โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม พระเกจิผู้มีอัฐิธาตุเป็นทองแดง

ภาพถ่ายหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม
หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม

         หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเถราจารย์ยุคเก่า ผู้มีพระเวทย์พุทธาคมเข้มขลัง มีตบะบารมีแก่กล้า สมัยก่อนเล่ากันว่าหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ท่านเคยธุดงค์มาต่อวิชาด้วย ซึ่งถือเป็นเครื่องยืนยันถึงพุทธาคมของหลวงพ่อได้เป็นอย่างดี

         แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีการจดบันทึกประวัติของท่านไว้อย่างชัดเจน มีแต่เพียงคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น

         วัดประดู่ นั้นเป็นวัดโบราณ สันนิษฐานว่าคงสร้างในราวปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ จากการค้นคว้าทางวิชาการก็พอจะถือได้ว่า วัดประดู่ นี้เป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งในย่านจังหวัดสมุทรสงคราม ตามประวัติวัดประดู่ อดีตเจ้าอาวาสที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นมาที่วัดก็คือ  "หลวงปู่แจ้ง" ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ มีผู้รู้ได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า

         ในหลวงรัชกาลที่ ๕  พระองค์ท่านได้ทรงเสด็จประพาสต้นทางน้ำ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ โดยเรือพระที่นั่งผ่านคลองหน้าวัดประดู่ และได้แวะทำครัวเสวยพระกระยาหารเช้า พระองค์ทรงนึกแปลกใจว่า เพราะเหตุใดชาวบ้านจึงได้มาชุมนุมกัน ณ ที่ศาลาท่าน้ำกันมาก จึงตรัสให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพไปสอบถามพวกชาวบ้านที่มาชุมนุมกัน 

         จึงได้ความว่า หลวงปู่แจ้ง เจ้าอาวาสวัดประดู่แห่งนี้ ท่านเป็นพระที่มีวิชาอาคมสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และที่เลื่องชื่อที่สุดก็คือน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บุคคลใดที่โดนผีเข้าหรือโดนคุณไสยถ้าได้มาเจอน้ำมนต์ของหลวงปู่แจ้งแล้วจะได้ผลทุกรายไป ผีตัวใดก็ไม่อาจทนอยู่ได้ 

หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม
หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม

         ส่วนยาศักดิ์สิทธิ์นั้นก็เช่นกัน ทำขึ้นจากใบมะกาใช้คู่กับน้ำมนต์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบความจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ท่านก็ทรงเสด็จออกจากวัดประดู่ จากนั้นมาไม่นาน หลวงปู่แจ้ง ท่านก็ได้รับนิมนต์เข้าไปในพระราชวังเพื่อรักษาพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นภูธเรศดำรงค์ศักดิ์ 

         เมื่อหลวงปู่แจ้ง ถวายการรักษาเสร็จจนมีพระอาการดีขึ้น ทำให้พระองค์ทรงเลื่อมใสในความสามารถของหลวงปู่ ก่อนที่หลวงปู่จะลากลับจึงทรงพระราชทานเครื่องอัฏฐบริขาร เตียงบรรทม เก๋งเรือ ปิ่นโต ฯลฯ ให้เป็นที่ระลึก การที่องค์พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ทรงเสด็จมายังวัดประดู่ตามประวัติศาสตร์นั้นพระองค์ได้ทรงถวายเครื่องราชศรัทธาที่น่าสนใจไว้แก่วัดอีกหลายชิ้นด้วยกัน 

         ทางวัดประดู่จึงได้รวบรวมสิ่งของที่ได้พระราชทานเหล่านั้นจัดทำเป็น พิพิธภัณฑ์เครื่องราชศรัทธา รัชกาลที่ ๕ ขึ้นเพื่อเก็บดูแลรักษาสิ่งของเหล่านี้ให้ทรงคุณค่าอยู่ตราบนานเท่านาน และเพื่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ชม ได้ศึกษา รวมถึงร่วมกันอนุรักษ์ให้คงอยู่กับชาววัดประดู่ตลอดไป 

         ตามประวัติเล่ากันว่าหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ได้เรียนทางแพทย์แผนโบราณ มีดหมอปราบภูติผีปีศาจ ทางมหาประสาน เชือกคาดชื่อตะขาบไฟหรือไส้หนุมาน มาจากหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ นี่เอง 

         หลวงปู่แจ้งท่านรักษาคนด้วยตัวยาสมุนไพรเพียงไม่กี่ชนิดคือใบมะกากับข่าพร้อมคาถาเสก ถ้าคนที่มารักษายังไม่หมดอายุท่านจะรับรักษาและต้มยาให้กินแล้วโรคก็จะหายนอกเสียจากท่านตรวจดูแล้วรู้ว่าคนๆ นั้นหมดอายุท่านก็จะไม่รักษาให้และนอกจากยาใบมะกากับข่าเสกแล้ว 

อัฐิของหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ กลายเป็นทองแดง
อัฐิของหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ กลายเป็นทองแดง

          สิ่งที่ขึ้นชื่อเมื่อเอ่ยถึงหลวงปู่แจ้งอีกอย่างหนึ่งก็คือ "น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์" น้ำมนต์หลวงปู่แจ้งเล่ากันว่าเมื่อรดใครแล้วหายจากโรคทุกคน ไม่ว่าจะถูกคุณไสย ลมเพลมพัด เป็นบ้าเสียสติมาอย่างไร เมื่อมารดน้ำมนต์ที่วัดประดู่กลับไปแล้วหายทุกคนเรียกว่ามีความขลังและศักดิ์สิทธิ์มาก 

         หลวงปู่แจ้ง ท่านเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ของวัดประดู่ และมรณภาพลงในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๗๒ โดยอัฐิของท่านได้กลายเป็นทองแดงและทางวัดยังเก็บรักษามาจนถึงทุกวันนี้.

วัตถุมงคลของหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่

         วัตถุมงคลที่ทันหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ที่ทราบกันดีจะมีแต่เครื่องรางเสียเป็นส่วนใหญ่  ทั้งเชือกคาดเอว(ตะขาบไฟใส้หนุมาน) มีดหมอ พระเนื้อดิน และน้ำมนต์ โดยวัตถุมงคลที่สร้างด้วยเหรียญนั้นไม่ทันท่านทั้งสิ้น

         เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐  ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้ไม่ทันท่าน แต่ก็ได้เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมปลุกเสกมากมาย เหรียญสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ ราชบุรี รุ่นแรก เนื้อทองเหลือง
เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ ราชบุรี รุ่นแรก เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงปู่แจ้งครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ อะระหัง" บนสุดมีตัวอุนาโลม

         พระกลีบบัวหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๐  เชื่อกันว่าเป็นพระที่หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ท่านได้สร้างไว้ ลักษณะเป็นพระเนื้อดินทรงกลีบบัว มีการสร้างด้วยเนื้อดินผสมผงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จัดเป็นพระหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระกลีบบัวหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ เนื้อดิน
พระกลีบบัวหลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่ เนื้อดิน ของคุณเบนจามินพระเครื่อง

        ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิเพชร องค์พระพาดผ้าสังฆาฏิ มีฐานบัวหงายรองรับ รอบองค์พระมีเม็ดไข่ปลาล้อไปกับพิมพ์พระ

         ด้านหลัง เรียบไม่มีมีอักขระยันต์ใดๆ

         พระกลีบบัวแหลมหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๐  เชื่อกันว่าเป็นพระที่หลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ท่านได้สร้างไว้ ลักษณะเป็นพระพิมพ์กลีบบัวปลายแหลม มีการสร้างด้วยเนื้อผงคลุกรักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จัดเป็นพระหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบัวแหลมหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ สมุทรสงคราม
พระกลีบบัวแหลมหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ เนื้อผงคลุกรัก สมุทรสงคราม

        ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งขัดสมาธิเพชร หูบายศรี มีฐานบัว ๘ เม็ด รอบองค์พระมีซุ้มเถาวัลย์สวยงาม

         ด้านหลัง เรียบไม่มีมีอักขระยันต์ใดๆ

         เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ รุ่น ร.ศ. ๒๑๒

         สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้ไม่ทันท่าน แต่ก็ได้เกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้นร่วมปลุกเสกมากมาย เหรียญสร้างด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ ราชบุรี รุ่น รศ212 2537 เงินลงยา
เหรียญหลวงปู่แจ้ง วัดประดู่ ราชบุรี รุ่น ร.ศ.๒๑๒ ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เนื้อเงินลงยา

         ด้านหน้า เป็นรูปหลวงปู่แจ้งครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อแจ้ง วัดประดู่" ที่เหรียญมีการตอกโค้ด อุณาโลม

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ อ่านได้ว่า "นะโมพุทธายะ อะระหัง" บนสุดมีตัวอุนาโลม ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ร.ศ. ๒๑๒" ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๒๕๓๖

 

 

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้