โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ เจ้าของพระปรกลึกลับของเมืองแม่กลอง

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

          หลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ หรือ พระครูสุนทรสุตกิจ อดีตเจ้าอาวาสวัดบางพลับ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ทรงคุณวิเศษอีกองค์หนึ่งของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยท่านจัดเป็นพระนักพัฒนาที่เก่งกาจมากองค์หนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสถึง ๓ วัด คือ วัดตะโหนดราย วัดแก่นจันทร์เจริญ และวัดบางพลับ เรียกได้ว่าวัดไหนทรุดโทรมให้นิมนต์หลวงพ่อโห้ ไปปกครองวัด วัดนั้นจะกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งแน่นอน

           หลวงพ่อโห้ พื้นเพท่านเป็นคนบ้านบางคนที สมุทรสงตราม ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่มีประวัติบันทึกไว้ว่าท่านเกิดเมื่อใด เป็นบุตรของใคร บวชเรียนกับพระอุปฌาย์ท่านใด รู้แต่เพียงว่าที่อุปสมบถที่วัดตะโหนดราย และอยู่ศึกษาวิชาอาคม ณ วัดแห่งนี้จวบจนตำแหน่งเจ้าอาวาสว่างลง ท่านจึงได้รับนิมนต์ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

          หลวงพ่อโห้ หลังจากที่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดตะโหนดราย ท่านก็ได้พัฒนาวัดตะโหนดราย จากวัดเล็กๆที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ ๑ ตำบลบางกระบือ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างเป็นลำดับ

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม


          ส่วนวัดแก่นจันทร์เจริญนั้น แต่เดิมที่ดินของวัดเป็นบ้านของพระยาดารา และคุณหญิงปิ่น ต่อมาได้ย้ายภูมิลำเนาเข้าไปอยู่ในกรุงเทพมหานคร จึงถวายที่ดินและบ้านแห่งนี้ให้ไว้กับเจ้าอาวาสวัดบางพลับ เพื่อให้สร้างวัด

          เมื่อเจ้าอาวาสวัดบางพลับรับไว้แล้ว ก็จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นให้พระมาอยู่ พระสงฆ์และชาวบางพรมได้ร่วมกันสร้างวัด คือ พระอุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ศาลาท่าน้ำ ตลอดจนหอสวดมนต์ แล้วขออนุญาตตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ และเนื่องจากพื้นที่วัดมีต้นจันทน์ขึ้นอยู่เป็นอันมาก จึงได้ตั้งชื่อว่า วัดแก่นจันทน์ ในระยะเริ่มก่อตั้งวัดแก่นจันทร์เจริญ มีความเจริญรุ่งเรืองดีมาก

          อดีตเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญเท่าที่สืบค้นได้ คือ หลวงปู่แสงฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และเจ้าอาวาสรูปต่อมาคือหลวงปู่ทอง จนสิ้นหลวงปู่ทอง ในราวปี พ.ศ. ๒๔๕๕ สภาพของวัดแก่นจันทร์เจริญ ก็กลับไปชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก จนเหลือแต่ กุฏิฝากระดาน ๒ หลังที่คงสภาพดีอยู่ ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองวัด

          ปี พ.ศ.๒๔๗๓ กำนันสดและชาวบ้านบางพรมเห็นว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ต่อไปวัดแก่นจันทร์เจริญจะต้องเป็นวัดร้างเป็นแน่แท้ จึงได้ไปนิมนต์หลวงพ่อโห้ วัดตะโหนดราย มาเป็นเจ้าอาวาส หลังจากที่หลวงพ่อโห้ ท่านได้รับมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ได้จัดการดูแลบูรณปฏิสังขรณ์ และก่อสร้างเสนาสนะขึ้นมาใหม่ จนวัดแก่นจันทน์เจริญ จึงกลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

          และในทุกวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี หลวงพ่อโห้ได้ชักชวนทายก ทายิกา ร่วมกันตักบาตรขนมครก เพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีทำบุญตักบาตรนับเนื่องแต่พุทธกาล โดยประเพณีตักบาตรขนมครกนี้ ได้มีการเลียนแบบมาจากประเพณีการตักบาตรขนมเบื้องของพระราชพิธีในวัง ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมา จนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

          สมัยก่อนญาติโยมจะซื้อ ขนมครก-น้ำตาลทราย จากแม่ค้าขายขนมครกที่พายเรือมาจอดขายอยู่หน้าวัด เพื่อนำมาทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์ เงินที่แม่ค้าขายขนมครกได้ทั้งหมดจะนำไปถวายวัด วัดแก่นจันทร์เจริญจึงได้เจริญรุ่งเรืองตลอดมา

          ปี พ.ศ.๒๔๘๐ หลวงพ่อโห้ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสุนทรสุตกิจ ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ

          ส่วนวัดบางพลับนั้น เป็นวัดโบราณเก่าแก่วัดหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านคลองขนมจีนใต้ หมู่ที่ ๔ ตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม จากหลักฐานพบว่าได้ขอตั้งเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๔๘ และได้รับวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ. ๒๒๕๐ 

          ในอดีตเป็นวัดที่เคยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก และมีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย ครั้งสงครามกู้ชาติของพระเจ้าตากสินมหาราชที่ค่ายบางกุ้ง

          วัดบางพลับในยุคต้นๆ สมัยหลวงพ่อห้ายอดเป็นเจ้าอาวาส วัดเจริญรุ่งเรืองมากทั้งด้านเสนาสนะ และภิกษุสงฆ์ จวบจนถึงยุคของพระอธิการเอี่ยม และพระอธิการช้าง เป็นเจ้าอาวาสวัด วัดก็ยังคงเจริญรุ่งเรืองอยู่ 

          แต่หลังจากที่พระอธิการช้างได้มรณะภาพลง วัดบางพลับก็ได้เสื่อมโทรมลงเป็นอันมาก และวัดได้ทรุดโทรมมาโดยตลอด

         จนมาถึงพระอธิการอุ่ม ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพลับ รับตำแหน่งเจ้าอาวาสต่อมา วัดก็ยังไม่สามารถเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกได้ จนวัดนั้นแทบจะกลายเป็นวัดร้าง

หลวงพ่อโห้ หรือ พระครูสุนทรสุตกิต วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

          จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่อพระอธิการอุ่ม ธมฺมโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพลับ ได้ลาสิกขาไปเนื่องด้วยปัญหาสุขภาพ คณะกรรมการสงฆ์ของอำเภอบางคนที และคณะกรรมการสงฆ์ของจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีท่านเจ้าคุณพระมหาสิทธิการทอง เจ้าคณะจังหวัดเป็นประธาน 

          ร่วมกับคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งมีหลวงอรรถวิจิตรจรรยารักษ์ อดีตข้าหลวงประจำจังหวัดสมุทรสงคราม มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า วัดบางพลับเป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญ และในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ควรที่จะได้รับการทะนุบำรุงให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป เพื่อรักษาเกียรติของวัดเก่าๆ ไว้

          จึงพร้อมใจกันไปอาราธนาท่านพระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงพ่อโห้) เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนาญในการก่อสร้างให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางพลับ

          เมื่อท่านรับหน้าที่แล้วก็ได้มาบูรณะ และปฏิสังขรณ์ ถาวรวัตถุต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย นับตั้งแต่หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ หอฉัน ศาลาการเปรียญ โรงเรียนประชาบาลวัดบางพลับ (สุนทรานุกูล) ศาลาท่าน้ำ ถนนกับสะพานข้ามคลองบางพลับ ฯลฯ 

          วัดบางพลับจึงได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีก และเจ้าอาวาสองค์ต่อๆ มาก็ได้ดำเนินรอยตามท่าน วัดบางพลับจึงได้เจริญมั่นคงมาจนทุกวันนี้

          ขณะที่หลวงพ่อโห้ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพลับอยู่นั้น จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๔ พระอธิการเย็น เจ้าอาวาสวัดบางกุ้ง ได้ลาสิกขาบทไป ระหว่างนั้นหลวงพ่อโห้ เจ้าอาวาสวัดบางพลับ ได้มารักษาการณ์ดูแลปกครองวัดบางกุ้งอีกวัดหนึ่งด้วย

          หลวงพ่อโห้ ปกครองวัดเรื่อยมาจนถึงแก่มรณภาพ​ลงในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ นับเวลาที่ท่านปกครองและพัฒนาวัดถึง ๑๒ ปี ยังความเสียใจ​มาแก่ชาววัดบางพลับเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลของหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ

          พระปรกหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ

          สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สมัยก่อนคนโบราณมักเรียกพระพิมพ์นี้ของหลวงพ่อโห้ ว่าพระคงหลวงพ่อโห้บ้าง บ้างก็เรียกว่าพระรัศมีบ้าง พุทธลักษณะเหมือนพระนาคปรกตัวหนอนของวัดกัลยาฯ โดยสร้างด้วยเนื้อดินผสมผง มีวรรณะออกดำ แต่เนื่องจากประวัติที่ไม่ชัดเจน เซียนพระบางคนก็เล่นเป็นพลวงพ่ออุ่ม วัดบางพลับ อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่ลาสิกขาบทไปแล้วสร้างพระทิ้งไว้ที่วัด และเมื่อหลวงพ่อโห้มาเป็นเจ้าอาวาสได้นำมาแจกจ่ายกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง

พระนาคปรกหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ สมุทรสงคราม

          ด้านหน้า เป็นรูปจำลองพระพุทธรูปปางนาคปรก องค์พระประทับนั่งบนฐาน ๓ ชั้นซ้อนเสมอกัน 

          ด้านหลัง เรียบ นูนเล็กน้อยตามแบบพระกดพิมพ์โบราณ
 
          เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทมีอุ (นิยม)

          สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ระบุจำนวนที่สร้างไว้ แต่ด้วยการที่เหรียญมีการพบเห็นได้ยาก จึงทำให้สัญนิจฐานว่าสร้างไว้เพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้น

เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทมีอุ (นิยม) ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

           ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อโห้ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ไม่มีผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรสุตกิจ"

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ด้านล่างมีอักขระยันต์ตัว "นะ" และอักขระภาษาไทยเขียนว่า "9/3/87" ซึ่งเป็นปีที่มีการสร้างเหรียญ

          เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทไม่มีอุ

          สร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงหยดน้ำ มีการสร้างด้วยเนื้อทองแดงเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ระบุจำนวนที่สร้างไว้ โดยทำการสร้างเสริมขึ้นหลังจากเหรียญพิมพ์ พุทมีอุได้หมดลง จำนวนการสร้างไม้ได้มีการจดบันทึกไว้

เหรียญหลวงพ่อโห้ วัดบางพลับ รุ่นแรก พิมพ์ยันต์พุทไม่มีอุ ปี พ.ศ. ๒๔๘๗

           ด้านหน้า จำลองรูปหลวงพ่อโห้ครึ่งองค์ ห่มจีวรคลุมไหล่ ไม่มีผ้าสังฆาฎิ ด้านล่างมีอักขระภาษาไทยเขียนว่า "พระครูสุนทรสุตกิจ"

           ด้านหลัง มีอักขระยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ (ตัวพุทไม่มีสระ อุ)​ ด้านล่างมีอักขระยันต์ตัว "นะ" และอักขระภาษาไทยเขียนว่า "9/3/87" ซึ่งเป็นปีที่มีการสร้างเหรียญ


โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้