โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี ศิษย์หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ

ภาพถ่ายหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี
หลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี

         หลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ หรือ พระครูจันทสโรภาส อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ตำบลดอนแสลบ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี หลวงพ่อเพชรพื้นเพท่านเป็นคนเพชรบุรีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ที่บ้านหนองส้ม ตำบลหนองส้ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีนามเดิมท่านว่าหร่อง ฤกษ์งาม โยมบิดาชื่อนายเทียน ฤกษ์งาม โยมมารดาชื่อนางทองพูล ฤกษ์งาม ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง ในจำนวนพี่น้อง ๗ คนด้วยกันคือ

         ๑. นายทูป ฤกษ์งาม

         ๒. นายอาจ ฤกษ์งาม

         ๓. นายเอก ฤกษ์งาม

         ๔. นางง่วน ฤกษ์งาม

         ๕. นางเสย ฤกษ์งาม

         ๖. นางสอย ฤกษ์งาม

         ๗. หลวงพ่อเพชร

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๐ หลวงพ่อเพชร ท่านมีอายุครบบวชพอดี โยมบิดาและโยมมารดาของท่านจึงนำท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดหนองส้ม ตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ได้รับฉายาว่า "จนทวโส" โดยมี

         หลวงปู่อ่อน วัดท้ายตลาด เป็นพระอุปัชฌาย์

         หลวงพ่อจัน วัดหนองส้ม เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่ที่วัดหนองส้มเรื่อยมา เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและนักธรรม จนได้รับสมณศักดิ์เป็นชั้นพระครู นอกจากนี้ ท่านยังได้ศึกษาวิชาวิปัสสนากรรมฐานและสมถกรรมฐาน จากหลวงปู่อ่อนและหลวงพ่อจัน ได้ทำความเพียรจนสำเร็จแตกฉานเป็นอย่างดี 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ หลวงพ่อเพชร(หร่อง) ท่านก็ได้เดินทางไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านขู่ หรือ วัดอินทราราม ตำบลธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ถวายตนเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อน้อย วัดบ้านขู่ ขอเรียนไสยเวทด้านเมตตามหานิยม เป็นเวลา ๕ พรรษา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้เดินทางไปยังวัดเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังวหัดเพชรบุรี เพื่อขอศึกษาวิชาไสยเวท คาถาอาคมต่างๆ จากท่านพระครูญาณวิลาศ (หลวงพ่อแดง) 

         หลวงพ่อหร่อง (หลวงพ่อเพชร) ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ได้รับการถ่ายทอดวิชากรรมฐานและเวทมนตร์ต่างๆ จนจบสิ้น 

         จากนั้นหลวงพ่อหร่อง ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแก้ว วัดหัวนา ตำบลหนองโปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เพื่อขอศึกษาเรียนวิชาเป่าใบไม้ และไสยเวทวิสุทธิ

         หลังจากสำเร็จวิชาต่างๆ แล้ว หลวงพ่อหร่องก็ได้ออกเดินธุดงค์เข้าป่าเมืองกาญจนบุรี เข้าอุ้มผาง จังหวัดตาก เข้าดงพญาเย็น แล้วย้อนกลับมาทางอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี จนเป็นที่รู้จักของชาวบ้านห้วยกระเจาและดอนแสลบเป็นอย่างมาก 

         ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธาองค์พระภิกษุหร่องมาก ซึ่งขณะนั้นท่านยังเป็นพระลูกวัดอยู่ เมื่อกลับจากเดินธุดงค์แล้ว ได้เข้าพบหลวงพ่อน้อย วัดขู่ และได้ลาพระอาจารย์ไปจำพรรษาที่วัดโพธิ์ ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปู่ชื่น ปาสโส หรือท่านพระครูประสาทนวกิจ 

         หลวงปู่ชื่น ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อาวุโส มีวิชาคาถาอาคมจอมขมังเวทอีกองค์หนึ่ง หลวงพ่อหร่องได้จำพรรษาอยู่ที่วัดโพธิ์เป็นเวลานานหลายพรรษา ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และฝึกฝนเวทมนตร์อยู่ตลอดมา

         ต่อมาหลวงพ่อจวน ปัญญาธีโป เจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ได้มรณภาพลง ทางวัดขาดผู้นำที่จะเป็นเจ้าอาวาส ด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านดอนแสลบที่มีต่อหลวงพ่อหร่อง เมื่อครั้งหลวงพ่อหร่องได้ธุดงค์มาโปรดชาวบ้านแถบนั้น 

         ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกัน มีความต้องการให้พระภิกษุหร่องมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษาแจ้งความต้องการของชาวบ้านให้ท่านพระครูประดิษฐ์ (หลวงพ่อทา) วัดห้วยกระเจา เจ้าคณะตำบลทราบ 

         หลวงพ่อทาจึงได้เดินทางไปนิมนต์หลวงพ่อหร่อง ที่วัดโพธิ์ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับสืบต่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดบ้านกรับ เป็นวัดราษฏร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๓ วัดได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ มีเจ้าอาวาสปกครองวัดตามที่มีการจดบันทึกไว้ดังนี้

         ๑. หลวงพ่อบ่าย 

         ๒. หลวงพ่อจวน ปัญญาธีโป

         ๓. พระครูจันทสโรภาส หรือหลวงพ่อเพชร จนฺทวโส

         ๔. พระครูกาญจนประภากร (รัศมี)     

         หลังจากที่หลวงพ่อหร่อง ท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         นอกจากนี้ท่านยังส่งเสริมและสั่งสอนชาวบ้านกรับให้อยู่ในศีลในธรรม ประกอบสัมมาอาชีพสุจริต โดยท่านจะคอยช่วยเหลือชาวบ้านที่ตกทุกข์โดยไม่เลือกชนชั้น

         เมื่อหลวงพ่อหร่องมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับท่านยังได้พบตำราสืบทอดวิชาคาถาอาคม ที่เขียนด้วยใบลาน ซึ่งตกทอดมาจากหลวงพ่อบ่าย ได้เก็บไว้ที่วัดบ้านกรับนี้ ตำราวิชาอาคมเหล่านี้ส่วนใหญ่หลวงพ่อบ่ายได้รับสืบทอดมาจาเกจิอาจารย์ต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ก็มีอยู่เช่นกัน

         ทำให้หลวงพ่อหร่องได้รับตำรับตำราอาคมมากมาย ด้วยอาคมขลังของท่าน ทำให้ชาวบ้านเรียกกล่าวต่อกันว่า "หลวงพ่อที่มาจากเพชรน้ำมันศักดิ์สิทธิ์" บ้างก็ว่า "หลวงพ่อองค์ที่มาจากเพชรเจิมรถเก่ง" จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า หลวงพ่อเพชรจนทุกวันนี้ ทั้งจังหวัดกาญจนบุรีก็เรียกหลวงพ่อเพชร 

         ท่านเลยเปลี่ยนชื่อว่าหลวงพ่อเพชรมา สำหรับหลวงพ่อเพชร จนทวโส ท่านเป็นเจ้าคณะตำบลดอนแสลบ และเป็นพระอุปัชฌาย์ ศีลาจารวัตรบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เคร่งครัดในพระธรรมวินัย 

         เป็นที่ยอมรับนับถือ ทั้งจังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดใกล้เคียงท่านอาวุโสที่สุดในจังหวัดกาญจนบุรีท่านเปรียบเสมือนเพชรเม็ดงามที่สาธุชนทั้งหลายน่าเคารพนับถือ 

         หลวงพ่อเพชร ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ นับรวมสิริอายุได้  ๙๖ ปี ๗๖ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกแรก 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอธิการหล่อง จนฺทสโร"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านกลับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี"

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมาขนาดเล็ก แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่น 2 2536 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเพชร"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านกลับ กาญจนบุรี"

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ รุ่นแรก (บล็อกสอง)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบมีหูในตัว แบบเดียวกับเหรียญรุ่นแรก โดยใช้แม่พิมพ์ที่แกะขึ้นมาใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง 2518 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นแรก บล็อกสอง ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระอธิการหล่อง จนฺทสโร"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านกลับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี" ลายกนกที่ขอบเหรียญจะตื้นกว่ารุ่นแรก

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ รุ่นปลอดภัย

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นปลอดภัย 2537 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นปลอดภัย ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูจันทสโรภาส (เพชร จนฺทวโส) ที่ระฤก ปลอดภัย" ที่พื้นเหรียญมีตอกโค้ด

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์สี่แบบเดียวกับเหรียญของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ผู้เป็นอาจารย์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดบ้านกรับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อายุ ๘๕ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗"

         เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ รุ่นพิเศษ (ติมอร์)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด และจากทหารที่ไปรบในสงครามติมอร์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นพิเศษ 2539 ทองแดง
เหรียญหลวงพ่อเพชร วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเพชรครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูจันทสโรภาส (เพชร) พ.ศ. ๒๕๓๙ อายุ ๘๖ ปี" ที่พื้นเหรียญมีตอกโค้ดตัว "พ"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเดียวกับเหรียญของหลวงพ่อแดง วัดเขาบรรไดอิฐผู้เป็นอาจารย์ ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "รุ่นพิเศษ วัดบ้านกรับ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี"



โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้