โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว ผู้สร้างพระเหรียญหล่อวัดนางสาวอันเรื่องชื่อ

หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว สมุทรสาคร

          หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว ท่านเป็นพระที่เก่งกาจอีกรูปหนึ่งของอำเภอกระทุ่มแบน ท่านสร้างพระหล่อเอาไว้ด้วยกัน ๓ พิมพ์ ซึ่งพระทุกพิมพ์ที่สร้างล้วนมีประสบการณ์ประจักษ์แก่คนทั้วไป จนโด่งดังเป็นที่แสวงหาของนักสะสมพระเครื่องและชาวบ้านกระทุ่มแบนเป็นอย่างยิ่ง

          หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว ท่านมีนามเดิมว่า แก้ว ท่านเกิดวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๒๓ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๐๔ ที่บ้านคลองกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โยมบิดาท่านชื่อ ภู่ มารดาชื่อ น้อย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ๙ คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ ๖  

         ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ เมื่อท่านอายุได้ ๙ ปี โยมบิดาและโยมมารดาของท่าน ได้นำท่านไปฝากไว้ที่วัดนางสาว เพื่อศึกษาวิชาเขียนอ่าน

         จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๑๗ หลวงพ่อแก้ว มีอายุได้ ๑๓ ปี จึงได้ไปศึกษาบาลีอยู่ทีวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ แต่ได้เกิดโรคเบียดเบียน(ป่วย) จึงศึกษาได้ไม่สะดวกนัก พออายุได้ ๑๙ ปี ต้องกลับมารักษาตัวอยู่ที่วัดนางสาวและที่บ้านโยมพ่อโยมแม่

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๐ หลังจากที่หลวงพ่อแก้ว หายป่วยแล้ว ขณะนั้นท่านอายุได้ ๒๖ ปี ท่านจึงได้เข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดนางสาว ตำบลนางสาว อำเภอตลาดใหม่ จังหวัดนครปฐม ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งเขตปกครองใหม่เป็นตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับฉายาว่า "ติสสสุวัณโณ" โดยมี

           พระอธิการนิล วัดนางสาว เป็นพระอุปัชฌาย์ 

           หลวงพ่อเกิด เป็นพระกรรมวาจาจารย์  

          เมื่อหลวงพ่อแก้วได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดนางสาว เพื่อได้อยู่ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ และได้เรียนกรรมฐานจากหลวงปู่นิลด้วย พอได้พรรษา ๑ แล้ว ท่านได้ลาพระอธิการนิล ไปรุขมูลกับพระอาจารย์เซ่ง วัดหงษ์ ตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร 

         ครั้นกลับมาแล้วได้อยู่เรียนวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์ทับ เจ้าอาวาสวัดหงษ์ เป็นเวลาถึง ๗ พรรษา (หลวงพ่อทับ วัดหงษ์ ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเกจิเฒ่าจอมขมังเวทย์ของเมืองสาครบุรี) 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อท่านสำเร็จวิชาต่างๆ จากพระอธิการทับหมดสิ้นแล้ว ท่านจึงได้ย้ายกลับมาจำพรรษาอยู่วัดนางสาวอีก ๑ พรรษา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เมื่อพรรษาที่ ๙ ท่านจึงได้ไปศึกษาบาลีที่วัดบพิตรภิมุข กรุงเพทฯ เรียนบาลีอยู่ ๒ พรรษา แต่อาการป่วยของท่านได้กำเริบขึ้นอีกครั้ง ท่านจึงกลับมาพักอยู่ที่วัดหนองพะอง คลองภาษีเจริญอีก ๑ พรรษา 

         ปี พ.ศ. ๒๔๔๒ ท่านจึงได้กลับจำพรรษาอยู่ที่วัดนางสาว เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม และเป็นอาจารย์สอนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ แก่บรรพชิตแลคฤหัสถ์ตามโอกาสสมควร 

          ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อหลวงพ่อแก้วบวชได้ ๑๕ พรรษา พวกสัตยบุรุษมีความเลื่อมใสในตัวท่าน จึงอาราธนาให้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

         และเมื่อพระอธิการแสง เจ้าอาวาสวัดนางสาวได้มรณภาพลง (หลวงพ่อแสงเป็นเจ้าอาวาสต่อจากพระอธิการนิล) ท่านจึงได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าบรรพชิตและคฤหัสถ์จัดการปลงศพหลวงพ่อแสงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนางสาวสืบมา

พระอุโบสถมหาอุด วัดนางสาว สมุทรสาคร

          วัดนางสาว หรือ วัดพรหมจารีราม เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา มีอายุมากกว่า ๔๐๐ ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร  มีเรื่องเล่ากันว่า มีกลุ่มชาวไทยกลุ่มหนึ่งอพยพหนีภัยสงครามพม่า มาอาศัยอยู่บริเวณวัดร้างแห่งนี้ พม่าได้ติดตามมาทัน จนเกิดการสู้รบกันขึ้น 

          โดยชายไทยฉกรรจ์เข้าต่อสู้กับทหารพม่า ส่วนเด็ก ผู้หญิง และคนชรา พากันหลบหนีเข้าไปอยู่ในโบสถ์เก่าหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นโบสถ์มหาอุด ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูเข้าทางเดียว มีผู้หญิง ๒ คนซึ่งเป็นพี่น้องกัน 

          ได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ว่า หากรอดพ้นจากภัยอันตรายครั้งนี้ได้ จะบูรณะโบสถ์หลังนี้ และเสนาสนะต่างๆ ในวัดนี้ให้ดีขึ้น ปรากฏว่าการสู้รบชายฉกรรจ์ชาวไทยชนะทหารพม่า ทุกคนที่หลบซ่อนอยู่ในโบสถ์มหาอุดต่างปลอดภัย

          ต่อมาพี่น้องสองสาวจึงคิดที่จะบูรณะโบสถ์และวัดตามที่ได้อธิษฐานไว้ แต่คนพี่เห็นว่าเป็นโบสถ์เก่ายากการแก่การบูรณะ จึงได้ไปสร้างวัดขึ้นใหม่อีก ชื่อว่า “วัดกกเตย” แต่ชาวบ้านมักจะเรียกว่า “วัดพี่สาว” ซึ่งปัจจุบันได้ถูกน้ำเซาะพังไปหมดแล้ว 

          ส่วนหญิงคนน้องได้ครองตัวเป็นโสด ได้บูรณะโบสถ์และวัดร้างดังกล่าว ตามที่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้จนสำเร็จ ชาวบ้านเรียกชื่อนี้ว่า วัดพรหมจารีราม แต่คนส่วนใหญ่มักจะเรียกว่า วัดน้องสาว ต่อมาได้เพี้ยนกลายเป็น วัดนางสาว จนถึงทุกวันนี้

          เดิมวัดนี้ตั้งอยู่ในเขตมณฑลนครชัยศรี แต่ครั้นเมื่อมีการยุบการปกครองแบบมณฑล มีการแบ่งเขตกันใหม่ วัดนางสาวจึงตั้งอยู่ในเขตตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

          วัดนางสาวเป็นวัดที่มีพระอุโบสถมหาอุด คือ โบสถ์ที่ไม่มีหน้าต่าง และมีประตูเข้าออกเพียงประตูเดียว โบราณาจารย์นิยมใช้เป็นสถานที่เหมาะแก่การปลุกเสกพระเครื่องรางของขลัง เพราะจะทำให้มีอานุภาพทางมหาอุด แคล้วคลาดปลอดภัย และคงกระพันชาตรี ซึ่งพระอุโบสถแบบนี้หาได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน

หนังสืองานศพหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว สมุทรสาคร 2473
หนังสืองานศพหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว สมุทรสาคร ตีพิมพ์ ปี พ.ศ. ๒๔๗๔(ปกพิมพ์​ผิด)​

          หลังจากที่หลวงพ่อแก้ว ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดนางสาว ท่านได้พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ ทั้งการสร้างเสนาสนะต่างๆ ทั้งจัดการก่อสร้าง และการปฎิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด และปรารภถึงอุโบสถเก่าที่ตลิ่งเริ่มพังเข้ามาใกล้อุโบสถ(โบสถ์มหาอุตในปัจจุบัน) จึงจัดการเริ่มก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น

         และด้วยคุณงามความดีของหลวงพ่อแก้ว ที่พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เจ้าคณะหมวดนาวสาว(เจ้าคณะตำบลในสมัยนี้) และพระอุปัชฌาย์เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๕๖ ปี พรรษาที่ ๓๑

         หลวงพ่อแก้ว ท่านปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพลงเมื่อวันจันทร์ที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ นับรวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ๔๔ พรรษา และได้รับการประชุมเพลิงเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๔

วัตถุมงคลของหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว

          เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๔ หลวงพ่อแก้วท่านได้จัดทำพิธีเททองหล่อพระประธานได้แก่ หลวงพ่อดำ เพื่อประดิษฐานในอุโบสถหลังใหม่ ที่กำลังก่อสร้างขึ้น พร้อมกับหล่อพระเครื่องอีก ๓ พิมพ์ คือ พิมพ์พระพุทธชินราช พิมพ์หลวงพ่อโต (ปางสมาธิปรกโพธิ์) และพิมพ์ปิดตามหาอุด สร้างด้วยเนื้อโลหะผสม โดยนำชนวนโลหะที่เหลือจากหล่อพระประธาน มาเททองหล่อแบบโบราณ

หลวงพ่อดำ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ของวัดนางสาว

          เนื่องจากหลวงพ่อแก้ว มีความเคารพนับถือหลวงปู่บุญมาก อีกทั้งชาติภูมิเดิมของหลวงปู่บุญ เป็นชาว ตำบลท่าไม้ (หรือ อำเภอกระทุ่มแบน ในปัจจุบัน) มาก่อน จึงได้นิมนต์หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว มาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ (สมัยนั้น “วัดนางสาว” ขึ้นอยู่กับมณฑลนครชัยศรี) พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในสมัยนั้นร่วมนั่งปรกปลุกเสก อาทิ

          หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม
          หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก
          หลวงพ่อห้อย วัดหอมเกร็ด
          หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
          หลวงพ่ออาจ วัดดอนไก่ดี
          พระอาจารย์พา วัดระฆังฯ
          หลวงปู่แก้ว วัดนางสาว ฯลฯ

           พระหล่อโบราณ ทั้ง ๓ พิมพ์ เป็นฝีมือช่างคนเดียวกับที่แกะแม่พิมพ์เหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และที่สำคัญ ฎีกา (หนังสือ) ที่หลวงปู่แก้ว วัดนางสาว ได้นิมนต์หลวงปู่บุญ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็น "ประธานคณะกรรมการคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม, สมุทรสาคร, และสุพรรณบุรี" มาเป็นประธานในพิธีหล่อพระที่วัดนางสาว ปี พ.ศ. ๒๔๖๔ นั้นยังเก็บรักษาไว้ในตู้กระจกที่พิพิธภัณฑ์พระพุทธวิถีนายก วัดกลางบางแก้ว จนถึงทุกวันนี้

          พระหล่อพิมพ์พระพุทธชินราช หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ด้วยวิธีการหล่อโบราณจากเนื้อโลหะที่เหลือจากการหล่อหลวงพ่อดำ ขนาดของพระที่หล่อ มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. โดยใช้แม่พิมพ์เป็นแบบพระแผง มีองค์พระหลายๆองค์วางเรียงกัน เมื่อเนื้อโลหะเย็นลงแล้ว จึงนำมาตัดแบ่งออกเป็นองค์ๆ จุดสำคัญของพระพิมพ์นี้คือ หากดูด้านข้างจะเห็นเนื้อพระเป็น ๒ ชั้น มีรอยตะไบ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว พิมพ์พระพุทธชินราช ปี พ.ศ. ๒๔๖๔

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธชินราช ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น

          ด้านหลัง เรียบ มีรอยตะไบแต่งพิมพ์

          พระหล่อพิมพ์หลวงพ่อโต(ปรกโพธิ์) หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ด้วยวิธีการหล่อโบราณ ขนาดของพระที่หล่อ มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. โดยใช้แม่พิมพ์เป็นแบบพระแผง มีองค์พระหลายๆองค์วางเรียงกัน เมื่อเนื้อโลหะเย็นลงแล้ว จึงนำมาตัดแบ่งออกเป็นองค์ๆ จุดสำคัญของพระพิมพ์นี้ คือ หากดูด้านข้างจะเห็นเนื้อพระเป็น ๒ ชั้น มีรอยตะไบ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว พิมพ์หลวงพ่อโต(ปรกโพธิ์) ปี พ.ศ. ๒๔๖๔

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระพุทธปรกโพธิ์ปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น

          ด้านหลัง เรียบ มีรอยตะไบแต่งพิมพ์

          พระหล่อพิมพ์ปิดตา หลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ด้วยวิธีการหล่อโบราณ ขนาดของพระที่หล่อ มีขนาดกว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒.๕ ซม. โดยใช้แม่พิมพ์เป็นแบบพระแผง มีองค์พระหลายๆองค์วางเรียงกัน เมื่อเนื้อโลหะเย็นลงแล้ว จึงนำมาตัดแบ่งออกเป็นองค์ๆ จุดสำคัญของพระพิมพ์นี้ คือ หากดูด้านข้างจะเห็นเนื้อพระเป็น ๒ ชั้น มีรอยตะไบ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

พระหล่อหลวงพ่อแก้ว วัดนางสาว พิมพ์ปิดตา ปี พ.ศ. ๒๔๖๔

          ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระปิดตามหาอุด ประทับนั่งบนฐานบัว ๒ ชั้น

          ด้านหลัง เรียบ มีรอยตะไบแต่งพิมพ์



ข้อมูล : คุณโอ กระทุ่มแบน

โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง

***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้