โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง ผู้สร้างตำนานพระปิดตาแห่งวัดบ้านยาง

หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง นครปฐม
หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง นครปฐม

         หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง หรือ พระครูธรรมสุนทร อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ท่านเป็นอีกหนึ่งพระเกจิอาจารย์ของจังหวัดราชบุรีที่โด่งดัง และท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ร่วมปลุกเสก พระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑

         ซึ่งในพิธีครั้งนั้นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์มาร่วมในพิธี ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่เรืองวิทยาคมทั้งสิ้น และหลวงปู่จันทร์ก็เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ซึ่งท่านย่อมต้องไม่ธรรมดา

         หลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง หรือ พระครูธรรมสุนทร (จันทร์) วัดบ้านยาง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี(ที่ตั้งวัดเดิมในสมัยนั้น) ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๙ ที่หมู่บ้านริมคลองเหนือ อำบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายจีน จีนเครือ โยมมารดาชื่อนางเคิ้ว จีนเครือ ชีวิตในวัยเด็กก็เหมือนกับเด็กทั่วไป คือใช้ชีวิตอย่างอิสระ โดยท่านมีหน้าที่ต้อนฝูงควายฝูงใหญ่ไปเลี้ยง อุปนิสัยเป็นคนจริง พูดเสียงดัง และค่อนข้างจะเป็นคนเขื่องอยู่ไม่น้อย เป็นหัวหน้าในกลุ่มเพื่อนฝูง

         หลวงปู่จันทร์ เมื่อพอมีอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ท่านก็ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหนองเสือ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้รับฉายาว่า "สุวณฺณคงฺค" โดยมี 

         พระอธิการดำ วัดหนองเสือ เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         พระอธิการดี (จันทรโชติ) วัดบ้านยาง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         พระอธิการอินทร์ วัดบ้านยางนอก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         เมื่อบวชแล้วท่านได้จำพรรษาที่วัดหนองเสือ เพื่อศึกษาอักขระทั้งขอมและไทย ปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด เริ่มศึกษาพระปริยัติและปฏิบัติกับพระอธิการดี จนมีความรู้แตกฉาน

หลวงพ่อชื่น วัดบ้านโป่ง(ซ้าย) หลวงพ่อดี วัดบ้านยาง(กลาง) และหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง(ขวา)

         ต่อมาท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดบ้านยาง เพื่อศึกษาด้านพุทธาคมกับพระอธิการดี วัดบ้านยาง และพระอธิการอินทร์ วัดบ้านยางนอกอีกด้วย

         และที่นี้นี่เอง ท่านจึงได้พระปิดตาออกมาแจกกับชาวบ้านลูกศิษย์ลูกหา จนปรากฏในทางคงกระพัน เล่าลือกันมาก 

         ในราวปี พ.ศ. ๒๔๖๖ พระอธิการดี เจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ถึงกาลมรณภาพลงด้วยโรคบิด ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

         หลังจากที่ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านยาง ท่านก็ได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ตลอดจนพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ หลวงปู่จันทร์ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และในปีเดียวกันนั้นนั่นเอง ท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลวงปู่จันทร์ ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูธรรมสุนทร" 

         หลวงปู่จันทร์ ครองวัดบ้านยางเรื่อยมาจนมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๔ นับรวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี พรรษา ๕๔

วัตถุมงคลของหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง

          เหรียญงานศพหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เพื่อเป็นที่ระลึกงานศพของหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ลักษณะเป็นเหรียญเสมาข้างเลื่อย มีหูเชื่อมสำหรับคล้องกับสร้อย ด้านหลังมีการสร้างด้วยกัน ๒ บล็อก และมีการสร้างด้วยกัน ๒ เนื้อ คือเนื้อเงินและเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างมิได้มีการระบุไว้ ในสมัยก่อน มีพวกพ่อค้าพระใจบาปนำเหรียญไปฝนลบคำว่า "งานศพ" ออกเพื่อหลอกขายว่าคือเหรียญเป็นของหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง เพื่อจะขายให้ได้ราคา

เหรียญแจกงานศพหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง ของคุณธกรณ์ ทองประสิทธิ์

เหรียญแจกงานศพหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อเงิน ของคุณบอย บ้านยาง

เหรียญแจกงานศพบอหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดง
เหรียญแจกงานศพหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง ปี พ.ศ. ๒๔๖๖ เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง ของคุณบอย บ้านยาง

           ด้านหน้า มีรูปหลวงพ่อดีครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ด้านในขอบเสมาด้านล่างเป็นโบภายในโบมีข้อความขอมอ่านได้ว่า "จนโชติ" ซึ่งคือฉายาของหลวงปู่ดี ขอบเหรียญด้านหน้าเขียนอักขระล้อมรอบล้อไปกับทรงเสมาของเหรียญ

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์และมีอักขระภาษาไทยด้านบนเขียนว่า "ที่ระฦกงานศพ"  ด้านล่างมีข้อความภาษาไทยเขียนว่า  "พ.ศ.๒๔๖๖" ซึ่งเป็นปีที่มีการจัดงานศพของหลวงพ่อดี วัดบ้านยาง

          เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ที่หลวงปู่จันทร์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปดอกจิกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยกัน ๒ เนื้อ คือเนื้อเงินและเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างมิได้มีการระบุไว้   

เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก เงิน 2481
เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อเงิน

เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก ทองแดง
เหรียญหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เนื้อทองแดง

          ด้านหน้า มีรูปหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูธรรมสุนทร (จันทร์) สุวณฺณคงฺค"

          ด้านหลัง มีอักขระยันต์และมีอักขระภาษาไทยด้านล่างเขียนว่า "วัดบ้านยาง" 

         รูปหล่อโบราณหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง รุ่นแรก

         สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ หลังจากที่หลวงปู่จันทร์ได้มรณภาพ​ลงแล้ว สร้างด้วยวิธีการหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อโลหะทองผสม เนื้อพระจะออกสีนิยมนั่นคือเนื้อเหลืองอมเขียว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อโบราณหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง นครปฐม 2472
รูปหล่อโบราณหลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง ปี พ.ศ. ๒๔๙๕

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปหลวงพ่อจันทร์ นั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต นั่งบนฐานเขียง ที่ฐานไม่ปรากฏอักขระยันต์ใดๆ

          ด้านหลัง ไม่มีมีอักขระยันต์และอักขระภาษาไทยใดๆ สังฆาฏิของหลวงพ่อยาวจรดฐานเขียง ริ้วจีวรพลิ้วเป็นธรรมชาติ

          ด้านฐาน มีการอุดด้วยผงวิเศษ(ผงอัฐิหลวงปู่จันทร์)​

         พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์มัดข้าวต้ม เนื้อเมฆพัตร

         สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยวิธีการหล่อโบราณ ตามตำหรับพระปิดตาของวัดบ้านยาง มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเมฆพัตร โดยพิมพ์ทรงจะมีเอกลักษณ์ ที่เรียกกันว่ามัดข้าวต้ม โดยที่ทุกองค์จะมีรอยจารของหลวงปู่จันทร์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร พิมพ์มัดข้าวต้ม
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง พิมพ์มัดข้าวต้ม เนื้อเมฆพัตร ของคุณธเนษฐ เมืองเหนือ

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร พิมพ์มัดข้าวต้ม
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง พิมพ์มัดข้าวต้ม เนื้อเมฆพัตร ของคุณธเนษฐ เมืองเหนือ

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี(มหาอุตม์) โดยที่จะมีรอยจารของหลวงปู่จันทร์ ซึ่งการเล่นหาสะสมต้องจดจำรอยจารของหลวงปู่ให้แม่นยำ

          ด้านหลัง ไม่มีมีอักขระยันต์และอักขระภาษาไทยใดๆ แต่จะมีรอยจารของหลวงปู่

         พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อเมฆพัตร

         สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยวิธีการหล่อโบราณ ตามตำหรับพระปิดตาของวัดบ้านยาง มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะเมฆพัตร โดยพิมพ์ทรงจะมีเอกลักษณ์ และรอยจารของหลวงปู่จันทร์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร พิมพ์หูกระต่าย
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อเมฆพัตร

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อเมฆพัตร

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อเมฆพัตร

ปิดตาหลวงปู่จันทร์วัดบ้านยาง เนื้อเมฆพัตร
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อเมฆพัตร

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี โดยที่จะมีรอยจารของหลวงปู่จันทร์ ซึ่งการเล่นหาสะสมต้องจดจำรอยจารของหลวงปู่ให้แม่นยำ

          ด้านหลัง ไม่มีมีอักขระยันต์และอักขระภาษาไทยใดๆ แต่จะมีรอยจารของหลวงปู่ 

         พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์ท้องอุ

         สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยวิธีการกดพิมพ์ มีการจัดสร้างด้วยเนื้อดินขุยปูเท่านั้น โดยพิมพ์ทรงจะมีเอกลักษณ์ และในบางองค์จะมีรอยจารของหลวงปู่จันทร์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

 

พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์ท้องอุ เนื้อดินขุย
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์ท้องอุ เนื้อดินขุยปูของคุณแจ็ค ท่าพระ

           ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี โดยที่ท้องขององค์พระมีตัวอักขระขอมอ่านว่า "อุ" จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์

         พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อดิน

         สร้างก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ด้วยวิธีการกดพิมพ์ ซึ่งบางองค์พิมพ์พระจะมีแค่ด้านหน้าด้านเดียวจึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ครึ่งซีก ส่วนในองค์ที่สมบูรณ์จะเหมือนพระปิดตาพิมพ์หูกระต่าย มีการจัดสร้างด้วยเนื้อดินขุยปูเท่านั้น โดยพิมพ์ทรงจะมีเอกลักษณ์ และในบางองค์จะมีรอยจารของหลวงปู่จันทร์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อดินขุยปู
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่าย เนื้อดินขุยปู ของคุณมะลิ ปัณฑิโต

พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่ายครึ่งซีก เนื้อดินขุยปู
พระปิดตาหลวงปู่จันทร์ วัดบ้านยาง พิมพ์หูกระต่ายครึ่งซีก เนื้อดินขุยปู

           ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตาภควัมบดี(มหาอุตม์)

           ด้านหลัง มีทั้งที่เป็นหลังองค์พระเต็มองค์และแบบหลังเรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์ปรากฏรอยนิ้วมือ ซึ่งเกิดจากการกดพิมพ์

 

 โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้