ประวัติเจดีย์ยุทธหัตถี กาญจนบุรี และเหรียญสมาคมชาวกาญจนบุรี
![]() |
เจดีย์ยุทธหัตถี พนมทวน กาญจนบุรี |
เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่ชาวบ้านกาญจนบุรีเชื่อว่าเป็๋นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงสร้างขึ้นหลังจากที่พระองค์ ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา กษัตริย์ของพม่า เจดีย์ดังกล่าว ตั้งอยู่ที่บ้านดอนเจดีย์ หมู่ที่ ๒ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี
เรื่องของเจดีย์ยุทธหัตถีนั้น สืบเนื่องจากพระประสงค์ของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ที่ทรงพยายามสืบค้นถึงสถานที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ ๕
โดยอาศัยพงศาวดารฉบับนายพัน ชลุมาส แต่หาบ้านตะพังตรุไม่เจอ เพราะเป็นชื่อ จนมาพบเจดีย์ บ้านดอนเจดีย์ กาญจนบุรี แต่เมื่อพบแล้ว ไม่เชื่อว่าใช่ เพราะมีขนาดเล็ก
จนล่วงเข้าสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ การค้นหาอย่างจริงจังจึงได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจจากพงศาวดารฉบับใหม่ที่ค้นพบของหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ (แพ ตาละลักษมณ์)
ผู้มีหน้าที่รวบรวมหนังสือเก่า เข้าเก็บไว้ในหอสมุดของพระนคร หลวงประเสริฐฯ ได้รับหนังสือโบราณ เล่มหนึ่ง ที่เขียนด้วยตัวอักษรโบราณโดยบังเอิญ ขณะที่ยายแก่คนนึงในจังหวัดเพชรบุรี กําลังจะนําไปเผาไฟทิ้ง
หลวงประเสริฐ จึงนําหนังสือโบราณนั้นกลับมายังพระนคร และนําขึ้นถวายแด่ สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ซึ่งต่อมาหนังสือโบราณเล่มนี้ ได้กลายเป็นพงศาวดารที่นักประวัติศาสตร์ไทยต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า "พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์"
พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ได้ให้เค้าลางใหม่ของที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถี โดยระบุว่าทัพของพระมหาอุปราชาฯ ตั้งอยู่ที่ ณ ตําบลตระพังตรุ แล้วมากระทํายุทธหัตถีกับพระนเรศ ณ ตําบลหนองสาหร่าย แต่พงศาวดารก็ไม่ได้บอกอีกว่าตําบลหนองสาหร่าย ตั้งอยู่ ณ เมืองใด
จากพระวินิจฉัยของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าตําบลหนองสาหร่าย น่าจะอยู่ในเขตแขวงเมืองสุพรรณบุรี และน่าจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์ยุทธหัตถีที่หายสาปสูญไปจึงโปรดให้พระยาสุพรรณบุรี (อี้ กรรณสูต) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณดําเนินการค้นหาเจดีย์ดังกล่าว
![]() |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ |
ต่อมาในยุคจอมพลปอ พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านได้สร้างเจดีย์ครอบเจดีย์ยุทธหัตถี สุพรรณบุรี และสถาปนาเป็นอนุสรณ์ดอนเจดีย์ยุทธหัตถี
แม้ทางราชการและกรมศิลปากรจะสรุปยืนยันแล้วว่า เจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นของแท้แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์หลายคนก็มีความเห็นว่า "สรุปง่ายเกินไป"
เพราะยังมีเจดีย์โบราณที่ทรุดโทรมสึกกร่อน เอียงคดงอ อีกองค์หนึ่ง อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่ชาวบ้านในย่านนั้นมีความเชื่อกันว่า เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้บริเวณชนช้าง เพราะมีสภาพแวดล้อมหลักฐานหลายอย่างที่น่าเชื่อถือ
ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นสพ.รายวันลงข่าว พบพระเจดีย์ยุทธหัตถีองค์จริงอยู่ที่พนมทวน กาญจนบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรพระเจดีย์และพระปรางค์ที่อยู่ห่างไปราว ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
ต่อมาวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาและเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ได้เสด็จมาแวะขณะกลับจากพระราชกรณียกิจที่อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี
หลังจากนั้น ตอนที่ในหลวงท่านมาประทับที่เขื่อนวชิราลงกรณ์ ท่านก็ขับรถมาด้วยพระองค์เอง ไม่มีใครติดตามมาเลย
นายมนูญ เสริมสุข ชายวัยราว ๔๐ คนพื้นที่ ซึ่งตอนนั้นขายเครื่องดื่มและไอศกรีมอยู่ข้างวงเวียนเจดีย์ ให้ข้อมูลกับผู้เขียนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า…
ท่านมาจอดรถถามคนที่ทุ่งสมอว่า เจดีย์ยุทธหัตถีไปทางไหน เขาก็ชี้ทางให้ พอท่านไปแล้วไอ้คนที่ถูกถามก็มองตามไปอย่างงงๆ ว่าหน้าเหมือนในแบงก์
ท่านมาถึงก็เดินดูพระเจดีย์และคุยกับเด็กที่เลี้ยงควายอยู่แถวนั้น คุยกันซักพักพอไอ้หมอนั่นจำได้ว่าเป็นในหลวง ก็ทรุดลงนั่งพูดอะไรไม่ออกเลย ตอนนี้เด็กเลี้ยงควายนั่นเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่นี่
ท่านผู้เฒ่า ๒ คนซึ่งอยู่บนศาลสมเด็จพระนเรศวร ข้างวงเวียน ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แถวนี้ยังเต็มไปด้วยกองกระดูกทั้งคน ช้าง ม้า เกลื่อนอยู่บนดิน เหมือนไม่มีการฝัง ตายก็ปล่อยให้เน่าเปื่อยอยู่อย่างนั้น
และที่พระปรางค์ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางหลังศาล ก็มีกระดูกกองใหญ่เหมือนรวบรวมเอามาไว้ที่นั่นได้จำนวนหนึ่ง
ในดินนอกจากขุดพบกระดูกช้าง ม้า และกระดูกคนมากมายแล้ว ยังพบเครื่องศัตราวุธและเครื่องช้างศึกม้าศึก เช่น หอก ดาบ ยอดฉัตร โกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค แป้นครุฑขี่สิงห์จับนาค ซึ่งแสดงว่าสถานที่นี้ต้องเป็นที่ทำสงครามครั้งใหญ่
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่อ้างว่า เจดีย์ยุทธหัตถีของอำเภอพนมทวนเป็นของแท้ อย่างเช่น
บรรดาชื่อตำบลต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเกี่ยวกับยุทธหัตถีครั้งนี้ ล้วนแต่มีอยู่ในอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรีทั้งนั้น อย่างเช่น หนองสาหร่าย ตะพังตรุ โดยเฉพาะพงศาวดารหลายฉบับระบุชัดว่าชนช้างกันที่ตะพังตรุ มีแต่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ฉบับเดียวบอกว่าชนช้างที่หนองสาหร่าย
พงศาวดารฉบับอื่นๆ ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรตั้งทัพที่หนองสาหร่าย แล้วทรงทำยุทธหัตถีที่ตะพังตรุ ซึ่งหนองสาหร่ายที่พนมทวนห่างจากองค์เจดีย์ที่พนมทวนราว ๑๖-๑๗ กม.
ชาวดอนเจดีย์เคยวิ่งทดสอบกันมาแล้ว ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ซึ่งเป็นไปได้ที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรกำลังตกมันจะได้กลิ่นช้างของพระมหาอุปราชาแล้วพุ่งเข้าไปหา
แต่ถ้าพระมหาอุปราชามาชุมนุมพลที่ตะพังตรุ อำเภอพนมทวน แล้วไปชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ซึ่งห่างไป ๙๐ กม.ตามที่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้
หลังจากสมเด็จพระนเรศวรฟันพระมหาอุปราชาขาดคาคอช้างแล้ว พงศาวดารว่ากองทัพไทยตามไปทันพอดี จึงไล่ฆ่าฟันทหารพม่าอย่างมันมือไปถึงเมืองกาญจน์ ตายไป ๒๐,๐๐๐ คน จับช้างใหญ่สูง ๖ ศอกได้ ๓๐๐ เชือก ช้างพลายพัง ๕๐๐ เชือก ม้าอีก ๒,๐๐๐ เศษ
ระยะทางจากดอนเจดีย์ พนมทวน ไปถึงเมืองกาญจน์ประมาณ ๑๗ กม. ไล่ล่ากันในวันเดียวจึงเป็นไปได้ แต่ถ้าไล่ล่ากันจากเจดีย์ยุทธหัตถีที่สุพรรณบุรีถึงเมืองกาญจน์กว่า ๑๐๐ กม. กี่วันจะถึง
เส้นทางเดินทัพทั้งของพม่าและของไทยที่เข้าออกทางด่านเจดีย์สามองค์ จะต้องผ่านมาทางทุ่งลาดหญ้า เขาชนไก่ (เมืองกาญจน์เก่า) ปากแพรก พนมทวน (บ้านทวน) อู่ทอง สุพรรณบุรี ป่าโมก อยุธยา ไฉนจะไปชนช้างกันที่ศรีประจันต์นอกเส้นทาง
ในพงศาวดารฉบับ "วันวลิต" ได้บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ใกล้วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งที่พนมทวนห่างพระเจดีย์ไป ๑.๕ กม.ก็มีโบสถ์เก่า เจดีย์เก่าอยู่ที่วัดน้อยในปัจจุบัน
อีกทั้งพื้นที่เจดีย์ยุทธหัตถีพนมทวนเป็นที่ดอนดินทราย หมู่บ้านที่ติดกับองค์เจดีย์ก็มีชื่อว่าหมู่บ้านหลุมทราย บริเวณแถบนี้ล้วนเป็นดินทราย จึงเกิดฝุ่นผงคลีดินฟุ้งกระจายจนมืดมิดตามบรรยากาศในวันทรงทำยุทธหัตถีได้
แต่พงศาวดารพม่าของนายอู กาลา ที่เขียนในยุคใกล้เคียงกับช่วงครองราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือที่แปลเป็นไทยคือพงศาวดารฉบับขอแก้ว ระบุว่าสถานที่ชนช้างนั้นเกิดที่ชานพระนคร ซึ่งหมายถึงกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
บันทึกยังระบุถึงการสู้รบครั้งนั้นว่า ช้างของพระมหาอุปราชถูกช้างของสมเด็จพระเนรศวร แทงบาดเจ็บหลายแผล จนช้างของพระมหาอุปราชทรุดตัวต่ำกว่าช้างของสมเด็จพระเนรศวร และตัวของพระมหาอุปราชไม่ได้ถูกพระแสงของ้าวจนขาดสะพายแร่ง แต่ถูกยิงจากสงครามที่ชุลมุน จนสิ้นพระชนม์บนหลังช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยไป
นอกจากนี้ยังมีบันทึกของนายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (ดัตช์: Jeremias van Vliet; ค.ศ. ๑๖๐๒ - ๑๖๖๓) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า "วัน วลิต" พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ของบริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย ซึ่งเป็นบันทึกเก่าแก่ ซึ่งนายเยอรมิส ฟานฟริส ที่เข้ามาอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง นานถึง ๙ ปี ราวปี พ.ศ. ๒๑๘๓ ห่างจากสงครามยุทธหัตถี ๔๘ ปี ระบุว่า
กษัตริย์กรุงสยาม รู้ว่าพม่าบุก จึงยกทัพไปที่วัดร้างแห่งหนึ่ง เรียกว่า "เครง" หรือ "หนองสาหร่าย" ห่างจากกำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยา ๑๒๐ เส้น หรือ ครึ่งไมลล์ นอกกำแพงเมืองตอนเหนือของกรุงฯ เพื่อจะรับศึกกับกองทัพพม่า และสถานที่สร้างเจดีย์ยุทธหัตถี น่าจะสร้างในบริเวณดังกล่าว.
วัตถุมงคลของสมาคมชาวกาญจน์
เหรียญสมาคมชาวกาญจนบุรี
สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกให้กับผู้บริจาคทรัพย์สร้างและบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถี จังหวัดกาญจนบุรี พิธีปลุกเสกจัดขึ้นที่วัดทุ่งสมอ กาญจบุรี ซึ่งมีหลวงพ่อเบี่ยงเป็นเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปวงกลมแบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน เนื้อนาค เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
![]() |
เหรียญสมาคมชาวกาญจน์ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อเงิน |
![]() |
เหรียญสมาคมชาวกาญจน์ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้ออัลปาก้า |
![]() |
เหรียญสมาคมชาวกาญจน์ กาญจนบุรี ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง |
ด้านหน้า มีรูปจำลองพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหลังองค์พระมีรูปพระเจดีย์ ๓ องค์ ด้านบนองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ที่ระลึกมหากุศลดอนเจดีย์"
ด้านหลัง มีรูปจำลองการชนช้างของสมเด็จพระเนรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราช ที่ขอบเหรียญมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สมาคมชาวกาญจนบุรี ๑๔ พ.ค. ๒๕๑๖"
***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุนให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
ไม่มีความคิดเห็น