โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร

ภาพถ่ายหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร
หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร

         หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ หรือ พระครูปัญญาสาครธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดโรงเข้ ท่านเป็นพระเกจิที่เก่งกาจอีกรูปหนึ่งของเมืองสมุทรสาคร ท่านเป็นพระสหมิกธรรมกับหลวงพ่อสุด วัดกาหลง แลกเปลี่ยนวิชาอาคมและรับนิมนต์คู่กันเสมอมา เรียกว่ามีหลวงพ่อสุดต้องมีหลวงพ่อทองสุขเลยทีเดียว

         หลวงพ่อทองสุข พื้นเพท่านเป็นคนราชบุรีเกิดบ้านหมู่ ๑ ตำบลเกาะศาลพระ อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี มีนามเดิมว่าทองสุข นามสกุล นาคราชนิยม เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอก โยมบิดาชื่อนายยม นาคราชนิยม โยมมารดาชื่อนางไพล นาคราชนิยม ท่านเป็นลูกคนสุดท้อง มีพี่น้องร่วมบิดา - มารดาเดียวกัน ๓ คน คือ

         ๑. นายบุญ นาคราชนิยม

         ๒. นายเสาร์ นาคราชนิยม

        ๓. หลวงพ่อพระครูปัญญาสาครธรรม (สุข นาคราชนิยม)

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ หลังจากที่ท่านให้ชีวิตเป็นเสืออยู่ในชุมโจรบ้านก่อไผ่มาจนอายุได้ ๒๕ ปี หลวงพ่อทองสุข เกิดความเบื่อหน่ายและสำนึกผิดกลับใจ ท่านจึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดโรงเข้ ตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับฉายาว่า "ภูริปัญโญ" แปลว่า "ผู้มีปัญญาดุจแผ่นดิน" โดยมี

         พระอธิการกลึง วัดสวนแก้ว สมุทรสงคราม เป็นพระอุปัชฌาย์

         พระอธิการเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

         พระอธิการอุ่น วัดบางขุด สมุทรสาคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

         หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดโรงเข้เรื่อยมา เพื่อศึกษาวิชากับพระอธิการเปลี่ยน จนมีความรู้ชำนาญภาษาขอม เข้าใจในพระธรรมวินัย และสามารถเทศนาสั่งสอนประชาชนได้ นอกจากนี้ท่านยังชำนาญวิชาช่างอีกด้วย

ภาพถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร
พระอธิการเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร

         ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลังจากที่หลวงพ่อทองสุข บรรพชาได้เพียง ๓ พรรษา พระอธิการเปลี่ยนได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา ชาวบ้านและคณะกรรมการวัดจึงได้นิมนต์ให้ท่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดโรงเข้

         ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หลังจากรักษาการเจ้าอาวาสอยู่ถึง ๒ ปี ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งหลวงพ่อทองสุข ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโรงเข้ และยังแต่งตั้งให้ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         วัดโรงเข้ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลโรงเข้ อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีหลักฐานว่าวัดสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีเรื่องเล่าต่อๆกันว่า ในสมัยนั้นมีผู้มาปลูกโรงนาในป่าพื้นที่ของวัด แล้วมีจรเข้มาอาศัยอยู่เป็นครั้งคราว เพราะสมัยก่อนที่บริเวณนั้นเป็นที่ต่ำมีน้ำท่วมทุกปี 

         เมื่อชุมชนใหญ่ขึ้นเนื่องจากผู้ที่เข้ามาอาศัยมากขึ้น และชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบกับมีภิกษุธุดงค์มาอาศัย ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส จึงนิมนต์ให้พักอยู่จำพรรษา จึงเริ่มตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น แล้วสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้จึงเรียกว่า "วัดโรงจระเข้" ต่อมาการพูดได้กร่อนเสียงลงไปเรียกว่า "วัดโรงเข้" และใช้ชื่อนี้จวบจนปัจจุบัน วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๓  

         หลังจากหลวงพ่อทองสุขที่ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ และช่วยเหลือชาวบ้านโรงเข้ให้อยู่ในศีลในธรรม ดำเนินชีวิตด้วยความสุจริต และในปีนี้เองท่านได้ร่วมกับอาจารย์คล้าย แท่นนิล จัดตั้งโรงเรียนวัดโรงเข้ เพื่อให้การศึกษากับบุตร-ธิดา ของชาวบ้านในพื้นที่ระแวกวัด

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๒-๒๔๙๓ ท่านได้สร้างศาลาการเปรียญทรงไทยหลังใหม่ ขึ้นแทนที่หลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม

         ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถหลังเก่า

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ สร้างกุฏิสงฆ์ทรงไทยหลังใหม่ ขึ้นแทนที่หลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรม และสร้างโรงครัวอีกด้วย

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สร้างหอฉัน ทรงปั้นหยา แทนหอฉันเก่าที่ทรุดโทรม

         ปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ด้วยคุณงามความดีของท่าน ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน 

         ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่ พระครูปัญญาสาครธรรม เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และรับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท โดยใช้ราชทินนามเดิม

         ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก โดยใช้ราชทินนามเดิม

ภาพถ่ายหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ และหลวงพ่อสุด วัดกาหลง สมุทรสาคร
หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ (ขวา) และหลวงพ่อสุด วัดกาหลง (ซ้าย)

         หลวงพ่อทองสุข ท่านเป็นพระสหมิกธรรมที่สนิทกับหลวงพ่อสุด วัดกาหลงเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านมักได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมงานปลุกเสกต่างๆที่มีหลวงพ่อสุด วัดกาหลง ไปร่วมงานด้วยอยู่เสมอ

         หลวงพ่อทองสุข ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๖ เวลา ๒๒.๔๕ น. นับรวมสิริอายุได้  ๘๕ ปี ๖๐ พรรษา.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ในสมัยของหลวงพ่อทองสุขเป็นเจ้าอาวาส เพื่อแจกในงานครบรอบการมรณภาพครบ ๓๐ ปี ของหลวงพ่อเปลี่ยนอดีตเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ของท่าน ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบมีหูในตัว คนทั่วไปมักสับสนคิดว่าเป็นเหรียญของหลวงพ่อเปลี่ยน วัดชัยมงคล มีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้าเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร รุ่นแรก 2509 อัลปาก้า
เหรียญหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้ออัลปาก้า

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเปลี่ยนนั่งสมาธิเต็มองค์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคต ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเปลี่ยน" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเดียวกับของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๐๙" คือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑​๑ เพื่อแจกในคราวฉลองอายุครบ ๕ รอบ โดยหลวงพ่อทองสุขได้มอบหมายให้นายทองคำ ชูกร ดำเนินการจัดสร้าง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้าง ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูทองสุข ภุริปญโญ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะทรหด ยันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" และยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงแข้ (สมุทรสาคร)" ซึ่งช่างแกะชื่อวัดผิดไป

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นสอง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เพื่อแจกเป็นที่ระลึกฉลองสมณะศักดิ์ของหลวงพ่อ โดยมีอาจารย์ประหยัด เทศปลิ้ม และช่างถวิล แพรโรจน์ เป็นคนดำเนินการว่าจ้างกองกษาปณ์จัดทำขึ้น ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองเหลือง เนื้อนวะ และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ 

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2516 เนื้อนวะ
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อนวะ

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2516 เนื้อทองแดงกระไหล่ทอง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองเหลือง

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2516 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๒ ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม (หลวงพ่อสุข)" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ รอบนอกของอักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๖"

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๓ (วัดโรงแข้)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เพื่อแจกให้กับผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น3 2520 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูทองสุข ภุริปญฺโญ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะทรหด ยันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" และยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงแข้ (สมุทรสาคร)" ซึ่งช่างแกะชื่อวัดผิดไป

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๔

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อแจกในคราวทำบุญอายุของหลวงพ่อ และงานฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงกระไหล่ทอง และเนื้อทองแดงรมดำเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น4 2523 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขเต็มองค์นั่งมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ รอบองค์หลวงพ่อและผ้าสังฆาฏิมีอักขระยันต์ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม ที่ระลึกงานทำบุญอายุ หลวงพ่อสุข ฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๒ ส.ค. ๒๓ วัดโรงเข้ ต.โรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร"

         เหรียญทรงพุ่มข้าวบิณฑ์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๔ (แจกแม่ครัว)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เพื่อแจกในคราวทำบุญอายุของหลวงพ่อ และงานฉลองตราตั้งพระอุปัชฌาย์ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้หลวงพ่อสร้างแจกแม่ครัว และผู้ที่มาช่วยงานภายในวัด มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงชุบนิกเกิ้ลเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น4 2523 เนื้อทองแดงชุบนิกเกิ้ล แจกแม่ครัว
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๔ (แจกแม่ครัว) ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เนื้อโลหะชุบนิกเกิ้ล

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขเต็มองค์นั่งมือทั้ง ๒ ข้างจับที่หัวเข่า องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีโบ ภายในโบมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์แบบเดียวกับของหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พ.ศ. ๒๕๒๓" คือปีที่สร้างเหรียญ

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๕

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น5 2529 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๕ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม (ทองสุข)" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "๒๙ วัดโรงเข้ สมุทรสาคร"

         เหรียญหลวงพ่อสมัฤทธิ์ วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปพัดยศหรือหยดน้ำ แบบมีหูในตัว องค์พระมีขนาดเล็ก มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงชนิดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ รุ่นแรก 2529 เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด  ใต้รูปองค์พระมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตัว "นะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้ สมุทรสาคร ๒๙"

         เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๖ (สุดท้าย)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ แบบมีหูในตัว โดยเหรียญรุ่นนี้มีการสร้างขึ้น ๒ วะระด้วยกับสามารถแบ่งออกเป็นพิมพ์พิมพ์บาง ไม่มีผด และพิมพ์หนา บล็อกมีผด เหรียญรุ่นนี้มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน สร้างประมาณ ๖๐ เหรียญ และเนื้อทองแดง ทั้ง ๒ พิมพ์รวมกันอย่างละประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น6 2533 บาง เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๖ (พิมพ์บาง ไม่มีผด) ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้อทองแดง

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น6 2533 หนา เนื้อทองแดง
เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่น ๖ (พิมพ์หนา มีผด) ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูทองสุข ภุริปญฺโญ" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะทรหด ยันต์หัวใจธาตุ "นะ มะ พะ ทะ" และยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงแข้ (สมุทรสาคร) ๓๑ มี.ค. ๓๓" ซึ่งช่างแกะชื่อวัดผิดไป

         ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคแรก

         สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๗ -๒๕๒๐ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบมีทั้งแบบเรียบและแบบมีเกลียวเชือก มีหูในตัว มีการสร้างด้วยกัน ๒ ขนาดคือพิมพ์เล็กขนาดสูง ๒ เซนติเมตร  และพิมพ์ใหญ่ขนาดสูง ๒.๓ เซนติเมตร จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ใหญ่ ก่อน 2520
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗- ๒๕๒๐ พิมพ์เล็ก
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ เล็ก ก่อน 2520
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคแรก ปี พ.ศ. ๒๕๑๗- ๒๕๒๐ พิมพ์ใหญ่

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ในบางพิมพ์จะมีอักขระยันต์ "มะ อะ อุ" อยู่เหนือยันต์ห้า ส่วนในบางพิมพ์จะมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "ลาภ ผล พูน ทวี"

         เหรียญรูปถ่ายเคลือบน้ำยาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ -๒๕๒๕ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นเหรียญติดภาพถ่ายลงน้ำยาเคลือบรูปไข่ มีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นเรสซิง 2523-2525
เหรียญรูปถ่ายเคลือบน้ำยาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๓- ๒๕๒๕

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้ จ.สมุทรสาคร"

         ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง (เข็มกลัด)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบลงยาฉลุมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 เข็มกลัด
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลังเข็มกลัด

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" และมีเข็มกลัดสำหรับไว้ติดกับเสื้อ

         ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง (มีโบว์เข็มกลัด)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบมีโบว์เข็มกลัดสวยงาม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 โบว์
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ติดโบว์

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"

         ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง (รัศมีแฉก)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบโลหะมีรัศมีแฉก ด้านหลังมีเข็มกลัดสวยงาม จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 รัศมีแฉก
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ รัศมีแฉก

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้" ในส่วนของโลหะทรงรัศมีแฉกมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุข"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะทรหด และมีเข็มกลัดสำหรับไว้ติดกับเสื้อ

         ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบโลหะแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 รูปไข่ ปิดทองฝังลูกนิมิตร
ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นปิดทองฝังลูกนิมิตร ปี พ.ศ. ๒๕๒๙
ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 รูปไข่ ใหญ่กลางเล็ก ด้านหน้า
ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พิมพ์เล็ก-กลาง-ใหญ่

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 รูปไข่ ใหญ่กลางเล็ก ด้านหลัง
ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ พิมพ์เล็ก-กลาง-ใหญ่

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์ห้ามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สุข ในงานปิดทองลูกนิมิต" 

         ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปหัวใจ เลี่ยมจับขอบโลหะแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตรูปหัวใจหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นปิดทองฝังลูกนิมิตร ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูปัญญาสาครธรรม" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์ห้ามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สุข ในงานปิดทองลูกนิมิต"

         ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ยุคหลัง (ผูกพัทธสีมา)

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมา ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ เลี่ยมจับขอบโลหะแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 ผูกพัทธสีมา
ล็อกเก็ตรูปหัวใจหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นผูกพัทธสีมา ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุก" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์ห้ามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานผูกพัทธสีมาวัดโรงเข้ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ๒๕๒๙"

         ล็อกเก็ตรูปไข่หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นพิเศษ

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานผูกพัทธสีมา ลักษณะเป็นล็อกเก็ตรูปไข่ขนาดเล็ก เลี่ยมจับขอบโลหะแบบมีหูในตัว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ล็อกเก็ตหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้  2529 ปิดทองเล็ก รุ่นพิเศษ
ล็อกเก็ตรูปหัวใจหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นพิเศษ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อทองสุข" 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ใต้ยันต์ห้ามีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "งานประจำปี วัดโรงเข้ รุ่นพิเศษ"

         พระเนื้อดินหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เพื่อแจกให้กับชาวบ้านและผู้ที่ช่วยงานขุดบ่อบาดาลของทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อดินเผารูปทรงห้าเหลี่ยม โดยใช้ดินที่ขุดขึ้นมาจากบ่อบาดาลมาจัดสร้าง โดยหลวงพ่อทองสุข กดพิมพ์พระที่ทำจากบล็อกที่ท่านแกะเอง ซึ่งหลวงพ่อทำออกมาเรื่อยๆหลายครั้งแบบที่ทำไปแจกไป สามารถแบ่งออกเป็นพิมพ์ใหญ่ และพิมพ์เล็ก หลวงพ่อทองสุขปลุกเสกเดี่ยว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระเนื้อดินหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร รุ่นขุดบ่อน้ำ 2500 พิมพ์ใหญ่
พระเนื้อดินหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์ใหญ่

พระเนื้อดินหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร รุ่นขุดบ่อน้ำ 2500 พิมพ์เล็ก
พระเนื้อดินหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พิมพ์เล็ก

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขนั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ บนฐานเขียง 

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์นะทรหด จมลงไปในผิวพระ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษษไทยเขียนว่า "พ่อสุข"

         พระปิดตาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตารูปไข่สร้างด้วยเนื้อผง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2529
พระปิดตาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดี คล้ายพระปิดจาหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้อักขระยันต์มีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "สุข ใจ"

         พระปิดตาลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นพระปิดตาลอยองค์ สร้างด้วยเนื้อผง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระปิดตาลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2529
พระปิดตาลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระปิดตาภควัมบดีลอยองค์ ประทับนั่งบนฐานเขียง

         ด้านหลัง ไม่ปรากฏมีอักขระยันต์ใดๆ

         รูปเหมือนลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงลอยองค์ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปเหมือนลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2529 เนื้อผง
รูปเหมือนลอยองค์หลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อผง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขลอยองค์นั่งสมาธิบนฐานเขียง ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุข"

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้"

         รูปหล่อหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เพื่อแจกในงานปิดทองฝังลูกนิมิตของทางวัด ลักษณะเป็นพระหล่อลอยองค์ มีการสร้างด้วยเนื้อเงิน และเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

รูปหล่อหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ 2529 เนื้อทองแดง
รูปหล่อหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ เนื้อทองแดง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุขลอยองค์นั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระยันต์ที่สังฆาฏิ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุข"

         ด้านหลัง ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้"

         ด้านใต้ฐาน มีการอุดกริ่งด้วยทองแดง และตอกโค้ดตัว "อุ" ไว้ที่ใต้ฐาน

         พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ ในคราวหล่อพระพุทธเพื่อประดิษฐานในวิหารเอียง โดยในงานได้หล่อพระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ขึ้น เพื่อออกให้บูชากับประชาชนที่สนใจ และออกให้บูชาครั้งสุดท้ายจนหมดไปในงานผูกพัทธสีมาปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อลอยองค์ ๒ ชิ้นประกอบกันคือตั้งแต่สบงถึงพระเกศ ๑ ชิ้น และฐานถึงข้อพระบาทอีก ๑ ชิ้น และนำพระมาบัดกีเชื่อมต่อกัน องค์พระสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองไม่รมดำขนาดสูง ๑๒.๕ นิ้ว(ไม่รวมฐาน) และเนื้อทองเหลืองรมดำขนาดสูง ๑๑ นิ้ว(ไม่รวมฐาน) จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ 14 นิ้ว
พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ สมุทรสาคร ขนาด ๑๒.๕ นิ้ว(ไม่รวมฐาน) เนื้อทองเหลือง

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ 11 นิ้ว
พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดโรงเข้ สมุทรสาคร ขนาด ๑๑ นิ้ว(ไม่รวมฐาน) เนื้อทองเหลืองรมดำ

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของทางวัด องค์พระประทับยืนปางห้ามญาติบนฐานกลมมีลวดลายสวยงาม ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์"

         ด้านหลัง มีอักขระยันต์อ่านได้ว่า "พุท ธะ สัง มิ" ที่ฐานเขียงมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "วัดโรงเข้"

         ด้านใต้ฐาน มีดินไทย

         พระบูชาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ เพื่อแจกให้ผู้ที่บริจาคทรัพย์ให้กับทางวัด ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อลอยองค์ องค์พระสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำ มีการสร้างขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วเพียงขนาดเดียวเท่านั้น แต่เนื่องจากมีของตกค้างบางส่วน จึงนำออกให้บูชาในงานปิดทองฝังลูกนิมิตรในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ อีกด้วย สร้างน้อยหายาก จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ สมุทรสาคร 5 นิ้ว 2516-2519 ฐานสิงห์
พระบูชาหลวงพ่อทองสุข วัดโรงเข้ รุ่นแรก ขนาด ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๙ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อทองสุข นั่งสมาธิบนฐานสิงห์ องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัดประคต ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุข วัดโรงเข้"

         ด้านหลัง ไม่ปรากกฏอักขระใดๆ

         ด้านใต้ฐาน มีดินไทย

         พระบูชาหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ รุ่นแรก

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เพื่อแจกในงานครบรอบการมรณภาพครบ ๓๐ ปี ของหลวงพ่อเปลี่ยนอดีตเจ้าอาวาสและพระอาจารย์ของหลวงพ่อทองสุข ลักษณะเป็นพระบูชาหล่อลอยองค์ องค์พระสร้างด้วยเนื้อทองเหลืองรมดำ มีการสร้างขนาดหน้าตัก ๕ นิ้วเพียงขนาดเดียวเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระบูชาหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร 2529 5 นิ้ว ทองเหลือง
พระบูชาหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ รุ่นแรก ขนาด ๕ นิ้ว ปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เนื้อทองเหลือง

         ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเปลี่ยน นั่งสมาธิบนฐานเขียง องค์หลวงพ่อห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิรัตประคต ที่ฐานมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อเปลี่ยน อินทโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดโรงเข้ บ้านแพ้ว สมุทรสาคร"

         ด้านหลัง ไม่ปรากกฏอักขระใดๆ

         ด้านใต้ฐาน บางองค์ฝังตะกรุดและมีการอุดด้วยดินฝรั่ง

         รูปถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้

         สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ เพื่อแจกในงานทำบุญอายุครบรอบ ๘๐ ปี ของหลวงพ่อทองสุข ลักษณะเป็นภาพถ่ายขาวดำ ขนาด ๑ นิ้ว จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ภาพถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร 80 ปี 2531
ภาพถ่ายหลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ สมุทรสาคร ปี พ.ศ. ๒๕๓๑

         ด้านหน้า เป็นรูปถ่ายหลวงพ่อทองสุขครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ใต้รูปหลวงพ่อมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "หลวงพ่อสุข วัดโรงเข้" 

         ด้านหลัง ปั๊มหมึกเป็นอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ อ่านได้ว่า "นะ โม พุท ธา ยะ"

         ด้านวิชาอาคมของหลวงพ่อทองสุขนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าชาวบ้านในพื้นที่รู้โดยทั่วไปว่าหลวงพ่อทองสุขนั้นได้ร่ำเรียนวิชาอาคมมาจาก 

         หลวงพ่อกลึง วัดสวนแก้ว ผู้ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน หลวงพ่อเปลี่ยน วัดโรงเข้ ผู้ที่เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าอาวาสวัดโรงเข้ ซึ่งหลวงพ่อเปลี่ยนนั้นท่านเป็นเสือซ่อนเล็บ มีวิชาอาคมเก่งกาจมีฌาญวิเศษสามารถพูดคุยกับสัตว์ต่างๆได้ และยังได้เล่าเรียนวิชากับหลวงพ่ออุ่น วัดบางขุด ผู้ที่เป็นอนุสาวนาจารย์ของท่าน 

         นอกจากนั้นท่านยังได้ร่ำเรียนวิชาจากหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม (ได้รับการยืนยันจากเจ้าอาวาส วัดโรงเข้ รูปปัจจุบัน ว่าท่านเรียนจริง) 

         หลวงพ่อป๋อง วัดหนองกระทุ่ม ท่านเป็นคน วัดเพลงมาก่อน วัดเพลง ปากท้อใกล้กัน อีกอย่าง ท่านจะคลาดตะกรุด ของหลวงพ่อป๋อง ไว้ที่ประคตเอวตลอด สมัยนั่น ทุกคนต่างรู้ดีว่าหลวงพ่อจะให้ตะกรุดกับคน ที่ไว้ใจได้ เพราะท่านหลวงพ่อป๋อง กลัวว่าจะเอาไปใช้ไปในทางที่ไม่ดี

         หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ ร่ำเรียนวิชาอาคมและการเขียนยันต์ต่างๆ โดยที่ท่านไปเรียนเพราะได้รับการแนะนำจากหลวงพ่ออุ่น วัดบางขุด ให้ไปเรียนวิชากับหลวงพ่อรุ่ง ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับท่าน

         นอกจากนี้ท่านยังได้ร่ำเรียนวิชากับหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมอีกด้วย นอกจากนี้ท่านยังมีสหธรรมิก ที่ไปมาหาอยู่สู่อยู่บ่อยๆ เท่าที่ทราบก็จะมี 

         หลวงพ่อสุด วัดกาหลง ซึ่งท่านทั้งคู่จะมีรูปถ่าย ไปงานปลุกเสก ร่วมกันอยู่บ่อยๆ และไปมาหากันตลอดเนื่องจากวัดโรงเข้กับวัดกาหลง อยู่ใกล้กันต่างกันแค่ อำเภอ 

         หลวงพ่อหงษ์ วัดบางพลี หลวงพ่อทองสุข ท่านปลุกเสกหรือมีอะไร ท่านก็จะไปหาให้หลวงพ่อหงษ์ท่านช่วยอยู่เสมอ

         หลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง ท่านพรรษาแก่กว่าหลวงพ่อทองสุข สมัยก่อนนั้นเวลามีงานสำคัญๆภายในวัด ท่านก็จะนิมนต์ พระวัดหลวงปู่สาย มาสวดทำพิธีที่วัดโรงเข้ และหลวงปู่สายท่านมาตลอด และมีภาพถ่ายบันทึกไว้ตลอด และยามชร่าภาพของหลวงปู่สาย หลวงพ่อทองสุข ท่านจะไปเยี่ยมเยือน ดูอาการ หลวงปู่สาย อยู่บ่อยๆ เพราะวัดหนองสองห้อง อยู่แค่ต้นคลองของวัดโรงเข้ สมัยก่อนสันจรทางเรือสะส่วนใหญ่ ถนนยังไม่มี

         หลวงพ่อบุญธรรม วัดหลักสี่ราษฏร์สโมสร หลวงพ่อบุญธรรมท่านจะเรียกหลวงพ่อทองสุข ว่าพี่สุข เพราะท่านทั้ง ๒ ก็ศิษย์ อาจารย์เดียวกัน งานพระราชเพลิงศพหลวงพ่อทองสุข หลวงพ่อบุญธรรม ท่านจัดแจงให้และท่านเป็นคนเก็บกระดูกให้หลวงพ่อทองสุข และยังบรรจุอัฐิให้กับยาญโยม ที่มีพระบูชา ใครเอามาในงานท่านจะบรรจุให้ทุกคน


หมายเหตุ : วัตถุมงคลเนื้อผงของหลวงพ่อไม่ได้ถูกจัดเก็บไว้ ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่แห่งนี้ด้วย

โดย : สารานุกรม​พระเครื่อง​ลุ่ม​น้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-**

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้