระยาหารที่วัดแห่งนี้
ความว่า "..เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาครขึ้นไปตามลำน้ำ ไปพักทำครัวเช้าที่วัดบางปลา.."
สถาปัตยกรรมของอุโบสถหลังเก่าและหน้าบันมีเครื่องถ้วยประดับปูนปั้นลายมังกรชิงดวงแก้ว วิหารเก่าแล้วภาพพุทธประวัติอายุกว่า ๒๐๐ ปี เขียนโดยจิตรกรชาวศรีลังกาและชาวยุโรป วัดยังมีโกศบรรจุอัฐิเจ้าอาวาส เก็บแบบหมู่ ๔ องค์ ได้แก่ องค์แรกคือหลวงปู่นุต องค์ที่สองคือหลวงปู่สงค์ องค์ที่สามคือหลวงปู่แขก และองค์ที่สี่คืออาจารย์เปลี่ยน
หลวงปู่แขกท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบางปลาในเวลาต่อมา ( ต่อจากหลวงปู่สงค์ ) ท่านเคร่งครัดในศีลจารวัตรและวิปัสนากรรมฐานมาก มีเรื่องเล่ายืนยันหลักฐานเป็นไม้กระดาษพื้นกุฏิของท่านที่ใช้นั่งกรรมฐาน เป็นประจำจนสึกเป็นหลุมลึกลงไป ( เสียดายที่ปัจจุบันไม่รู้กระดานแผ่นนี้ไปอยู่ที่ไหนแล้ว )
ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ทรงถวายตราตั้งพระอุปัชฌาย์แก่เจ้าอธิการแขก อุตตโม เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่ออายุ ๖๗ ปี ๔๓ พรรษา
โดยมีข้อความระบุในตราตั้งพระอุปัชฌาย์ซึ่งปัจจุบันยังเก็บรักษาอยู่วัดบางปลา จากข้อความในตราตั้งจึงสรุปได้ว่าหลวงปู่เกิดเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ และบวชเมื่ออายุได้ ๒๔ ปี พ.ศ. ๒๔๓๔
หลวงปู่แขก ท่านมีลูกศิษย์ที่เป็นคณาจารย์ในเวลาต่อมาหลายรูป อาทิ
พระครูสาครวุฒิชัย (หลวงปู่สุธี ฉันโท) วัดบางปลา, หลวงปู่สัมฤทธิ์ ถิราโภ
วัดศรีเมือง ,พระครูสาครธรรมทัต (หลวงพ่อทองบุญ ธัมมทินโณ)
วัดทองธรรมมิการาม
หลวงปู่แขก ปกครองวัดเรื่อบมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ เวลา ๐๘.๓๐ น. นับรวมสิริอายุได้ ๙๖ ปี ๗๒ พรรษา
วัตถุมงคลหลวงพ่อแขก วัดบางปลา
หลวงปู่แขก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่สร้างวัตถุมงคลไว้หลายชนิดแต่ที่เป็นสากลและนิยมกันมากคือเหรียญปั๊มรูปเหมือนของท่าน ซึ่งเหรียญของท่านมีพุทธคุณโดดเด่นทั้งทางด้านคลาดแคล้ว คงกระพัน เมตตามหานิยม เหรียญของหลวงปู่แขกมีดังนี้
ปี พ.ศ. ๒๔๘๘
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก
เหรียญรุ่นแรกนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ด้วยเนื้อโลหะทองแดงและเนื้อดีบุก ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มโลหะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบเดียวกับเหรียญของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ |
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นแรก เนื้อดีบุก ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "อุปชาแขก" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๘๘" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
ปี พ.ศ. ๒๔๙๕
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสอง
เหรียญรุ่นสองนี้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕
เนื่องในงานฉลองอายุครบ ๘๕ พรรษาของหลวงปู่แขก มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองแดงเพียงอย่างเดียว
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มโลหะรูปไข่
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสมุทวุฒาจารย์" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "แขก อุตฺตโม"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักขระเขียนว่า "ที่ระลึกงานฉลองอายุครบ ๘๕ พรรษา" ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๔๙๕" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๐
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม
เหรียญรุ่นสามนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วยเนื้อโลหะเนื้อเงินและเนื้อทองแดง
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มโลหะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรกของท่าน
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ เนื้อเงิน ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐" ซึ่งเป็นปีที่สร้างเหรียญ
ปี พ.ศ. ๒๕๐๖
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม (บล็อกแตก)
เหรียญรุ่นนี้ใช้บล็อกแบบเดียวกับเหรียญรุ่นสาม แต่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยทำการสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมในงานศพของท่าน โดยเก็บอัฎฐิไว้ในโกฎบนวัด จนมีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญรุ่นสาม แต่สามารถแยกออกด้วยการดูบล็อกด้านหน้าที่จะมีรอยแตกของเหรียญ เหรียญรุ่นแจกในงานศพนี้มีสร้างด้วยเนื้อโลหะเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มโลหะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบเดียวกับเหรียญรุ่นสามของท่าน
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ บล็อกแตก เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" โดยบนศรีษะของท่านจะมีขีดเป็นรอยแตก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบล็อกนี้ ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐"
ปี พ.ศ. ๒๕๑๒
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่นสาม (บล็อกสระแอห่างหู)
เหรียญรุ่นนี้ใช้บล็อกคล้ายกับเหรียญรุ่นสาม แต่สร้างขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้วนำมาแจกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยทำการสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมในงานนำอัฏฐิไปบรรจุใสโกฏปูนใหญ่ ด้านข้างพระอุโบสถหลังเก่า ปัจจุบันเข้าใจผิดว่าเป็นเหรียญรุ่นสามอีกบล็อกหนึ่ง
แต่สามารถแยกออกด้วยการดูบล็อกด้านหน้า-ด้านหลัง เพราะเป็นเหรียญที่มีการแกะบล็อกใหม่ สร้างด้วยเนื้อโลหะเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว
ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มโลหะทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบเดียวกับเหรียญรุ่นสามของท่าน โดยเหรียญนี้ได้รับการปลุกเสกโดย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พุทธคุณจึงไม่ธรรมดา
![]() |
เหรียญหลวงปู่แขก วัดบางปลา รุ่น ๓ บล็อกแอห่างหู เนื้อทองแดง ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ |
ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อแขกครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านบนมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูแขก" โดยคำว่า "แขก" สระแอ ไม่ชิดหูซึ่งเป็นที่มาของชื่อบล็อก ด้านล่างของเหรียญมีโบว์ ภายในโบว์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบางปลา"
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตรีนิสิงเห ด้านล่างมีตัวเลขเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๐"
พทุธคุณของวัตถุมงคลหลวงปู่แขก วัดบางปลา โดดเด่นในแทบทุกด้านทั้งทางคลาดแคล้วคงกระพันและเมตตามหานิยม คนสมุทรสาครพบเจอกันมาเยอะ ใครได้ครอบครองวัตถุมงคลของท่านถือเป็นคนที่มีวาสนาจงเก็บรักษาไว้ให้ดี.
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น