โฆษณาแนวนอน728*90

บทความใหม่

ประวัติและวัตถุมงคลของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านแหลม

ภาพถ่ายหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

          หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่ที่วัดต้นสน ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปทั้งในเขตอำเภอบ้านแหลม และอำเภอใกล้เคียง รวมทั้งชาวจังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้มาเสี่ยงทายบนบานอยู่มิได้ขาด 

          นับถือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ในด้านทำมาค้าขาย ประกอบอาชีพ แคล้วคลาดภยันตราย และรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ได้ด้วยน้ำพระพุทธมนต์ เป็นหลักยึดมั่นของชาวบ้านแหลม ในการสร้างความดีทางวัดจัดให้มีงานนมัสกา​รเป็นประจำ ในราวเดือน ๑๒ ของทุกปี 

          ลักษณะของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรศิลปะแบบลพบุรีฝีมือมอญ มีความสูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ความกว้าง วัดที่พระอุระ ๕๐ เซนติเมตร สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ทั้งองค์ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดเป็นเวลาช้านาน 

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

          ประวัติที่แท้จริงไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้แน่ชัด อาศัยเพียงหลักฐานทางพระพุทธศาสนากรรม และประวัติศาสตร์มาอ้างอิง เพื่อให้สอดคล้องใกล้เคียงกันเท่านั้น 

          ประวัติของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ มีเรื่องเล่าลือกันต่อมาว่า กษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีเป็นผู้สร้างพระองค์นี้ในสมัยขอมยังเป็นใหญ่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ขอมกับมอญมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเชื่อมโยงมาตั้งแต่ครั้งทวารวดี ด้วยเหตุนี้จึงผูกเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน 

          อย่างไรก็ตามเรื่องที่เล่ากันนี้ ก็ยังพอมีเค้าความจริงอยู่บ้าง ซึ่งมีเรื่องอยู่ว่าเมื่อเกิดสงครามระหว่าง มอญกับพม่าขึ้น ซึ่งจะเห็นเป็นสมัยสมเด็จพระอนุรุทธมหาราช (มังช่อ) ราว พ.ศ ๑๖๐๐ ต้นเหตุของสงครามคือ ทางฝ่ายพม่าได้ขอคัมภีร์พระไตรปิฎก และพระคณาจารย์ผู้ทรงอภิญญา เพื่อนำไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในพม่า ซึ่งกำลังถูกแปรเปลี่ยนไปในทางเสื่อม แต่ทางมอญไม่ยอมให้โดยอ้างว่าพระคณาจารย์ไม่ยอมไป 

          ฝ่ายพม่านึกขัดเคืองเกิดความโกรธ จึงกรีธาทัพเข้าบุกมอญ ซึ่งในครั้งนั้นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญประเทศได้ขนย้าย และซุกซ่อนพระธรรมคัมภีร์กับพระพุทธรูปเป็นการใหญ่ เพราะเกรงอานุภาพของพระเจ้าอนุรุทธ์มหาราช คิดว่ามอญจะคงสู้รบพม่าไม่ได้และแพ้ในสงครามคราวนี้ และมอญก็แพ้จริงๆดังคาดคงเป็นด้วยเหตุนี้หลวงพ่อสัมฤทธิ์จึงถูกซุกซ่อนไว้ในครัวต้นมะกอกใหญ่แห่งหนึ่ง ในเมืองหงสาวดีซึ่งอยู่มานานเท่าใดไม่ปรากฏ

หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี


          ต่อมามีชีปะขาวหรือชีผ้าขาวตนหนึ่ง ไปนั่งพักที่โคนต้นมะกอกที่มีพระพุทธรูปนี้ เมื่อล้มตัวนอนอยู่ได้เห็นอัศจรรย์ที่ปรากฏ เป็นแสงสว่างในบริเวณโพรงต้นมะกอก จึงขุดขุ้ยดูเห็นพระพุทธรูปองค์นี้เข้า จึงเอาผ้าขาวห่มแบกขึ้นบ่าเดินทางรอนแรมเข้ามาจนถึงสุโขทัย บังเอิญขณะข้ามแม่น้ำเรือได้เกิดล่ม พระพุทธรูปได้จมน้ำไปหาไม่เจอ 

          มีเรื่องเล่าต่อมาว่าพระพุทธรูปเกิดปฏิหารย์ลอยขึ้นมากระทบเรือพ่อค้าผู้หนึ่งเข้า (ซึ่งอาจเป็นฤดูแล้งน้ำลดตื้นเขินก็ได้) พ่อค้าผู้นี้จึงนำไปกับเรือ โดยใช้ใบตองปิดคลุมไว้ เที่ยวล่องเรือขึ้นลงค้าขายไปจนถึงเมืองสมุทรสงคราม ภายหลังพระพุทธรูปได้ไปเข้าฝันชาวบ้าน ชาวบ้านผู้นั้นจึงนำของไปแลกเปลี่ยนพระองค์นี้ไว้ และนำไปประดิษฐานที่วัดจันทรศิริผล จังหวัดสมุทรสงคราม (ปัจจุบันไม่ปรากฏวัดนี้ในพื้นที่สมุทรสงครามแล้ว) 

          กาลต่อมาได้มีคนร้ายลักเอาพระพุทธรูปองค์นี้ไปจากวัด และนำไปขายให้กับพ่อค้าเรือแขกตานี ซึ่งเป็นเรือใบบรรทุกสินค้าทางปักษ์ใต้นำมาขายในอ่าวแม่กลอง และอ่าวบ้านแหลม ทุกฤดูแล้งขาล่องก็นำสินค้าไปขายทางใต้ 

วัดต้นสน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี


          เมื่อเรือออกจากอ่าวแม่กลองไป ก็มาแวะขายของที่อ่าวบ้านแหลม เพชรบุรี ได้จอดเรือที่วัดต้นสน เดิมชื่อวัดสนธยาซึ่งในสมัยนั้น วัดยังตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวบ้านแหลม หลวงพ่อสัมฤทธิ์ได้ไปเข้าฝันท่านสมภาร สมภารจึงได้ขอซื้อจากเรือแขก พ่อค้าเรือแขกตานีก็ถวายท่าน พระจึงมาตกอยู่ที่วัดต้นสน อยู่เป็นเวลาช้านาน

          ตามคำที่บอกเล่ากันต่อๆมาว่า หลวงพ่อสัมฤทธิ์ลอยมาพร้อมกับเรือนั้น เมื่อนานเข้าคำล่ำลือนั้นก็ผิดเพี้ยนไป ไม่ได้กล่าวถึงเรือแขก กลายเป็นว่าลอยน้ำมาทั้งองค์คนรุ่นหลังต่อมาได้ฟังก็เลยเข้าใจว่าลอยน้ำมาจริงๆ

          กาลต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ มีคนร้ายลักหลวงพ่อไปขายให้กับชาวจีนในกรุงเทพฯ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ได้มาเข้าฝันสมภารชื่อ ยัง ท่านสมภารยังได้ออกติดตามจนไปพบ และขอซื้อมาด้วยเงินถึง ๔ ช่าง ๕ ตำลึง ซึ่งคิดเป็นเงิน ๓๔๐ บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมากทีเดียวในสมัยนั้น หลวงพ่อสัมฤทธิ์ จึงได้กลับมาประดิษฐานเป็นหลักชัยของวัดต้นสน

          จากประวัติมีข้อขัดแย้งกันในเรื่องลักษณะของพระพุทธรูป หลวงพ่อสัมฤทธิ์ว่าเป็นพระสมัยใดกันแน่ หลายท่านบอกว่าเป็นสมัยปลายลพบุรี แต่ก็มีอีกหลายท่านยืนยันว่าเป็นพระสมัยอยุธยา

          ในเรื่องของยุคสมัยนี้ชาวบ้านแหลมไม่ติดอยู่กับสมัยของพระ หรือความเก่าใหม่ประการใด ยังคงศรัทธาในองค์หลวงพ่อ มิเว้นวายและเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ ดังมีหลักฐานมากมายเป็นต้นว่า ในสมัยนายจรูญ โลกะกลิน เป็นนายอำเภอบ้านแหลม ท่านเป็นประธานจัดงานประจำปี หลวงพ่อสัมฤทธิ์ซึ่งในงานนี้ เป็นประเพณีว่าต้องแห่องค์หลวงพ่อไปตามลำน้ำเพชรบุรี ซึ่งกระทำเป็นประจำไม่ได้ขาดในตอนใกล้พิธีอัญเชิญองค์หลวงพ่อ ชาวบ้านก็มาช่วยกันยกองค์ท่านไปลงเรือ

          แต่ปีนั้นเกิดอาเพศอย่างไรไม่ทราบ เพราะชาวบ้านหลายคนช่วยกันยกหลวงพ่อไม่ขึ้น ธรรมดาองค์หลวงพ่อก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรใช้คนเพียง ๒-๓ คนก็ยกได้สบาย แต่อัศจรรย์ที่หลายคนยกก็ไม่สามารถยกให้เคลื่อนที่ไปได้ จนนายอำเภอจรูญโลกะ กลิน ต้องจุดธูปเทียนบูชาขอขมา ลาโทษ และขอให้งานแห่ผ่านไปได้โดยเรียบร้อย พอขอขมาเสร็จ ท่านก็ตรงเข้ามายกองค์หลวงพ่อ ปรากฏว่าท่านเพียงผู้เดียวก็สามารถยกหลวงพ่อขึ้นได้อย่างง่ายดาย เรื่องนี้จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ชาวบ้านในที่นั้นมีจำนวนนับเป็นพันๆคนที่เห็นเหตุการณ์ หรือหากจะลองสอบถามนายอำเภอจรูญ ดูก็ได้ ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว. 

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้สร้างศาลาการเปรียญ วัดต้นสน


          สมัยจอมพล ป พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้ตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น โดยมีหลวงสวัสดิ์สรยุทธ เป็นรัฐมนตรี หลวงวิเชียรแพทยาคม เป็นอธิบดี ได้นำละครของกรมศิลป์มาเผยแพร่ ที่อำเภอบ้านแหลม และตั้งแสดงที่วัดต้นสน สมัยนั้นเป็นฤดูฝนฝนตกทุกวันและตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันละครกำหนดแสดง ๓ วัน ต่างก็กลัวกันว่าจะไม่ได้แสดง ท่านรัฐมนตรีต้องการจะพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ จึงได้บนบานขอให้ฝนหยุดตกสัก ๓ วัน ๓ คืน หากฝนไม่ตกจะถวายปัจจัยในการสร้างศาลาการเปรียญ เป็นจำนวนเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท

          นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ฝนได้ตกรอบหมดทุกทิศเว้นแต่บริเวณงานเท่านั้นที่ฝนไม่ตกเลย ถึง ๓ วัน ๓ คืน ที่มีการแสดงละคร เมื่อเลิกงานแล้วฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ท่านรัฐมนตรีและคณะประจักษ์ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ จึงได้ขอเงินมาสร้างศาลาการเปรียญ ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ทุกวันนี้

          เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เวลา ๑๕:๐๐ น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎราชกุมาร (นามขณะนั้น) ได้เสด็จโดยการส่วนพระองค์ จากพระราชวังไกลกังวลหัวหินมานมัสการหลวงพ่อสัมฤทธิ์ และทรงเสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนชาวบ้านแหลม ในโอกาสวันเดียวกันนี้คณะกรรมการวัดต้นสนได้ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ แด่พระองค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง.

วัตถุมงคลหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน
                  
         วัตถุมงคลที่ทางวัดจัดสร้างไว้เป็นเครื่องหมายแทนองค์หลวงพ่อ มีอยู่มากมายหลายชนิด อาทิเช่น รูปหล่อจำลองขนาดบูชา รูปจำลองขนาดเล็กแขวนบูชาได้ เหรียญทองแดง ทองแดงชุบทอง ลงยาทองขาว แหวนรูปหลวงพ่อลงยาสี พระผงผสมเกสรฯ 

          ประสบการณ์และความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญและพระเครื่องตลอดจน วัตถุมงคลของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ในรูปรอื่นๆก็มีปรากฏอยู่มากมายหลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เด็กตกน้ำไม่จมบ้าง คาดแคล้วจากอุบัติเหตุ อุบัติภัย ทั้งบนบกและทางทะเลบ้างโดยเฉพาะบรรดาเรืออวนรากจะมีรูปหลวงพ่อติดไว้บูชาอยู่เรือทุกลำ.

         พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก 

         องค์พระจำลองมาจากหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน เชื่อกันว่าสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระที่หล่อ ๒ ชิ้นมาประกอบกัน โดยหล่อแยกระหว่างองค์พระกับฐานบัวหงาย สร้างด้วยเนื้อทองเหลือง ก้นมีดินไทย มีความสูง ๙ นิ้ว บางองค์มีตามุข

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก


         ที่ฐานบัวมีการแกะข้อความว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน"  จำนวนการสร้างประมาณ ๑,๐๐๐ องค์

         พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยองค์พระจำลองมาจากหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน เป็นพระที่หล่อ ๒ ชิ้นมาประกอบกัน โดยหล่อแยกระหว่างองค์พระกับฐานบัวหงาย สร้างด้วยเนื้อทองเหลือง มีดินไทย

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

พระบูชาหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

         ที่ฐานมีป้ายแปะกำกับไว้ข้อความว่า "หลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน อ.บ้านแหม จ.เพชรบุรี" (บางองค์ไม่มีป้ายกำกับ แต่แกะตัวอักษรไว้ก็มี) มีความสูง ๑๒.๘ นิ้ว ฐานกว้าง ๔.๕ นิ้ว  

          เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก

          สร้างในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะเป็นเหรียญพิมพ์พุ่มข้าวบิณทร์ มีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้อเงินลงยา อัลปาก้า และทองแดง และทองแดงกระไหล่ทอง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ จุดสังเกตุเหรียญรุ่นแรกนี้ให้จดจำยันต์ตัว นะ ให้แม่นยำ

เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นแรก

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ องค์พระชัดเจนมีหน้ามีตา มีลายกนกล้อไปกับขอบเหรียญ
         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ นะ อรหัง อ่านได้ว่า "นะ อะ ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ" ไม่มีตัวอักษรไทยบนพื้นเหรียญ

          เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

         สร้างขึ้นหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ลักษณะคล้ายเหรียญรุ่นแรกแต่ขาดความคมชัดขององค์พระและยันต์ด้านหลังจะขาด ลักษณะเป็นเหรียญพิมพ์พุ่มข้าวบิณทร์ มีหูในตัว เหรียญมีการสร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า และทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุไว้ จุดสังเกตุเหรียญรุ่นแรกนี้ให้จดจำยันต์ตัว นะ ให้แม่นยำ ซึงจะแตกต่างกับรุ่นแรก

เหรียญหลวงพ่อสัมฤทธิ์ วัดต้นสน รุ่นสอง

         ด้านหน้า มีรูปจำลองหลวงพ่อสัมฤทธิ์ องค์พระขาดความชัดเจน มีลายกนกล้อไปกับขอบเหรียญ
         ด้านหลัง มีอักขระยันต์ นะ อรหัง อ่านได้ว่า "นะ อะ ระ หัง สัม มา สัม พุท โธ" ไม่มีตัวอักษรไทยบนพื้นเหรียญ ตัวยันต์ "สัม" ขาดกลาง และยันต์ขาดความชัดเจน


นิ้ว ก้นดินไทย รุ่นแร พร
โดย : สารานุกรมพระเครื่องลุ่มน้ำแม่กลอง

บทความที่เกี่ยวข้อง


***-[เป็นกำลังใจและสนับสนุน​ให้เราเขียนบทความดีๆ ช่วยกดดูโฆษณาด้านล่างนะคะ]-***
หิ้งๆ สูง ๙นิ้ว ก้นดินไทย รุ่นแร

ไม่มีความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้