โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม หนึ่งในลูกศิษย์ของหลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน

ภาพถ่ายหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม
หลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม

         หลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม หรือ พระครูศรัทธาสมุทรคุณ เดิมท่านชื่อลิ เปรุณาวิน เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ โยมบิดาชื่อนายเย็น เปรุณาวิน โยมมารดาชื่อนางไร่ เปรุณาวิน ภูมิลำเนาเป็นชาวบ้านบางจะเกร็ง ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม 

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อลิ มีอายุครบบวชพอดี จึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "ฐานิสสฺโร" โดยมี 

         หลวงพ่อไร่ วัดบางหญ้าแพรก เป็นพระอุปัชฌาย์ 

         หลังจากอุปสมบท ท่านได้อยู่จำพรรษาอยู่วัดบางหญ้าแพรกเป็นเวลา ๑ พรรษา จึงได้ย้ายมาที่วัดบ้านเกิดของท่าน นั่นคือวัดมอญ หรือชื่อในปัจจุบันคือวัดศรัทธาธรรม ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดมอญแห่งนี้ ท่านได้เดินทางไปเรียนวิปัสนาธุระ และพุทธาคม กับหลวงพ่อสิน วัดบางกระดี่  

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ พระอาจารย์สั้น ผู้ปกครองวัด(ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส) ได้เดินทางกลับไปวัดท่าผาซึ่งเป็นวัดต้นสังกัดของท่านแล้วไม่ได้กลับมาอีก 

         ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมอญว่างลง ชาวบ้านจึงนิมนต์ให้หลวงพ่อลิ ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดมอญเพื่อปกครองวัดแทนตำแหน่งที่ว่างลง

         วัดศรัทธาธรรม สังกัดมหานิกาย คณะสงฆ์ภาค ๑๕ ตั้งอยู่บ้านรามัญตะวันตก เลขที่ ๒๔๗ หมู่ ๑ ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม วัดได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดปี พ.ศ. ๒๔๒๖ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖

         วัดศรัทธาธรรม หรือ วัดมอญ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๔๑ ชาวบ้านนิยมเรียกกันติดปากว่า "วัดมอญ" เพราะวัดตั้งอยู่ร่วมกับชุมชนชาวมอญที่มาอยู่ ณ ตำบลบางจะเกร็ง

         จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านมอญจึงทราบว่า ชาวมอญที่มาอยู่ ตำบลบางจะเกร็งนี้ อพยพมาจากพม่าช่วงเกิดสงครามในประเทศพม่า แล้วมาตั้งหลักปักฐานที่ตำบลบางจะเกร็ง มีอยู่ประมาณ ๑๐ ครอบครัว ได้อาศัยที่ว่างเปล่าของทางราชการตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพประมง ตัดจากและทำสวนมะพร้าว

         วัดศรัทธาธรรมสมัยนั้นยังไม่มีชื่อ จึงเรียกตามถิ่นฐานที่ชาวมอญอาศัยอยู่จึงเรียกว่า วัดมอญ มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ปีละ ๓-๔ รูป ไม่มีพระจะปกครองสงฆ์มาอยู่จำพรรษา

         ชาวมอญที่อาศัยอยู่ได้เดินทางไปอาราธนาพระผู้ใหญ่อาวุโสมาจาก วัดบางลำพู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีชื่อว่า "พระอาจารย์ม่อง" มาปกครองดูแลสงฆ์ในขณะนั้น จึงถือว่าพระอาจารย์ม่องเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกที่ปกครองสงฆ์ (แต่ยังไม่ได้รับอนุญาติจากทางสำนักพุทธ)

         เมื่อท่านได้มาอยู่ที่วัดก็เริ่มพัฒนาวัด โดยการสร้างอุโบสถของท่านพระอาจารย์ม่อง นี้แปลกคือสร้างเป็นแพลอยน้ำได้ เวลาสงฆ์จะทำพิธีกรรมต้องถอยแพออกไปนอกแม่น้ำที่มีน้ำเดินหรือน้ำไหล เวลาเสร็จพิธีก็ดึงแพกลับเข้ามา 

         ท่านได้จำพรรษาอยู่วัดมอญในขณะนั้นเป็นเวลานานเท่าใดไม่มีหลักฐาน ต่อมาท่านอายุมากร่างกายชราภาพลงทางญาติของท่านจึงนำท่านกลับภูมิลำเนาที่วัดบางลำพู อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

         เมื่อท่านอาจารย์ม่องได้กลับบ้านเกิดแล้ว ทางสงฆ์และชาวบ้านได้เดินทางไปอาราธนาพระผู้ใหญ่อาวุโส วัดใหญ่นครชุมม์ จังหวัดราชบุรี มาดูแลวัดและสงฆ์ ท่านมีชื่อว่า "พระอาจารย์เจีย" ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนานเท่าใดไม่ปรากฏ ต่อมาท่านก็กลับวัดของท่านไป

         เมื่อท่านอาจารย์เจียกลับวัดได้มีพระอาจารย์สั้น วัดตาผา อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้เดินทางมาจำพรรษาอยู่ที่วัดมอญ ในขณะที่ท่านอาศัยและจำพรรษาอยู่ที่วัด

         ท่านอาจารย์มีความคิดที่จะสร้างอุโบสถ ท่านจึงทำเรื่องการสร้างอุโบสถและขอพัทธสีมา ไปยังกรมการศาสนา จนได้รับอนุญาตให้ที่ดินเพื่อสร้างอุโบสถ

         แต่การสร้างอุโบสถก็มีอุปสรรค เนื่องจากชาวบ้านในขณะนั้นไม่มีทุนทรัพย์ที่จะสร้าง ทำให้ที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากกรมศาสนาจึงร้าง ๒-๓ ปี 

         ต่อมาท่านพระอาจารย์สั้น ได้นำแพที่ลอยน้ำมาตั้งใน ที่ได้รับอนุญาตจากรมการศาสนา ท่านอาจารย์สั้นจำพรรษาที่วัดนี้นานเท่าใด ไม่มีหลักฐานและต่อมาท่านอาจารย์ก็กลับภูมิลำเนาเดิม.

         หลังจากที่หลวงพ่อลิ ได้ปกครองวัดมอญ ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ จนวัดเจริญขึ้นตามลำดับ 

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ หลังจากที่หลวงพ่อลิ ปกครองวัดถึง ๑๐ ปี ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดมอญ รูปแรกของวัด

         เนื่องจากสมัยนั้นวัดมอญขาดแคลนเจ้าอาวาสที่จะมาดูแล อีกทั้งสมัยนั้นวัดยังไม่มีถาวรวัตถุที่เป็นหลักในการทำกิจของสงฆ์เลย

          แต่ก็ได้หลวงพ่อลิ ท่านเป็นผู้ที่เริ่มสร้างวัดทีละน้อย จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นดังที่เห็นในปัจจุบัน

         สมัยก่อนเล่ากันว่า หลวงพ่อลิ ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เพื่อศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จนท่านสำเร็จวิชาต่างๆมากมาย 

         นอกจากนี้หลวงพ่อลิ ในขณะที่ท่านรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดมอญนั้น ท่านก็ได้นำเรื่องไปปรึกษากับหลวงปู่รอด อยู่หลายครั้ง

         ซึ่งหลวงปู่รอดก็ให้คำแนะนำมาโดยตลอดและสนับสนุนในเรื่องต่างๆ จนในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ หลวงพ่อลิ ท่านจึงได้สร้างพระอุโบสถไม้สักเป็นผลสำเร็จ 

         โดยคนรุ่นเก่าเล่าว่า หลวงปู่รอด ท่านเดินทางมาดูเรื่องแบบด้วยตัวท่านเอง เมื่อวัดมีพระอุโบสถแล้ว

         จึงทำให้มีผู้คนมาบวชเรียนเพิ่มขึ้น หลวงพ่อลิ จึงได้มีการสร้างถาวรวัตถุเพิ่มอีกหลายอย่างเช่น กุฏิสงฆ์ ,ศาลาการเปรียญ ,เตาเผาศพ ,หอสวดมนต์ และโรงเรียน เป็นต้น 

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หลังจากที่หลวงพ่อลิ ได้ทำการพัฒนาวัดศรัทธาธรรมให้เจริญรุ่งเรือง ทางกรมศาสนาจึงได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ" เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕

         หลวงพ่อลิ ปกครองวัดเรื่อยมาจนมรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ นับรวมสิริอายุได้ ๖๙ ปี  ๔๘ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม

         เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น เหรียญทั้งหมดหลวงพ่อลิ ท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยวในพระอุโบสถ จากคำบอกเล่าว่าครั้งแรกในการปลุกเสกนั้น นอกจะเกิดพระอาทิตย์ทรงกตแล้ว ยังมีนกจำนวนมากบินมาเกาะตามวัดเต็มไปหมด รวมถึงจากบาตรที่บรรจุเหรียญที่อยู่ดีๆเหรียญก็กระโดดและตั้งได้เอง พอเสกเสร็จเหรียญของท่านนั้นแจกออกหมดในเวลาอันรวดเร็วมาก เพราะเจตนาพระเครื่องที่ท่านสร้างนั้น สำหรับแจกฟรีเท่านั้น ไม่มีการบูชาแม้แต่รุ่นเดียว จำนวนการสร้างประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ 

เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม รุ่นแรก 2515 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อลิครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ (ลิ)"  

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองพระสามพี่น้อง ประกอบไปด้วยซ้ายสุดหลวงพ่อเขาตะเครา องค์กลางหลวงพ่อบ้านแหลม โดยมือของหลวงพ่อบ้านแหลมจะวางซ้อนกัน และองค์ขวาหลวงพ่อโสธร ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๒

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ หลังจากเหรียญรุ่นแรกหมดไปอย่างรวดเร็ว โดยเหรียญรุ่นนี้หลวงพ่อท่านนำมาแจกในวันสงกรานต์ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว ซึ่งใช้บล็อกหน้าเดียวกับเหรียญรุ่นแรก แต่มีการแกะบล็อกหลังขึ้นมาใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยวในพระอุโบสถ จำนวนการสร้างประมาณ ๑๐,๐๐๐ เหรียญ 

เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม รุ่น2 2516 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อลิครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ (ลิ)"  

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองพระสามพี่น้อง ประกอบไปด้วยซ้ายสุดหลวงพ่อเขาตะเครา องค์กลางหลวงพ่อบ้านแหลม โดยมือของหลวงพ่อบ้านแหลมจะวางเสมอกัน และองค์ขวาหลวงพ่อโสธร ใต้องค์หลวงพ่อมีอักขระยันต์

         เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๓ (ลูกเสือ)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื่องจากในเวลานั้นมีพวกคอมมิวนิสต์ วัดศรัทธาธรรม เป็นที่ชุมนุมลูกเสือชาวบ้าน ทางศิษย์หลวงพ่อก็เลยขอสร้างเหรียญไว้เพื่อป้องกันภัย เนื่องจากสมัยนั้นจะต้องเฝ้าระวังพวกคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือโล่แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว สร้างน้อยหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม รุ่น 3 2519 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๓ (ลูกเสือ) ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อลิ นั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม"  

         ด้านหลัง เป็นรูปเสือ ด้านบนมีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้รูปเสือมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ให้ที่ระลึก ล.ส.ช.บ. รุ่น ๐๒๑/๔ ๑๔-๐๘/๑๙"    

         เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๔ (หลังยันต์ห้า)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์มหรือโล่แบบมีหูในตัวแบบเหรียญลูกเสือ โดยใช้บล็อกด้านหน้าบล็อกเดียวกัน แต่บล็อกด้านหลังแกะขึ้นมาใหม่ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงเนื้อเดียวเท่านั้น โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม รุ่น 4 2520 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๔ (หลังยันต์ห้า) ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อลิ นั่งเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม"  

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์ห้ามีอักขระยันต์ ๔ บรรทัด มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภ ผล พูน ทวี ๓ เม.ย. ๒๕๒๐"   

         เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๔ (กลมเล็ก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาดเล็กแบบมีหูในตัว ไว้สำหรับแจกผู้หญิงและเด็ก มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญกลมหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม รุ่น 4 2520 เนื้ออัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม รุ่น ๔ (กลมเล็ก) ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อลิ ครึ่งองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ

         ด้านหลัง เป็นยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูศรัทธาสมุทรคุณ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม ๒๕๒๐"   

         แหวนหัวกลมหล่อโบราณหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นแหวนหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

แหวนหล่อโบราณหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม
แหวนหัวกลมหล่อโบราณหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม เนื้อทองผสม

         ด้านบนหัวแหวน เป็นรูปยันต์นะทรหด ด้านข้างมีอักขระยันต์

         ด้านท้องแหวน มีอักขระยันต์ ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         พระยอดขุนพลมอญหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นพระหล่อโบราณ สร้างด้วยเนื้อทองผสมแก่ทองเหลือง โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว ปัจจุบันนิยมเรียกพระเจ้าตากสิน จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระยอดขุนพลหล่อหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม
พระยอดขุนพลมอญหล่อโบราณ หลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม เนื้อทองผสม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองขุนพลมอญ องค์พระใส่หมวกแปลกตา

         ด้านหลัง เป็นรูปจำลองขุนพลมอญ ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         พระสมเด็จหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ลักษณะเป็นพระสมเด็จเนื้อผงสีขาวนวลสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยท่านเป็นผู้ปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

สมเด็จหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม
สมเด็จหลวงพ่อลิ วัดศรัทธาธรรม สมุทรสงคราม

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสมเด็จบนฐาน ๓ ชั้น ครอบซุ้มระฆังสวยงาม องค์พระเส้นรัศมีสวยงามมี เอกลักษณ์ ด้านข้างองค์พระมีอักขระยันต์

         ด้านหลัง เรียบ ไม่ปรากฏอักขระภาษาไทยใดๆ

         อิทธิวัตถุมงคลของหลวงพ่อลิ ในส่วนของประสบการณ์พระเครื่องของหลวงพ่อลินั้น เป็นที่กล่าวขานกันมาก โดยเฉพาะคนพื้นที่ต่างรู้ดี ไม่ว่าจะเป็นมีดหรือปืนต่างต้องศิโรราบ มาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก ในส่วนตะกรุดของท่านสมัยก่อนนั้นก็มีคนต่างก็ไปขอกันเยอะมาก 

         ขนาดมีผู้มั่นใจในตะกรุดของท่าน โดยการโยนลูกตัวเองซึ่งเป็นเด็กเล็กๆลงคลอง โดยในคอมีเพียงตะกรุดเล็กๆของท่านเพียงดอกเดียว แต่เด็กนั้นกลับลอยน้ำไม่จมแต่อย่างใด เรื่องนี้มีพยานเห็นกันหลายคนในสมัยนั้น

         ปัจุบันนั้นวัตถุมงคลของท่านยิ่งจะหายากขึ้นเรื่อยๆผู้ที่ศรัทธาท่านต่างรู้ดีว่าของท่านไม่ธรรมดา ยิ่งศิษย์ในยุคนั้นเรียกว่าแขวนพระท่านเพียงองค์เดียวก็เกินพอ

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้