โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ เจ้าของเหรียญหล่อหูหลังที่แสนจะหายาก

พระครูวิมลศิลาจารย์ หรือ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม

           นับเนื่องมาจากอดีตจนปัจจุบัน ลุ่มน้ำแม่กลอง เต็มไปด้วยพระเกจิมากมาย หนึ่งในนั้นคือพระเกจิผู้เรืองเวท แห่งลุ่มน้ำแม่กลอง ที่สร้างวัตถุมงคล อันเป็นเอกลักษณ์ สวนงาม และเก่าแก่ เปี่ยมด้วยพุทธคุณ น่าเก็บครอบครอง มากมายและหนึ่งในนั้นคือ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ แห่งสมุทรสงคราม

           ประวัติวัดปากน้ำ และ พระครูวิมลศีลาจารย์(ช่วง อินฺทโชติ) วัดปากน้ำ ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ในปีระกา ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) ทรงกล่าวถึงวัดปากน้ำ ดังความต่อไปนี้ “วัดอัมพวานี้คงจะได้คิดจะให้เป็นของคู่กันกับวัดสุวรรณดารารามจึงได้ทรงสร้างบางอย่างทุกๆ รัชกาลมา จะทิ้งให้สาบสูญเสียเห็นจะไม่ควร ข้อขัดข้องสำคัญนั้นคือ หาเจ้าอธิการไม่ได้ แต่ก่อนมาเป็นวัดพระราชาคณะอยู่เสมอ แต่ได้โทรมเข้าเลยโทรมไม่ฟื้น เพราะไม่มีใครยอมไปอยู่ การที่ไม่ยอมไปอยู่นั้นเห็นจะเป็นด้วยปราศจากลาภผล ไม่เหมือนวัดบ้านแหลมและวัดพวงมาลัย ซึ่งได้ผลประโยชน์ในทางขลังต่างๆ แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีสมภารดีนึ้ จนราษฎรในคลองอัมพวาก็พากันเข้าไปทำบุญเสียวัดปากน้ำลึกเข้าไปข้างใน การที่จะแก้ไขไม่ให้ร้างไม่มีอย่างอื่น นอกจากหาสมภารที่ดีมาไว้”

          วัดปากน้ำที่ทรงกล่าวถึงในพระราชหัตถเลขานี้ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลแควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม มีอดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่ยังคงมีชื่อติดหูผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักสะสมพระเครื่อง เนื่องจากเป็นเจ้าของเหรียญที่ระลึกงานทำบุญครบ ๖ รอบของท่านเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ซึ่งเจ้าอาวาสรูปดังกล่าว คือ พระครูวิมลศีลาจารย์ (ช่วง อินฺทโชติ)

พระครูวิมลศิลาจารย์ หรือ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม

           อัตโนประวัติของหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ หลวงพ่อท่านเกิด เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ที่บ้านตำบลบางพรม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เป็นบุตรของนายรอด และนางแจ่ม อาชีพทำสวน เมื่ออายุได้ ๙ ปี บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยและขอมกับหลวงพ่อกลัด วัดบางพรม ร่ำเรียนจนเขียนอ่านได้ดีแล้ว จึงออกมาช่วยบิดามารดาทำสวน จนมีอายุครบบวช จึงได้อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบางพรม ได้รับฉายานามว่า “อินฺทโชติ” โดยมี

          พระอธิการเพ็ง วัดบางแคใหญ่ เป็นพระอุปัชฌาย์ 
          พระอธิการกลัด วัดบางพรม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
          พระอธิการขาว วัดปากน้ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

          กล่าวสำหรับพระอธิการเพ็ง ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระครูทักษิณคณิศร(สาย) วัดอินทาราม(วัดใต้) ตลาดพลู กทม. เช่นกัน ในสมัยที่ท่านอุปสมบทที่วัดราษฎร์บูรณะ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระอธิการเพ็ง ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานชื่อดังของจังหวัดสมุทรสงคราม

          เมื่อพระครูวิมลศีลาจารย์ หรือหลวงพ่อช่วง ได้อุปสมบทแล้ว ได้มาจำพรรรษาที่วัดปากน้ำ ศึกษาเล่าเรียนทั้งมูลกัจจายน์ บุพสิกขาวรรณา พระธรรมบท มงคลทีปนี บาลีไวยากรณื ทั้งยังมีความอุตสาหะท่องบทสวดมนต์จนจบพระปาฏิโมกข์ ทั้งยังได้ชื่อว่าจารหนังสือขอมได้สวยงาม ทั้งเทศน์ทำนองไพเราะ มีความรู้ทางช่างเป็นอย่างดียิ่ง

หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม

          นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาร่ำเรียนคาถาอาคมจากพระอธิการเพ็ง พระอุปัชฌาย์ ในด้านรุกขมูล อันเป็นที่นิยมในสมัยนี้น พระครูวิมลศีลาจารย์(ช่วง อินฺทโชติ) ก็เคยเข้าร่วมในกลุ่มธุดงควัตรของหลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก อ.อัมพวา อันเป็นพระอาจารยธุดงค์ชื่อดังในยุคนั้น ธุดงค์ไปจนถึงนครวัด ประเทศกัมพูชา พระเจดีย์ชเวดากองของพม่า และธุดงค์ไปถึงหลวงพระบางของประเทศลาว

           เมื่อกลับจากธุดงค์แล้วนั้น หลวงพ่อช่วง ได้รับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร นอกจากนั้นยังได้สร้างโรงเรียนสำหรับเป็นที่ ศึกษาของลูกหลานชาวบ้าน เมื่อครั้งที่ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นที่ “พระครูวิมลศีลาจารย์” โรงเรียนที่ตั้งขึ้นมีชื่อว่า “โรงเรียนวิมลอุปการ” ซึ่งโรงเรียนเดิม คือ โรงเรียนอมราบำรุงรักษ์ ก่อตั้งโดยพระอมรโมลีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ในด้านโรงเรียนปริยัติธรรม ท่านได้จัดหาครูจากวัดระฆังโฆสิตารามไปสอน ซึ่งระหว่างตัวท่านเองและสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา)เป็นสหธรรมิกกัน

          ส่วนในการเรียนกรรมฐานวิปัสนาธุระ ท่านจะเป็นผู้สอนด้วยตนเอง วัดปากน้ำในตอนที่หลวงพ่อช่วง อุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ๆ วัดปากน้ำมีพระอธิการขาวเป็นเจ้าอาวาส ครั้นเมื่อพระอธิการขาวมรณภาพ พระอาจารย์เทศ เป็นเจ้าอาวาสวัดสืบต่อ ตามด้วยพระอาจาย์เกตุ และจากนั้นพระครูวิมลศีลาจารย์ จึงได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

พระครูวิมลศิลาจารย์ หรือ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม


           ครั้นมาถึงยุคของหลวงพ่อพ่อช่วงนั้น ท่านได้พัฒนาวัดปากน้ำให้เจริญก้าวหน้าทั้งในด้านถาวรวัตถุ และการเรียนการศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิมลศีลาจารย์” เจ้าคณะอำเภออัมพวา เมื่อปี่ พ.ศ. ๒๔๕๘ และยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์

           เมื่อเข้าสู่วัยชรา ในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอ อัมพวา ท่านได้ขอให้หลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอ และเป็นอุปัชฌาย์ช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน จนเมื่อพระครูวิมลศีลาจารย์ (ช่วง อินฺทโชติ) มรณภาพลง ทางการจึงได้แต่งตั้งให้หลวงพ่อคง เป็นเจ้าคณะอำเภอสืบไป แต่ท่านไม่ยอมรับ จึงต้องย้ายพระครูสุทธิสาร (ใจ) วัดเสด็จ เจ้าคณะอำเภอบางคนที มาเป็นเจ้าคณะอำเภออัมพวาแทน

           พระครูวิมลศีลาจารย์(ช่วง อินฺทโชติ) ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชราในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ นับรวมสิริอายุได้ ๗๙ ปี พรรษาที่ ๕๙

วัตถุมงคลของหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ

           เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อช่วง ปากน้ำ รุ่นแรก(หูหลัง)

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ทางกรรมการวัดจึงได้ขออนุญาตจัดสร้างวัตถุมงคล ลักษณะเป็นพระเหรียญหล่อโบรารณ มีหูที่ด้านหลังเหรียญ มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม รุ่นแรก หูหลัง 2463 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ รุ่นแรก หูหลัง ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองผสม ของคุณโย สามพราน
เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม รุ่นแรก หูหลัง 2463 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ รุ่นแรก หูหลัง ปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เนื้อทองผสม

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลมประทับยืนบนอาสนะ บัวคว่ำ-บัวหงาย

           ด้านหลัง มีหูสำหรับไว้ห้อยเหรียญ ใต้หูเหรียญมีอักขระยันต์สาม และเลขไทยระบุปีที่สร้าง "๒๔๖๓" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

           เหรียญหล่อพระพุทธหลวงพ่อช่วง ปากน้ำ รุ่นสอง(หูตรง)

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด หลังจากที่เหรียญรุ่นแรกได้หมดลงแล้วทางวัดจึงได้มีการสร้างขึ้นมาอีกครั้ง โดยให้ช่างแกะแม่พิมพ์ให้เหมือนลักษณะเดิม แต่มีการแกะหูไว้ด้านบน ชาวบ้านเรียกว่า "เหรียญหูตรง" มีการสร้างด้วยเนื้อโลหะผสมแก่ทองเหลือง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ สมุทรสงคราม รุ่น 2 หูตรง 2467 ทองผสม
เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ รุ่น ๒ หูตรง ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองผสม ของคุณปอม บางบอน

เหรียญหล่อหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ รุ่น ๒ หูตรง ปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เนื้อทองผสม

           ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อบ้านแหลมประทับบนอาสนะ บัวคว่ำ-บัวหงาย

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์สาม และเลขไทยระบุปีที่สร้าง "๒๔๖๗" ซึ่งคือปีที่สร้างเหรียญ

           เหรียญหลวงพ่อช่วง ปากน้ำ รุ่นแรก

           สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เพื่อแจกเป็นระลึกในงานทำบุญอายุครบ ๖ รอบ ๗๒ ปี ของหลวงพ่อ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงหยดน้ำข้างกระบอกแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๗๑ เนื้อทองแดง

           ด้านหน้า มีของรอบนอกเป็นลายกนก และทำเส้นขอบรูปทรงเดียวกับเหรียญอีกชั้นหนึ่ง ภายในเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อช่วงครึ่งรูป ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฎิ โดยรอบรูปเหมือนนั้นเป็นอักษรระบุถึงที่มาของการสร้างเหรียญพระเครื่องนี้ขึ้นมาว่า "พระครูวิมล ศีลาจารย์ วัดปากน้ำ ที่รฤกในงานทำบุญอายุครบ ๖ รอบปี พ.ศ. ๗๑"

           ด้านหลัง พื้นเหรียญเรียบ มีขอบเนื้อล้นของเนื้อโลหะตรงขอบเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปองค์พระภควัมบดี หรือ พระปิดตา และโดยรอบพระปิดตาเป็นอักขระขอม ซึ่งเป็นคาถามหาอุด อ่านได้ว่า "อุด อัด อัด พัด อะ ละ นัง ล้อม ภควัม"

          รูปถ่ายหลวงพ่อช่วง ขนาดห้อยคอ

          นอกจากนี้ทางวัดปากน้ำ ยังได้สร้างรูปถ่ายขนาดห้อยคอหลวงพ่อช่วง ไว้แจกจ่ายอีกด้วย ซึ่งถือเป็นของที่หายาก

รูปถ่ายขนาดห้อยคอ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำ

          ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อช่วง นั่งมารวิชัย ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีรัดประคต นั่งบนอาสนะ ด้านล่างมีข้อความภาษาไทย เขียนว่า "พระครูวิมลศิลาจาร วัดปากน้ำ"

          รูปถ่ายขนาดห้อยคอ หลวงพ่อช่วง วัดปากน้ำนี้น่าเสียดายที่ไม่ทราบปีที่สร้าง จัดเป็นของหายาก


ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้