โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม พระเกจิเรืองเวทย์ของชาวประมง

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต  วัดบ้านขอม
 หลวงพ่อเฮง อินทโชโต วัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม)

 
         หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม หรือ วัดโสภณาราม โดยวัดตั้งอยู่ริมฝั่งท่าน้ำมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ในอดีตวัดนี้มีพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่รู้จักกันดีของชาวเรือตังเก หรือผู้ที่มีอาชีพทางประมง ในฐานะที่เป็นพระเถระซึ่งเพียบพร้อม ด้วยคุณงาม ความดี และวัตรปฏิบัติ อันงดงาม มีวิทยาคมสูงส่ง และเป็นนักสร้างสรรค์ นำความเจริญมาสู่ท้องถิ่น

         ท่านคือ พระอธิการเฮง อินทโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดโสภณาราม (วัดบ้านขอม)  ซึ่งเหรียญที่หลวงพ่อสร้างไว้ จัดอยู่ในทำเนียบของเหรียญดัง เหรียญนิยม แห่งวงการพระเครื่องเมืองไทย แล้วย่อมเชื่อได้ว่าต้องมีเหรียญของหลวงพ่อเฮง รวมอยู่ด้วย และนับวันเหรียญนี้ยิ่งทวีความนิยมและมูลค่าราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างยากแก่การที่จะตกต่ำ 

         ทั้งนี้ก็เพราะเหรียญของหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม นี้ไม่เพียงแต่มีความศักดิ์สิทธิ์ ทางคงกระพัน คาดแคล้ว เป็นเลิศเท่านั้น แต่ประสบ ความเมตตา มหานิยม ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวมหาชัยอยู่มาก

         จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหัวเมืองชายทะเล ประชากรส่วนใหญ่ของเมืองนี้มีอาชีพทำการประมง มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คือ หลวงพ่อวัดโกรกกราก ที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวประมง เวลาเดินเรือผ่านวิหารหลวงพ่อจะต้องจุดประทัดถวาย ขอความคุ้มครองขอให้โชคดี มีโชคลาภ ในการจับปลา 

         นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพของชาวต่างชาติ ตั้งแต่อดีตหลายรูป อาทิเช่น หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน และในยุคต่อมาก็มี หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมื่อสิ้นหลวงพ่อรุ่ง พระอาจารย์รูปต่อมา ก็คือหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม นี่เอง

ป้ายวัดบ้านขอม ริมแม่น้ำท่าจีน

         ในอดีตก่อนหน้านั้น ชาวตังเกในละแวกนั้น เมื่อจะออกเรือจะต้องนำเรือมาจอดที่ท่าวัดบ้านขอมแล้วนิมนต์หลวงพ่อเฮง มาเจิมเรือของตน แม้กระทั่งเวลาที่หลวงพ่ออาพาธหนักก็พากันมาประคองท่านมาเจิมเรือให้ได้ รวมทั้งมาขอวัตถุมงคลจากท่าน บางคนนำวัตถุมงคลที่ได้รับจากมือหลวงพ่อนำไปฝังไว้ที่หัวเรือก็มี ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าจะมีโชค และคาดแคล้วจากภยันตราย ในอาชีพตนที่ได้ประกอบอยู่

         ประวัติพระอุปัชฌาย์เฮง วัดโสภณาราม จังหวัดสมุทรสาคร ประวัติของหลวงพ่อนั้น มีผู้มีความรู้ความเป็นมาน้อยมาก เนื่องจากท่านเป็นพระชาวเขมรได้ธุดงค์และมาจำวัดที่ วัดบ้านขอม ต่อมาจึงได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้ คงมีแต่เพียงประวัติของท่านที่คนแถวนั้นเล่าต่อกันมาตามเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

         หลวงพ่อเฮง ฉายา อินทโชโต มีนามเดิมว่า เฮง นามสกุล สีลวรรณ์ ท่านเป็นชาวเขมรโดยกำเนิด สถานที่เกิดคือตำบลตัพพัง อำเภอเมือง จังหวัดพระตะบอง เกิดวันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ ๒๔๓๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ ปีเถาะ เดือน ๖ โยมบิดาของท่านชื่อโต สีลวรรณ์ โยมมารดาชื่อต่วน สีลวรรณ์ 

         เมื่อท่านอยู่ในวัยเยาว์อายุได้ ๑๕ ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอินทราธิบดี ตำบลหนองกระโดน อำเภอเมือง จังหวัดพระตะบอง และด้วยความที่ท่านมีจิตใจใฝ่ทางธรรมซาบซึ้งในบวรพระพุทธศาสนา หลวงพ่อเฮง จึงไม่ยอมสึกโดยครองเพศ เป็นสามเณร เพื่อศึกษาวิชาความรู้ ทางภาษาบาลี และภาษาประจำชาติของท่าน


หลวงพ่อเฮง อินทโชโต  วัดบ้านขอม

         จนกระทั่งมีไว้ครบ ๒๐ ปี จึงได้เข้าสู่พิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ ณ พัทธสีมาวัดอินทราธิบดี ตำบลหนองกระโดน อำเภอเมือง จังหวัดพระตะบอง เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้รับฉายาว่า "อินทโชโต" โดยมี

         พระครูธรรมจริยา วัดอินทราธิบดี เป็นพระอุปัชฌาย์
         พระครูธรรมสุวรรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
         พระครูพรหมสโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
 

         หลังจากที่หลวงพ่อเฮงได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านก็คงจำพรรษาอยู่ที่วัดอินทราบดี ในเมืองพระตะบอง เป็นเวลาอีกเท่าไหร่ไม่มีผู้ใดทราบ รู้แต่ว่าต่อมาท่านได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาต่างๆ อยู่เป็นเวลานาน ระหว่างที่ธุดงค์ท่านได้พพากับคณาจารย์เก่งๆ หรือแม้กระทั่งฤาษีชีไพร หลวงพ่อเฮง ก็ได้ขอถ่ายทอดแลกเปลี่ยนวิชามาหมดสิ้น

         ระหว่างที่ท่านธุดงค์นี้ท่านได้เดินทางมาถึงวัดบ้านขอม และเห็นว่าเป็นสถานที่ที่มีความเงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญศีลภาวนา จึงได้อยู่จำพรรษาที่แห่งวัดแห่งนี้ และด้วยความที่ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยปฏิบัติกิจของสงฆ์ โดยไม่ขาดตกบกพร่อง เป็นที่ศรัทธาของผู้คนทั่วไป


         หลวงพ่อเฮง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขอม เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระคู่สวดในเวลาต่อมา 

         พระอธิการเฮง ได้มรณภาพด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ เวลา ๐๒.๐๐ น. ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตึกสงฆ์อาพาธ นับรวมสิริอายุของท่าน ๗๕ ปี ๕๔ พรรษา

         อุปนิสัยและจริยวัตรของ หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ท่านเป็นพระเถระรูปหนึ่งที่เคร่งครัดใน
พุทธจริยามาก วาจานุ่มนวลถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่เลือกรัก มักที่ชัง มีความเมตตาปราณี เพียบพร้อมไปด้วยศีล ทาน บารมี หลวงพ่อเป็นพระที่ตัดกิเลสได้อย่างแท้จริง ในกุฏิท่านไม่มีทรัพย์สินใดๆ และท่านไม่เคยมุ่งหวังในสมณศักดิ์ ท่านชอบที่จะส่งเสริมพระในวัดให้เล่าเรียนปริยัติธรรม และนักธรรม ทั้งนี้ก็เพราะท่านได้คำนึงถึงความรู้ในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ที่ถูกต้อง 

รูปหล่อเท่าองค์จริงหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

         ในสมัยที่หลวงพ่อเฮง ปกครองเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านขอมนี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้วัดนี้มีชื่อเสียงในแถบมหาชัยก็คือ การสวดมนต์ของพระในวัดบ้านขอม พระทุกรูปสวดได้เก่งและถูกต้องดีนัก ไม่มีการผิดพลาด ด้วยเป็นเพราะว่าหลวงพ่อเฮง ได้กรวดขันพระลูกวัด ในเรื่องบทสวดมนต์ต่างๆ ที่พระภิกษุจะต้องใช้อยู่เสมอ 

         การฉันอาหารของหลวงพ่อเฮง ท่านจะฉันเพียงพอแก่การประทังชีวิตเท่านั้น โดยท่านจะฉันแค่วันละ มื้อ และทุกวันพฤหัสบดี รวมทั้งวันพระ ท่านจะฉันอาหารที่เป็นมังสวิรัติ ไม่ฉันอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ ซึ่งที่จริงแล้วท่านชอบที่จะฉันอาหารมังสวิรัติมากกว่า แต่ติดด้วยกิจนิมนต์ต่างๆ

         มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่ประกอบอาชีพขายอาหาร อยู่ที่สถานีรถไฟคลองสาน และมีความเคารพศรัทธาในตัวหลวงพ่อเฮง เป็นอันมาก ที่ช่วยให้เขามีความรุ่งเรืองมีฐานะมั่นคง สามีภรรยาคู่นี้ จะทำอาหารมังสวิรัติมาถวายหลวงพ่อเป็นประจำทุกวัน แต่ด้วยความที่ท่านได้รับบิณฑบาตจากผู้คนทั่วไปจึงไม่อาจจะเลือกฉันได้

         กล่าวกันว่าในสมัยนั้นชาวบ้านในละแวกจังหวัดสมุทรสาคร นิยมนิมนต์หลวงพ่อเฮง ไปเลี้ยงพระทำบุญที่บ้าน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเชื่อกันว่า ถ้าท่านขึ้นบ้านไหน บ้านนั้นจะมีแต่ความสุข ความเจริญ ทำมาค้าขึ้น สมกับที่ได้นิมนต์หลวงพ่อชื่อเฮงมาสวดที่บ้าน จึงจะนับได้ว่าหลวงพ่อเฮง ท่านเป็นพระที่ยิ่งด้วยบารมี ช่วยเหลือพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้ประสบความสำเร็จเจริญก้าวหน้า


หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของวัดบ้านขอม

         ในวัดบ้านขอม ในสมัยที่หลวงพ่ออยู่ มีเรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งก็คือสัตว์เลี้ยงภายในวัดที่มีที่มาพักอาศัยพึ่งบุญ ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว ไก่ สัตว์เหล่านี้ล้วนแต่มีเพศผู้ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏว่ามีเพศเมียเลยซักตัว ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะว่าหลวงพ่อเฮง ท่านถือความเคร่งในเรื่องข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสีกามาก ท่านจะไม่ให้สีกาที่มาเยี่ยมท่านนั่งคุยกันสองต่อสอง และหากมีธุระต้องเจอหน้าแล้ว หลวงพ่อจะไม่ยอมมองสีกาผู้นั้นเลย ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อ ยึดถือและปฏิบัติความตามคำดำรัสของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสไว้ก่อนที่จะเสด็จสู่ปรินิพพาน เมื่อพระอานนท์ได้ทูลถวายทูลถาม พระพุทธเจ้าว่า จะให้ปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับสีกา พระพุทธองค์ก็ได้ตอบว่า อย่าไปมองนั่นแหละดี

         ในเรื่องเกี่ย
วกับสัตว์ที่มาอาศัยอยู่ในวัดบ้านขอมนี้ ได้รับคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ตรงข้ามวัดบ้านขอม ชื่อว่านายไพโรจน์ เล่าให้ฟังว่า ในสมัยนั้นที่วัดมีไก่แจ้มาอาศัยอยู่ ๒ ตัว ตัวหนึ่งเรียกกันว่า เจ้ายูง เจ้ายูงเป็นไก่ที่มีความรักในตัวหลวงพ่อเฮง เป็นอันมาก วันทั้งวันมันจะไม่เดินไปเที่ยวไหน จะคอยป่วนเปียน อยู่หน้ากุฏิหลวงพ่อ และทำทีเป็นหนึ่งว่า เป็นผู้คอยรับใช้หลวงพ่อ เวลาที่หลวงพ่อมานั่งที่หน้ากุฏิเหยียดแข้งแก้ปวดขา มันจะเข้าไปและขึ้นไปเดินบนขาของหลวงพ่อคล้ายกับว่า มันกำลังนวดขาให้กับหลวงพ่อ หากมียุงมาตอมหลวงพ่อ มันก็จะขับไล่ มันจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหลวงพ่อออกปากไล่มันจึงจะไป  

         เคยมีเหตุการณ์อยู่คราวหนึ่งมีหลวงตาในวัดบ้านขอมอยู่รูปหนึ่งชื่อหลวงตาโห้ เกิดความรำคาญในตัวเจ้ายูงนี้มาก ที่ถ่ายมูลไว้ให้ต้องทำความสะอาดอยู่เนืองนิตย์ จึงสั่งให้เด็กวัดช่วยกันจับเจ้ายูง ขึ้นรถไฟไปปล่อยให้ไกลจากวัด แต่ปรากฏว่ามันหายไปได้ไม่นานก็สามารถกลับมาที่วัดได้เอง โดยไม่มีใครทราบว่ากลับมาได้อย่างไรยังความแปลกใจให้กับหลวงตาโห้เป็นอย่างมาก ต่อมาเจ้าไก่แจ้ตัวนี้ได้หายไปในคืนที่หลวงพ่อเฮง ถึงแก่มรณภาพ จนแบบนี้ก็ไม่มีใคร ทราบว่ามันได้หายไปไหน

พระพุทธบาทจำลอง สร้างโดยหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๗

         ส่วนไก่แจ้อีกตัวนั้นไม่มีผู้ใดตั้งชื่อให้มัน ไก่ตัวนี้ไม่เคยเ
ข้าไปเพ่นพาน ด้านบนกุฏิเหมือนกับเจ้ายุง มันคงอาศัยกินของแถบบริเวณลานวัดนั่นเอง แต่เวลาที่มันเห็นหลวงพ่อเฮง จะไปลงโบสถ์มันก็จะบินไปเกาะที่หน้าต่างโบสถ์ที่หลวงพ่อมักจะเปิดทิ้งไว้อยู่บานเดียว แล้วคงเกาะนั่งจับเจ่าอยู่บนนั้นจนกระทั่งหลวงพ่อเฮงได้ทำวัตรสวดมนต์เสร็จ และเดินออกจากโบสถ์ มันก็จะบินไปเกาะที่ไหลของหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อคืนถึงกุฏิ มันก็จะบินลงมาหากินที่ลานวัดตามปกติ เหตุการณ์ดังนี้มีให้เห็นอยู่เป็นประจำทุกวันเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง แสดงว่าหลวงพ่อเฮงท่านมีความเมตตาสูงถึงได้มีสัตว์ป่ามาสนิทสนมด้วย

หลวงพ่อเฮง อินทโชโต  วัดบ้านขอม

         วาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อเฮง ผู้ได้รับทราบถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อได้ประสบพบเห็นกันนั่นก็คือ ท่านเป็นพระเถระที่มีวาจาสิทธิ์ผู้หนึ่ง ซึ่งตามปกติแล้ว ท่านเป็นพระที่สงบเงียบ ไม่ชอบที่จะว่ากล่าวตำหนิติเตียนผู้ใด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะทำให้ท่านต้องเดือดร้อนเพียงใด แต่ก็มีอยู่ ๒ เรื่องที่ประจักษ์ถึงวาจาสิทธิ์ของหลวงพ่อก็คือ

         รายแรก ได้มีคนคนหนึ่งไม่สามารถปรากฏว่าชื่ออะไรได้มาทำพระเทียมหลอกว่าเป็นวัตถุมงคลของหลวงพ่อ เพื่อนำไปหลอกขายคนอื่น เมื่อหลวงพ่อเฮงท่านทราบข่าวนี้จากลูกศิษย์ใกล้ชิด หลวงพ่อท่านเพียงแต่พูดขึ้นเปิดเผยว่า "ไอ้คนนี้ท่าจะบ้า" ปรากฏว่าหลังจากท่านได้พูดคำแล้ว คนคนนั้นก็กลับเป็นบ้าเป็นบอไปในที่สุด 

บานประตูพระอุโบสถ วัดบ้านขอม


         รายที่ ๒ เป็นพระลูกวัดในวัดบ้านขอมนั่นเอง ได้หยิบเอาไม้สักที่หลวงพ่อได้จัดหามาไว้สำหรับแกะทำเป็นบานประตูพระอุโบสถ โดยพระรูปนั้นได้เอาไม้ไปเลื่อยทำเก้าอี้นั่ง หลวงพ่อเฮงท่านเดินมาเห็นเข้าก็ได้ห้ามปรามและชี้แจง แต่พระรูปนั้นกลับไม่เชื่อฟัง มิหนำซ้ำยังต่อว่าหลวงพ่อ ว่าไม้ชิ้นนี้เป็นทรัพย์สมบัติของวัด ดังนั้นพระทุกรูปจึงมีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้ได้ ไม่ใช่แต่เฉพาะหลวงพ่อเท่านั้น 

         หลวงพ่อเฮงเมื่อได้ยินดังนั้นก็ไม่ได้พูดตอบโต้อะไร คงมีแต่อาการสงบนิ่งและปล่อยให้พระรูปดังกล่าวเลื่อยไม้แปรสภาพเป็นเก้าอี้นั่งตามความประสงค์ของเขาต่อไป  อยู่ต่อมาพระรูปนั้นก็เกิดทะเลาะวิวาทกับพระในวัด และได้มาขอให้หลวงพ่อเฮง ทำการสึก หลวงพ่อท่านก็สึกให้ตามความประสงค์ของเจ้าตัว แต่ได้พูดเปรยให้ได้ยินว่า "ถึงจะสึกไปก็ไม่ได้ดี"  ปรากฏว่าต่อมาราวซัก ๑ เดือนหลังจากที่สึกไปแล้วอดีตพระรูปนั้นก็ฆ่าตัวตาย เพราะสาเหตุจากเรื่องผิดหวังในความรัก

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม


         หลวงพ่อเฮง เป็นพระเถระที่ดำรงตนอย่างสมถะ และมีความถ่อมตน น่าเคารพนับถือ การสร้างวัตถุมงคลในชีวิตของหลวงพ่อได้สร้างด้วยกันทั้งสิ้น ๒ คราวมีด้วยกัน ๔ แบบ

         แต่ไม่ปรากฏว่ามีแบบใดเลยที่เป็นเหรียญรูปหลวงพ่อท่าน ทุกแบบที่อนุญาตให้จัดสร้างได้นั้นกลับเป็นรูปพระพุทธทั้งสิ้น ทั้งๆที่ก่อนหน้าปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่หลวงพ่อเฮงได้กำเนิดเหรียญรุ่นแรกขึ้นมานั้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงพ่อเชย วัดเจษฎาราม ซึ่งเป็นพระสหมิตรของท่าน และมีที่ตั้งของวัดอยู่ใกล้เคียงกันเพียงแต่อยู่คนละฟากของฝั่งน้ำ ได้สร้างเหรียญรุ่นแรกของท่านขึ้นมา เป็นเหรียญเสมารูปของท่าน ซึ่งในปัจจุบันนี้นับได้ว่าเหรียญของหลวงพ่อเชย เป็นที่แสวงหากันในหมู่นักสะสมพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง มีราคาเช่าหากันหลายๆ หมื่น หลังจากหลวงพ่อเชย ได้ปลุกเสกเหรียญของท่านแล้ว 

         ก็ได้นำพระเหรียญทั้งหมด จำนวน ๓ บาตร มาให้หลวงพ่อเฮงทำการปลุกเสกอีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อเฮงได้เห็นเหรียญของหลวงพ่อเชยแล้วแต่เมื่อท่านจัดสร้างเหรียญขึ้นมากับสร้างเป็นรูปพระพุทธไม่ยอมสร้างเป็นลูกของท่านตามแบบหลวงพ่อเชยสิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงว่าหลวงพ่อท่านสมถะถ่อมตนจริงๆ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๗


         ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อเฮงขึ้น มีด้วยกัน แบบ มีทั้งเนื้อทองแดงและเนื้อเมฆพัตร แต่ละแบบสร้างขึ้นมีจำนวนแบบละ ๙๙๙ เหรียญ


         เหรียญแบบที่ ๑ เหรียญพระพุทธสี่เหลี่ยม หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ตัวเหรียญมีเอกลักษณ์ที่โดนเด่นจำจดได้ง่าย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญสี่เหลี่ยม หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ของคุณวิชัย นิวาสนิลรัตน์

         ด้านหน้า มีรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชรเหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างทั้งสองด้าน มีอีกขระยันต์ "อะ ระ หัง" และด้านล่างมีอักขระขอม "พุท โธ" ขอบเหรียญยกเป็นมุมนูนสูง

         ด้านหลัง ของเหรียญผูกยันต์หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์และลงอักขระขอมไว้ภาย

         เหรียญแบบที่ ๒ เหรียญน้ำเต้าหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม


         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปน้ำเต้าแบบมีหูในตัว สร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น ตัวเหรียญมีเอกลักษณ์ที่โดนเด่นจำจดได้ง่าย จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญน้ำเต้าหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ปี พ.ศ. ๒๔๙๗

         ด้านหน้า ภายในเหรียญเป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชรลอยองค์ ไม่มีฐานรองรับแบบเหรียญสี่เหลี่ยม ใต้รูปพระพุทธมีอักขระขอม คำว่า "พุทโธ"

         ด้านหลัง ผูกด้วยยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ มีอุณาโลมบนยอดทั้ง ด้านล่างมียันต์หัวใจเป็นยันต์ตารางสี่เหลี่ยม

         เหรียญแบบที่ ๓ พระกลีบบัวหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ สร้างด้วยเนื้อเมฆพัตรลักษณะคล้ายพระกลีบบัววัดกัลยาฯ กรุงเทพฯ แต่ด้านหลังจะเป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ส่วนพระของหลวงพ่อเจ้าคุณสุนทรฯ นั้น ด้านหลังจะผูกด้วยยันต์ นะปถมัง หรือหัวใจธาตุ นะมะพะทะ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระกลีบบัวเนื้อเมฆพัตร หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ปี พ.ศ. ๒๔๙๗

         ด้านหน้า มีลักษณะเหมือนกับพระเมฆพัตรเกศทองคำ ของเจ้าคุณสุนทรวัดกัลยานมิตร

         ด้านหลัง เป็นยันต์แบบพระเจ้าห้าพระองค์ ในแบบอุณาโลมสามยอด และทุกองค์จะเลี่ยมด้วยทองแดงจับขอบ มีหูห้อยได้มาจากวัด 

ปี พ.ศ. ๒๔๙๙

         ได้จัดสร้างเหรียญรุ่นของหลวงพ่อเฮงขึ้น โดยให้มีรูปลักษณ์​แตกต่างจากเหรียญรุ่นแรก แต่ก็ยังคงรูปแบบเฉพาะตัวของวัตถุมงคลของท่าน คือคงไว้ซึ่งรูปพระพุทธบนเหรียญของท่าน โดยมีลักษณะเป็นรูปทรงครอบแก้ว คนทั่วไปมักเรียกกันว่า เหรียญรุ่นจอบ

         เหรียญแบบที่ ๔ เหรียญจอบหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปจอบแบบมีหูในตัว เหรียญสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จัดเป็นพระของหลวงพ่อเฮงที่มีเอกลักษณ์อีกพิมพ์หนึ่ง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญจอบหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม ปี พ.ศ. ๒๔๙๙

         ด้านหน้า ตัวเหรียญเป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชร อยู่เหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ใต้อาสนะของพระพุทธมีอักขระขอมไว้ว่า "นะ พุท โธ นะ" และมีอักขระขอมอยู่ด้านบน ขนานกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ อะ ระ หัง จะ ภะ กะ สะ" อันได้แก่หัวใจธาตุ หัวใจยอดพระนิพพาน หัวใจกรณี 

         ด้านหลัง ประทับยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ แบบยันต์ ภายในยันต์ ๕ มีอักขระ "มะ อะ อุ" กำกับไว้ และมีอักขระขอมหัวใจต่างๆจารึกอยู่คือ "พุทธสังมิ" หัวใจยอดศิลป์ "อิสวาสุ" หัวใจพระเจ้า "จิเจรุนิ" หัวปรมัตถ์
    

         พระสมเด็จหลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายพระสมเด็จ สร้างด้วยเนื้อผงที่หลวงพ่อเก็บสะสม และลบผงเอง แบ่งออกเป็นเนื้อขาว (นิยม) และเนื้อแดง โดยเนื้อขาวจะเป็นพิมพ์ลึกทั้งหมด และเนื้อแดงจะเป็นพิมพ์ตื้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระพิมพ์สมเด็จ หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม เนื้อขาว พิมพ์ลึก ปี พ.ศ. ๒๔๙๙

พระพิมพ์สมเด็จ หลวงพ่อเฮง วัดบ้านขอม เนื้อแดง พิมพ์ตื้น ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ของคุณวิชัย นิวาสนิลรัตน


         ด้านหน เป็นรูปพระพุทธนั่งขัดสมาธิเพชร อยู่เหนืออาสนะบัวคว่ำบัวหงาย ใต้อาสนะของพระพุทธมีอักขระขอมไว้ว่า "นะ พุท โธ นะ" และมีอักขระขอมอยู่ด้านบน ขนานกับขอบเหรียญอ่านได้ว่า "นะ มะ พะ ทะ อรหัง จะ ภะ กะ สะ" อันได้แก่หัวใจธาตุ หัวใจยอดพระนิพพาน หัวใจกรณี

         ด้านหลัง ประทับยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ แบบยันต์ และมีอักขระขอมจารึกอยู่ ๔ ตัว
 
         พุทธคุณ
หรียญของหลวงพ่อเฮง  ชาวบ้านในแถบมหาชัยและใกล้เคียง ที่มีวัตถุมงคลอยู่ ต่างก็ประจักษ์และทราบดีว่าเหรียญของหลวงพ่อเฮงดีอย่างไร ส่วนใหญ่แล้วจะมาเล่ากันฟังว่าเหรียญของท่าน ดีทางเมตตาแคล้วคลาด ส่วนด้านคงกระพันชาตรี ชาวเรือตังเกก็มีประสบการณ์มานักต่อนักว่าเชื่อได้ทีเดียว บางรายให้เด็กห้อยคอติดตัวไว้ ก็ปรากฏว่าเด็กตกน้ำ แต่กลับลอยได้ไม่จมไปก็มีให้เห็นกันมาแล้ว อีกทั้งในเรื่องป้องกันเขี้ยวงา อสรพิษ ก็เคยมีประสบการณ์หลายต่อหลายคน ขนาดว่าเดินไปเหยียบงูเห่าที่นอนหมกตัวอยู่โดยไม่รู้ตัว งูนั้นก็เพียงแค่ขู่ชูหัวขึ้นมาแผแม่เบี้ย แล้วก็รีบเลื้อยหนีไปเฉยๆ

         อิทธิวัตถุมงคลของหลวงพ่อเฮง นอกเหนือจากเหรียญทั้ง
รุ่น ก็ได้กล่าวมาแล้ว หลวงพ่อก็ยังได้สร้างวัตถุมงคลชนิดอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ และตะกรุด ซึ่งวัตถุมงคลเหล่านี้นับวันจะหาผู้ที่สามารถแยกแยะได้ยาก และคงมีแต่ลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ.

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้